20 ก.ย. 2022 เวลา 13:54 • ไลฟ์สไตล์
“ทำไมถึงไม่ยอมปล่อย”
“ … ที่เราภาวนาเหน็ดเหนื่อยแทบเป็นแทบตาย เราก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรจิตจะปล่อยวาง ทำอย่างไรจิตจะปล่อยวาง
ต้องไปภาวนาในป่าหรือเปล่าจิตถึงจะปล่อยวาง
ต้องไปอยู่ตรงโน้นหรือเปล่าจิตถึงจะปล่อยวาง
ต้องไปที่นี้ไหม
หรือต้องฉันอาหารอย่างนี้
จะต้องมีข้อวัตรปฏิบัติอย่างไร จิตถึงจะปล่อยวาง
อันนั้นเปลือกๆ มันหลอกเราทั้งนั้น
จิตมันปล่อยวางจิตได้ก็เพราะมันเห็นจิตแจ่มแจ้งว่าจิตมันตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ มันถึงจะวางได้ ไม่ใช่ดิ้นรน
ดิ้นรนจะไปภาวนาที่นั้น ภาวนาที่นี้
มัวแต่สร้างเงื่อนไขหลอกตัวเองให้มันเสียเวลา
รู้เข้าไปตรงๆ เลย
รู้เข้าไปที่จิตที่ใจของตัวเองตรงๆ
วันใดอินทรีย์แก่กล้ามันจะปิ๊งขึ้นมา จิตนี้มันเป็นอนิจจัง
บางท่านก็เห็นจิตมันเป็นทุกขัง
บางท่านเห็นจิตเป็นอนัตตา แล้วแต่
แต่ละคนพัฒนามาไม่เหมือนกัน
อย่างพวกทรงฌานจิตจะปล่อยวางจิตได้ โดยมากจะเห็นทุกข์ จิตนี้คือก้อนทุกข์ก็จะวาง
ทำไมพวกทรงฌานต้องเห็นจิตเป็นทุกข์
เพราะเวลาเข้าฌานจิตมันแสนจะสุข
มันสุขมหาศาลเวลาจิตมันเข้าฌานอยู่
ฉะนั้นต้องเฝ้ารู้เฝ้าดูจนกระทั่งเห็น ว่าจริงๆ มันทุกข์
พอจิตมันเห็นว่าจิตเป็นทุกข์ได้ ก็ปล่อยวาง
ฉะนั้นมันจะตอบโจทย์ว่าเราขาดอะไร ที่ทำให้เราปล่อยวางจิตไม่ได้
เราขาดความรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจนั่นเอง
ไม่รู้ว่าอริยสัจคือไม่รู้อะไรบ้าง
ไม่รู้ทุกข์ เราไม่รู้ทุกข์ คือเราไม่เห็นความจริงว่ากายนี้คือทุกข์ จิตนี้คือทุกข์ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ เพียงแต่ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง ไม่ใช่มีทุกข์กับสุขหรอก
เพราะเราไม่เห็นอย่างนี้ เราก็ยังไปหยิบฉวย เราก็ไปดิ้นรน ไปตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าต้องทำอย่างนี้ถึงจะดี ทำอย่างนี้ถึงจะดี แต่ถ้าเราเห็นความจริงลงไปนั้น ไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย
ถ้าเป็นพวกมีปัญญากล้า เดินมาด้วยปัญญาเป็นหลัก มันจะเห็นอนัตตา จิตไม่ใช่อะไรเป็นสมบัติโลก ขว้างทิ้งเลย
ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านภาวนาถึงจุดที่แตกหัก ท่านหยิบจิตของท่านมาแล้วขว้างลงทิ้งเลย
ท่านเปรียบบอกเหมือนท่านไปถอนต้นหญ้า เอามือจับต้นหญ้าแล้วก็กระชากขึ้นมา ต้นหญ้าหลุดขึ้นมาพร้อมราก แล้วท่านก็ขว้างลงเหวไปเลย อันนี้ปัญญาของท่านแก่กล้า ท่านเห็นว่าไม่มีสาระแก่นสารอะไร ปล่อย
ใจที่ดิ้นรนจะบังพระนิพพานไว้
เพราะฉะนั้นเราภาวนา พยายามเรียนรู้ตัดตรงเข้ามาที่จิต
ไม่ไปตั้งเงื่อนไขอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่โทษอะไรทั้งสิ้น
รู้ที่จิตตัวเอง รู้เท่าทันไป จิตมันปรุงอย่างไร
ปรุงสุขก็รู้ ปรุงทุกข์ก็รู้ ปรุงดีก็รู้ ปรุงชั่วก็รู้ ก็ไม่มีอะไร
1
ไม่มีอะไรไม่ใช่หลวงพ่อพูดเอง หลวงปู่สุวัจน์ท่านก็เคยพูดให้ฟัง ท่านบอกว่า “พระสกทาคามี” ท่านเริ่มบอก “พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เห็นสิ่งเดียวกัน ความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากัน ไม่มีอะไรหรอก ทิ้งมันไปให้หมดเลย”
ท่านพูดง่ายให้ทิ้งไปให้หมดเลย แต่พอภาวนาถ้าเราทิ้งได้ เราก็จะรู้สึกว่ามันง่าย ส่วนคนที่ยังทิ้งไม่ได้ มันก็รู้สึกยาก ไม่รู้จะทิ้งอย่างไร คิดจะทิ้งก็ยิ่งจับ ยิ่งยึดยิ่งจับ
ก็ไม่มีทางอื่น นอกจากการเห็นกายเห็นจิตนี้เป็นไตรลักษณ์ ไม่มีทางอื่นหรอก คอยรู้อย่างนี้เรื่อยๆ แล้วพอมันแจ้งขึ้นมา
กายนี้ไม่ใช่ของดี เพราะไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้น เพราะบังคับไม่ได้ มันก็วางกาย
ภาวนาไปเห็นจิตไม่เที่ยง ถูกบีบคั้น บังคับไม่ได้ มันก็วางจิต มันก็วางได้เพราะมันเห็นไตรลักษณ์ เรียกว่ามันรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว
รู้ว่ากายนี้จิตนี้ รูปธรรมนามธรรมนี้ ไม่มีอย่างอื่น มีแต่ทุกข์
การเห็นทุกข์นั่นล่ะก็คือเห็นทุกขสัจ
เห็นกายนี้ เห็นใจนี้ คือตัวทุกข์
ทุกข์เพราะไม่เที่ยง
ทุกข์เพราะถูกบีบคั้น
ทุกข์เพราะบังคับไม่ได้
เพราะเห็นทุกข์ การละสมุทัยก็เกิดขึ้นเอง
เราไม่ต้องละอะไรแล้วคราวนี้
จิตมันละของมันเอง
อย่างถ้ามันรู้ว่าจิตคือตัวทุกข์ มันก็ไม่มีความอยากที่ไปหยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก เพราะจิตมันคือตัวทุกข์ จะไปหยิบมันขึ้นมาทำอะไร
จิตมันทุกข์เยอะ เราภาวนาไม่ละเอียด เราก็ไม่เห็นว่ามันทุกข์หรอก มันหมุนติ้วๆๆ อยู่ทั้งวันเลย
บางคนไม่เห็นมันหมุน เห็นมันไหวยิบยับๆๆ ทั้งวันเลย เฝ้ารู้ลงไปเรื่อยๆ ไม่ต้องหาทางแก้ ไม่ต้องดิ้นรน รู้ซื่อๆ รู้เข้าไปตรงๆ นั่นล่ะ แต่อย่าถลำลงไปเพ่ง รู้อยู่แบบคนวงนอก
ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็ละสมุทัยไปเอง
รู้ทุกข์เมื่อไรละสมุทัยเมื่อนั้น
สมุทัยคือตัวความอยาก ตัณหา อยากอะไร
อยากให้จิตนี้มันดี อยากให้จิตนี้มันสุข
อยากให้จิตนี้มันสงบ อยากมีความสุข
อยากไม่มีความทุกข์ อยากไม่มีกิเลส
สารพัดอยากเลย
สิ่งเหล่านี้มันจะหายหมดเลย
ในนาทีที่เรารู้ทุกข์ กายนี้ทุกข์ จิตนี้ทุกข์ มันก็วาง ละสมุทัยไป
พอจิตหมดความดิ้นรน นิพพานก็ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาแล้ว
ไม่ต้องไปหานิพพานที่ไหนหรอก
นิพพานไม่ใช่โลกๆ หนึ่ง
นิพพานไม่มีพระพุทธเจ้ามานั่งเข้าแถวอะไรหรอก
นิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยาก
ที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยากได้ ก็เพราะรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง
กายนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
จิตนี้คือตัวทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง
ที่พวกเราปล่อยกายไม่ได้
เพราะเรายังเห็นว่ากายนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง
ที่เราปล่อยจิตไม่ได้
เพราะเราเห็นว่าจิตนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง
มันจะดิ้นรนหาความสุข ดิ้นรนหนีความทุกข์ไปเรื่อย
ตัณหาไม่หมดหรอก
แล้วตรงที่ใจเราดิ้นรน มันจะบังพระนิพพานไว้
นิพพานมีอยู่แล้ว นิพพานไม่ใช่ของที่เกิดใหม่
แต่ว่าเรามองไม่เห็น เพราะโดนตัณหามันบังอยู่
เมื่อจิตมีความอยากเกิดขึ้น แล้วจิตก็ดิ้นเร่าๆๆๆ ก็ไม่สงบสุข ก็ไม่เห็นพระนิพพาน
เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร เราก็ละสมุทัยเมื่อนั้น
ถ้าเราละสมุทัย คือละความอยากได้เมื่อไร
นิโรธคือภาวะที่สิ้นความอยากสิ้นตัณหา ก็ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตา
ในขณะนั้นอริยมรรคก็จะเกิดขึ้น
อริยมรรคจะเกิดได้ 4 ครั้ง ในวัฏฏะ เกิดได้ 4 ครั้ง
ตอนนี้เราตื่นเต้นกับเด็กคนหนึ่งอายุ 5 ขวบ ใครเคยเห็นข่าวไหมเมื่อไม่กี่วันนี้ มีข่าวเด็ก 5 ขวบบอกว่าอยากนิพพาน โลกนี้ไม่มีอะไรเลย โลกนี้มีแต่ทุกข์ อย่างนี้ถ้าเด็กมันพูดเอง ไม่ได้มีใครสอนหรอก อันนี้ของเก่าของเขาเยอะ
เคยภาวนาแล้วมันจะเห็น โลกไม่มีอะไร โลกมีแต่ทุกข์
เขาอยากนิพพานแต่ก็ยังไม่รู้วิธี
เรียนรู้ทุกข์ยังไม่แจ่มแจ้ง แต่ว่าตอนนี้เกลียดทุกข์อยู่
อยู่ในขั้นที่ไม่ชอบทุกข์อยู่
ถ้าเห็นจิตแจ่มแจ้งก็ผ่านไปได้รวดเร็วหรอก ไม่ยาก
ในขณะที่คนส่วนใหญ่ หรือพวกเราเองโลกนี้เป็นสุข เราดิ้นหาความสุขเร่าๆ อยู่ เต้นเร่าๆ อยู่ทั้งวันเลย อยากได้ความสุข อยากหนีความทุกข์
เด็ก 5 ขวบนั้นมันบอกโลกนี้ไม่มีอะไร โลกนี้มีแต่ทุกข์ ใจอยากพ้นโลก
ถ้าใจเรามันไม่ได้อยากพ้นโลกจริงหรอก มันอยากอยู่กับโลกอย่างมีความสุข ถ้าเราตั้งเป้าแค่อยากอยู่กับโลกอย่างมีความสุข เราก็ทำบุญไป สร้างคุณงามความดีอะไรไป พากเพียรไป แล้วก็ภาวนาให้เป็นนิสัยไว้ ต่อไปอีกหลายๆ ภพหลายๆ ชาติ บุญบารมีมากขึ้น มันจะเห็นโลกนี้เป็นทุกข์ขึ้นมา
1
ทำบุญเยอะอาจจะรวย เคยถือศีลดีอาจจะสวยหรือหล่อ
แต่พอสติปัญญาแก่กล้าขึ้นก็รู้มันไม่มีสาระอะไรหรอก
1
อย่างบางคนรวยมีความสุขที่ไหน
พอรวยแล้วก็มีโอกาสทำชั่วได้เยอะ
บางคนหล่อก็มีโอกาสทำชั่วได้เยอะ
ใช้ความหล่อไปหลอกผู้หญิง
1
อย่างที่ท่านพระอานนท์ท่านเคยเป็น ท่านทำบุญแล้วท่านก็อธิษฐานขอให้รูปหล่อ เกิดมารูปหล่อก็ไปเป็นชู้กับเมียชาวบ้านเขา ตกนรกไป
ฉะนั้นสมบัติในโลกมันมีอันตรายแฝงมาด้วย
อย่างเรามีเงินเยอะๆ อันตรายมันก็แฝงมา
เดี๋ยวโจรจะมาปล้นไหม กลุ้ม
เอาเงินไปฝากธนาคาร ธนาคารจะล้มไหม
มีเรื่องกลุ้มทั้งนั้น
1
ฉะนั้นเราค่อยๆ สะสม ค่อยๆ ภาวนาของเราไป
มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
จิตมันจะก้าวกระโดดไป
เอ้า วันนี้เท่านี้ วันนี้เร็ว อยู่กับเครื่องอยู่ไว้
ทำกรรมฐานถ้าไม่มีเครื่องอยู่ มันก็จะหลงยาว
แต่เวลาอยู่กับเครื่องอยู่ก็ต้องอยู่ให้เป็น
อย่าไปบังคับจิต อย่าไปแต่งจิตให้ซึมๆ นิ่งๆ อะไรอย่างนั้น ไม่ต้อง
แค่ระลึกถึงเครื่องอยู่บ่อยๆ
ทำไปเรื่อยๆ เอ้า เชิญกลับบ้าน …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 กันยายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash
โฆษณา