21 ก.ย. 2022 เวลา 07:41 • ข่าว
ข่าว ; 13 ปี Asia-Pacific Amateur Championship ต่อการเป็นบันไดสู่ความสำเร็จบนเวทีระดับโลก
นับตั้งแต่มีการจัดการแข่งขันกอล์ฟรายการ Asia-Pacific Amateur Championship หรือ AAC ขึ้นครั้งแรกในปี 2009 รายการนี้กลายเป็นบันไดสู่ความสำเร็จให้กับเหล่านักกอล์ฟที่เข้าร่วมชิงชัยในระดับโลก และในเดือนตุลาคมนี้บรรดานักกอล์ฟสมัครเล่นหน้าใหม่ต่างหวังสร้างชื่อในรายการนี้ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย ณ สนามอมตะ สปริง คันทรีคลับ ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคม 2565 และเดินตามรอยโปรกอล์ฟระดับชั้นนำที่เคยผ่านเวทีแห่งนี้มาก่อน
นักกอล์ฟที่ผ่านสังเวียนการแข่งขันรายการนี้แล้วก้าวขึ้นไปประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก ทำผลงานคว้าแชมป์เมเจอร์ 2 คน รวมถึงการคว้าแชมป์พีจีเอทัวร์, ดีพี เวิลด์ทัวร์ หรือ ยูโรเปี้ยน ทัวร์, เอเชียนทัวร์ และเจแปนกอล์ฟทัวร์ รวมทั้งสิ้น 102 รายการ และมี 5 คนที่ผงาดครองอันดับหนึ่งนักกอล์ฟสมัครเล่นโลก และ 11 คน ขยับขึ้นไปติดในท็อป 50 ในการจัดอันดับโลกนักกอล์ฟชาย
โดยนับตั้งสมัยของ ปีเตอร์ ธอมป์สัน นักกอล์ฟชาวออสเตรเลีย และ อิซาโอะ อาโอกิ จากญี่ปุ่น ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กลายเป็นแหล่งผลิตนักกอล์ฟฝีมือดีอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จช้า หรือไม่ก็ไม่อยากเสี่ยงไปผจญภัยนอกภูมิภาค ซึ่งมักเกิดจากการขาดเวทีการแข่งขันในการพัฒนาฝีมือ
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเวทีระดับสมัครเล่นของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกิดขึ้นในปี 2009 เมื่อมีการแข่งขันกอล์ฟรายการ Asia-Pacific Amateur Championship ภายใต้ความร่วมมือของมาสเตอร์ส ทัวร์นาเมนท์, อาร์แอนด์เอ และ สมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก (เอพีจีซี)
การมาของ AAC ทำให้การลงเล่นในระดับเมเจอร์อย่าง เดอะ มาสเตอร์ส และ ดิ โอเพ่น ที่เคยเป็นเพียงแค่ความฝันกลายเป็นจริงได้ และช่วยให้นักกอล์ฟสมัครเล่นมีโอกาสร่วมแข่งขันในรายการระดับแชมเปี้ยนชิพที่ดึงดูดความสนใจจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานกอล์ฟ จากแฟนๆ รวมถึงสื่อมวลชน และโค้ชระดับมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก
ราชิด ข่าน นักกอล์ฟจากอินเดีย เป็นหนึ่งในนักกอล์ฟที่ผ่านมาเวทีการแข่งขัน Asia-Pacific Amateur Championship และมาประสบความสำเร็จคว้าแชมป์เอเชียนทัวร์ และ แชมป์ระดับอาชีพของอินเดียหลายการ โดยเจ้าตัวเล่าย้อนถึงความประทับใจในการร่วมแข่งขันรายการ AAC ครั้งแรก ณ สนามมิสชั่นฮิลส์ กอล์ฟ คลับ เมืองเสินเจิ้น ประเทศจีน ว่า
“ตอนนั้นพวกเรากลุ่มนักกอล์ฟสมัครเล่นตื่นเต้นกันมากก่อนถึงทัวร์นาเมนท์ เราแทบรอไม่ไหวที่จะได้ลงเล่นในรายการของ ออกัสต้า เนชั่นแนล กอล์ฟคลับ และ อาร์แอนด์เอ รวมถึงโอกาสที่จะได้ลงเล่นในระดับเมเจอร์อย่าง รายการ เดอะ มาสเตอร์ส พวกเราคาดหวังกันมาก เมื่อเดินไปถึงสนามทุกอย่างน่าทึ่งมาก ตั้งแต่การเตรียมพร้อม การดูแลนักกอล์ฟ ทุกอย่างดำเนินการแบบมืออาชีพและมีมาตรฐานสูงมาก เป็นประสบการณ์ที่พวกเราไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลย และเราอยากได้รับประสบการณ์ดีๆ แบบนี้มากยิ่งขึ้น”
ช่วงปลายยุค 2000s ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นักกอล์ฟจากภูมิภาคนี้เริ่มสร้างชื่อในเวทีระดับโลกเพิ่มมากขึ้น โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จมากมายรวมถึงการคว้าแชมป์ระดับนานาชาติ ขณะที่การแข่งขันในรายการ AAC ก็สร้างแรงบันดาลใจและความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นให้กับนักกอล์ฟ
หลังจากเริ่มจัดการแข่งขันไม่นาน กอล์ฟรายการ AAC ก็ค้นพบดาวดวงใหม่คนแรกนั่นคือ ฮิเดกิ มัตซึยาม่า นักกอล์ฟจากญี่ปุ่นคว้าแชมป์ 2 สมัยติดต่อกันในปี 2010 และ 2011 ก่อนขึ้นครองมือ 1 นักกอล์ฟสมัครเล่นโลก การได้แชมป์ในปี 2010 ทำให้มัตซึยาม่า ได้สิทธิ์รับเชิญร่วมแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์รายการ เดอะ มาสเตอร์ส ปี 2011 และเป็นนักกอล์ฟสมัครเล่นที่ทำสกอร์ดีที่สุด
หลังจากนั้นไม่นานเขาก็คว้าแชมป์ระดับอาชีพในเจแปนกอล์ฟทัวร์ขณะที่ยังเป็นนักกอล์ฟสมัครเล่น และมาประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลกคว้าแชมป์พีจีเอทัวร์ 7 รายการ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการชนะเลิศรายการ เดอะ มาสเตอร์ส ปี 2021 กลายเป็นนักกอล์ฟจากเอเชียคนแรกที่ได้สวมเสื้อ กรีน แจ็กเก็ต
มัตซึยาม่า ฮีโร่ของนักกอล์ฟดาวรุ่งชาวญี่ปุ่น กล่าวว่า “ผมคงไม่ได้ลงเล่นใน เดอะ มาสเตอร์ส หากปราศจากการแข่งขันกอล์ฟ Asia-Pacific Amateur Championship ผมรู้สึกผิดหวังที่ไม่สามารถทำสถิติคว้าแชมป์สมัยที่ 3 ในปี 2012 ในการแข่งขันที่สนามอมตะ สปริง คันทรีคลับ แต่ความผิดหวังครั้งนั้นกลายเป็นแรงผลักดันให้ผมตัดสินใจเทิร์นโปรลงเล่นระดับอาชีพในปีต่อมา”
หลังจากมัตซึยาม่า คว้าแชมป์เดอะ มาสเตอร์ส ไม่ถึง 15 เดือน คาเมรอน สมิธ จากออสเตรเลีย นักกอล์ฟที่เคยผ่านเวทีการแข่งขัน AAC ก็มาสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับประเทศบ้านเกิด กลายเป็นแชมป์เมเจอร์อีกคน จากฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมใน 9 หลุมหลังของการแข่งขันรอบสุดท้ายในวันอาทิตย์ นำไปสู่การคว้าแชมป์ ดิ โอเพ่น ครั้งที่ 150 ณ สนามเซนต์ แอนดรูวส์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
โดยในปี 2011 สมิธ ร่วมแข่งขันกอล์ฟ AAC เป็นครั้งแรก และจบอันดับ 4 ตามหลังมัตซึยาม่า เจ้าของตำแหน่งแชมป์ ซึ่งเล่นรอบสุดท้ายก๊วนเดียวกัน 3 สโตรก ส่วนในการแข่งขันปี 2012 ที่สนามอมตะ สปริง คันทรีคลับ นักกอล์ฟออสซี่เข้าป้ายอันดับ 7 ร่วม
แชมป์ดิ โอเพน คนล่าสุด เล่าย้อนถึงการแข่งขันกอล์ฟ AAC ว่า “ผมยังจำได้ดีตอนที่ร่วมแข่งขันกอล์ฟ Asia-Pacific Amateur Championship ครั้งแรก ผมลงเล่นกลุ่มสุดท้ายกับฮิเดกิ และเขาก็ปิดฉากทัวร์นาเมนท์ด้วยการคว้าแชมป์ เขาเป็นคนแรกที่ผมเล่นด้วยแล้วคิดว่าเขาคือนักกอล์ฟที่ดีที่สุดในโลก มีความทรงจำดีๆมากมายในการแข่งขันครั้งนั้น”
สำหรับนักกอล์ฟที่เข้าป้ายคว้าแชมป์เหนือสองซูเปอร์สตาร์อย่าง มัตซึยาม่าและสมิธ ในการแข่งขันกอล์ฟ Asia-Pacific Amateur Championship ปี 2012 คือ กวน เทียน หลาง วัย 14 ปี จากจีน และกลายเป็นนักกอล์ฟอายุน้อยที่สุดที่ผ่านตัดตัวในการแข่งขันกอล์ฟ เดอะ มาสเตอร์ส ที่ออกัสต้า เนชั่นแนล กอล์ฟ คลับ เดือนเมษายนปีถัดไป แม้โดนลงโทษปรับแต้ม 1 สโตรก
ในปี 2021 มีศิษย์เก่าจากเวทีการแข่งขันกอล์ฟ AAC 3 ราย คว้าแชมป์ในเวทีพีจีเอทัวร์เริ่มจาก ลี คัง-ฮุน จากเกาหลีใต้ ชนะเลิศรายการเอที แอนด์ ที ไบรอน เนลสัน, คาเมรอน เดวิส จากออสเตรเลีย ในรายการร็อคเก็ต มอร์ทเกจ คลาสสิค และลูคัส เฮอร์เบิร์ต โปรกอล์ฟออสเตรเลีย ได้แชมป์รายการเบอร์มิวด้า แชมเปี้ยนชิพ โดยในรายของ ลี คัง-ฮุน และคาเมรอน เดวิส ยังติดทีมนานาชาติร่วมแข่งขันกอล์ฟเพรสซิเดนท์ส คัพ ครั้งแรกในเดือนนี้ พร้อมด้วย มัตซึยาม่า และซี วู คิม ซึ่งผ่านเวทีกอล์ฟ AAC มาเช่นกัน
ด้านเฉิง ซุง ปัน หรือ ซี.ที. ปัน จากไต้หวัน รองแชมป์กอล์ฟ Asia-Pacific Amateur Championship ปี 2012 และไปคว้าแชมป์พีจีเอทัวร์ รวมถึงเหรียญทองแดงในมหากรรมกีฬาโอลิมปิกส์ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “การแข่งขันกอล์ฟ AAC ช่วยให้ผมเติบโตและยืนระยะได้ยาว เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมลงเล่นในเวทีพีจีเอทัวร์ได้อย่างแข็งแกร่งในขณะนี้ ขณะเดียวกันยังเป็นทัวร์นาเมนท์สมัครเล่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผมมีความสุขมากที่ได้เห็นนักกอล์ฟรุ่นใหม่ได้รับโอกาสลงเล่นและโชว์ฝีมือในเวทีใหญ่”
ทั้งนี้ มัตซึยาม่า และ สมิธ ต่างเคยขยับขึ้นรั้งมือ 2 ของโลก มีนักกอล์ฟ 5 รายประกอบด้วย มัตซึยาม่า, ทาคูมิ คานาย่า, เคตะ นากาจิม่า, เคอร์ติส ลัคและชุน อัน ยู ที่ขึ้นครองมือหนึ่งนักกอล์ฟสมัครเล่นโลกหลังจากร่วมแข่งขันกอล์ฟ Asia-Pacific Amateur Championship ที.ซี.ปัน ก็เคยครองมือหนึ่งสมัครเล่นโลกในช่วงหนึ่งก่อนลงแข่งในรายการ AAC
ความสำเร็จในเวทีระดับโลกของนักกอล์ฟที่เคยผ่านเวที AAC ที่กล่าวมา จะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับนักกอล์ฟสมัครเล่นที่เตรียมร่วมชิงชัยในการแข่งขันกอล์ฟ Asia-Pacific Amateur Championship 2022 ที่สนามอมตะ สปริง คันทรีคลับ จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคมนี้
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลของการแข่งขันกอล์ฟเอเอซี ได้ที่ AACgolf.com
เกี่ยวกับการแข่งขันกอล์ฟ Asia-Pacific Amateur Championship
การแข่งขันกอล์ฟ Asia-Pacific Amateur Championship จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2009 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเดอะมาสเตอร์ส ทัวร์นาเมนต์ เดอะอาร์แอนด์เอ และสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก (The Asia-Pacific Golf Confederation : APGC) เพื่อเป็นเวทีพัฒนานักกอล์ฟสมัครเล่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เป็นเวทีการแข่งขันประจำปีสำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นยอดฝีมือจาก 42 ประเทศสมาชิกของสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก โดยแชมป์รายการนี้จะได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขันในระดับเมเจอร์ รายการ เดอะ มาสเตอร์ส 2023 ที่สนามออกัสต้า เนชั่นแนล กอล์ฟ คลับ และ ดิ โอเพ่น ครั้งที่ 151 ที่สนามรอยัล ลิเวอร์พูล ขณะที่รองแชมป์จะได้สิทธิ์ลงเล่นรอบคัดเลือกรอบสุดท้ายเพื่อลุ้นตั๋วลุยศึก ดิ โอเพ่น
***************
โฆษณา