Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Epizte (เอพพิซเต้)
•
ติดตาม
21 ก.ย. 2022 เวลา 08:15 • อาหาร
การเล่าเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบตัวหนังสือ รูปภาพ คำพูด หรือ การกระทำ ล้วนแล้วแต่เป็นการตีความของคนคนหนึ่งที่อยากจะสื่อสารให้อีกฝ่ายได้รับรู้ถึงความรู้สึก ความเข้าใจและ ความต้องการที่เกิดขึ้นระหว่างกันและกันให้เกิดเป็นความประทับใจที่คงอยู่ตลอดไป
เอพพิซเต้ พาทุกคนมารู้จักการใช้อาหารเพื่อเป็นสื่อกลางในการเล่า กับ คุณเอิน สาธิตา สลับแสง- เจ้าของร้าน Barefoot Restaurant
■
Barefoot Restaurant
ร้านอาหารโฮมเมดที่เปิดบริการอาหารทำมือทุกขั้นตอนให้ทั้งคนไทยและต่างชาติมาแล้วกว่า 8 ปี ทว่าคุณเอินเจ้าของร้านอาหารไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นเชฟแต่เป็นเด็กที่รักการขายของและ นักตีความวรรณคดีอังกฤษจึงทำให้เส้นทางการทำร้านอาหารนั้นค่อนข้างคดเคี้ยวไม่เหมือนคนอื่น คุณเอินเล่าว่า ตอนที่เราเรียนจบเราก็ไปลองทำงานแต่ไม่ได้เป็น full time จะรับงานเป็นงานๆ ไป เช่น เป็นแบบผู้ช่วยศิลปิน แปลเอกสาร แล้วก็จะมีพรีออร์เดอร์ขนมหรืออาหารที่เราทำไปให้คนที่สั่ง ตัวพรีออร์เดอร์เราจะเริ่มขายมาตั้งแต่เด็กๆ
เพราะว่าเราเป็นคนชอบขายของ ขายมาตั้งแต่มัธยมปลาย ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเป็น Barefoot คือ เราเคยทำขนมแล้วเอาไปส่งที่ร้านชื่อ “เพนกวิน เก็ตโต้” พี่เจ้าของร้านแนะนำว่ามีบ้านเช่าว่างอยู่สนใจมาเปิดร้านด้วยกันไหม ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ ตรงนี้จะเป็นที่ตั้งเริ่มแรกของร้านซึ่งจะอยู่ตรงถนนคันคลองจะเป็นเหมือนบ้านเช่าหลังเล็กๆ หลายหลัง ต่อมาเราก็ย้ายมาอยู่ที่นี่และกลายเป็น Barefoot Restaurant
■
วัตถุดิบสื่อกลางที่ใช้เล่าเรื่อง
“เราคิดว่าเชียงใหม่มีเสน่ห์ตรงที่วัฒนธรรมของคนและ วัตถุดิบในท้องถิ่น” คุณเอินเป็นอีกคนหนึ่งที่รักในวัฒนธรรมเชียงใหม่ คุณเอินเล่าว่า เรามีความสนใจเรื่องวัตถุดิบในท้องถิ่นคือเราอยู่ที่เชียงใหม่แต่พ่อแม่เราไม่ได้มีความรู้ความเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมอะไรเท่าไหร่เราคิดว่าถ้าเราใช้วัตถุดิบเป็นสื่อกลางในการเล่าเรื่องมันก็น่าจะดี เราเรียนเอกภาษาอังกฤษวรรณคดีมันก็จะเน้นเกี่ยวกับการตีความ
ซึ่งส่วนใหญ่คนก็จะคิดว่าการตีความคือการอ่านหนังสือ แต่ทีนี้เราพยายามจากที่เราใช้หนังสือในการสื่อสาร เราเอาตัววัตถุดิบมาเป็นสื่อกลางเพื่อทำให้คนสองฝ่ายได้มีความเข้าใจคอนเนคกันโดยใช้อาหารเป็นสื่อกลาง
เพราะว่าอย่างในเวอร์ชันแรกของที่ร้านจะเป็นครัวเปิดลูกค้าก็นั่งล้อมเหมือนเป็นซูซิบาร์ ลูกค้าเห็นวัตถุดิบวิธีการทำว่าเราทำกันยังไง คือเราก็จะรู้ว่าเราทำอาหารให้ใครเขาก็จะรู้ว่าอาหารที่เขากินทำยังไงมาจากไหน อย่างวัตถุดิบเราก็เลือกจากผู้ประกอบการในท้องถิ่นเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้ว่าเมนูของเราจะเป็นอาหารฝรั่งก็ตาม
■
โฮมเมดคือความสบายใจของเรา
ถ้าพูดถึง “โฮมเมด” เราอาจจะคิดว่ามันคือของที่ทำจากมือ ทำมาจากที่บ้าน แต่คุณเอินอธิบายว่า “แต่ละคนให้ความหมายของคำว่าโฮมเมดไม่เหมือนกัน เราไม่รู้ว่าร้านที่เรียกตัวเองว่า แซนด์วิชโฮมเมดคือเขาเอาขนมปังสำเร็จ มายองเนสสำเร็จ แฮมสำเร็จเอามาประกอบกัน แล้วเรียกว่าโฮมเมดแซนด์วิชอย่างนี้หรือเปล่า สำหรับเขามันอาจจะใช่ แต่ว่าสำหรับเราถ้าเราบอกว่าร้านเรามีแซนด์วิชขายก็จะแปลว่าเราเริ่มทำเองตั้งแต่ขนมปัง ตีมายองเนสเอง เราจะใช้แฮม ไส้กรอกแต่เราก็จะรู้ว่าของพวกนี้มาจากผู้ผลิตคนไหน เขามีกระบวนการทำยังไง
ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของเราเองและ เพื่อความสบายใจของลูกค้าด้วย ซึ่งเราให้ความหมายของโฮมเมดว่า “มันก็น่าจะเป็นคนทำตั้งใจทำเราสามารถรู้ว่าวัตถุดิบมาจากไหนทุกกระบวนการทำเราเริ่มทำเองตั้งแต่กระบวนการแรก”
■
อาหารฝรั่งจากวัตถุดิบล้านนา
วัตถุดิบท้องถิ่นในเชียงใหม่มีมากมายหลายอย่างให้คนทำครัวได้เลือกใช้ แต่ใครจะคิดว่าวัตถุดิบเหล่านี้สามารถนำมาทำเป็นอาหารที่ไม่ใช่อาหารไทยได้
“Barefoot Restaurant จุดเด่นของเราก็คือพาสต้าเส้นสดและ การเลือกใช้วัตถุดิบโฮมเมด”
คุณเอินเล่าว่า ถึงแม้อาหารที่ร้านเราดูเป็นอาหารฝรั่ง แต่ข้างในแล้วเป็นเชียงใหม่ล้านนามาก เพราะว่าเราเลือกใช้วัตถุดิบจากผู้ประกอบการในท้องถิ่น ซึ่งต้องบอกว่าเราเรียนรู้การทำอาหารด้วยตัวเองไม่ได้ไปเรียน Cooking School อะไรแบบนั้น เราพยายามถามฟีคแบคจากลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงเราคิดว่าข้อดีคือ ตัวเราและน้องๆ พนักงาน ที่เขาไม่มีความรู้ในทางทฤษฎีมาเรียนรู้กับลูกค้าที่มอบคำแนะนำให้ ซึ่งเราก็พร้อมปรับและเปลี่ยนเพราะเราไม่ได้มีอีโก้ในส่วนนั้น
มันจะลำบากนิดนึงไม่ใช่ทางลัดกว่าจะรู้ว่าเขาทำกันแบบนี้ก็ใช้เวลานานอยู่เหมือนกัน ถ้าย้อนกลับไป 8 ปีที่แล้ว อะไรคือพาสต้าเส้นสด บางคนก็ไม่เข้าใจ แต่เขาเปิดใจลองไปพร้อมๆ กับเรา ทั้งลูกค้า เรา และร้านโตเติบโตขึ้นมาด้วยกัน ซึ่งส่วนนี้คือแรงบันดาลใจในการทำอาหารของเรา ที่ได้รับมาจากสิ่งรอบตัว ความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัด ความเป็นวัตถุดิบตามฤดูกาลและ ความเข้าใจง่ายสำหรับลูกค้า
■
การเพิ่มมูลค่าให้ตัววัตถุดิบ
การ Add Value ให้อาหารเป็นสิ่งที่ดีถ้าคนที่เราสื่อสารนั้นเข้าใจในอุดมการณ์ของเรา
“ในความเป็นจริงแล้วเรื่องการ Add Value ถ้าเขายังไม่ได้คลุกคลีในวงการความยั่งยืนเขาไม่ได้มีไอเดียเดียวกับเรา เขาก็ไม่สามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เราทำ”
คุณเอินพูดว่า อย่างบางคนเขาจะคิดว่าการใช้วัตถุดิบจากคนในท้องถิ่นมันถูกกว่าใช้ของแบบกระป๋องหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้ววัตถุดิบในท้องถิ่นมีราคาสูงกว่า เราค่อยๆ พยายามอยากโชว์ว่าวัตถุดิบของเราก็มีค่า
เราไม่ได้ add value ให้สินค้าเราแต่เรา add value ให้กับวัตถุดิบความเป็นท้องถิ่นมากกว่า แล้วให้คนเข้ามาทำความรู้จัก ซึ่งจริงๆ คนเชียงใหม่อาจจะไม่รู้จักผักที่เรามีกันในปัจจุบันแล้ว
■
เพราะว่าเราก็ไม่เคยพูดว่าเราเป็น Italian Restaurant
คุณเอินเล่าว่า “อาหารของเราจะปรุงไม่เยอะ ด้วยความที่เราใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเราปรุงแค่นิดเดียวแต่ว่าเราคัดเลือกวัตถุดิบที่ดี” ตอนแรกเราคิดว่าถ้ามีลูกค้าฝรั่งเข้ามากิน เขาจะคิดว่ามันไม่เหมือนที่ฉันเคยกิน แต่กลายเป็นว่าอันนี้คือ “Homemade Italian Food” จริงๆ เพราะเขาบอกว่าหัวใจหลักของอาหารอิตาเลียนคือการใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลและ วัตถุดิบในท้องถิ่น ซึ่งเราก็ไม่เคยไปอิตาลีเราแค่คิดว่าแบบนี้มันดี ซึ่งมันก็ตรงกับความคาดหวังของเขาพอดี
จริงๆ ถ้าเป็นลูกค้าฝั่งยุโรปเขาก็โอเคนะ แต่ว่าถ้าเป็นลูกค้าไทย หรือทางเอเชียเขาอาจจะติดคอนเซปต์อาหารอิตาเลียนต้องมีเปปเปอร์โรนี ต้องมีซาลามี่ในพิซซ่า แต่พอเราอธิบายคอนเซปต์ของร้านเขาก็จะเข้าใจว่าร้านเราไม่ใช่ร้านอิตาเลียนมันเป็นแค่ร้านที่เสิร์ฟพาสต้าแต่ว่ามันเป็นวัตถุดิบในเชียงใหม่นี่แหละ เพราะว่าเราก็ไม่เคยพูดว่าเราเป็น Italian Restaurant
■
ความชอบที่ไม่มีข้อจำกัด
ความชอบเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะเราต่างก็มีรสนิยมไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นมันคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมาบังคับให้คนอื่นมาชอบในสิ่งที่เราชอบ ซึ่งเรื่องของการกินก็เช่นกัน คุณเอินเล่าว่า เรื่องรสชาติอาหารมันเป็นเรื่องของความชอบของใครของมันมากกว่า แต่ว่าถ้าพูดถึงว่าอาหารที่ทำให้เรารู้สึกดีก็จะต้องมีการคอนเนคกันถ้าเรารับรู้ได้มากกว่ากายภาพมันก็จะดีในเชิงอารมณ์ในเชิงจิตใจ
■
รู้ไม่หมดเดี๋ยวเล่าแล้วไม่อิน
นักเล่าที่ดีควรจะรู้ลึกรู้จริง และข้อมูลนั้นต้องมีแหล่งที่มาไม่อย่างนั้นเวลาเราเอาไปเล่าต่อ อาจจะทำให้เราไม่มั่นใจและ ไม่อินกับสิ่งที่กำลังสื่อสารออกไป คุณเอินเล่าว่า เราเป็นคนชอบเล่าเรื่องอย่างที่บอกว่าโฮมเมดในความหมายของเราคือเรารู้ว่าของที่เราใช้มาจากไหนแล้วเรารู้ว่าเราทำยังไง ถ้าเราไม่รู้ทะลุทะลวงตั้งแต่แรกเราก็จะเล่าเรื่องได้ไม่เต็มปาก มันก็จะเหมือนไม่โปร่งใส และการได้เล่าเรื่องผ่านอาหารทำให้เรารู้สึกมีความสุขมากๆ
อย่างเวลาคนที่เขามาคนเดียวเขาก็จะสั่งเมนูเดิม นั่งมุมโปรดมุมเดิมของเขา เขาก็จะรู้สึกว่าที่นี่เหมือนเป็นบ้านเป็นที่ๆ สบายใจของเขา เพราะด้วยเราวาง Position ของร้านว่า ไม่ใช่ร้านอาหารฝรั่งหรูที่แบบต้องแต่งตัวสวย ใช้ช้อน หรือต้องเกร็งตัวอะไรแบบนี้ มันเลยทำให้คนที่เข้ามารู้สึกสบายใจ
สุดท้ายนี้คุณเอินได้ฝากข้อคิดดีๆ ให้พวกเราชาวเอพพิซเต้ ไม่ว่าจะทำงานหรือทำธุรกิจอะไรมันก็มีปัญหาเหมือนกันหมด บางคนอาจจะคิดว่าเป็นพนักงานบริษัทเป็นลูกจ้างมันไม่ค่อยโอเค ออกมาทำธุรกิจของตัวดีกว่าสบายกว่าตั้งเยอะ แต่พอมาทำจริงมันไม่ได้มีแค่ภาพที่เราเห็น เบื้องหลังเวลาเลิกงานเจ้าของก็ยังไม่เลิกทำงาน หรือว่าเวลาของขายไม่ดี พนักงานสบายเพราะว่าเขาไม่ต้องทำงานแต่กลายเป็นว่าการเงินมันก็ไม่คล่องแล้วทีนี้จะทำยังไง
อาจจะมีภาพที่เราไม่เคยคิด ถ้าวางแผน หาความรู้ดีๆ ให้มันเป๊ะก่อนแล้วค่อยลงมือทำก็ได้ ไม่งั้นก็ต้องมาคลำแบบเรา แต่มันก็สนุกไปอีกแบบ
อย่างคนที่ทำธุรกิจหรือเป็นเจ้าของแล้วบางทีก็อาจจะไม่เคยมองในมุมของลูกจ้าง บางคนไม่เคยเป็นลูกจ้างมาก่อน แล้วมาเป็นนายจ้างเลย เราก็จะไม่มีความเข้าใจว่าลูกจ้างเขาเหนื่อยหรือว่าต้องการอะไร ดังนั้นเราควรจะมองกลมๆ จากทุกมุมมองที่เราเห็น
เพราะทุกเรื่องราวที่สื่อสารออกไปเป็นการเรียบเรียงที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาหลายขั้นตอนเพื่อให้สิ่งที่เล่าออกไปสวยงามมากที่สุด เอพพิซเต้เชื่อว่าเราทุกคนควรค่าต่อการถูกเขียนบันทึกลงในสมุดของใครสักคนเพื่อบันทึกเป็นความทรงจำดีๆ และสักวันสมุดเล่มนั้นจะถูกเปิดอ่านเพื่อเล่าเรื่องราวต่อไป
ขอบคุณเรื่องราวดีๆ จาก คุณเอิน สาธิตา สลับแสง- เจ้าของร้าน Barefoot Restaurant
สามารถติดตาม Barefoot Restaurant
https://www.facebook.com/barefootcafechiangmai
#Epizte #เอพพิซเต้ #เชียงใหม่ #Chiangmai# ที่เที่ยวเชียงใหม่ # BarefootRestaurant#ร้านอาหารโฮมเมด#
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย