21 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“วิกฤติอาหาร” ที่กำลังเกิดขึ้น อาจผลักคน 1,700 ล้านคนเผชิญกับความอดอยาก
คุณ Maximo Torero Cullen จาก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาด้านการจัดหาอาหารทั่วโลกในขณะนี้อาจนำไปสู่หายนะครั้งใหญ่ได้
ราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้น อาจส่งผลต่อไปยังราคาอาหารที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นความตายของผู้คนนับล้านทั่วโลก
ซึ่งองค์กรต่าง ๆ เช่น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
กำลังติดตามผลกระทบของการขึ้นราคาต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลกอย่างใกล้ชิด
 
การขาดแคลนข้าวสาลีและปุ๋ยได้ผลักดันให้ราคาและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอาหารสำหรับประเทศที่เปราะบางเพิ่มขึ้นมากกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำให้ผู้คน 1,700 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะอดอยาก
ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่อยู่เบื้องหลังปัญหาราคาอาหารที่เรากำลังเผชิญ คือ
ความขัดแย้งทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในช่วงโควิด 19
ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ประเทศยากจนส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านอาหาร
และสาเหตุสุดท้าย คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดย สงครามในยูเครนทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น
เนื่องจากยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ส่งออกหลักด้านธัญพืช
กว่า 50 ประเทศทั่วโลกพึ่งพาธัญพืชจากรัสเซียและยูเครนอย่างน้อย 30% ของการนำเข้าธัญพืชทั้งหมด
1
อีกปัจจัยหนึ่งคือ รัสเซียเป็นผู้ส่งออกไนโตรเจนอันดับต้น ๆ ของโลก
รองลงมาคือ โพแทสเซียม และที่สามของปุ๋ยฟอสฟอรัส
1
การหยุดส่งออกปุ๋ย ทำให้ราคาปุ๋ยที่สูงอยู่แล้วก่อนสงครามนั้นสูงขึ้นไปอีก
และทำให้เกิดปัญหาสำคัญกับเกษตรกร
ดังนั้นผลกระทบต่อประเทศผู้นำเข้าอาหารจึงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
ประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านการนำเข้าอาหารที่สูงขึ้นและต้นทุนปุ๋ยที่สูงขึ้น
ซึ่งปัญหานี้ได้กลายมาเป็นปัญหาหลักที่โลกเราควรกังวล
เนื่องจากค่าใช้จ่ายของปุ๋ยเพิ่มขึ้นมากว่า 4 เท่า ทำให้เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้อีกต่อไป และจะส่งผลกระทบต่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวในปีนี้และปีหน้า
📌 วิกฤติอาหารและผลกระทบต่อกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ในกรณีของแอฟริกา ผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ คือ ประเทศในแอฟริกาตอนเหนือ
โดยมากกว่า 50% ของการนำเข้าข้าวสาลีมาจากรัสเซียและยูเครน
ขณะที่ Sub-Saharan Africa แตกต่างออกไป เนื่องจากไม่ได้พึ่งพาข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบหลัก
แต่ใน 62 ประเทศที่เปราะบางที่สุดในโลก กำลังเผชิญกับต้นทุนนำเข้าอาหารที่เพิ่มขึ้นประมาณ 25.4 พันล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และสิ่งนี้กำลังจะไปส่งผลกระทบต่อผู้คนราว 1,700 ล้านคน
หากสงครามยังคงดำเนินต่อไป ในปี 2022 และ 2023
ทั่วโลกอาจประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารควบคู่ไปกับปัญหามีอาหารไม่พอ
เนื่องจากยูเครนและรัสเซียจะลดการส่งออกอาหารลงอย่างมาก รวมลดการส่งออกปุ๋ย
ทาง FAO ประเมินว่ายูเครนสามารถ ลดการส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 40% และรัสเซียอาจทำสิ่งที่คล้ายกัน
นอกจากปัญหาด้านราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นจะไปกระทบต่อการผลิตข้าวในปีหน้าแล้ว
ฤดูมรสุมและปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศอาจไปส่งผลกระทบต่อการหว่านข้าวในอินเดีย
ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านวิกฤติอาหารมากขึ้น เนื่องจากข้าวเป็นวัตถุดิบหลักทั่วโลก
และจากการวิจัยของ FAO แสดงให้เห็นว่าปัญหาในรัสเซียยูเครนคิดเป็นสัดส่วนถึง 72% ของความไม่มั่นคงด้านอาหารที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ ปี 2016
โดยประเทศที่อ่อนแอส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่พึ่งพาการนำเข้าอาหาร
นอกจากนี้ยังมีเรื่องปัญหาเรื่องดุลการชำระเงินอีกด้วย
โดยประเทศอย่าง อัฟกานิสถาน บูร์กินาฟาโซ บุรุนดี สาธารณรัฐอัฟริกากลาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี เอริเทรีย เอธิโอเปีย แกมเบีย กินี ไลบีเรีย มาลี โมซัมบิก ไนเจอร์ รวันดา เซียร์ราลีโอน โซมาเลีย ซูดานใต้ ซูดาน ซีเรีย โตโก และเยเมน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนหนี้ที่สูงเกินไปแล้ว
ซึ่งจะทำให้ประเทศเหล่านี้มีความยากลำบากต่อต้นทุนการนำเข้าอาหารที่สูงขึ้น
📌 แล้วเราจะป้องกันวิกฤติในปัจจุบันไม่ให้กลายเป็นหายนะด้านมนุษยธรรมทั่วโลกได้อย่างไร
FAO ไม่เชื่อว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤติด้านอาหารในขณะนี้
แต่เรากำลังมีปัญหาการเข้าถึงอาหารอย่างร้ายแรง
ขั้นตอนเร่งด่วนอันดับแรก คือ การช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถจัดการกับต้นทุนด้านอาหารที่สูงขึ้นได้ จากนั้นเราต้องเร่งกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอาหาร พยายามทำให้การค้าขายเป็นปกติ
โดยทั่วโลกจำเป็นต้องเพิ่มความโปร่งใสของข้อมูล ทำระบบข้อมูลตลาดทางการเกษตร
รวมไปถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ปุ๋ย
นอกจากนี้ ต้องระบุให้ได้ว่าความไม่มั่นคงด้านอาหารอยู่ที่ไหน
เพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายใหม่ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา