22 ก.ย. 2022 เวลา 03:28 • การเกษตร
"ข้าวยักษ์" ของจีน คือข้าวแคระดี ๆ นี่เอง เมื่อเปรียบเทียบกับข้าว "ปิ่นแก้ว" ข้าวขึ้นน้ำของไทย ซึ่งมีความสูงกว่า 6 เมตร
ข้าวยักษ์ของจีนถูกพัฒนาโดยใช้ความรู้เรื่องจีโนมข้าว เทคโนโลยี MAS (Marker Assisted Technology) จากการผสมกับพันธุ์ข้าวป่า มีความสูงประมาณ 2 เมตร และได้ผลผลิตในแปลงทดสอบประมาณ 2 ตัน/ไร่ ปัจจุบันถูกนำไปส่งเสริมปลูก/กึ่งทดสอบ ในระบบการเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำอื่นๆในนาข้าวตามวิถีการทำนาในอดีตของจีน เพราะสามารถปลูกได้ในน้ำลึกถึง 60 ซม.
ความแตกต่างคือ ข้าวปิ่นแก้วของไทยเกิดจากการคัดเลือกสายพันธุ์ของชุมชนชาวนาในที่ราบลุ่มน้ำท่วมสูง ในระบบนิเวศเกษตรของภาคกลางในอดีต
ข้าวปิ่นแก้วสามารถยืดปล้องได้อย่างรวดเร็วเมื่อยามน้ำหลาก ชาวนาในอดีตไม่ต้องเลี้ยงปลาในนาข้าว ก็มีปลาให้จับกินแบ่งปันกันอย่างอุดมสมบูรณ์ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าว จนเกิดคำว่า "ข้าวใหม่ปลามัน" เป็นประจักษ์พยาน
ส่วนข้าวยักษ์ของจีนเป็นนวัตกรรมใหม่ แต่ก็พัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำอื่นๆในนาข้าวของพวกเขา เพื่อรับมือกับอนาคต
ในขณะที่ข้าวปิ่นแก้วและข้าวขึ้นน้ำหลายสายพันธุ์แทบจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว พร้อมๆกับระบบนิเวศเกษตรแบบเดิม
กรมการข้าวพยายามคัดเลือกและพัฒนาทั้งพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำและข้าวทนน้ำลึก แต่ไม่เป็นที่รู้จักและนำมาใช้นักเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ
หากต้องการมีข้าวปลาอาหารที่อุดมสมบูรณ์อย่างในอดีต ซึ่งไม่อาจหวนคืนกลับไปได้อีก เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงแค่พันธุ์ข้าว แต่เราต้องการการเปลี่ยนแปลงระบบ (system change) และความสัมพันธ์ทางสังคม
ระบบที่ว่า และต้องสร้างขึ้นใหม่ โดยการเรียนรู้จากความรู้เดิมประสานกับความรู้ใหม่ และนิเวศวิทยา คือสิ่งที่เรียกว่า "นิเวศเกษตร"
เรื่องเล่า "ข้าวปิ่นแก้ว"
ข้าวปิ่นแก้วเป็นข้าวไทยที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดเมล็ดพันธุ์ข้าวโลกที่เมืองเรจินา(Regina) ประเทศแคนาดาในสมัยรัชกาลที่ 7 ปีพ.ศ.2476 การประกวดครั้งนั้นมีประเทศต่างๆส่งข้าวเข้าประกวดถึง 176 รายการ มีรางวัลทั้งหมด 20 รางวัล ผลการตัดสินปรากฏว่า ข้าวจากประเทศสยามคว้ามาทั้งสิ้น 11 รางวัล โดยมีข้าวปิ่นแก้วเป็นนางเอก ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้ข้าวไทยมีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกมาถึงบัดนี้
ข้าวปิ่นแก้ว มีภาพข้าวสูงแต่ไม่มีคำอธิบายอะไร
โฆษณา