22 ก.ย. 2022 เวลา 13:19 • กีฬา
#TSN : อังเดร อิกัวดาล่า: ตัวแทนของคำว่า "ความขยันถูกที่ ไม่กี่ปีก็อาจสำเร็จ"
เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินประโยคคลาสสิคที่ว่า ขยันผิดที่ 10 ปี ก็ไม่รวย ซึ่งถ้าเปรียบกับเหล่าบรรดานักบาสเกตบอลในวงการเอ็นบีเอ คงหนีไม่พ้นกลุ่ม ราชาไร้มงกุฎ ไม่ว่าจะเป็น ชาร์ลส์ บาร์คลี่ย์, คาร์ล มาโลน จอห์น สต็อกตัน, แกรี่ เพย์ตัน, อัลเลน ไอเวอร์สัน หรือ สตีฟ แนช ที่มีผลงานระดับสุดยอดในอดีตแต่กลับมาเคยได้แหวนแชมป์มาครอบครอง
เช่นเดียวกับผู้เล่นที่ยังวนเวียนอยู่ในลีกอย่าง คาร์เมโล แอนโธนี่, คริส พอล, รัสเซลล์ เวสต์บรูค หรือ เจมส์ ฮาร์เด้น ซึ่งชีวิตเข้าสู่บั้นปลายอาชีพแล้ว แต่ก็ยังหาแชมป์สมัยแรกไม่เจอเสียที
การเปรียบเทียบในเชิงความรวยกับความสำเร็จอาจแตกต่างแต่ก็ใกล้เคียงกันมาก เพราะบางครั้งเส้นทางชีวิตของคนเราจะต้องอาศัยองค์ประกอบอย่างอื่นที่ไม่ใช่เพียงแค่ความสามารถของตนเอง แต่มีความเกี่ยวพันกับจังหวะ เวลา โอกาส รวมถึงการอยู่ถูกที่ถูกเวลาในคราวเดียวกัน และสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการกล้าที่จะเปลี่ยนตัวเอง
อังเดร อิกัวดาล่า คือแบบอย่างของคนที่ทำในสิ่งเหล่านั้น เขาคืออดีตนักบาสฝีมือดีระดับออลสตาร์สมัยลลงเล่นให้กับ ฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ ซิกเซอร์ส แต่จังหวะและเวลาที่ถูกต้องกลับทำให้เขาคว้าแชมป์กับ โกลเด้น สเตท วอริเออร์ส ถึง 4 สมัย เรื่องราวของเขาสามารถหยิบยกมาเพื่อเล่นกับสุภาษิตข้างต้นในทางกลับกันได้ว่า เขาคือชายที่เลือก “ขยันถูกที่ ไม่กี่ปีก็สำเร็จ”
แต่เส้นทางกว่าเขาจะมาได้ถูกที่และถูกเวลาเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่
[ผู้เล่นที่มีทักษะรอบด้านและไอคิวกีฬาในระดับสูง]
เดิมทีอิกัวดาล่าเป็นนักบาสเกตบอลที่ถูกจับตามองมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย เป็นผู้เล่นตำแหน่งฟอร์เวิร์ดที่เก่งมากจนถูกจัดให้อยู่อันดับ 6 ของนักบาสมัธยมปลายในตำแหน่งนี้ และเป็นอันดับที่ 26 ของผู้เล่นทั่วประเทศในปี 2002 พอชีวิตต้องก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเขาก็ตัดสินใจเลือก ม.แอริโซน่า ความเก่งกาจของเขาเป็นที่รู้จักทั่วถึงอยู่แล้ว
“เขาจะต้องเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เก่งสุดจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้” ลุค วอลตัน อดีตผู้เล่นของเอ็นบีเอ และเป็นเพื่อนร่วมทีมสมัยมหาวิทยาลัยจำกัดความศักพภาพสั้นๆให้กับเพื่อนร่วมทีม ซึ่งท้ายที่สุด อิกัวดาล่า จบฤดูกาลแรกในมหาวิทยาลัยด้วยการเป็นผู้เล่นที่ทำทุกสถิติติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของทีม และตลอด 2 ซีซั่นกับทีมเขาคือคนที่โดดเด่นที่สุดในฐานะผู้เล่นที่เก่งรอบด้าน (หมายถึงทำได้ทุกอย่าง ทั้งคะแนน รีบาวด์ แอสซิสต์ ขโมยบอล บล็อค หรือ การป้องกัน)
และถึงแม้แอริโซน่าจะไปไม่ถึงตำแหน่งแชมป์ NCAA แต่มันก็โดดเด่นพอที่จะทำให้เขาเป็นที่จับจ้องจากเหล่าทีมในลีกเอ็นบีเอ ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ตัดสินใจเข้าร่วมการดราฟท์ในปี 2004 ทันที
[ศิษย์โปรดของ ไอเวอร์สัน]
ทันทีที่การประกาศเลือกผู้เล่นหน้าใหม่ปี 2004 ดำเนินมาถึงอันดับที่ 9 ซึ่งเป็นสิทธิของทีมฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ ซิกเซอร์ส ชื่อของ อังเดร อิกัวดาล่า ก็ได้ถูกเรียกขึ้นบนเวที แม้จะเป็นวันแห่งความสุขของทั้งตัวเขาและครอบครัว แต่สื่อก็หาช่องทำให้เด็กหนุ่มจากอิลลินอยส์ต้องเผชิญกับแรงกดดันทังๆยังไม่ทันได้เริ่มลงสนามแข่งขันให้กับทีม
“ผมชื่นชมสภาพร่างกายในฐานะนักกีฬาของ อังเดร อิกัวดาล่า แต่ผมคิดว่า ซิกเซอร์ส ควรจะเลือก ลุค แจ็คสัน จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน ในอันดับที่ 9 มากกว่า เพราะ อิกัวดาล่า ไม่มีความสามารถในการเล่นฟาสเบรก หรือ การเคลื่อนที่ที่ดีพอ สำหรับผม แจ็คสัน ที่สามารถชู้ตจากระยะ 3 คะแนนได้แม่น 44% จะเหมาะกับการเป็นผู้เล่นข้างกายของ อัลเลน ไอเวอร์สัน มากกว่า” ดิค วิเทล คอลัมนิสต์ของอีเอสพีเอ็น เคยวิจารณ์ถึงการเลือก อิกัวดาล่า ซึ่งชู้ต 3 คะแนนได้แค่ 27% ของ ซิกเซอร์ส
อย่างไรก็ตาม อิกัวดาล่า ซึ่งถูกจัดให้เป็นนักบาสที่เล่นด้วย IQ ก็ใช้เวลาไม่นานนักในการปรับตัวกับทีม โดยได้รับโอกาสออกสตาร์ททั้ง 82 เกม ในฤดูกาลปกติ และ อีก 5 เกมในรอบเพลย์ออฟ นั่นสะท้อนให้เห็นเขาได้รับความไว้วางใจจากทีมมากขนาดไหน ไม่เว้นแม้กระทั่งจากสุดยอดนักบาสอย่าง อัลเลน ไอเวอร์สัน
“ผมไม่ต้องการให้คุณลืมว่าเขาเป็นยังไง ไกลแค่ไหนเข้าก็กระโดดไปถึง ผมเห็นเขาทำมาหลายอย่างขอแค่ให้เขาได้เทคตัวขึ้นจากพื้นสนาม” เอไอ ยกย่องว่า อิกัวดาล่า คือผู้เล่นที่ดั๊งค์ได้สะใจและถูกใจเขามากที่สุด เหนือกว่าราชาสแลมดั๊งค์อย่าง วินซ์ คาร์เตอร์ หรือใครๆในลีก
ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ทั้งคู่มีโอกาสได้เล่นร่วมกัน บ่อยครั้งที่ไอเวอร์สัน จะเล่นลูกแอลลี่ย์-อู๊ป (โยนให้อีกคนรับบอลแล้วดั๊งค์ลงห่วง) คู่กันกับ อิกัวดาล่า ความเอ็นดูที่เกิดจากการเห็นศักยภาพและความมุ่งมั่นของ รุ่นน้องคนนี้ ทำให้ไอเวอร์สัน วางตัวกับ อิกกี้ เหมือนเพื่อนสนิท พี่ชาย และเมนเทอร์ ไปพร้อมๆกัน อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่ง ไอเวอร์สัน กลับกลายสาเหตุที่สร้างแรงกดดันให้กับ อิกัวดาล่า ตลอด 6 ปีหลังจากนั้น
[ผลตอบแทนของการเป็นทุกอย่างให้ ซิกเซอร์ส]
ฤดูกาลในปี 2006 เริ่มต้นไปเพียง 15 เกม ซิกเซอร์สลงมือเทรดครั้งสำคัญส่ง ไอเวอร์สัน ไปยังเดนเวอร์ นักเก็ตส์ เพื่อแลกกับสองผู้เล่นและสิทธิดราฟท์รอบแรกปี 2007 สองครั้ง แม้ว่าจากการแถลงของทีมจะดูอ้อมค้อมว่าทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และต้องการปลดล็อคเพดานค่าจ้างของทีมให้มีความยืดหยุ่น สำหรับการสร้างทีมในอนาคต แต่แฟนๆที่ติดตามบาสตอนนั้นจะมองออกทันทีว่า ซิกเซอร์ส กำลังอยากสร้างทีมโดยให้ อิกัวดาล่า เป็นแกนกลาง
จากฉายา AI2 ที่มีไว้เรียกเพื่อบ่งบอกถึงการเป็นคู่หูกับ ไอเวอร์สัน เริ่มกลายเป็นความคาดหวังและแรงกดดัน เพราะเมื่อทีมเสียไอเวอร์สันที่เป็นทั้งโลโก้และตัวทำคะแนนหลักของทีม การจับจ้องผลงานของ อิกัวดาล่า ก็เริ่มมากขึ้น และในฤดูกาลนั้นเขาต้องลงเล่นเฉลี่ยเกมละ 40.3 นาที เนื่องจากเป็นผู้เล่นที่บุกและรับได้ดีที่สุด จนโค้ชมอรีส ชีค ไม่ค่อยกล้าจับเขานั่งพักนานเท่าไหร่นัก
อิกัวดาล่า เร่งเครื่องพาทีมที่เริ่มต้นฤดูกาลนั้นด้วยสถิติ แพ้ 9 ชนะ 26 จาก 35 เกมแรก จบซีซั่นด้วยอันดับ 9 ของสายตะวันออกพลาดเพลย์ออฟไปอย่างน่าเสียดาย แต่เขาก็สามารถยกรับการเล่นของตัวเองขึ้นเทียบเท่ากับผู้เล่นซูเปอร์สตาร์ของลีก โดยเขาเป็นผู้เล่นเพียง 1 ใน 4 คน ที่สามารถทำแต้มเฉลี่ยระดับ 18 แต้มขึ้นไป พร้อมด้วยการมี 5 รีบาวด์ และ 5 แอสซิสต์เป็นอย่างน้อย ซึ่งอีก 3 คน คือ เลบรอน เจมส์, โคบี้ ไบรอันท์ และ เทรซี่ แมคเกรดี้
ความเติบโตของ อิกัวดาล่า เริ่มทำให้ทีมยิ่งต้องการผลักดันให้เขาเป็นผู้นำแบบเต็มตัวพร้อมกับต้องการรั่งตัวเอาไว้ให้ได้นานที่สุด ปี 2008 ซิกเซอร์สจัดการทุ่มสัญญา 6 ปี 80 ล้านเหรียญ (ราว 2.7 พันล้านบาท อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ ต่อ 34 บาท ในปี 2008) และถึงแม้ทีมจะพยายามตัวผู้เล่นเข้ามาเสริมขนาดไหนก็ตาม รวมถึงการนำไอเวอร์สันกลับมาร่วมทีมอีกครั้งในปี 2010 แต่ว่า อิกัวดาล่ากลับไม่เคยพาทีมไปถึงตำแหน่งแชมป์ หรือ แม้แต่การเข้าชิงแชมป์สายตะวันออกได้ตลอดระยะเวลาที่เขาอยู่กับทีมจนถึงปี 2012
มีคำว่าวิจารณ์มากมายถึงผลงานที่ดูไม่ถึงขั้นของ อิกัวดาล่า สาเหตุสำคัญเพราะความเคยชินกับการที่ทีมเคยมีผู้เล่นที่ทำเฉลี่ย 30 แต้มต่อเกมอย่าง ไอเวอร์สัน มาเป็นตัวเปรียบเทียบ แต่ถ้ามองกันตามความเป็นจริง สายตะวันออกก็เริ่มมีทีมที่แข็งแกร่งมากขึ้นทั้ง ไมอามี่ ฮีต, ชิคาโก้ บูลส์, ออลันโด้ เมจิก และ บอสตัน เซลติกส์ ที่ศักยภาพทีมสูงกว่า
ขณะที่ อิกัวดาล่า ก็พยายามทุกอย่างเพื่อทีมแล้ว เขาเล่นตั้งแต่ฟอร์เวิร์ดไปจนถึงตำแหน่งการ์ด ทำหน้าที่รันเกมบุกสลับกับเป็นตัวทำคะแนน ส่วนในเกมป้องกันเขามักจะถูกเลือกใช้งานเป็นตัวล็อคดาวน์ผู้เล่นที่เก่งที่สุดของฝ่ายตรงข้าม
ตลอด 8 ฤดูกาลที่เขาอยู่กับ ซิกเซอร์ส เขาลงสนามครบ 82 เกม ถึง 4 ซีซั่น ลงเล่นเฉลี่ย 37 นาทีขึ้นไป 5 ซีซั่น เป็นตัวทำคะแนน แอสซิสต์ และ ขโมยบอล สูงสุดของทีมอยู่หลายฤดูกาล ขนาดที่มีชื่อติดออลสตาร์ 1 ครั้ง ในปี 2012 ฤดูกาลสุดท้ายที่เขาลงสนามในนามผู้เล่น ซิกเซอร์ส
ถ้าหากมองว่าเขาไม่ใช่ผู้เล่นที่ดี ไม่มีความพยายามทำเพื่อทีมมากพอก็อาจจะไม่ใช่ แต่บางครั้งชีวิตคนเราอาจไม่เหมาะกับสถานที่บางที่ และสำหรับ อิกัวดาล่า เขาอาจไม่เหมาะกับการเป็นผู้เล่นมือ 1 ของทีม
อย่างไรก็ดี อิกัวดาล่า ซึ่งได้ออกมาเปิดเผยภายหลังว่าเขารู้สึกเหมือนถูกครอบครัวทอดทิ้ง ในวันที่เขากำลังทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ โดยในปี 2012 อิกัวดาล่า คือ 1 ในขุนพลของทีมชาติสหรัฐที่ช่วยทีมคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันบาสเกตบอลโอลิมปิกที่สหราชอาณาจักร
“นี่มันบ้ามาก คุณกำลังเป็นตัวแทนของชาติและคุณก็ต้องรับรู้ว่าโดนเทรด คนพวกนั้นบอกกับคุณว่าคุณคือคนสำคัญของพวกเขาเป็นเหมือนครอบครัวของพวกเขา จากนั้นทุกอย่างก็พังทลายลง มันเป็นความรู้สึกของความไม่เคารพซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะสำหรับผมมันไม่ใช่เลย แต่นั่นแหละคือวิธีการจัดการเมื่อทีมต้องการเทรดใครสักคน” เขาพูดถึงการเทรด 4 ทีมที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้เขาต้องออกจากฟิลาเดลเฟีย
[สกอตตี้ พิพเพ่น แห่งเบย์ เอเรีย]
ภายใต้การเทรด 4 ทีมครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งมี ลอสแองเจลลิส เลเกอร์ส, เดนเวอร์ นักเก็ตส์, ออลันโด้ เมจิก และ ซิกเซอร์ส ชื่อของ อิกัวดาล่า ได้ถูกส่งไปอยู่กับทีมนักเก็ตส์ ซึ่งมีผู้นำทีมเต็มตัวอย่าง คาเมโล่ แอนโธนี่ ถึงแม้ว่าเขาจะอยู่กับทีมนี้เพียงแค่ฤดูกาลเดียว แต่ก็สร้างผลงานเอาไว้อย่างน่าประทับใจ พร้อมกับการสร้างชื่อในฐานะผู้เล่นตัวรองที่โดดเด่น ความยอดเยี่ยมของเขาและทีมนักเก็ตส์ ทำให้จอร์จ คาร์ล ซึ่งคุมทีม ณ เวลานั้น คว้ารางวัลโค้ชยอดเยี่ยมปี 2013 ไปครอง
แต่จุดพลิกผลันของชีวิตก็มาถึง เมื่ออิกัวดาล่า ปฏิเสธการต่อสัญญากับนักเก็ตส์ และเลือกที่จะไปร่วมทีม โกลเด้น สเตท วอริเออร์ส ซึ่งกำลังสร้างทีมขึ้นมาอยู่ในระดับเพลย์ออฟ และ โค้ชในตอนนั้นยังเป็น มาร์ค แจ็คสัน ที่อยู่ในตำแหน่งเป็นปีสุดท้าย ก่อนจะเปลี่ยนเป็น สตีฟ เคอร์ ในปี 2014-2015
การลงเล่นภายใต้ยุคของเคอร์ในปีแรก ทำให้อิกัวดาล่า สัมผัสกับประสบการณ์แปลกใหม่มากมาย เขาถูกจับไปเป็นตัวสำรองตลอดทั้งซีซั่น ถูกขอให้ลดบทบาทเกมบุกลงและตั้งใจทำหน้าที่เกมรับมากกว่า สิ่งที่เขาต้องเผชิญเมื่อเปิดตารางสถิติในเว็บไซต์คือสถิติทุกอย่างของเขาต่ำที่สุดในอาชีพ อย่างไรก็ตามวิธีการเล่นของเขาไม่ได้แสดงผลงานออกมาผ่านตัวเลขเท่านั้น ซึ่งเจ้าตัวก็พอใจอย่างมาก
“คุณสามารถรอให้เกมที่ใช่เข้ามาหาคุณเองได้” อิกัวดาล่า กล่าว “คุณไม่จำเป็นต้องพยายามหาทางชู้ต ผมรู้ว่าผมจะได้จังหวะชู้ตที่ดีเอง” เขาพูดถึงความเปลี่ยนแปลงในบทบาทตัวเองที่วอริเออร์ส ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่ตัวเขามองหามาตลอดคือการได้เล่นเกมบุกแบบไม่กดดันหรือถูกบีบให้ต้องเป็นตัวความหวังของทีม ซึ่งที่วอริเออร์สมีทั้งระบบการเล่นที่เหมาะสม รวมทั้งมี สเตฟเฟ่น เคอร์รี่, เคลย์ ทอมป์สัน และ เดรมอน กรีน รับบทบาทหลักๆในการบุก ส่วนอิกัวดาล่า แค่รอจังหวะที่เหมาะสมและทำหน้าผึ้งงานด้านอื่นแทน
อย่างไรก็ตาม อิกัวดาล่า ก็ไม่ได้ทิ้งสัญชาตญาณความเป็นอดีตมือ 1 ไปโดยสิ้นเชิง เพราะในรอบชิงชนะเลิศเพลย์ออฟ 2015 ที่วอริเออร์ส พบกับ คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ซึ่งมี เลบรอน เจมส์ นำทัพ (ไครี่ เออร์วิ่ง เจ็บแทบไม่ได้ช่วยในรอบชิง ส่วน เควิน เลิฟ เจ็บตั้งแต่รอบชิงแชมป์สายกับบอสตัน เซลติกส์) เขาทำทุกอย่างเพื่อทีม ทั้งก้าวขึ้นมาทำเฉลี่ย 16.3 คะแนน ชู้ตลง 52% และ กดสามคะแนนลง 40% จาก 6 เกม ในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งตลอด 15 เกมแรกในเพลย์ออฟกับวอริเออร์สเขาทำเฉลี่ยแต่ 8.3 คะแนนเท่านั้น
นี่คือการพิสูจน์ว่าเมื่อถึงเวลา เขายังคงก้าวขึ้นมาทำหน้าที่เป็นมือสองที่วางใจได้สำหรับทีม รวมถึงการทำหน้าที่เล่นเกมป้องกันใส่ เจมส์ ตลอดช่วงเวลาที่เขาลงเล่น ทำให้ท้ายที่สุด อิ๊กกี้ กลายเป็นผู้เล่นตัวสำรองคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าในรอบชิงชนะเลิศเอ็นบีเอได้
หรืออาจเรียกได้เลยว่า อิกัวดาล่า คือ สก็อตตี้ พิพเพ่น ของทีมโกลเด้น สเตท วอริเออร์ส ในปีนั้น และการที่เขาเลือกมาทำหน้าที่ซึ่งถนัดกว่าก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะแค่ 2 ปี เขาได้ทุกอย่างที่นักบาสเกตบอลเอ็นบีเอหลายคนไม่เคยได้ และ ที่ซิกเซอร์ส ซึ่งเขาเคยเป็นทุกอย่างก็ให้ไม่ได้นั่นคือ “แชมป์” และ “เอ็มวีพี”
“เขาเข้ากับทีมได้อย่างดี ผมปะหลาดใจที่เขาดูแลตัวเองได้ดีมากและยังเป็นต้นแบบที่ดีของผู้เล่นคนอื่นภายในทีม ผู้เล่นอายุน้อยสามารถมีเขาเป็นแบบอย่างในการดูแลร่างกายและสภาพจิตใจตัวเอง รวมถึงวิธีที่เขาคอยกระตุ้นเพื่อนเมื่ออยู่ข้างสนาม สิ่งที่เขาทำทั้งหมดคือความเป็นมืออาชีพ” นี่คือคำกล่าวของ บ็อบ ไมเยอร์ส ผู้จัดการทั่วไปของทีมวอริเออร์ส
[แค่เลือกขยันถูกที่ ก็คว้าแชมป์รวมไป 4 สมัย]
นอกจากการเป็นผู้เล่นทั้งโค้ชและเพื่อนร่วมทีมต่างยอมรับและให้การยกย่อง แฟนๆของทีมวอริเออร์ส ก็รักเขามากอีกด้วย แต่สิ่งที่พ่วงตามมาจากการอยู่ถูกที่คือ อิ๊กกี้ คว้าแชมป์กับ วอริเออร์ส อีก 3 ครั้ง ในฤดูกาล 2017, 2018 และ 2022 ซึ่งบทบาทของอิกัวดาล่า ไม่ใช่การเป็นซูเปอร์สตาร์ที่ต้องแบกทีมเลย แต่เขาคอยทำสิ่งเติมเต็มที่ทีมขาด ไม่ว่าจะทั้งในสนามหรือนอกสนามก็ตาม
“กับ อังเดร (อิกัวดาล่า) สิ่งที่เขาทำมันเลยไปไกลกว่าเรื่องคะแนน ถ้าคุณได้ดูวิธีการเล่นเกมป้องกันของเขา นอกจากนั้นมันเป็นเรื่องภาวะความป็นผู้นำ เขามักจะทำในสิ่งที่ถูกที่ถูกเวลาอยู่เสมอ” สตีฟ เคอร์ กล่าวถึง อิกัวดาล่า “ด้วยเป้าหมายของทีมที่เราต้องการพัฒนาผู้เล่นอายุน้อย ผมมองไม่เห็นผู้เล่นคนไหนจะดีพอที่จะสามารถทำหน้าที่ทั้งสองอย่างได้เหมือนที่เขาทำ”
แม้กระทั่งเหล่าอดีตรุ่นน้องในทีมต่างก็ชื่นชมฟอร์เวิร์ดตัวเก๋ารายนี้ “เขาเป็นคนที่ผ่านมาทุกอย่างแล้ว เขาคือคนที่มีสิ่งที่จะสามารถถ่ายทอดและสอนผมในฐานะผู้เล่นดาวรุ่งได้ดีที่สุดในทุกเรื่องที่ผมต้องการ หรือ ต้องการจะรู้” โมเสส มูดี้ การ์ดดาวรุ่งของวอริเออร์ส พูดถึง อิกัวดาล่าในฐานะพี่ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างของเหล่าบรรดาดาวรุ่งในทีม
แม้จะมีช่วงเวลาวุ่นวายหลังจากเขาถูกเทรดไป เมมฟิส กริซลี่ย์ ช่วงปี 2019 แล้วต้องตีรันฟันแทงกับเป้าหมายของ กริซลี่ย์ ที่ต้องการสร้างทีมใหม่แต่อยากเก็บอิกัวดาล่าไว้หามูลค่าเทรดช่วงใกล้เพลย์ออฟ แต่ในเมื่อเขาคือคนที่เคยใช่มากๆ สำหรับวอริเออร์ส ท้ายที่สุด อดีตต้นสังกัดเก่าซึ่งก็เจอช่วงเวลาตกต่ำในช่วงระหว่างปี 2019-2021 เหมือนกัน ก็ได้ตัดสินใจเซ็นสัญญากับ อิกัวดาล่า อีกครั้
[คุณค่าของชีวิตจากการอยู่ถูกที่ถูกเวลา]
“มันเหมือนกับว่าเราสูญเสียจิตวิญญาณของทีมไป 2 ฤดูกาล การได้เขากลับมาช่วยเพิ่มระดับความมั่นคงให้กับทีม ด้วยความฉลาดและไอคิวการเล่นบาสเกตบอลของเขา นอกจากนั้นเขายังสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มผู้เล่นอายุน้อย เขายังแสดงออกถึงความกระหายในการคว้าแชมป์ เราต้องการผู้เล่นแบบนี้ในทีม และผมตื่นเต้นที่เขากลับมา” เคอร์ กล่าวถึงลูกทีมคนโปรดที่ทำทั้งหน้าที่ในและนอกสนามได้เป็นอย่างดีเสมอตลอดระยะเวลาที่อยู่กับทีม
แม้กระทั่ง ไมเออร์ส ยังยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าการคว้าตัว อิกัวดาล่า กลับมาร่วมทีมและกลายเป็นการคว้าแชมป์ปีล่าสุด เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันและตัดสินใจกันได้อย่างรวดเร็วในการประชุม
“ความจริงเกี่ยวกับการกลับมาของเขารอบนี้ แทบจะเป็นเรื่องแรกของบทสนทนา มันเป็นการตัดสินใจที่ง่ายมากขององค์กร บอร์ดบริหารบอกกับผมแค่ว่า ถ้าเขาต้องการกลับมาเราก็พร้อมมีที่ว่างให้กับเขาเสมอ เราไม่ได้ประชุมเรื่องนี้กันนานเลย”
อิกัวดาล่าเองก็ผิดสัญญากับครอบครัวเหมือนกันเพราะเขารับปากแล้วว่าจะไม่คุยเรื่องการเซ็นสัญญาช่วงวันหยุดพักผ่อน แต่โอกาสร่วมงานกับทีมที่เห็นคุณค่าของเขามากที่สุดกลับมา เจ้าตัวก็รีบคว้าทันที และเพื่อเป็นการตอบแทนทีมเขายอมรับค่าเหนื่อยขั้นต่ำด้วยสัญญา 1 ปี ซึ่งเจ้าตัวถึงกับแซว ไมเยอร์ส ว่าการโน้มน้าวครั้งนี้ น่าจะทำให้ ไมเยอร์คว้ารางวัลผู้บริหารทีมยอดเยี่ยมแห่งปี
“ผมล้อเล่นกับเขา แต่ก็จริงจังกับเรื่องนี้มาก ผมกับบ็อบรู้จักกันมานาน เราต่างเคารพซึ่งกันและกันทั้งค่านิยม และ การใช้ชีวิตโดยทั่วไป” ส่วน ไมเยอร์ส ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ถึงการเซ็นสัญญาฉบับล่าสุดว่า “อิกัวดาล่า มีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่ทีมยอมจ่าย”
แม้ว่าการกลับมาครั้งล่าสุด อิกัวดาล่า อาจไม่ได้เก่งอาจเหมือนเดิม พร้อมกับมีอาการบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้งจนลงสนามให้ทีมได้แค่ 31 เกมในช่วงฤดูกาลปกติ และ 7 เกม ในรอบเพลย์ออฟ แต่เส้นทางชีวิตกับทีมวอริเออร์ส ทำให้เขาได้สัมผัสในหลายๆสิ่งที่เขาไม่ได้เคยได้รับ ทั้งความสำเร็จในการคว้าแชมป์ 4 สมัย การคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า การเป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้างในองค์กรอย่างจริงใจ รวมถึงความยิ่งใหญ่ที่เขาอาจไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์คนสำคัญ แต่ทีมก็เห็นพ้องต้องกันว่าเขาคือตำนานของทีม
#Thesportingnews #NBA #goldenstatewarriors #Dubnation #Bayarea #GSW #AI2 #Iguodala
ติดตามบทความหรือข่าวสารกีฬาอื่นๆของเราคลิก www.sportingnews.com/th
หรือติดตามช่องทางอินสตาแกรมที่ @thesportingnews_th และ Twitter @TSNThailand
โฆษณา