23 ก.ย. 2022 เวลา 11:00 • ข่าวรอบโลก
กฎหมายน้ำตาลสิงคโปร์ส่งผลต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างไร
ภายในสิ้นปี 2566 ร้านอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ในสิงคโปร์จะต้องติดฉลากโภชนาการไว้ในเมนูตามมาตรการที่รัฐบาลประกาศในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยฉลากเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าเครื่องดื่มชงสดนั้น ๆ ใส่น้ำตาลและไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่สูงเกินกว่ามาตรฐานหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าปริมาณสูงเกินกว่าที่รัฐบาลกำหนดก็จะถูกสั่งห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มดังกล่าว
ปัจจุบัน สิงคโปร์นับเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนมีสุขภาพดีที่สุดในโลก ซึ่งการควบคุมอาหารมีบทบาทสำคัญ โดยชาวสิงคโปร์จะมีอายุคาดการเฉลี่ยสุขภาพดีอยู่ที่ 73.9 ปี อยู่ในอันดับที่ 2 ของโลกเป็นรองเพียงญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ชาวสิงคโปร์จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 83.1 ปี ตามหลังญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์
มาตรการล่าสุดมีอะไรบ้าง?
กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์กำลังเร่งดำเนินงานในเรื่องการออกมาตรการใหม่ในกลางปีหน้า โดยรัฐบาลมุ่งที่จะนำมาตรการเหล่านี้ไปใช้จริงภายในสิ้นปี 2566
สำหรับระบบการแบ่งระดับโภชนาการจะเริ่มใช้การให้คะแนนกลุ่มเครื่องดื่มที่บรรจุพร้อมขายตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2565 และจะใช้ครอบคลุมไปถึงพวกกลุ่มเครื่องดื่มที่ชงสดด้วย
ภายใต้มาตรการที่มีอยู่แล้ว สำหรับเครื่องดื่มที่บรรจุพร้อมขายจะมีระบบการแบ่งชั้นจาก A ถึง D ซึ่ง D จะบ่งชี้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพที่สุด โดยกลุ่มเครื่องดื่มที่น้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูงสุดจะอยู่ที่ระดับ C หรือ D ซึ่งจำเป็นต้องติดฉลากการแบ่งระดับโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ นอกจากนั้น ผู้บริโภคสามารถสังเกตฉลากได้ด้วยสีซึ่งถ้าเป็นระดับ A จะเป็นสีเขียวเข้ม ระดับ B เป็นสีเขียวอ่อน ระดับ C จะเป็นสีส้ม และสุดท้ายระดับ D จะเป็นสีแดง ทั้งนี้ เครื่องดื่มที่ถูกจัดให้อยู่ระดับ D จะถูกห้ามทำการโฆษณาสินค้า
มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะช่วยผู้บริโภคได้รับข้อมูลมากขึ้น เพื่อช่วยในเรื่องการตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มต่าง ๆ , มีทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น, ลดการมีอิทธิพลของการโฆษณาต่อความพึงพอใจของผู้บริโภคและการกระตุ้นการปฏิรูปอุตสาหกรรม
ล่าสุด สิงคโปร์กำลังเล็งไปที่บทบาทของเครื่องดื่มชงสดมากขึ้น คือ กลุ่มกาแฟและชานมไข่มุก ที่มีส่วนทำให้คนสิงคโปร์บริโภคน้ำตาลมากขึ้น
เทรนด์การบริโภคในสิงคโปร์
ในไม่กี่ที่ผ่านมานี้ สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากขึ้น โดยประชากรเริ่มหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงและไขมันสูง พร้อมเลือกที่จะรับประทานอาหารทางเลือกที่ทำจากพืชมากขึ้นและมีจำนวนประชากรที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมีมากกว่าประเทศอื่น ๆ
ขณะที่ ในฝั่งผู้ผลิตก็มีความกระตือรือร้นและเริ่มปฏิรูปเครื่องดื่มของตนเองอย่างมากก่อนหน้าที่มาตรการสำหรับเครื่องดื่มที่บรรจุพร้อมขายจะมีผลบังคับใช้ โดยข้อมูลเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลของเครื่องดื่มที่บรรจุพร้อมขายลดลงมาจาก 7.1% ในปี 2560 สู่ 4.7% ในปี 2564 และยอดขายเครื่องดื่มเกรด C และ D ก็ลดลงจาก 63% สู่ 40% ขณะที่ ยอดขายเครื่องดื่มเกรด A หรือ B เพิ่มขึ้นจาก 37% สู่ 60% ในช่วงเวลาเดียวกัน
กฎเกณฑ์ใหม่นี้ส่งผลอย่างไรต่อนักลงทุนต่างชาติ
นโยบายใหม่นี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทาน โดยมาตรการดังกล่าวจะเพิ่มอุปสงค์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคอาจจะคิดมากขึ้นเมื่อสั่งเครื่องดื่มที่ปกติเคยสั่งแต่เห็นฉลากติดเป็นเกรด D สีแดง ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพขยายตัวมากขึ้นในสิงคโปร์
สำหรับผลกระทบในฝั่งอุปทานอาจคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร เมื่อ 4 ปีที่แล้วที่รัฐบาลเรียกเก็บภาษีน้ำตาลในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่ใส่แอลกอฮอล์ ส่งผลให้แบรนด์เครื่องดื่มที่ไม่ใส่แอลกอฮอล์ น้ำตาลน้อย เจ้าใหม่เข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมาก
การเปลี่ยนแปลงในสิงคโปร์ครั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นนวัตกรรม, เกิดการสำรวจภายในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มรสชาติโดยปราศจากการใช้น้ำตาล ไขมัน หรือสารให้ความหวานต่าง ๆ ในปริมาณสูง อีกทั้งมาตรการนี้จะทำให้สิงคโปร์ยึดมั่นชื่อเสียงในฐานะประเทศที่ใส่ใจในสุขภาพมากที่สุดในภูมิภาคและเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพด้วย
อย่างไรก็ดี กฎเกณฑ์ใหม่นี้ก็นับเป็นโอกาสทางธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติที่จะจับจังหวะการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่เน้นหนักไปทางการรักษาสุขภาพซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์ระดับโลก ด้วยตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงพร้อมทั้งทัศนคติและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นตลาดศักยภาพที่ผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงและแข่งขันได้ไม่อาจมองข้าม
ที่มา:
โฆษณา