23 ก.ย. 2022 เวลา 13:42 • ธุรกิจ
ค่าแรงก็ขึ้น แรงงานก็ขาด
ธุรกิจต้อง แบกรับต้นทุนสาหัส สองเด้ง !!!!
คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2565 ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.65 โดยได้แบ่งการปรับขึ้นเป็น 9 ช่วง ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท สูงสุด 354 บาท (เดิมอยู่ในช่วง 313-336 บาท) หรือเป็นการปรับขึ้น 3-7 % ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบ 2 ปี ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 1-3% เป็นเด้งแรก
ในขณะที่ ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานหลังวิกฤตไวรัสโควิด แรงงานในระบบก็ขาดหายออกไปจากระบบราว 30% ซ้ำเติมต้นทุนในการจ้างงานเป็นเด้งที่สอง ธุรกิจหลายแห่งลงประกาศจ้างงานพนักงานรายได้สูงกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมาก บางแห่งจ้างถึง 700-900 บาทต่อวัน ซึ่งก็ยังหาคนไม่ได้เต็มความต้องการ
ผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2565
จากมติคณะกรรมการค่าจ้าง สรุปผลการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้แบ่งออกเป็น 9 อัตรา โดยค่าจ้างสูงสุดอยู่ที่ 354 บาท ในจังหวัดชลบุรี, ระยอง และภูเก็ต กรุงเทพปริมณฑลหย่อนไป 1 บาท วันละ 353 ขณะที่ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท จะเริ่มปรับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
ฉะนั้นถ้านำอัตราการปรับค่าจ้างเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑลมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา จะเห็นว่าต้นทุนการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อคนวันละ 22 บาท (เดิมวันละ 331 บาท อัตราใหม่วันละ 353 บาท) และถ้าธุรกิจขนาด SME มีลูกจ้างเพียง 10 คน ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ นายจ้างจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 5,280 บาทต่อเดือน หรือ 63,360 บาท และถ้าบริษัทที่ร้านค้าเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นสาขา ต้นทุนค่าจ้างก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณคำนวนแบบหยาบๆก็มาต่ำกว่า 60 – 300 ล้านต่อปี
ที่น่ากังวลต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ ก็คือ คือ โดมิโนเอฟเฟ็กต์ DOMONO EFFECT ที่จะเกิดขึ้นตามมา นอกเหนือจากที่ต้นจะส่งผลต่อการจ้างงานใหม่ พนักงานเดิมที่ค่าจ้างต่ำกว่าอัตราใหม่ก็ต้องปรับขึ้นตามสัดส่วน ซึ่งเมื่อการปรับใหม่ไปเท่าหรือใกล้เคียงพนักงานที่มีประสบการณ์ บริษัทก็ต้องปรับตามสัดส่วนให้ทุกคนเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นเขย่งกัน ให้จูงใจ เป็นธรรม และแข่งขันได้
เมื่อใช้เปอร์เซ็นต์การปรับค่าจ้างในส่วนของกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเกณฑ์การพิจารณาที่ 6.65% วุฒิ ปวช.เงินเดือนจะอยู่ที่ 12,264 บาท (เพิ่มขึ้น 764 บาท), ปวส. 13,864 บาท (เพิ่มขึ้น 864 บาท) และปริญญาตรี 17,063 บาท (เพิ่มขึ้น 1,063 บาท) นอกจากนี้ บริษัทยังต้องจ่ายเพิ่มอีกจากค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับค่าจ้าง เช่น เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เงินสมทบพนักงานคนพิการ ค่าล่วงเวลา และรายจ่ายอื่นๆอีกมากมายตามมา
นักวิชาการค้าปลีก ได้วิเคราะห์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ว่า จะมีผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และปีถัดไป เนื่องจาก ภาคค้าปลีกค้าส่งและบริการมีการจ้างงานทั้งระบบกว่า 13 ล้านคน โดยอาจทำให้ต้นทุนเพิ่มเฉลี่ยราว 1-3% และกระทบกำไรจากการดำเนินงานให้ลดลงเฉลี่ยราว 4-5 %
ค่าจ้างก็จะขึ้น แรงงานในระบบก็ยังขาดแคลน
ในอดีต ตลอดช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยนับว่ามีอัตราการว่างงานที่ตํ่ามาก คือ ประมาณร้อยละ 1 เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่แรงงานมากกว่าครึ่งของทั้งหมด เป็นแรงงานนอกระบบ คิดเป็นร้อยละ 54 ของแรงงานทั้งหมด หรือราว 9-10 ล้านคน ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในภาคการค้าปลีกค้าส่งและบริการ
เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล ส่งผลให้คนทำงานชอบความเป็นอิสระในการทำงานแบบไม่ติดยึดอยู่กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ดังนั้นรูปแบบการทำงานพาร์ทไทม์ งานเอาต์ซอร์ส หรืองานฟรีแลนซ์จึงเป็นทางเลือกให้กับแรงงานในระบบมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ประมาณการณ์คร่าวๆ ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานหลังวิกฤตไวรัสโควิด แรงงานในระบบขาดหายออกไปจากระบบถึงกว่า 30% นี่คือเทรนด์ของแรงงานในภาวะปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า กิ๊ก อีโคโนมี (Gig Economy)
จากการศึกษาของ EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่า แรงงานกิ๊กมีอยู่ราว 1 ใน 3 หรือใน 10 คน จะมีแรงงานกิ๊กถึง 3 คน ซึ่งใน 3 คนนี้ สามารถแยกย่อยเป็น คนที่ทำงานประจำอยู่แล้วแต่รับงานเพิ่มแบบอิสระถึง 2 คน และ คนที่สามในกลุ่มนี้ ไม่มีงานประจำแต่ รับงานอิสระ 2 งานควบคู่กันไป เราจะได้พบได้เห็นการประกาศการจ้างงานสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำมากมาย หลายแห่งให้ถึง วันละ 700-900 บาท ก็ยังไม่มีใครมาสมัครเลย
ธุรกิจในยุค Next Normal จะต้องมีการปรับการจ้างงานใหม่ ที่มีความยืดหยุ่น โดยสามารถปรับลดหรือเพิ่มจำนวนแรงงานตามความเหมาะสมธุรกิจ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนไม่มีความชัดเจน การจ้างงานก็ต้องให้สอดคล้องกับยอดขาย แต่ ธุรกิจการค้าส่งค้าปลีกและบริการมีข้อจำกัดไม่สามารถจ้างงานแบบยืดหยุ่นได้
เนื่องจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำประกาศเป็นรายวัน คือ 8 ชั่วโมง ดังนั้น การจะจ้างเพียง 4 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมงก็ต้องจ่ายเป็นอัตราเต็มรายวัน แต่แม้จะจ่ายเต็มรายวันที่สูง ก็ไม่มีใครอยากทำ เพราะพฤติกรรมกิ๊ก เวิร์คเกอร์ไม่สนใจที่จะทำเต็มวัน
การจ้างงานประจำรายชั่วโมง คำตอบของ “กิ๊ก เวิร์คเกอร์”
การจ้างงานประจำรายชั่วโมงมีข้อดีคือเป็นการจ้างงานที่มีความยืดยุ่นสูงและสามารถปรับให้เข้ากับ โครงสร้างตลาดแรงงานปรับรูปแบบหลังวิกฤตโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมา ธุรกิจภาคการค้าและบริการมีการจ้างรายชั่วโมงเฉพาะนักเรียน นักศึกษาและผู้สูงอายุตามกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ก็ไม่พอเพียงและความยืดหยุ่นชั่วโมงค่อนข้างจำกัด
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การจ้างนักศึกษา และผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในเรื่องทักษะการทำงาน ความรู้ และความชำนาญในงานที่ปฏิบัติ โดยเฉพาะงานที่ต้องการเน้นในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การจ้างงานประจำเป็นรายชั่วโมงนั้น ถือว่าเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งและสอดคล้องกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี เพราะงานบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำเต็มเวลา หรือทำอยู่ในสำนักงาน ทำให้ลูกจ้างมีทางเลือกในการหารายได้มากขึ้น และส่งเสริมการมีงานทำได้หลากหลายอาชีพมากขึ้นไม่ข้อจำกัดของสถานที่และเวลาในการปฏิบัติงาน
การจ้างงานประจำรายชั่วโมงจะได้สวัสดิการ ไม่ได้มีความแตกต่างกับการจ้างงานประจำรายเดือนแต่อย่างไร เพียงแต่การคำนวณการจ้างงานเป็นวันก็เป็นรายชั่วโมง อาทิ เช่น เรื่องสิทธิประโยชน์วันหยุด วันลาโดยได้รับค่าจ้าง โดยคิดตามสัดส่วนเช่นเดียวการจ้างงานรายเดือน (เป็นความรวมมือของภาครัฐ และเอกชน ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
และสามารถส่งเสริมการจ้างงานให้มีความหลากหลายและมีทางเลือกให้กับผู้ประการและมีความยืดหยุ่นสูงสำหรับลูกจ้าง สามารถกำหนดชั่วโมงการทำงาน และสถานทีทำงานที่สอดคล้องกับลูกจ้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีนายจ้างเดียวในการจ้างงาน ส่วนสิทธิ์สวัสดิการต่างๆ สามารถออกแบบให้เหมาะสมโดยหากจากค่าจ้างเพื่อนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกแบบสวัสดิการให้มีความสอดคล้องกลับสิทธิ์ และสวัสดิการต่างๆ ที่จะมีการร่วมกับออกแบบ ดังเช่นที่ผ่านมาเช่นใน ม.39 ม. 40 เป็นต้น
การจ้างงานประจำรายชั่วโมง เหมาะกับใครบ้าง ?
การจ้างงานประจำรายชั่วโมง เหมาะกับการจ้างงาน แรงงานนอกระบบ แรงงานใหม่ และ แรงงานสูงวัย ที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาด โควิด 19 มากที่สุด แต่ไม่เห็นด้วยกับการนำระบบนี้มาใช้เต็มที่ในภาคอุตสาหกรรม การจ้างงานประจำรายชั่วโมง สำหรับภาคการค้าสินค้าและการค้าบริการจึงเป็นอัตราการจ้างงานเพิ่ม มิได้ไปทดแทนการจ้างงานประจำแต่อย่างใด เพื่อสอดรับการให้บริการช่วงพีคของวันในแต่ละช่วงให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด
ดังนั้น เพื่อพยุงธุรกิจไว้ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ประกอบกับในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานหรือการทำงานแบบไม่เต็มเวลามากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงแรงงานจะต้องมีนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองลูกจ้างที่มีการทำงานไม่เต็มเวลาให้ได้รับค้าจ่างที่เหมาะสมเพื่อรองรับความปกติใหม่ในด้านการจ้างงาน และ ได้พิจารณาออกประกาศอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงเพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่มีการทำงานไม่เต็มเวลาและเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการจ้างงานประจำรายชั่วโมง
โฆษณา