27 ก.ย. 2022 เวลา 10:00 • สิ่งแวดล้อม
ทำไม “ไทย” จึงเสี่ยงได้รับผลกระทบ "Climate Change" อันดับ 9 ของโลก
ข้อมูลเมื่อปี 2020 พบว่า ทั่วโลกมีปริมาณการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ราว 33,805.10 ล้านตัน โดยประเทศไทยติดอันดับ 24 ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 258 ล้านตัน หรือ 0.76% แม้ไทยจะสร้างผลกระทบไม่ถึง 1% แต่กลับเป็นประเทศที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก
ทำไม “ไทย” จึงเสี่ยงได้รับผลกระทบ "Climate Change" อันดับ 9 ของโลก
ดาวรุ่ง ใจจริง ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวในงานสัมมนา Blue Carbon Conference 2022 “คาร์บอนทะเล: หนุนธุรกิจสู่ Net Zero เสริมระบบนิเวศและชุมชน” เกี่ยวกับ ผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เนื่องจาก ก๊าซเรือนกระจก มีคุณสมบัติในการดูดคลื่นความร้อน ห่อหุ้มชั้นบรรยากาศ ทำให้รู้สึกว่า ยิ่งอายุมากขึ้น ทำไมอุณหภูมิของ โลกร้อน ขึ้นเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์ คาดการณ์ว่า หากไม่ทำอะไรตอนนี้ โลกจะประสบกับภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นเกิน 2 องศา โลกทั้งโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
ทั่วโลกปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" 33,805.10 ล้านตัน
จากข้อมูลของ Global carbon atlas (2020) พบว่า ปริมาณการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ของทั้งโลกราว 33,805.10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดย 5 ประเทศที่ปล่อยมากที่สุด ได้แก่
จีน 10,668 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
สหรัฐอเมริกา 4,713 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อินเดีย 2,442 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
รัสเซีย 1,577 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ญี่ปุ่น 1,031 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ไทย อยู่ที่ 24 ของโลก ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 258 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 0.76%
สัญญาณเตือน ปัญหาโลกร้อน
ทั้งนี้ ทั่วโลกมีสัญญาณเตือนว่ามีปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ปี 2531 มีการก่อตั้ง คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แก่รัฐบาลทุกระดับเพื่อพัฒนานโยบายสภาพภูมิอากาศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดว่าโลกเริ่มให้ความสำคัญ
ปี 2540 มีการประชุม COP3 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการยกย่างพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) ชวนประชาคมโลก เพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม มีการพูดถึงก๊าซเรือนกระจก 7 ชนิดที่มีผลต่อชั้นบรรยากาศของโลก
ปี 2558 ในการประชุม COP21 เกิดข้อตกลงด้านสภาพอากาศของกรุงปารีสในปี 2015 ในข้อตกลงดังกล่าว 197 ประเทศ รวมถึงไทย ได้ให้คำมั่นที่จะกำหนดเป้าหมายสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเอง แต่ยังไม่มีข้อตกลงชัดเจน
ปี 2564 การประชุม COP26 เกิดความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากประชาคมโลก มีการแบ่งปันเป้าหมายในประเทศตนเองมีการกำหนดระยะเวลา และปริมาณที่ตรวจวัดได้ จำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา โดยไทยตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065
ไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบ อันดับ 9 ของโลก
จากการข้อมูลของ Germanwatch หน่วยงานที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ได้จัดทำแผนที่ความเสี่ยงของทุกประเทศในโลกขึ้น ว่าหากเกิดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น แต่ละประเทศในโลกจะได้รับความเสี่ยงอย่างไรบ้าง
"แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศเล็กๆ ที่ปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ไม่ถึง 1% ของโลก แต่ถูกจัดอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงสูงที่สุดของโลกเป็นอันดับที่ 9 โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 20 ปีของแต่ละประเทศ ความถี่ของการเกิดภัยพิบัติ ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่เกิดภัยพิบัติ"
"ประเทศไทย มีการสูญเสียทางเศรษฐกิจมาก และที่สำคัญยังไม่มีแผนและมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เราจึงถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากเหตุการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
โฆษณา