25 ก.ย. 2022 เวลา 03:08 • บ้าน & สวน
บ้านไม้ชั้นเดียวรูปทรงจั่วไทยๆ ที่เรียบง่าย โดยยกสูงจากพื้นดินเล็กน้อยเพื่อให้ลมหมุนเวียนช่วยคลายความร้อนของตัวบ้าน และยังใช้เป็นที่เก็บของกับเผื่อไว้้เป็นทางน้ำไหลผ่านได้ ข้างล่างเน้นให้เป็นปูนแล้วค่อยต่อเป็นโครงไม้ขึ้นมา
เจ้าของบ้านเกิดและเติบโตมากับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบไทยๆ ภายในบ้านไม้ ผ่านเรื่องราวความทรงจำที่แสนผูกพันจากข้าวของเครื่องใช้ในยุค 70-80 เหมือนๆ กัน จึงมาร่วมกันสร้างบ้านไม้ขนาดย่อมอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่
ตัวบ้านไม้ประกอบขึ้นมาจากไม้เก่าที่หาซื้อมาได้ ส่วนโครงหลังคาเป็นเหล็กเพราะไม้หมดพอดี แล้วปูหลังคาด้วยเมทัลชีตที่เคลือบฉนวนฟิล์มสะท้อนความร้อนกับทำช่องเปิดรับลมรอบบ้านทั้งจากประตูหน้าต่าง ช่องลม และบานเกล็ด ด้วยความที่บ้านอยู่กลางทุ่งนาจึงรับลมได้ดีและช่วยให้บ้านไม่ร้อน หน้าบ้านหันไปทางทิศตะวันออก เพื่อให้หลังบ้านเปิดวิวออกสู่ภูเขากับทุ่งนาโดยมีระเบียงกว้างไว้นั่งดูวิว ภายในตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าและของสะสมจากยุคโบราณที่มาช่วยเติมเสน่ห์ให้กับบ้านไม้ได้เป็นอย่างดี
"ผมเลือกสร้างบ้านชั้นเดียวขนาดพื้นที่ใช้สอยราว 200 กว่าตารางเมตร ยกสูงจากพื้นเล็กน้อยเพราะรอบบ้านเป็นลำเหมือง เผื่อเขาจำเป็นต้องปล่อยน้ำมา ประกอบกับมีจุดที่น้ำฝนไหลลงมาจากดอยด้วย ยังดีที่หน้าบ้านเป็นแม่น้ำปิงมีผาน้ำเป็นตลิ่งช่วยซับน้ำลงได้เร็ว เราเลยยกพื้นไว้เมตรกว่าพอให้ลมพัดผ่านคลายความร้อนและใช้เป็นที่เก็บของได้ แล้วก็โรยเกลือเม็ดตามวิธีคนโบราณเพื่อป้องกันไม่ให้งูเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย
“เรากลัวเรื่องแผ่นดินไหวเหมือนกัน เลยทำฐานรากแบบแผ่กว้างเพื่อรับน้ำหนักของบ้านและยังลงตอม่อไว้เยอะมาก ข้างล่างเน้นให้เป็นปูนแล้วค่อยต่อเป็นโครงไม้ขึ้นมา ประกอบตัวบ้านจากไม้เก่าที่หาซื้อมาได้ ส่วนโครงหลังคาเป็นเหล็กเพราะไม้หมดพอดี แล้วปูหลังคาด้วยพอลาร์คูลที่เคลือบฉนวนฟิล์มสะท้อนความร้อนกับทำช่องเปิดรับลมรอบบ้าน เพราะเราอยู่กลางทุ่งนาจึงรับลมได้ดีและช่วยให้บ้านไม่ร้อน
"หน้าบ้านหันไปทางทิศตะวันออก เพื่อให้หลังบ้านเปิดวิวออกสู่ภูเขากับทุ่งนา ก็เลยทำระเบียงกว้างไว้นั่งดูวิวตรงมุมนี้ด้วย แต่ก็มีหลายอย่างที่ต้องด้นสดแก้ปัญหาหน้างาน อย่างที่จริงเราอยากให้ภายในบ้านสูงโปร่งกว่านี้แต่ช่างทำระดับพื้นผิด หรือมุมชั้นลอยที่เพิ่มขึ้นมาภายหลังเพื่อให้เป็นมุมนอนเล่นหรือชมจันทร์ในช่วงเดือนหงาย” คุณอภิชัย วังตระกูล เจ้าของบ้านเล่าถึงการทำบ้านหลังนี้
คุณนราวัลย์ (ราชสีห์) วังตระกูล เล่าเสริมถึงฟังก์ชันในบ้านต่ออีกว่า “เพราะบริบทบ้านเราคือท้องนา ก็เลยบอกพี่ต้อมว่าอยากให้กลางบ้านไม่อึดอัดและยังเห็นวิวรอบๆ บ้านได้ด้วย เขาเลยออกแบบทางเดินยาวๆ กลางบ้านให้เชื่อมต่อกับทุกมุมในบ้านและมีช่องเปิดรอบตัว
"มุมสำคัญในบ้านของเราคือห้องครัว ห้องทำงาน ห้องน้ำ และห้องนอน เพราะจริงๆ ไม่ค่อยอยู่ตรงมุมนั่งเล่นกันหรอก แต่มักจะอยู่ในห้องทำงานและห้องครัว ซึ่งพี่ต้อมเน้นให้สองห้องนี้อยู่ใกล้ๆ กันด้วยเพื่อให้เราสองคนยังคงมองเห็น พูดคุย และฟังเพลงด้วยกันได้ เวลาทำเบเกอรี่อยู่ห้องครัวก็ส่งกลิ่นหอมไปถึงห้องทำงาน วันไหนที่อากาศดีๆ ตรงห้องทำงานยังมองวิวเห็นไปถึงดอยหลวงเชียงดาวได้ด้วย กลางคืนก็มีหิ่งห้อยเยอะ เราถึงชอบที่ตรงนี้เพราะเงียบสงบมาก ธรรมชาติรอบตัวก็ดี”
สิ่งที่มาเติมเสน่ห์ให้บ้านไทยที่เรียบง่ายหลังนี้ยังคงเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเก่าและของสะสมจากยุคเก่าผสมไปกับกลิ่นอายความทรงจำของชีวิตที่ผ่านมา เมื่อประกอบร่างเข้ากับภาพความจำใหม่ๆ ที่ทั้งคู่ใช้เวลาไปกับการดูแลชีวิตซึ่งกันและกันอย่างละเมียดละไมมากขึ้น จึงกลายเป็นจังหวะชีวิตที่กลมกล่อมไปกับธรรมชาติอันสงบเงียบรอบตัวภายในบ้านไม้ชั้นเดียวหลังนี้ได้อย่างงดงามจริงๆ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3eOLUBv
เจ้าของ : คุณนราวัลย์ (ราชสีห์) และคุณอภิชัย วังตระกูล
ออกแบบ : คุณอภิชัย วังตระกูล และ AECStudio
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
สไตล์ : พระจันทร์ดวงโบราณ
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา