Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนในบัญชีและภาษี
•
ติดตาม
2 ต.ค. 2022 เวลา 07:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เทคนิคการตกแต่งบัญชีที่คุณอาจไม่เคยรู้ !
การตกแต่งบัญชี เป็นสิ่งที่นักบัญชี รวมถึงผู้สอบบัญชีใช้ โดยไม่ยึดติดกับกฏเกณฑ์ แต่เน้นการประยุกต์การลงบัญชีให้เป็นไปตามแต่ละสถานการณ์ เพื่อให้งบการเงินออกมาได้อย่างสมเหตุสมผล (True & Fair)
ซึ่งการตกแต่งตัวเลขทางบัญชีเป็นไปแบบให้งบการเงินดีขึ้น หรือแย่ลงก็ได้ เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของกิจการ
2
เช่น การบันทึกรายได้ค้างรับ แทนลูกหนี้การค้า ทำให้การพิจารณาค่าเผื่อหนี้ฯ ถูกละเว้นไป
หรือ การใช้นโยบายชะลอการซื้อสินค้า เพื่อให้กำไรของปีเป็นไปตามต้องการ (สินค้าปลายปีต่ำ กำไรต่ำ ภาษีต่ำ) เป็นต้น
การทำบัญชี หากทุกอย่างบันทึกด้วยเกณฑ์เงินสด (Cash Basis) ก็คงจะเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา แต่มาตรฐานการบัญชีในปัจจุบันใช้เกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis)
ซึ่งเป็นการบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เป็นของงวดบัญชีนั้น ๆ โดยไม่สนใจว่ารับหรือจ่ายเงินสดเมื่อไร และแยกส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงวดบัญชีนั้น ๆ ออกไป
ทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะลงบัญชีโดยใช้วิจารณญาณของนักบัญชี และมีผู้ตรวจสอบบัญชีทำหน้าที่ยืนยันความถูกต้องให้ผู้ถือหุ้นรวมถึงนักลงทุนมั่นใจได้ว่าการลงบัญชีนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ยอมรับทั่วไป
2
💥 สิ่งที่นักลงทุนควรรู้ก็คือ มาตรฐานการบัญชีนั้นได้ออกแบบมาคล้ายกับเสื้อฟรีไซส์ เพื่อให้ใครก็สามารถสวมใส่ได้ เพราะไม่สามารถเขียนให้ครอบคลุมธุรกรรมทุกรูปแบบของกิจการทุกประเภท
การบัญชีเป็นเหมือนการประสานการทำงานของทุกฝ่าย ภายใต้กรอบการทำงานของมาตรฐานการบัญชี
เป็นงานศิลปะที่เรียกได้ว่าเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง หากมีการเล่นมายากลบนหน้างบการเงิน ซึ่งบางครั้งอาจแค่เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณ แต่บางครั้งก็อาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
อ่านถึงตรงนี้แล้ว ก็คงพอเดาทางได้ว่า งบการเงินไม่ได้มีแค่งบการเงินที่ใสสะอาดเท่านั้น แต่ยังมีการตกแต่งบัญชีให้มีความสวยงามตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจสั่งการอีกด้วย
ตัวอย่างของการตกแต่งงบการเงินที่โด่งดัง ก็อย่างเช่น
💥Enron บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ ในปี 2001 มีการตกแต่งกำไรที่เกินจริง แม้เป็นบริษัทที่มีรายได้มากที่สุดติดอันดับ 6 ของโลก แต่ก็เกิดล้มละลายเพราะการตกแต่งบัญชีแล้วเกิดถูกตรวจสอบพบ
จนทำให้บริษัทที่ตรวจสอบบัญชีต้องล้มละลายตามไปด้วยจากการถูกปรับ ซึ่งก่อนหน้านั้นบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก จะถูกเรียกว่า Big 5 แต่จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เหลือเพียง Big 4 จนถึงปัจจุบันนี้
ColdFusion
💥Worldcom บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่ล้มละลายในปี 2002 ที่ทำการตกแต่งงบการเงินให้บริษัทมีรายได้และกำไรตามความคาดหวังของผู้ถือหุ้น
และพยายามซ่อนต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ควรจะถูกบันทึกในงบกำไรขาดทุน เพื่อให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น สุดท้ายเมื่อความจริงเปิดเผย ทำให้ผู้บริหารสองคนของ WorldCom ถูกตัดสินโทษ โดย Bernard Ebbers ถูกจำคุก 25 ปี และ Scott Sullivan ถูกจำคุก 5 ปี
nationthailand
💥Luckin Coffee เป็นร้านกาแฟสัญชาติจีน ที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐอเมริกาในปี 2019
ที่มีทีมงานร่วมกันตกแต่งตัวเลขรายได้ทางบัญชีที่เกินกว่ายอดขายจริงถึงเกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อเรื่องถูกเปิดเผยออกมา ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงมาถึง 81.3% เพียงชั่วข้ามคืน
pandaily
💥Dell บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุนด้วยการทำกำไรทะลุเป้า 5 ปีต่อเนื่อง ก่อนที่ความจะแตก
หลังจากที่คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาตรวจพบว่า กำไรที่ทะลุเป้านั้น Dell ได้จาก Intel ภายใต้ข้อตกลงที่ว่า Dell จะต้องใช้ไมโครชิปของ Intel เท่านั้น
ซึ่งราคาของภาพลวงตาทางบัญชีครั้งนั้นคิดเป็นค่าปรับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งบริษัท Dell ยอมจ่ายแต่โดยดี
1
laughingcolours
เห็นตัวอย่างที่เป็นเคสบิ๊กๆ ระดับโลกขนาดนี้ หลายท่านคงอยากรู้แล้วว่าเขามีวิธีตกแต่งบัญชีกันอย่างไรบ้าง บทความนี้จะพามาเรียนรู้และทำความเข้าใจ
เพื่อจะช่วยเตือนให้นักลงทุน ไม่หลงไปในภาพลวงตาของตัวเลขบนหน้างบการเงินนั้น และใช้สติวิเคราะห์ข้อมูลอย่างระมัดระวังมากขึ้นค่ะ
📌 เทคนิคการสร้างรายได้ให้สวยงาม ชวนให้น่าเข้ามาลงทุน
ไม่ผิดที่ใครๆ ก็ชื่นชอบความสวยงาม ก็เหมือนกับเหล่าแมลงที่ถูกความงามของดอกไม้หลอกล่อให้เข้าไปชมแล้วดักแมลงเหล่านั้นเป็นอาหารในภายหลัง
กำไรก็คงเป็นสิ่งที่ทุกกิจการอยากให้ออกมาสวยงาม ทั้งต่อนักลงทุน เจ้าหนี้ และผู้มาเห็นงบการเงินของกิจการตัวเอง จนเป็นเหตุให้มีการตกแต่งกำไร
และกลายเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการใช้เพื่อปรับตัวเลขให้เป็นไปตามที่ต้องการ มากกว่าสะท้อนสภาพธุรกิจของกิจการในขณะนั้นจริงๆ
และสำหรับนักลงทุน แน่นอนส่วนใหญ่จะมองหางบการเงินที่มีผลประกอบการที่สวยงาม มีอัตราการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักวิเคราะห์สายพื้นฐานใช้ในการประเมินมูลค่า
จึงเป็นปัจจัยให้บริษัท คิดหาช่องทางให้ได้มาซึ่งยอดขายหรือกำไรสุทธิที่เติบโตบนงบการเงิน โดยเทคนิคหนึ่งที่นิยมกันก็คือ การกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการรับรู้รายได้หรือรายจ่ายเพื่อเกลี่ยกำไร
โดยบริษัทจะใช้วิธีลงรายการที่ควรจะเป็นรายได้ให้เป็นสินทรัพย์ไว้ก่อน หรือลงรายการที่ควรจะเป็นค่าใช้จ่ายให้เป็นหนี้สินไว้ก่อน แล้วเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรับรู้รายได้หรือค่าใช้จ่ายเหล่านั้นในงบกำไรขาดทุน
1
เทคนิคดังกล่าวข้างต้นนั้น ในทางบัญชีเรียกว่า การรับรู้รายได้-ค่าใช้จ่ายด้วยวิธีเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis)
ซึ่งเกณฑ์คงค้างนั้นทำให้นักบัญชีสามารถใช้วิจารณญาณในการพิจารณาการบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายลงในงบการเงินได้
กลายเป็นช่องว่างที่ทำให้ผู้บริหารหลายบริษัทเลือกใช้ในการเกลี่ยกำไรเพื่อแสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัท
Pinterest
📌 เทคนิคซ่อนหนี้สินนอกงบการเงิน
นอกจากรายได้ที่สวยงามแล้ว อัตราส่วนทางการเงินก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอัตราส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของบริษัทอย่างอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E)
โดยบริษัทต้องการให้ตัวเลขนี้ยิ่งต่ำยิ่งดี เพราะนอกจากแสดงให้เห็นว่าธุรกิจมีโอกาสหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากการขอสินเชื่อแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่สูงกว่าความเป็นจริงด้วย
สำหรับเทคนิคนั้น ก็คือการเปลี่ยนหนี้สินเป็นค่าใช้จ่ายแทน โดยวิธีการ แทนที่บริษัทจะต้องกู้เงินมาซื้อที่ดิน อาคาร หรือเครื่องจักร
ก็เปลี่ยนรายละเอียดในสัญญาเป็นการเช่าเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจในระยะยาว เพียงเท่านี้ก็ไม่มีหนี้สินก้อนโตไปแสดงในงบดุล แต่จะไปปรากฏเป็นค่าใช้จ่ายค่าเช่าในงบกำไรขาดทุนแทน
1
อีกเทคนิคที่ได้รับความนิยม คือการตั้งนิติบุคคลใหม่ขึ้นมา แล้วให้บริษัทเหล่านั้นเป็นท่อน้ำเลี้ยงหาสินเชื่อมาป้อนให้กับบริษัทแม่ แล้วกลบเกลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างสองบริษัท
1
และให้นักบัญชีใช้ดุลพินิจว่าทั้งสองบริษัทไม่มีอำนาจในการควบคุมเพื่อที่ไม่จำเป็นต้องทำงบการเงินรวม วิธีการนี้ทำให้บริษัทดูมีศักยภาพในการขอสินเชื่อและมีสภาพคล่องสูงกว่าความเป็นจริง
แต่เทคนิคทางบัญชีนี้ถูกควบคุมอย่างเข้มข้นขึ้น หลังจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Enron ล้มละลายเพราะซุกหนี้มหาศาลผ่านหลายช่องทาง
Pinterest
ศิลปะการเกลี่ยกำไร และการซ่อนหนี้สินไว้นอกงบการเงิน อาจเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องใช้ความรู้ขั้นสูงสักหน่อยในการตรวจสอบและวิเคราะห์
ซึ่งเกณฑ์ทางบัญชีก็อนุญาตให้ทำได้ แต่ต้องมีการเปิดเผยไว้อย่างละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ซึ่งเมื่อรายละเอียดเยอะ บางครั้งนักลงทุนก็มักจะเปิดข้ามๆ ไปอย่างไม่ทันได้สังเกต
การอ่านงบการเงินว่ายากแล้ว การวิเคราะห์คุณภาพของงบการเงินนั้นยากขั้นกว่าไปอีก ดังนั้น อย่ามองแค่ปริมาณแต่ต้องมองถึงคุณภาพด้วย
สิ่งสำคัญสำหรับการวิเคราะห์งบการเงิน คือการเป็นคนช่างสงสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เจออะไรผิดสังเกต อาจต้องไปสืบหารายละเอียดว่าสิ่งนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร
และหากเจอจุดไหนในงบการเงินที่ดูแล้วรู้สึกแปลกๆ ก็ต้องเปิดอ่านรายงานประจำปี หรือรายละเอียดในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพิ่ม เพื่อค้นหาความจริงก่อนปักใจเชื่อ
แม้แต่งบการเงินที่ได้รับการรับรองโดยผู้ตรวจสอบบัญชีจากบริษัทชื่อดังก็ตาม เพราะประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็นมาแล้ว จากกรณีของ Enron ที่เป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกนั่นเองค่ะ
Cr. Themomentum
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่
https://www.blockdit.com/pages/5ef4aee94e90fa1adecae03e
การลงทุน
หุ้น
หุ้นวีไอ_เรื่องพื้นฐานของหุ้น
20 บันทึก
36
33
42
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
งบการเงินเพื่อการลงทุน
20
36
33
42
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย