26 ก.ย. 2022 เวลา 00:35 • หนังสือ
“บางครั้งถ้าเราอยากได้ไอเดียอะไรดีๆ เราก็ควรมีเวลาที่จะได้เตร็ดเตร่ทางปัญญาบ้าง”
ความตอนหนึ่งจากหนังสือ “Range: วิชารอบรู้” ของคุณ David Epstein
โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว การอ่านหนังสือไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ “พรวดพราด” อ่านให้มันจบๆไปเพื่อที่จะได้แกะห่อซีลหนังสือเล่มใหม่ แต่ควรที่จะค่อยๆละเมียดละไมอ่านไป “เรื่อยๆ” เพื่อลิ้มลองรสชาติของสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะบอกกล่าวกับผู้อ่านอย่างเต็มอรรถรส
ก็ต้องยอมรับว่าผมไม่อยากให้หนังสือบางเล่มที่ผมได้หยิบขึ้นมาเปิดอ่านต้องจบลงเลย…กับหนังสือ “Range: วิชารอบรู้” ของคุณ David Epstein ก็เช่นกัน
หลักใหญ่ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือการตั้งคำถามกับ “ความเชี่ยวชาญในทักษะเฉพาะด้าน” ว่า “ในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง เราจำเป็นที่จะต้องเชี่ยวชาญในทักษะใดทักษะหนึ่งจริงๆหรือ!?”
ซึ่งถ้าหากสังเกตจากชื่อหนังสือดีๆ เราก็น่าจะคาดเดาคำตอบของคำถามที่ผู้เขียนตั้งไว้อยู่แล้วว่า “ไม่จำเป็น”
มีหลายช่วงหลายตอนในหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจไม่ว่าจะเป็นเบื้องลึกเบื้องหลังของผู้ที่ประสบความสำเร็จในแวดวงต่างๆ ซึ่งจุดร่วมที่พวกเขาต่างมีร่วมกันก็คือ “การที่พวกเขาต่างเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำในสิ่งต่างๆอันหลากหลายในช่วงแรกเริ่ม จนกระทั่งพวกเขาสามารถรับรู้ได้ถึงความต้องการของตัวเองและมุ่งไปตามทางเดินของพวกเขา” และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปรือสิ่งอื่นๆมาในก่อนหน้านี้จะกลับมาช่วยเสริมส่งให้สิ่งที่เรากำลังฝึกปรืออยู่นั้นทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังสามารถสร้างแรงกระเพื่อมทางความคิดที่อาจทำให้ใครต่อใครหลายๆคนอาจถึงขั้นส่ายหน้า บุ้ยปากในครั้งแรกที่ได้อ่านแนวคิดที่ผู้เขียนได้นำเสนออย่างเรื่อง “จุดอ่อนของพวกลัทธินิยมเริ่มก่อน”
(แนวคิดของพวกลัทธินิยมเริ่มก่อนนั้นมีอยู่ว่า ผู้ปกครองจะทำการกำหนดทักษะใดทักษะหนึ่งให้เด็กคนหนึ่งได้ฝึกปรือตั้งแต่ยังอายุน้อย ทั้งนี้ก็เพื่อหวังให้เด็กคนนั้นฉายแววในทักษะนั้นๆตั้งแต่อ้อนแต่ออกและหวังว่าเมื่อเด็กเติบใหญ่ขึ้นเด็กจะมีความเป็นเลิศในด้านนั้นๆ)
ซึ่งการกำหนดทักษะให้เด็กคนหนึ่งได้ฝึกปรือก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยเด็กคนนั้นอาจไม่ต้องเสียเวลามากนักและเป็นผู้ที่มีความชัดเจนในเป้าหมายตั้งแต่แรกเริ่ม แต่…การฝึกปรือในทักษะใดทักษะหนึ่งเฉพาะด้าน มันจะให้ผลดีกับผู้ฝึกก็ต่อเมื่อพวกเขาได้ไปอยู่ใน “สภาวะแวดล้อมที่อ่อนโยน” (กล่าวคือ การเผชิญหน้ากับสถานการณ์เดิมที่ไม่มีอะไรแปรเปลี่ยนไปมากนัก)
แต่ถ้า…สภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์นั้นผันเปลี่ยนไปจากเดิมมากจนไม่เหลือความคุ้นชินเดิมๆให้กับพวกเขา พวกเขาอาจ “ไปไม่ถูกทิศเลย” ก็เป็นได้ ซึ่งสำหรับในปัจจุบันกาลของโลกเรา ทักษะที่อาศัย “ความยืดหยุ่น” อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่ากาลไหนๆ ที่เคยผ่านมาบนโลกใบนี้
และสิ่งที่สำคัญที่สุดอันเป็นสิ่งที่เหล่าบรรดาผู้ปกครองที่มีแนวคิดแบบลัทธินิยมเริ่มก่อนนั้นควรถามกับตัวเองตั้งแต่แรกว่า “ทักษะเหล่าเหล่านี้คือสิ่งที่เด็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของเราต้องการจริงๆหรือ!?”
และถึงแม้หากผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้ดูแลไม่ทันแม้แต่จะคิด แต่พอเด็กๆเหล่านั้นได้เติบใหญ่ขึ้น พวกเขาอาจจะต้องกลับมาย้อนตั้งคำถามกับตัวเองว่า…
“นี้คือสิ่งที่ฉันต้องการจริงๆแน่หรือ!?”
ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นประเด็นอันเฉียบแหลมประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนต้องการฝากให้ผู้อ่านได้กลับไปขบคิด
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆอีกมากมายที่ผมอยากหยิบยกมาบอกเล่ากับทุกๆท่านที่ได้เข้ามาอ่านรีวิวของผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย”, “การรักษาสมดุลระหว่างการทำตามระเบียบที่กำหนดไว้และการเห็นต่างของปัจเจก” หรือแม้กระทั่งเรื่อง “ความจำเป็นของการมีอยู่ของความเห็นต่างอันเป็นสิ่งจำเป็นที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้”
ท้ายที่สุดนี้ผมอยากปิดท้ายการรีวิวด้วยความตอนหนึ่งที่ได้ถูกบรรยายไว้ในบทสรุปอันเป็นบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งพอที่จะสรุปใจความสำคัญไว้ได้ดังนี้
“ชีวิตของเราไม่จำเป็นต้องไปแข่งหรือเปรียบเทียบกับใคร ถ้าจะเปรียบเทียบกับใครสักคน ใครคนนั้นก็คือตัวของคุณเองในวันวาน ทุกคนล้วนมีจังหวะการก้าวย่างในชีวิตที่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรนำตัวเราเองไปเปรียบเทียบกับใครอื่น”
สำหรับผมแล้วนี้คือหนังสือที่เปิดพื้นที่ให้แก่ความหลากหลายครับ 😊
ขอบคุณครับสำหรับทุกคนที่เข้ามาอ่านรีวิว ☺️
หนังสือ “Range: วิชารู้รอบ”
ผู้เขียน: David Epstein
ผู้แปล: ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
สำนักพิมพ์: Salt
“Range: วิชารู้รอบ” ของ David Epstein
โฆษณา