28 ก.ย. 2022 เวลา 03:00 • หนังสือ
ผู้ชายพายเรือ
ผู้พิพากษาการใช้ภาษาไทยท่านว่า ความจริงนั้นผู้ชายไม่ได้พายเรือ แต่เป็นผู้ชายรายเหรื่อ
รายเหรื่อ หมายถึง รายที่แปลกหน้า หรือคนที่แปลกหน้า อย่างเคยพูดกันว่า "แขกเหรื่อ" คือคนแปลกหน้า ฉะนั้นที่เรียกว่า "ผู้ชายรายเหรื่อ" ก็หมายถึง ผู้ชายแปลกหน้า ชะรอยในสมัยก่อน ผู้ใหญ่คงจะเตือนลูกสาวหรือผู้หญิงให้ระวัง "ผู้ชายรายเหรื่อ" คือไม่ให้คบผู้ชายแปลกหน้า ผู้ชายที่ไม่รู้จักหัวนอนปลายตีน แล้วภายหลังจะออกเสียงลำบากหรืออย่างไร จึงกลายเป็น "ผู้ชายรายเรือ" ไป
ที่นี้เมื่อเรียก "ผู้ชายรายเรือ"ขึ้นแล้ว พวกผู้หญิงจะทำอย่างไร ก็ต้องมีคำเรียกให้เข้าคู่กันให้ได้ จึงเกิดมีคำว่า "ผู้หญิงริงเรือ" ขึ้นมา
คำว่า "ผู้หญิงริงเรือ" มีใช้ในภาษาหนังสือมาแต่โบราณ อย่างในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ เรื่อง ไชยเชฐ
ครั้นกาลนานมาพวกที่พูดภาษาไทยเห็นว่าคำ "ผู้ขายรายเรือ" กับ "ผู้หญิงริงเรือ" ไม่ได้ความ เห็นว่าเป็น "ผู้ชายพายเรือ" จะเหมาะดีกว่า ผู้ชายพายเรือดูเอางานเอาการดีกว่าผู้ชายรายเรือ
ที่นี้เมื่อผู้ชายไปพายเรือเสียแล้ว ผู้หญิงจะมามัวริงเรืออยู่ก็ไม่ได้ ต้องกลายเป็นมือปืนอาชีพ เป็น "ผู้หญิงยิงเรือ" ไป แม้ว่าผู้พิพากษาภาษาไทยจะได้พยายามคัดค้านให้ผู้หญิงพ้นจากคดียิงเรือให้กลับไปเป็น "ผู้หญิงริงเรือ" สักเท่าไรก็ไม่สำเร็จ จึงต้องปล่อยให้ผู้หญิงยิงเรือต่อมาจนทุกวันนี้
จากหนังสือ ‘ผู้หญิงกับผู้ชาย’ โดย ส.พลายน้อย
โฆษณา