26 ก.ย. 2022 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์
จริงดิ คนจีนไม่มีเทศกาลกินเจ? แล้วเทศกาลกินเจมาจากไหน?
“เทศกาลกินเจ” ไม่ได้มาจากเมืองจีน? แล้วตกลงมาจากไหน?
เมื่อเวียนมาถึงเดือนตุลาคม ก็จะเข้าสู่ช่วง “เทศกาลกินเจ” ของลูกหลานชาวจีนในประเทศไทย เมื่อถึงหน้ากินเจ เราก็จะเห็นธงสีเหลืองอร่ามประดับตามร้านอาหารทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะย่านคนจีนอย่างเยาวราชนั้นยิ่งคึกคักเป็นพิเศษ จนกลายเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวของปีเลยก็ว่าได้
เราต่างก็รับรู้ว่า “เทศกาลกินเจ” เป็นเทศกาลของจีน ขนาดเมืองไทยยังคึกคักขนาดนี้ แล้วคนจีนจะจัดงานกินเจยิ่งใหญ่แค่ไหนกันล่ะ แต่เมื่อไปถามคนจีนที่อยู่แผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า หรือคนจีนโพ้นทะเลในประเทศอื่นๆ ต่างก็งุนงงกันเป็นแถวว่า “มีเทศกาลนี้ด้วยหรือ”
อ้าว… “เทศกาลกินเจ” ไม่ได้มาจากเมืองจีน? แล้วตกลงมาจากไหน ก่อนอื่นเราไปรู้จักที่มาของ “เทศกาลกินเจ” กันก่อนดีกว่าค่ะ
1
อันที่จริงแล้ว “เทศกาลกินเจ” ก็มาจากจีนจริงๆ นั่นแหละ เพียงแต่ว่าเป็นประเพณีแค่เฉพาะถิ่น ที่เรียกว่า 九皇爷诞 (Nine Emperor Gods Festival) คือการบูชาพระราชาธิราช 9 พระองค์ หรือที่คนฮกเกี้ยนเรียกว่า “กิ้วอ๋อง” คนจีนที่กินเจส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว ในแถบมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย และประเพณีนี้ก็ได้สืบทอดตามพวกเขามาด้วย โดยกำหนดให้วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปีเป็นเทศกาลกินเจ
คำว่า “เจ” หรือแจ เป็นสำเนียงแต้จิ๋วของคำว่า “斋”
ที่หมายถึงการชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ก่อนไหว้พระ
ซึ่งหมายรวมถึงการละเว้นเนื้อสัตว์นั่นเอง
“เทศกาลกินเจ” หรือประเพณีเจี๊ยะฉ่ายในไทยมีจุดเริ่มต้นมาจากหมู่บ้านกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาชาวจีนหลั่งไหลอพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตจำนวนมาก
เดิมทีพวกเขาก็มีความเชื่อเรื่องเทพยดาฟ้าดินหรือเทพเซียนต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว ประกอบกับครั้งหนึ่งมีคณะงิ้วเดินทางมาแสดงที่หมู่บ้านกะทู้ แล้วคนในคณะเกิดอาการป่วยไข้ จึงนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายที่เคยปฏิบัติมาในเมืองจีน หลังจากทำพิธีเสร็จสิ้น โรคภัยไข้เจ็บก็หายไปหมด ทำให้ชาวบ้านกะทู้ต่างเลื่อมใสศรัทธาในการกินเจบูชาเทพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง และสืบทอดประเพณีนี้ก่อนจะแพร่กระจายไปแทบทุกจังหวัดที่มีชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่
ปัจจุบันนี้ การกินเจในเมืองไทยนั้นเกิดจากวัตถุประสงค์หลายแบบ บางคนตั้งใจกินเจอย่างเคร่งครัดเพื่อทำบุญ ซึ่งตามหลักการกินเจ นอกจากละเว้นเนื้อสัตว์และส่วนประกอบที่มาจากสัตว์แล้ว จะต้องงดผักต้องห้ามที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม, หอมใหญ่หรือต้นหอม, หลักเกียวหรือกระเทียมโทน, กุยช่าย และใบยาสูบ รวมถึงรักษาศีลควบคู่ไปด้วย
บางคนอาจเลือกกินเจเพื่อสุขภาพ ช่วยให้กระเพาะได้พักจากการทำงานหนัก หลังจากกินเนื้อมาตลอดทั้งปี ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้จะเป็นช่วงที่หาอาหารเจกินได้ง่ายมาก อีกทั้งตอนนี้ก็มีการประดิดประดอยให้อาหารเจมีรสชาติอร่อย หน้าตาน่ารับประทาน แม้หลายคนอาจจะรู้สึกขัดใจกับ “ข้าวมันไก่เจ” “ข้าวขาหมูเจ” อยู่บ้างก็ตาม ทำให้บางคนที่ไม่คิดจะกินเจก็อาจหันมาสลับกินอาหารเจบ้าง กินชอบ้าง (หมายถึงกินอาหารคาว) แล้วแต่เกิดอยากจะกิน
แต่ไม่ว่าคุณจะมาทาง สายบุญ สายสุขภาพ หรือ สายสลับตามใจฉัน ก็ไม่ผิดอะไร ทุกคนต่างมีสิทธิที่จะเลือกกินอาหารที่ตัวเองประสงค์ ขอเพียงไม่มีดราม่าค่อนแคะโจมตีคนที่กินไม่เหมือนเรา ก็เป็นอันใช้ได้
โฆษณา