26 ก.ย. 2022 เวลา 06:40 • สุขภาพ
โรงพยาบาลกลางสนามรบ พ.ศ.๒๕๖๓
เรื่อง/ภาพ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
.
เมื่อ๑๗-๑๘ ปีก่อน ที่ดิฉันเข้าไปทำข่าวสงครามในเขตพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ดิฉันได้เข้าไปที่กองบัญชาการทหารสูงสุดกองทัพรัฐฉาน ที่ดอยไตแลง โดยใช้เส้นทางผ่านด.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
.
ดอยไตแลงมิใช่เป็นเพียงที่ตั้งของกองบัญชาการสูงสุดทางการทหารเท่านั้น บนดอยยังมีวัด โรงพยาบาล โรงเรียนสอนเด็กกำพร้า ที่มีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงชั้นม. ๓ และรอบดอยมีเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐๐ ไร่ เต็มไปด้วยป่าเขา อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่า และมีระเบียบเข้มงวดที่เจ้ายอดศึกผู้นำสูงสุดออกไว้เป็นกฎเหล็กว่า ห้ามยิงเสือ ช้าง นกกกกัก(นกเงือก) ใครฝ่าฝืนติดคุกหลายเดือนแน่
.
สำหรับช้างฝูงใหญ่ ในช่วงนั้น พลเอกยอดศึก ผู้นำสูงสุดของกองทัพรัฐฉานเล่าว่า มีประมาณ ๘๐ กว่าตัว ทหารหลายคนได้เห็นว่าช้างจ่าฝูงผู้นำโขลงเป็นช้างเผือก สีเผือกมองเห็นชัดเจน และยังมีวัวเถื่อนตัวดำ(กระทิง) ควายเถื่อน(ควายป่า) วัวแดง แต่วัวๆควายๆพวกนี้จะอยู่ลึกเข้าไปในป่า ที่เจอบ่อยก็พวกฟาน(สัตว์พวกกวาง)
สำหรับเสือลายก่ายก๋อน(เสือลายพาดกลอน,เสือโคร่ง)นั้นอยู่ไกลๆ เคยเข้ามาในแค้มป์ทหารบ้างในบางโอกาส เจ้ายอดศึกทบทวนความจำให้ฟังว่า ช่วงสู้รบครั้งใหญ่กับว้าปีพ.ศ.๒๕๔๘ ลูกปืนค.ลงคึ่กๆ เสือมาหมอบอยู่เหนือบังเกอร์ทหารไทใหญ่บนเนินกองคาเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ มาเห็นกันตอนเสือกระโดดข้ามหัวทหารไป…วันรุ่งขึ้นว้าแพ้เลย
.
พื้นที่สำคัญบนดอยไตแลงอีกแห่งหนึ่งก็คือโรงพยาบาลสนาม ขึ้นป้ายไว้ชัดเจนว่า “สถานีอนามัยดอยไตยแลง” ในปีพ.ศ.๒๕๔๙ มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ประจำอยู่ ๒๖ คน โดยหมอใหญ่ที่นี่ เป็นหญิงสาวเชื้อสายคะเรนนีอายุ ๓๒ ปีชื่อพอซาเก ชื่อของเธอมีความหมายถึง “ดอกไม้ที่งามเหมือนดวงดาว” พอซาเกเรียนจบชั้นมัธยมจากแค้มป์คะเรนนีและแม่ที่เป็นพยาบาลส่งเธอไปเรียนต่อทางด้านพยาบาลที่แค้มป์ในสอย ชายแดนแม่ฮ่องสอน
.
หลักสูตรเร่งด่วนสำหรับพยาบาลสนามนั้น หมอพอซาเกเล่าว่า “เราเริ่มเรียนการปฐมพยาบาล ทำแผล โดยเฉพาะที่โดนระเบิด โดนกระสุน ให้เลือด เรียนการวินิจฉัยโรค ทำแล็บตรวจมาลาเรีย TB(วัณโรค) ตรวจปัสสาวะ เป็นหลักสูตรพยาบาลเร่งรัดให้ทำได้ทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับชายแดน ให้ทำคลอดเป็น ผ่าตัดกระสุนได้ ถอนฟันได้ เขาสอนฟันมีกี่ซี่ ต้องดูให้รู้ว่าฟันผุซี่ไหน ให้ฉีดยาชาไม่โดนเส้นเลือด แล้วถอนฟันได้เลย ไม่ขูดหินปูน เราไม่ทำของไม่จำเป็น”
.
หมอพอซาเกทำงานในแค้มป์คะเรนนีอยู่หลายปี และตั้งใจไปเรียนทางด้านการแพทย์ต่อที่ฟิลิปปินส์ แต่เมื่อมาแต่งงานกับนายทหารSSA เจ้ายอดศึกก็ให้สามีเธอพาเธอมาอยู่ที่ดอยไตแลงเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๒
.
ในตอนที่มาถึงดอยไตแลงครั้งแรกนั้น เธอเล่าว่า
.
“น้องพูดภาษาไทใหญ่ยังไม่ได้เลย สามปีแน่ะถึงพูดกับคนไข้ได้คล่อง ตอนมาถึง บนดอยมีหมออยู่ ๒ คน คนหนึ่งเป็นหมอทำคลอดเรียนจากพม่า อีกคนเป็นหมอผู้ชายเรียนมาจากสมัยMTA ของขุนส่า เขาใช้วิธีรักษาด้วยยาฉีด แต่น้องจะให้ยากินก่อนไม่ได้ผลค่อยฉีดยา นี่ทำให้เรา ๓ คนต้องมาคุยกัน ปรับวิธีการรักษาให้ไปทางเดียวกัน อาศัย Burma Border Guideline (BBG-หลักสูตรการรักษา วินิจฉัยโรคชายแดน) เป็นหลัก อาศัยตัวนี้เป็นแนวทางในการทำงาน ส่วนยาต่างๆเราได้ความช่วยเหลือจากNGOบ้าง กองทัพซื้อกันเองบ้าง”
.
หากคนไข้ยุคแรกที่หมอพอซาเกต้องดูแลรักษานั้น กลับไม่ใช่อาการบาดเจ็บจากสนามรบ
.
“ตอนนั้นคนเจ็บเยอะมาก ตัวบวม เขาไม่ได้ถูกอาวุธ แต่ป่วยบวมทั้งตัว เป็นโรคไตทำงานไม่ปกติ เพราะน้ำกินไม่ดี เขากินน้ำดิบ ไม่ต้มน้ำกิน เราก็ดูแลให้ความรู้คนไข้ไปด้วย พอปี ๒๕๔๖ คนไข้ยิ่งมากขึ้นมีทั้งติดเชื้อHIV มาลาเรีย TB และคนเจ็บจากการสู้รบ ถ้าฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน บาดเจ็บมาจะหามมาที่นี่ หามกันมาจากรอบดอย สัก ๒ วันมาถึงเรา แต่ถ้าฝั่งตะวันตกของสาละวิน มาไม่ถึง ไกลเกินไป ต้องรักษาในป่ากันเอง”
.
คนไทใหญ่ไม่เข้าเมืองไปรักษากับหมอพม่าหรอกหรือ?
.
“ ไม่ไปค่ะ” หมอพอซาเกบอกเล่าข้อมูลให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “โรงพยาบาลในพม่าค่ารักษาแพงมาก ชาวบ้านไทใหญ่ไม่มีเงิน หมอก็เป็นพม่าด้วย ไม่ค่อยมีคนไทใหญ่เป็นหมอ เพราะค่าเรียนหมอเรียนพยาบาลสูงมากสำหรับคนไทใหญ่ คนไทใหญ่น้อยมากที่จะได้เรียนวิชาชีพพวกนี้ ทหารไทใหญ่ที่บาดเจ็บจะไม่กล้าไปเจอหมอพม่า ส่วนชาวบ้านไทใหญ่จะพึ่งยาสมุนไพรและทหารSSA เป็นหลัก เพราะทหารของเรา ๑ ชุดจะมีหมอทหารไปด้วย หมอทหารจะรักษาชาวบ้านมากกว่ารักษาทหารด้วยกัน ไปหมู่บ้านไหน ชาวบ้านขอแต่ยา
บางทีมีหมอเถื่อนเข้าไปรักษาตามหมู่บ้าน ค่ายาฉีดแพงมาก พอทหารSSA เข้าไปถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านดีใจเลยเพราะขอยาทหารของเราได้ฟรี ทหารSSAจะช่วยดูแลประชาชนด้านสุขภาพเยอะ เพราะประชาชนป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจกันมาก เป็นวัณโรค พวกหอบหืดเป็นกันเยอะ เพราะเขาสูบบุหรี่มาก สูบฝิ่นกันด้วย การสูบฝิ่นทำให้เป็นหอบหืด เป็นโรคความดันโลหิตสูง”
.
ส่วนมาลาเรียนั้น หมอพอซาเกบอกว่า ในรัฐฉานพบน้อยกว่าวัณโรค อาจเพราะรัฐฉานอากาศเย็น ผิดกับพื้นที่กะยา กะเหรี่ยงที่อากาศอุ่นกว่าและมาลาเรียแรงมาก
.
หมอพอซาเกบุกเบิกรักษาคนไข้อยู่หลายปี แล้วโรงพยาบาลสนามขนาด ๒๐ เตียงก็ได้เปิดอย่างเป็นทางการบนดอยไตแลงเมื่อปีพ.ศ.๒๕๔๗ สามารถทำการผ่าตัดเล็กๆน้อยๆได้ มีห้องแล็บสามารถตรวจเชื้อHIV มาลาเรีย โลหิตจาง TB ไวรัสในตับ ปัสสาวะได้ ขณะเดียวกันตั้งแต่หมอพอซาเกมาอยู่บนดอยไตแลง เจ้ายอดศึกก็ได้ปรึกษากับเธอเพื่อวางแผนอบรมทหารให้มีความรู้เฉพาะทางการแพทย์ เพราะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของคนในรัฐฉานที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลทางด้านสาธารณสุขใดๆจากทางการพม่า
.
ในปีพ.ศ.๒๕๔๙ หมอพอซาเกได้เปิดอบรมฝึกหัดพยาบาลภาคสนามและทหารเสนารักษ์ไปหลายรุ่น นับจำนวนประมาณ ๒๐๐ คนได้แล้ว ทหารหมอเหล่านี้จะกลับเข้าไปพร้อมหน่วยทหารเพื่อทำงานช่วยประชาชนในรัฐฉาน และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของคนในรัฐฉานออกมาทำสถิติทางด้านต่างๆไว้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ตรงเป้าหมายที่สุด
.
“เราคัดเลือกเอาคนที่อ่านภาษาไทใหญ่ อ่านภาษาพม่าได้มาอบรม ๖ เดือน ฝึกอีก ๖ เดือน รวมเวลาประมาณ ๑ ปี เราฝึกจนสามารถถอนฟัน ทำคลอด วินิจฉัยโรค ผ่าตัดระดับผิวหนังให้เอากระสุนออกได้ สอนทำแผล ฝึกฉีดยาเข้าเส้น เข้ากล้ามเนื้อ เข้าใต้ผิวหนัง วัดความดัน เช็คอุณหภูมิ จับชีพจร แล้วสอนคุณสมบัติของยาต่างๆ ของเราใช้แอมม็อกซิลินเป็นหลัก อบรมเสร็จก็จัดกระเป๋าให้คนละ ๑ กระเป๋า ในกระเป๋ามีทั้งยาฉีด ยาล้างแผล ยากิน น้ำเกลือคนละขวด ไว้เผื่อฉุกเฉิน”
.
ส่วนอาการป่วยไข้ของทหารไทใหญ่บนดอยไตแลงปัจจุบันนี้ ที่เป็นกันมากก็คือ
.
“โรคกะเพาะเป็นกันเยอะจริงๆ” หมอพอซาเกเล่าไปยิ้มไป “เพราะทหารกินเหล้ามากข้าวไม่กิน ที่แปลกคือทหารSSAบนดอยกินเหล้ามากแต่ไม่ทะเลาะกัน ไม่เคยเห็นเขาเมาแล้วตีกันเลย ผิดกับคะเรนนีที่ไม่ค่อยกินเหล้า แต่กินเมื่อไหร่ตีหัวกันทุกที”
.
กฎระเบียบของกองทัพไทใหญ่นั้นเข้มงวดมาก พยาบาลอีกคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงวินัยเหล็กของชุมชนไทใหญ่บนยอดดอยว่า คนกินเหล้าเมาห้ามพบผู้ใหญ่ ถ้าเมาเหล้าแล้วตีกันเองโดนขังคุก ๑ คืน แต่ถ้าตีเมียจะโดนหนักกว่าคือขังซะ ๓ คืน ที่เธอสังเกตเห็น ผู้ชายไทใหญ่นั้นไม่ค่อยทำร้ายลูกเมีย ดุกันมีบ้าง แต่จะลงไม้ลงมือหรือเสียงดังไม่ค่อยมี การทะเลาะวิวาทระหว่างผัวเมียเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงไทใหญ่ไม่ใช่คนอ่อนแอ ผู้ชายจึงไม่กล้าทำร้ายเมีย เพราะนอกจากจะโดนสวนกลับหนักๆไม่แพ้กันแล้ว ยังมีระเบียบของกองทัพปกป้องอยู่ด้วย
.
ประมาณเดือนละครั้งหรือ ๒ ครั้ง จะมีการเรียกทุกคนบนดอยมาอบรมว่า เวลาผู้ชายกินเหล้าไม่ควรทำอะไรบ้าง ส่วนผู้หญิงถ้าผัวไปทำงานไปออกรบ ไม่ควรมีชู้ ความซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าผู้หญิงมีชู้จะถูกขังคุก ๓ เดือน ออกจากคุกมาสามียอมรับได้ก็อยู่กันต่อไป ถ้ารับไม่ได้ก็เลิกกันไปซะ เลิกแล้วจะมีผัวใหม่ไม่เป็นปัญหา แต่ส่วนใหญ่จะอยู่กันต่อ ให้อภัยกันไป เพราะสงสารลูก
.
สำหรับชายชู้ก็โดนเหมือนกัน โทษคือขังคุก ๓ เดือน และระหว่างจองจำถูกตีตรวน ต้องมีหน้าที่หาฟืนให้กองทัพ
.
หมอพอซาเกบอกว่า “บนดอยนี้ผู้ใหญ่ดูแลทุกเรื่อง ทั้งเรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องป่วยไข้ เรื่องยา จะแต่งงาน จะออกลูกไม่มีเงินก็ไปขอเจ้ายอดศึกทั้งนั้น ถ้ากองทัพไม่มีเงิน เจ้ายอดศึกก็เอาเงินส่วนตัวออกให้ เจ้ายอดศึกเป็นเหมือนทั้งพ่อทั้งแม่ เจ้าอารมณ์ดี ใจดี คนที่นี่นับถือและรักเจ้ายอดศึกมาก”
.
ทางกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ยังผลิตหมอสนามอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอด ทั้งฝึกอบรมเองบนยอดดอย และส่งคนไทใหญ่ไปเรียนเพิ่มเติมความรู้จากแค้มป์ของพันธมิตรทั้งกะเหรี่ยงและคะเรนนี เพราะสถานการณ์การรบในรัฐฉานยังรุนแรงอยู่ทุกวัน
.
บนยอดดอยไตแลงนั้น ช่วง ๓ ปีก่อนที่กองทัพว้าแดงของเหว่ยเซียะกังบุกขึ้นโจมตีกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่อย่างรุนแรงต่อเนื่องอยู่ร่วมหนึ่งเดือน คือเวลาหนักหนาสาหัสช่วงหนึ่งของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ หมอพอซาเกเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า
.
“ช่วงรบกับว้า พวกหมอพยาบาลไม่ได้หลับนอน กลางวันปืนใหญ่ลงตลอดไม่หยุด กลางคืนปืนใหญ่สงบ ขนคนไข้ออกมา หามกันมา ใส่รถมา พยาบาลมี ๑๐ กว่าคนเป็นคนที่น้องฝึกไว้ ผลัดกันทำงานทั้งกลางวันกลางคืน ทหารเสนารักษ์ผู้ชาย ๓๐–๔๐ คนไปหน้าศึก(จุดสู้รบ)หมด ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับหมอผู้ชายที่ขาไม่ดี เฝ้าเวรไว้ ช่วงนั้นมีคนเจ็บขนาดตัดอวัยวะอยู่ด้วย
เราส่งไปตัดที่แม่ฮ่องสอน พวกขาขาด ๒-๓ คน ส่งไปทำขาเทียมที่แค้มป์พันธมิตรของเรา มีสะเก็ดระเบิดโดนตา ๒ คน คนที่โดนกับระเบิดมา เราจะทำเท่าที่ทำได้ เย็บเส้นเลือดก่อนส่งลงแม่ฮ่องสอน ช่วงสู้รบเจ้ายอดศึกมาเยี่ยมคนไข้ที่โรงพยาบาลทุกวัน ทั้งคนไข้ทั้งหมอมีกำลังใจกันมาก”
.
น้องพยาบาลอีกคนแอบกระซิบเล่าถึงความเชื่อของทหารไทใหญ่ที่สวนทางกับความเป็นจริงที่เธอพบอีกด้วยว่า
.
“ทหารไทใหญ่เชื่อว่าสักลายสักยันต์แล้วไม่โดนกระสุน แต่ที่หามกันมาก็ลายสักเต็มตัวทั้งนั้นเลยนะพี่”
.
ที่ต่างไปจากโรงพยาบาลสมัยใหม่ทั่วไปก็คือ โรงพยาบาลสนามบนดอยไตแลง ได้ใช้สมุนไพรควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ทหารที่บาดเจ็บกระดูกแตกจากกับระเบิด หรือกระสุนปืน หลายคนรอดพ้นจากการถูกตัดขาด้วย “ยาก๊อบ”
.
ยาก๊อบคือยาสมุนไพรที่ใช้พอกแผลกระดูกแตก ทำจากพืช ๕ ชนิด ที่เก็บหาได้จากป่ารอบดอย คือหญ้าเอ็นยืด รากไถ่ยะ ใบเสือไหวเมิง ใบจะเลิมห้วย ใบหมอกหมวยมุยตัน ทั้งหมดนี้เอามาตำจนอ่อน ใส่น้ำร้อนเดือด ผสมลงด้วยเหล้าขาว ไข่ขาวดิบของไข่ไก่ ทำเป็นยาพอก ถ้าขาหักธรรมดาพอกไว้ ๒๑ วัน เปลี่ยนยา ๓ วัน ๑ ครั้ง หากแผลพองใหญ่จะใช้เวลานานขึ้น และผสมสมุนไพรอื่นเพิ่ม คือเคอหญ้าจ่าบัง เรื่องเกี่ยวกับกระดูกจะใช้ยาก๊อบหมด แต่ถ้าเป็นเรื่องกล้ามเนื้อจะไม่ใช้
.
เมื่อพอกยาก๊อบลงไปบนแผล จะเกิดอาการร้อนวูบๆ ให้รู้สึกแรงๆ ขณะใช้ยาก๊อบต้องกินยาปฏิชีวนะช่วยฆ่าเชื้อด้วยติดต่อกัน ๑๕ วัน ยาก๊อบให้ผลเร็วกว่ายาปัจจุบัน คนเอาตำรับนี้มาใช้ในกองทัพไทใหญ่ ชื่อ “นางคำดี” สาวไทใหญ่จากเมืองลายค่า คำดีเรียนวิชาทำยาก๊อบจาก “เล่าสือ” สามีเธอที่เป็นหมอจีนในกองทัพMTA ของขุนส่า สมัยที่สามีรักษาคนไข้เธอช่วยไปเก็บยาเตรียมยาให้ จึงทำยานี้เป็น เมื่อเล่าสือตายจากไป
คำดีอยู่โดดเดี่ยวจนเธอได้รักษาทหารไทใหญ่ที่โดนลูกปืนเข้าต้นขามา ๖ วัน แผลเน่า มีหนอนขึ้น หนุ่มคนนี้มานอนให้คำดีรักษาแผลอยู่ ๓ เดือน พอค่อยยังชั่วเพื่อนทหารหามเขากลับมาที่ดอยไตแลง คำดีตามมารักษาต่อให้บนยอดดอย จนรักกัน ตั้งครอบครัวด้วยกัน และทำให้เธออยู่เป็นหมอยาอีกคนของโรงพยาบาลดอยไตแลง ทุกวันนี้คำดีเล่าว่า เธอใช้สามีให้ไปเก็บหาตัวยาในป่าให้เธออยู่บ้าง แต่ยังไม่ได้ให้ลองทำยา
.
ในโรงพยาบาลสนาม นอกจากอาการป่วยไข้ต่างๆแล้วก็ยังเคยมีคนไข้เป็นเอดส์มานอนตายไปแล้วหลายคน ส่วนคนติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ หมอสมุนไพรชาวไทใหญ่กับหมอพอซาเกก็ช่วยดูแลคนไข้ด้วยกัน ยาสมุนไพรหลายอย่างดังเช่น “หญ้าหมอกขม” ใช้ได้ผลในการต้านทานไวรัส
.
“ใช้แล้วอาการไม่ออก เห็นดีกันทุกคนเลยค่ะ” หมอพอซาเกเล่าไว้อย่างนั้น
.
สำหรับทหารที่ติดเชื้อHIV มาแล้ว หากตรวจเจอ หมอพอซาเกเล่าว่า “เจ้ายอดศึกจะดูแลดีเลยค่ะ จะไม่ปล่อยให้กลับเข้าไปในรัฐฉานเพราะกลัวไม่ได้รับการรักษาที่ดี และเขาไม่ค่อยมีความรู้โอกาสจะเผยแพร่เชื้อต่อมันมีอยู่ เจ้าดูแลเอง ให้เขาได้ปลูกผัก เลี้ยงหมู หารายได้ของตัวเอง ให้ข้าวสารเขาเดือนละ ๒ ถัง คนปกติประชาชนได้แค่ ๑ ถัง ทหารถังครึ่ง ให้เขาได้มากกว่าคนอื่น และเขามีสิทธิ์ขายข้าวเอาเงินเลี้ยงตัวเองด้วย ตอนนี้เจ้ากำลังวางแผนจะปลูกบ้านให้เขาอยู่ด้วย”
.
สำหรับประสบการณ์ฉุกเฉินในโรงพยาบาลบนยอดดอยแห่งนี้ เรื่องคอขาดบาดตายเรื่องหนึ่งก็คือ การทำคลอด หมอพอซาเกเล่าถึงประสบการณ์ตื่นเต้นในหลายครั้งให้ฟังว่า
.
“เคยเกิดเด็กแฝด คลอดออกมาแล้วลูกปลอดภัย แต่แม่มีปัญหา BPไม่ขึ้น(วัดความดันโลหิตไม่ได้) เรา ๓ คนช่วยกัน หมอจายสาม เปิดตำราตรงนั้นเลย ความดันต่ำต้องใส่น้ำเกลือเปิดหมด ช่วงนั้นหน้าฝน ทางลำบาก ถนนเละหมด จะส่งลงปางมะผ้าก็ไม่ทัน ต้องทำกันเอง เราช่วยจนแม่รอด ไม่ต้องส่งลงมา
.
ถ้าคนไข้เคยผ่าท้องคลอดมาแล้ว เราจะส่งลงข้างล่างไม่ทำคลอดที่นี่ มันอันตรายมาก แล้วที่นี่เวลาคนมาออกลูก เราจะไม่กรีดช่องคลอด ไม่กรีดให้เป็นแผล เพื่อจะได้ไม่ต้องเย็บแผล เพราะกลัวติดเชื้อ เราตัดปัญหาด้วยการใช้น้ำร้อนจัดพอจับได้ หยดน้ำมันพืชที่ใช้ทำอาหารลง ๒-๓ หยด แล้วให้ผ้าชุบน้ำร้อนนี้มาประคบช่องคลอด จะช่วยให้นุ่มและช่องคลอดขยาย ทำให้เด็กออกมาได้โดยไม่ต้องกรีดช่องคลอดให้เป็นแผล วิธีนี้เราเรียนมาจากหมอจีน
.
ปัญหาใหญ่อีกอย่างคือ ถ้าเด็กเอามือออก ต้องส่งลงปางมะผ้าเลย แบบนี้เราทำไม่ได้
.
แต่ละปีมีแม่มาคลอดลูกที่เรา ๒๐ กว่าคน พอคลอดเสร็จ ชาวบ้านที่นี่จะเอาน้ำส้มป่อยมาล้างมือหมอ ลูกเขาก็จะเรียกเราว่าแม่ พอเด็กอายุ ๑ ปี พ่อแม่เขาจะทำข้าวตำงามาให้แม่เก็บ เด็กๆที่นี่เรียกน้องว่า “แม่ยาง” เพราะน้องเป็นยาง(กะเหรี่ยง) พวกเราอุ่นใจมากที่เด็กเรียกว่าแม่เก็บ แม่ยาง”
.
สำหรับการทำงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้ แม้งานหนักและเงินเดือนน้อยเหลือเกิน ในปีพ.ศ.๒๕๔๙ พยาบาลใหม่ได้รับเพียงแค่ ๓๐๐–๔๐๐ บาทต่อเดือน คนอยู่มานานก็ ๗๐๐–๘๐๐ บาท แต่ทางกองทัพก็มีข้าวสาร เกลือ น้ำมันพืช ถั่วเหลือง ผงชูรสแจกให้ทุกคนบนดอย ถามนางพยาบาลคนหนึ่งว่าเงินเดือนพอใช้ไหม เธอตอบว่า “หวุดหวิดทุกเดือนเลยค่ะพี่” แต่สำหรับความสุขในการทำงานที่พวกเธอรักนั้นมีมากยิ่งนัก หมอพอซาเกกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
.
“ทำงานที่นี่มีความสุขมาก ปัญหาไม่มี เจ้าหน้าที่เราเข้ากันได้ทุกคน และผู้ใหญ่ก็ยุติธรรม เวลาผู้ใหญ่ป่วยไข้ ก็จะมารักษาที่นี่ เจ้ายอดศึกก็มารักษาที่นี่เหมือนคนอื่นๆ พยาบาลของเรามีความสุขกับงานที่ทำมาก ยังหวังกันว่าถ้ารัฐฉานได้เอกราช ได้เป็นประเทศ พวกพยาบาลจะกลับไปทำงานในหมู่บ้านต่างๆ ไปรักษาคนในหมู่บ้านเขาได้ เพราะคนที่มาเป็นหมอที่นี่คือคนในรัฐฉานที่ออกมาหาความรู้ จะไปเรียนหมอในพม่า ทุกขั้นตอนค่าใช้จ่ายสูงมาก ไม่มีโอกาสกันเลย แต่มาที่ดอยไตแลงได้เรียนฟรี ได้รับการอบรมที่ดี มีประสบการณ์เต็มที่”
.
ครั้งหลังสุดที่ดิฉันขึ้นไปยังดอยไตแลง อยู่ในช่วงเดือนพุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓ ก่อนการระบาดของโควิด
.
โรงพยาบาลบนดอย ได้ย้ายที่ตั้ง ปลูกสร้างอาคารถาวร รับคนไข้ได้มาก และมีหมอ พยาบาลใหม่ๆ เพิ่มมาอีกมาก ในวันที่เราเข้าไปยังโรงพยาบาล หมอเดชา ศิริภัทร ได้เข้าไปช่วยให้ความรู้กับหมอพยาบาลที่นั้น อยู่ตลอดครึ่งวันเช้า หมอพอซาเก และพยาบาลเก่าแก่ที่ดิฉันเคยได้พบ ยังอยู่กันอีกหลายคน เหมือนได้กลับบ้านมาเจอญาติ เจอน้องๆ เจอเพื่อนรักที่คุ้นเคยกันมายาวนาน
.
เป็นวันดี ที่มีความทรงจำดีๆอีกมาก
.
ดิฉันจึงขอแบ่งปันภาพเก่า เรื่องเก่า มาให้ได้รับชมกันในวันนี้
โรงพยาบาลทหาร บนดอยไตแลง พ.ศ.๒๕๔๙
โรงพยาบาลทหาร บนดอยไตแลง พ.ศ.๒๕๖๓
หมอพอซาเก ในปีพ.ศ.๒๕๖๓
หมอพอซาเก ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ พอซาเก หมอใหญ่ประจำโรงพยาบาลสนามบนดอยไตแลง ผู้อบรมทหารเสนารักษ์ ให้กลับเข้าไปดูแลชาวบ้านในรัฐฉานทางด้านสาธารณสุข ด้วยการแพทย์แผนใหม่และยาปฏิชีวนะ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการผ่าตัดระดับผิวหนัง ถอนฟัน ทำคลอด ทำแผลที่เกิดจากอาวุธสงคราม
นาจ้ะ พยาบาลรุ่นแรกๆ ที่ขึ้นมาบนดอยเพียงลำพังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เธอขออนุญาตสามีและทิ้งลูกเล็กอายุ ๓ ขวบให้พ่อแม่เลี้ยง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะมาช่วยทหารไทใหญ่ทำงานกู้ชาติ เมื่อทำงานได้ปีกว่า ปลอดภัยดีจึงส่งข่าวให้สามีและลูกตามมาอยู่บนดอยไตแลงด้วยกัน
นาจ้ะ พยาบาลมืออาชีพ บนดอยไตแลง พ.ศ.๒๕๖๓
แสงหลูสาวงามไทใหญ่ อายุ ๒๐ ปี บนดอยไตแลง พ.ศ.๒๕๔๙
แสงหลู พยาบาลมืออาชีพที่พึ่งของเด็กๆ ชาวบ้านและทหารไทใหญ่ บนดอยไตแลง พ.ศ.๒๕๖๓
นาจ้ะกับตู้ยาของโรงพยาบาลดอยไตแลง พ.ศ.๒๔๕๔๙
พอซาเก พ.ศ. ๒๕๔๙
พอซาเก พ.ศ. ๒๕๔๙
พอซาเก พ.ศ. ๒๕๔๙
ในโรงพยาบาลดอยไตแลง พ.ศ.๒๕๔๙
ทหารไทใหญ่บาดเจ็บจากการสู้รบ พ.ศ.๒๕๔๙
ทหารไทใหญ่บาดเจ็บจากการสู้รบ พ.ศ.๒๕๔๙
ทหารไทใหญ่บาดเจ็บจากการสู้รบ พ.ศ.๒๕๔๙
ในโรงพยาบาลดอยไตแลง พ.ศ.๒๕๖๓
แสงหลูกับลูกน้อย ในช่วงปีพ.ศ.๒๕๔๙
แสงหลู พยาบาลมืออาชีพ ในปีพ.ศ.๒๕๖๓
ในห้องทำงานของโรงพยาบาลดอยไตแลง พ.ศ.๒๕๖๓
หมอเดชา ศิริภัทร ในวันไปอบรมให้ความรู้เรื่องสมุนไพร กับคณะแพทย์ พยาบาล บนดอยไตแลง กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓
หมอ พยาบาลบนดอยไตแลง ในวันเข้ารับฟังอบรมความรู้จากหมอเดชา พ.ศ.๒๕๖๓
ทหารไทใหญ่พาลูกน้อยมาหาหมอ ที่รพ.ดอยไตแลง พ.ศ.๒๕๖๓
พอซาเก หมอใหญ่ รพ.ดอยไตแลง ขณะดูแลทหารไทใหญ่กับลูกน้อยที่ป่วยไข้ พ.ศ.๒๕๖๓
โฆษณา