28 ก.ย. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
การเกษตรของเยอรมันกำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ข้อมูลจากรายงานการเก็บเกี่ยวอย่างเป็นทางการปี 2022 (Erntebericht 2022) ซึ่งกระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้แถลงเมื่อวันศุกร์ 26 สิงหาคม 2565 ชี้ให้เห็นว่า การเกษตรของเยอรมนีกำลังเผชิญกับผลกระทบที่คาดไม่ถึงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ภาวะฝนตกหนักในปี 2021 และอากาศร้อนจัดในปีนี้ รวมถึงภัยแล้งรุนแรงและการเกิดพายุกะทันหันเป็นครั้งคราว ตลอดจนความแห้งของดินที่เพิ่มมากขึ้นและระดับน้ำใต้ดินที่ลดลงในหลายภูมิภาคอันเนื่องมาจากการขาดฝน โดยรวมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในเยอรมนีอย่างมาก
นาย Özdemir รัฐมนตรีว่ากระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์ฯ ชี้แจงว่า รายงานการเก็บเกี่ยวได้กลายเป็นเครื่องยืนยันถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เราสามารถรับรู้ได้ถึงผลกระทบจากวิกฤตนี้บนพื้นที่ทำการเกษตรของเรา
ซึ่งในปีนี้เกือบทุกพื้นที่ต่างเริ่มทำการเพาะปลูกเร็วขึ้นกว่าปกติ ในแง่ของผลผลิตนั้น มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย กล่าวคือ ในขณะที่บางภูมิภาคหรือพืชผลบางประเภทได้ผลผลิตที่ดี แต่บางพื้นที่เพาะปลูกต้องยอมรับการสูญเสียอย่างรุนแรง รายงานยังแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรบางรายได้ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยหันมาปลูกพืชผลที่ทนต่อความร้อนและความแห้งแล้งได้ดีกว่า
การเก็บเกี่ยวพืชผลฤดูหนาว เช่น ข้าวสาลีหรือเรพซีด ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้เร็ว มีผลการเก็บเกี่ยวดีอย่างไม่คาดคิด เนื่องจากยังได้รับประโยชน์จากปริมาณหยาดน้ำฟ้าในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวโดยรวมได้มากกว่าปีที่แล้ว ในทางตรงกันข้าม การเก็บเกี่ยวข้าวโพดและ sugar beet ประสบปัญหาอย่างยิ่ง เนื่องจากความแห้งแล้งที่รุนแรง ส่งผลให้การหว่านเมล็ดล่าช้า
นอกจากนี้ ความแห้งแล้งยังก่อความเสียหายต่อทุ่งหญ้าในหลายพื้นที่ ซึ่งหมายความว่า ปริมาณอาหารสัตว์จะน้อยลง อย่างไรก็ดี ผลไม้ เช่น เชอร์รี่ แอปเปิล มีผลผลิตที่ดี นาย Özdemir หวังว่า หลังจากสิ้นสุดฤดูกาลผักปีนี้ จะสามารถรายงานอัตราการเติบโตที่ดีของผักอินทรีย์ได้อีกครั้งเช่นเดียวกับปีที่แล้ว
และกล่าวต่อว่า เราควรรู้สึกขอบคุณและพอใจกับการเก็บเกี่ยว เนื่องจากเกษตรกรทำให้แน่ใจว่า แม้ในยามวิกฤตที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เรายังมีอาหารที่ดีและมีคุณภาพสูงรับประทาน ทั้งนี้ ในอนาคต ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนของผลผลิตที่ ผลิตในภูมิภาค ซึ่งระหว่างนี้ก็มีการส่งเสริมการปลูกผักเพื่อการบริโภคภายในมากขึ้น
เกษตรกรหันมาปลูกพืชโปรตีน เช่น ถั่วลันเตาหรือถั่วเหลืองเพื่อให้มีอาหารสัตว์สำหรับ การเลี้ยงสัตว์มากขึ้น กลยุทธ์การปลูกพืชโปรตีนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการนำเข้าถั่วเหลืองจากอเมริกาใต้ที่สร้างความเสียหายต่อสภาพอากาศ
เกษตรกรจำนวนมากได้ปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ในอนาคตพืชผลหรือพันธุ์พืชอื่น ๆ ที่ทนต่อความร้อนหรือความแห้งแล้งได้ดีกว่าจะเข้ามามี บทบาทสำคัญในพื้นที่เพาะปลูกในเยอรมนี
สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลกระทบต่อระบบอาหารทั่วโลก ตลาดตอบสนองต่อการขาดแคลนด้วยราคาที่สูง วัตุดิบในการผลิต เช่น น้ำมันดีเซล ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงต่างปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้การผลิตมีราคาแพงมากขึ้นไปด้วย ผลกระทบดังกล่าวร่วมกับผลการเก็บเกี่ยวเป็นตัวกำหนดอุปทานของธัญพืช ผัก และอื่นๆ อันนำไปสู่การปรับตัวของราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างมาก
รัฐมนตรีว่ากระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์ฯ เน้นย้ำว่า ราคาจะสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องสนับสนุนการเกษตรให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความเป็นอิสระจากปุ๋ยสังเคราะห์ซึ่งผลิตในลักษณะที่ใช้พลังงานมาก โดยเฉพาะที่เป็นพลังงาน จากก๊าซรัสเซีย
ความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบอย่างมาก จากการศึกษาพบว่า ในปี 2018 และ 2019 ความร้อนและความแห้งแล้งทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า 25 พันล้านยูโร ทั้งนี้ เป็นความเสียหายในภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียวถึง 4.4 พันล้านยูโร
“การป้องกันดีกว่าการรักษา การลงทุนมีความหมายมากกว่าการชดเชยความเสียหาย” เราจึงเน้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแก่เกษตรกรที่ทำการเกษตรในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม และนอกจากเรานี้ยังดำเนินการควบคุมการบริโภค มันคงเป็นการฆ่าตัวเองตายในการที่จะเพิ่มการ ผลิตซึ่งจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติของเราจนหมด และเป็นอันตรายต่อความมั่นคงด้านอาหารของเรา นาย Özdemir กล่าว
ข้อมูลที่สำคัญที่จากรายงานการเก็บเกี่ยวปี 2022
ธัญพืช
การเก็บเกี่ยวธัญพืชทั้งหมด (ไม่รวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 39.7 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 4.8 และเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 6 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5
ข้าวสาลี
ข้าวสาลีที่สำคัญที่สุดและให้ผลผลิตมากที่สุดในเยอรมนียังคงเป็นข้าวชนิดปลูกข้ามฤดูหนาว (winter wheat) มีพื้นที่การเพาะปลูก 2.89 ล้านเฮกตาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ข้าวสาลีชนิดปลูกข้ามฤดูหนาวคิดเป็นร้อยละ 47 ของพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชทั้งหมด มีผลผลิตเฉลี่ยต่อเฮกตาร์ 76.2 ควินทัล มี ปริมาณการเก็บเกี่ยวสูงถึง 22 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตยัง น้อยกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ร้อยละ 0.8
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
อ้างอิงจากการสถานการณ์ปัจจุบัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะมีผลผลิตเฉลี่ยต่อเฮกตาร์ประมาณ 75 ควินทัล ซึ่งน้อยกว่าผลผลิตจากปี 2018 (81.4 ควินทัลต่อเฮกตาร์) ที่ประสบภัยแล้ง
จากสมมติฐานนี้ คาดว่าจะสามารถเก็บ เกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 3.5 ล้านตัน ซึ่งจะน้อยกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 21.5 และน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 6 ปี ร้อยละ 12.7 ทั้งนี้ ผลผลิตที่ไม่ดีของข้าวโพดลดความสมดุลโดยรวมของการเก็บเกี่ยวธัญพืชของเยอรมนี อย่างมีนัยสำคัญ
คาโนลา
การเก็บเกี่ยวเรพซีดในฤดูหนาวปี 2022 คาดว่าจะมีปริมาณเกือบ 4.3 ล้านตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความร้อนและความแห้งแล้งในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วปริมาณเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.3 และเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2016 - 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8
พืชโปรตีน
ถั่วลันเตาเป็นพืชตระกูลถั่วที่โดดเด่นในเยอรมนี ในปี 2022 มีการเพาะปลูกประมาณ 106,600 เฮกตาร์ ตามด้วยถั่วปากอ้าที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 71,200 เฮกตาร์ และลูพิน 31,700 เฮกตาร์
โดยรวมแล้ว เยอรมนีมีพื้นที่การเพาะปลูกพืชโปรตีน 260,900 เฮกตาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยประมาณร้อยละ 50 คิดเป็นพื้นที่สำหรับเพาะปลูกถั่วเหลือง (เพิ่มขึ้นสูงที่สุด) อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการประมาณ การของผลผลิตในปัจจุบันสำหรับพืชตระกูลถั่ว
โฆษณา