26 ก.ย. 2022 เวลา 16:04 • ไลฟ์สไตล์
บ้านปาร์คนายเลิศ พิพิธภัณฑ์เรือนไม้สักในสวนใจกลางกรุง
เรื่องและภาพ : ทัศนีย์ ยาวะประภาษ
ผู้เขียนรู้จักพิพิธภัณฑ์กลางสวนแห่งนี้ในเช้าวันอาทิตย์สบาย ๆ วันหนึ่ง เมื่อเสาะหาสถานที่นัดพบเพื่อน ๆ ที่ดูบรรยากาศสงบ ร่มรื่น ไม่วุ่นวาย ก็ได้เจอ “สมันเตา” ร้านกาแฟโบราณบนแพอเนกประสงค์ริมสระน้ำของบ้านปาร์คนายเลิศย่านถนนวิทยุ เดิมใช้รับรองแขกที่สัญจรทางเรือ เนื่องจากในอดีตสระแห่งนี้เคยเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบมาก่อน
คำว่า “สมันเตา” เป็นชื่อเรือส่วนตัวของนายเลิศ เศรษฐบุตร นำคำจากภาษาสันสกฤตรวมกับชื่อของนายเลิศ เป็น “เลิศสมันเตา” หมายถึง ดีเลิศไม่เหมือนใคร และต่อมาแผลงมาเป็น “เลิศสมันแตน” ในปัจจุบัน
ใกล้ ๆ กับ “สมันเตา” คือ “บ้านปาร์คนายเลิศ” เรือนไม้สักหลังใหญ่อายุกว่า 100 ปี ผ่านการบูรณะและปรับปรุงรักษา เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์กลางสวนให้บุคคลภายนอกเยี่ยมชมได้ ผู้เขียนกับเพื่อนได้ฟังก็สนอกสนใจ รอรอบเข้าชมที่สะดวก ซื้อบัตร ใกล้เวลาก็ไปยืนรอมัคคุเทศก์ส่วนตัว (ใช้คำนี้เพราะรอบที่เข้าชมมีแต่กลุ่มเราจริง ๆ) พาชมแต่ละส่วนอย่างละเอียดลออ ให้ข้อมูลความรู้สนุกสนานน่าทึ่ง ราวกับได้ย้อนเวลากลับไปในยุคสมัยอันเรืองโรจน์ของพื้นที่นี้อีกครั้ง
คงจะมีคำถามว่า นายเลิศ เศรษฐบุตร คือใคร ท่านคือผู้ริเริ่มสร้างธุรกิจ ‘รถเมล์ขาว’ และ ‘โรงน้ำแข็ง’ แห่งแรกของไทย นายเลิศตั้งใจพัฒนาพื้นที่ประมาณ 60 ไร่แถวเพลินจิตเป็นบ้านพักตากอากาศ โดยออกแบบเรือนไม้สักหลังใหญ่ไว้อยู่อาศัยในปี พ.ศ. 2458 และสั่งให้คนขุดคลองสมคิดหน้าบ้านเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ พร้อมจ้างสถาปนิกอิตาเลียนมาออกแบบสวนหย่อนใจเหมือนสวนสาธารณะแบบฝรั่ง นอกจากใช้พักผ่อนกับครอบครัวแล้ว ยังเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมในวันอาทิตย์ และให้ลูกเสือเข้ามาพักแรม
ระยะแรกเรือนรับรองที่นี่มีเพียงเรือนไม้สักชั้นเดียวแบบจตุรมุข ยกพื้นใต้ถุนโล่ง หลังคาปั้นหยายกจั่วซ้อน 3 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ พื้นบ้านเป็นชิ้นไม้สักที่เรียงแนบกัน ไม้ส่วนใหญ่มาจากโรงเลื่อยของนายเลิศเอง เนื่องจากนายเลิศเคยเปิดธุรกิจอู่ต่อเรือเดินสมุทรอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้มีไม้สักขนาดใหญ่มากมาย
ต่อมาครอบครัวของนายเลิศย้ายมาอาศัยที่บ้านปาร์คเป็นการถาวร จึงออกแบบต่อเติมเรือนไม้เข้าไปอีกหนึ่งหลังให้เชื่อมต่อกัน หลังจากนั้น พื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านก็กลายเป็นอู่รถเมล์ขาว ทั้งใช้จอดและซ่อมบำรุงรถเมล์ เรือเมล์ ในบริเวณยังมีบ้านพักพนักงานและปั๊มน้ำมันสำหรับเติมรถเมล์อีกด้วย
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากบ้านปาร์คนายเลิศอยู่ติดกับสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร คู่สงครามของญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่นจึงบุกเข้ามาในบริเวณบ้าน และอยู่เฝ้าถึง 4 ปี ระหว่างนั้นมีระเบิดโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตรพลาดเป้าตกลงมาในปาร์คหลายครั้ง ครั้งหนึ่งตกลงมาหน้าบ้านเป็นหลุมลึก บ้านปาร์คนายเลิศจึงปรับปรุงหลุมนั้นเป็นสระบัว รวมทั้งมีหลุมหลบภัยขนาดลึก 10 เมตรไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ปัจจุบันกลายเป็นบ่อน้ำเล็ก ๆ มีแนวกระจกกั้นโดยรอบ
ครั้นสงครามจบลง นายเลิศสร้างเรือนไม้ขึ้นใหม่แทนของเดิมที่โดนระเบิดจนบ้านพลิกตะแคง ใช้ไม้แดงและไม้เต็งแทนไม้สัก หลังจากนายเลิศและภรรยาเสียชีวิต ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ บุตรสาวคนเดียว ก็รับช่วงสืบทอดและอาศัยอยู่ที่บ้านปาร์คนายเลิศจวบจนสิ้นอายุขัย ปัจจุบัน บ้านปาร์คนายเลิศ อยู่ภายใต้การบริหารของคุณณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร ทายาทรุ่นที่ 4 และตัดสินใจเปลี่ยนเรือนไม้สักเป็นพิพิธภัณฑ์ของครอบครัว ใช้เวลาปรับปรุงแล้วเสร็จในปี 2558 และเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม
เมื่อขึ้นบันไดเข้ามาถึงภายในตัวบ้าน เราจะได้เห็นห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่น ภายในห้องประดับภาพถ่ายเก่าของครอบครัวนายเลิศ รอบตัวบ้านจัดวางของสะสมเก่าแก่ของตระกูล มีทั้งของขวัญจากราชวงศ์ทั่วโลกที่เคยแวะมาพำนัก เช่น ราชวงศ์ญี่ปุ่น สวีเดน และธงผ้าจากภูฏาน เครื่องถ้วยชามสมัยบ้านเชียง ไม้เท้าสะสม และของเก่าแก่อื่น ๆ อีกมากอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีป้ายอธิบายสั้น ๆ เข้าใจง่าย
มีห้องหนึ่งจัดแสดงชุดและข้าวของเครื่องใช้ของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ผู้หญิงไทยคนแรก ๆ ที่ไปเรียนที่ญี่ปุ่น และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหญิงคนแรกของไทย
จากเรือนหลักมีสะพานเชื่อมสู่เรือนหลังที่สองซึ่งปูไม้ปาร์เกต์ แต่ละก้าวเดินนุ่มเท้าพื้นแน่น เพราะฝีมือช่างชั้นเยี่ยมตั้งแต่ก่อนยุคมีเครื่องไสไม้ รอยถากไม้ด้วยมือยังเห็นได้ทั่วโครงไม้ ถัดมามีห้องอาหาร โต๊ะรับประทานอาหารตัวยาวพร้อมจัดวางอุปกรณ์ครบถ้วน ด้านหน้าเก็บเครื่องถ้วยลายคราม ใกล้กันคือห้องพระเก่าและตู้พระธรรมอายุ 200 กว่าปี
ตรงข้ามห้องครัวคือเรือนแพที่ใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือ สมัยก่อนหน้าบ้านเป็นคลอง ห้องครัวจึงเป็นจุดแรกที่จะได้เห็น ตรงข้ามคือห้องน้ำแบบดั้งเดิม นับเป็นบ้านแรก ๆ ที่มีชักโครกแบบโบราณ
นอกตัวบ้านจัดแสดงรถเมล์ขาวสภาพเยี่ยม โรงเก็บเรือโอ่อ่าที่มีเรือเมล์ขาว 2 ลำชื่อสะมันเตา กับ ฆง ซึ่งนายเลิศต่อร่วมกับคนงาน และเคยล่องไปถึงเชียงใหม่ ระหว่างเรือนกับโรงเก็บเรือคือสระน้ำสายน้อยที่เคยเป็นคลองหน้าบ้าน ให้ความรู้สึกเย็นตาฉ่ำใจ ผ่อนคลายสบายตัวแม้จะเป็นช่วงบ่ายที่อากาศค่อนข้างระอุ
(แทรกภาพที่ 5 อดีตคลองหน้าบ้าน ตอนนี้เป็นสระน้ำเล็ก ๆ แบ่งพื้นที่เรือนไม้สักกับโรงเก็บเรือ)
พิพิธภัณฑ์เรือนไม้สักกลางสวนแห่งนี้ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตและวิธีคิดที่ผสมผสานทั้งเก่าและใหม่ จนเกิดเป็นเอกลักษณ์การดำเนินชีวิตซึ่งสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ควรเรียนรู้ รวมถึงความเป็นอยู่ร่วมสมัยของครอบครัวพระยาภักดีนรเศรษฐ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้ด้วย
บ้านปาร์คนายเลิศ เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ โดยมีมัคคุเทศก์นำเยี่ยมชมเป็นรอบ ได้แก่เวลา 09.30 น. 11.30 น. 14.30 น. และ 16.30 น. อัตราเข้าเยี่ยมชมผู้ใหญ่ 250 บาท นักเรียน/นักศึกษา 100 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา