26 ก.ย. 2022 เวลา 15:53 • ประวัติศาสตร์
เออร์วิน มูลเลอร์ : วิศวกรฝรั่งผู้ใจบุญแห่งทุ่งรังสิต
การทำ “ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง “ กับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4 ผนวกกับ “ การเลิกทาส “ และ ” การปฏิรูปการบริหาราชการแผ่นดิน “ครั้งใหญ่ในสมัยรัชการที่ 5 ส่งผลให้ระบบการผลิตเพื่อส่งออกขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจน “ รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ จึงมีนโยบายที่จะเปิดพื้นที่การทำนาขึ้นใหม่ที่ “ ทุ่งหลวง ” ด้วยการขุดคลอง “ รังสิตประยูรศักดิ์ “ เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำนครนายกเข้าด้วยกัน แล้วทยอยขุดคลองซอยแยกย่อยทั้งสองฝั่งตลอดสาย
บริษัท ขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทานได้เริ่มดำเนินการขุดคลองเมื่อ พ.ศ. 2433 มี “ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ “ และคณะ เป็นผู้ก่อตั้ง “ นาย โจอาคิม แกรซี่ “ ชาวอิตาเลี่ยน เป็นหุ้นส่วนและวิศวกรควบคุมงานในระยะแรก แต่ภายหลังต้องถอนตัวออกไปด้วยปัญหาทางข้อกฎหมาย จึงเป็นเหตุให้ “ หลวงปฏิบัติราชประสงค์ “ เข้ามารับดำเนินการแทน
หลวงปฏิบัติราชประสงค์ หรือ “ นาย เออร์วิน มูลเลอร์ “ ( Erwin Muller ) เดิมเป็นชาวออสเตรีย แต่บางตำราก็ว่าเป็นชาวเยอรมัน เขาเคยเป็นผู้จัดการห้างบี.กริม แอนด์ โก ที่มีเจ้าของเป็นคนเยอรมัน ภายหลังนายเออร์วินได้โอนสัญชาติเป็น “ สยาม “ และมีภรรยาเป็นชาวสยาม เขาสามารถพูดและเขียนภาษาไทยได้ดีทีเดียว ถึงขั้นแต่งกลอนสุภาพเป็นเรื่องเป็นราว นับว่ายากที่คนต่างชาติจะทำได้ ที่สำคัญเขายังเปลี่ยนมานับถือ ” พุธศาสนา “ มีศรัทธาถึงขั้นสร้างวัดให้แก่ชาวปทุมธานี ฝากชื่อไว้ที่วัดย่านคลองห้า
1
เออร์วิน มูลเลอร์ เคยถวายรายงานต่อ “ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ ในเรื่องปัญหาการคดเคี้ยวของคลองรังสิตประยูรศักดิ์ในช่วงต้นว่า เกิดจากการที่ นายโจอาคิม แกรซี่ ใช้ “ เรือขุด “ ซึ่งเป็นเครื่องมือขุดที่เหมาะสมกับงานลอกคูคลองเท่านั้น แต่ไม่เหมาะสมกับการขุดคลองเปิดพื้นที่ ด้วยประการฉะนี้ นาย เออร์วิน มูลเลอร์ จึงนำ “ รถขุด “ เข้ามาใช้แทน ” ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นไปตามพระราชประสงค์ “ ลำคลองส่วนที่เขารับผิดชอบจึงทอดยาวเป็นเส้นตรงไปจนบรรจบแม่น้ำนครนายก
การขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์นั้นแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2440 ตามมาด้วยคลองซอยย่อยทั้งฝั่งเหนือและฝั่งใต้อีก 59 คลอง เกิดเป็นพื้นที่ชลประทานขนาดใหญ่ถึง 150,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ปทุมธานี อยุธยา สระบุรี นครนายก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร จาก “ ทุ่งหลวง “ จึงกลายเป็น “ ทุ่งหลวงรังสิต “ และ “ ทุ่งรังสิต “
1
ผู้คนจำนวนเรือนหมื่นจากทั่วสารทิศ ต่างเข้าไปจับจองซื้อที่ดินทุ่งรังสิตเพื่อทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา “ ข้าว “ ที่ราคากำลังสูงขึ้นมาก ตามความต้องการของตลาดโลก อย่างไรก็ดี ทุ่งรังสิตนั้นเป็นแผ่นดินที่เพิ่งจะบุกเบิกขึ้นมาใหม่ จึงยังไม่มีวัดวาอารามที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน เป็นการยากลำบากมากสำหรับพุทธศาสนิกชน ที่ต้องเดินทางไปทำบุญในวัดที่ห่างไกลออกไป เออร์วิน มูลเลอร์ ย่อมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะเขาได้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในทุ่งรังสิตเป็นเวลานานนับสิบปี
ยังไม่พบรายงานว่า เออร์วิน มูลเลอร์ เคยมีคู่รักมาก่อนหน้านั้นหรือไม่ แต่ที่แน่นอนก็คือ ผู้หญิงที่เขาแต่งานด้วยเป็นประชนชาวสยามชื่อ “ จีน “ และคงจะเป็นผู้หญิงคนเดียวกันกับผู้เป็นแม่ของเด็กชายตัวน้อย ที่นายเออร์วินพาไปทักทายกับ “ พลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ “ ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี่ ช่วงประมาณ พ.ศ. 2445
ซึ่งขณะนั้นเขาได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “ พระปฏิบัติราชประสงค์ “ ดำรงตำแหน่งกงสุลสยามประจำกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ความรักที่ เออร์วิน มูลเลอร์ มอบให้กับ คุณนายจีน จึงเป็นความรักความผูกพันที่มั่นคงเป็นอย่างยิ่ง
ที่สำคัญทั้งคู่ต่างมีความศรัทธาในบวรพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เห็นได้จากการยอมสละเงินถึง 24,850 บาท เพื่อสร้างวัดบริเวณใกล้ ๆ กับปากคลองห้าฝั่งใต้ของคลองรังสิต ถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่มากเลยทีเดียว เพราะราคาที่ดินที่ บริษัท ขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด ขายให้กับชาวบ้านนั้นอยู่ที่ไร่ละ 1 -3 บาท “ เงินที่ใช้สร้างวัดจึงมีมูลค่าพอ ๆ กับที่ดินนับหมื่นไร่ “
2
วัดที่เออร์วินของอนุญาตจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2439 นั้นมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “ วัดคลองห้า “ ตามที่ชาวบ้านเรียกขาน เขาเคยทำหนังสือถวายวัดคลองห้าให้เป็นพระอารามหลวง แต่เนื่องมีพระอารามหลวงอยู่ในราชอาณาจักรมากพอสมควรแล้ว อีกทั้งงบประมาณมีค่อนข้างจำกัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงไม่สะดวก ที่จะรับวัดคลองห้าไว้เป็นพระอารามหลวง อย่างไรก็ดี วัดคลองห้าก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2442 ถือว่าเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยสมบูรณ์
ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2445 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสร็จสิ้นราชภารกิจพิธีเปิดศาลากลางเมืองธัญญบุรีแล้ว ขากลับ พระองค์ และ “ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ “ ทรงแวะวัดคลองห้า เพื่อทรงทำพิธีผูกผ้าพัทธสีมาและทรงตัดลูกนิมิตพระอุโบสถ จึงนับว่ามีพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนวัดแห่งนี้ถึง 2 พระองค์ คือ “ รัชกาลที่ 5 “ และ ” รัชกาลที่ 6 “
ในวันเดียวกัน “ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ ทรงพระราชทานชื่อใหม่ให้แก่วัดคลองห้าว่า “ วัดมูลจินดาราม “ สอดคล้องกับนามผู้สร้าง จึงถือว่าวัดแห่งนี้เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึง “ ความรักอันมั่นคง “ และ “ ศรัทธาที่มีต่อพระบวรพุทธศาสนา “ ของสองสามีภรรยาที่มีชื่อว่า “ เออร์วิน มูลเลอร์ และ จีน “
ข้อมูลอ้างอิง
โรม บุนนาค . บันทึกแผ่นดิน ชุด ตำนานทุ่งกลางกรุง . สำนักพิมพ์สยามบันทึก . พ.ศ. 2553 .
โฆษณา