Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สำนักข่าวดีดี
•
ติดตาม
27 ก.ย. 2022 เวลา 12:30 • ไลฟ์สไตล์
เล่าเรื่องมรดกแผ่นดินอย่างทันสมัย ในอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน
เรื่องและภาพ : ทัศนีย์ ยาวะประภาษ
เอ่ยถึง “โขน” หลายคนคงเคยไปชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพซึ่งบัตรเข้าชมมักเต็มแทบจะทันทีที่เปิดจำหน่าย เพราะเล่าเรื่องสนุก ตื่นเต้น สวยงาม สร้างฉากอย่างยิ่งใหญ่ คัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่มาเป็นผู้แสดงร่วม และใช้เทคโนโลยีนำสมัย ทำให้ศิลปะการแสดงชั้นยอดของไทยแขนงนี้เป็นขวัญใจคนทุกเพศทุกวัยมาเนิ่นนานนับสิบปี
ระหว่างสถานการณ์โควิด-19 การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพปรับเป็นออนไลน์ และจัดทำแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับโขนไว้ใน “อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน” ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิดนั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อรวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปะชิ้นสำคัญของแผ่นดินจากพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
“โขน” เป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่ที่หลอมรวมศิลปะของชาติหลากหลายแขนง นับตั้งแต่วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ วิจิตรศิลป์อันงดงามตามแบบฉบับโบราณ การแสดงโขนเป็นศิลปะคู่แผ่นดินไทยมาหลายร้อยปี เคยจัดแสดงเพื่อต้อนรับและสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่แขกบ้านแขกเมืองเสมอมา ซึ่งการจัดแสดงแต่ละครั้งมิใช่เรื่องง่าย ประชาชนทั่วไปจึงไม่ใคร่มีโอกาสชมการแสดงโขนบ่อยครั้งนัก
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งสองพระองค์ทรงเล็งเห็นว่านาฏกรรมโบราณเสื่อมความนิยมลง เมื่อมีพระราชอาคันตุกะมาเยือน หรือเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการแสดงตามแบบประเพณีไทย ให้พระราชอาคันตุกะได้ชมในหลายวาระ
เมื่อ พ.ศ. 2546 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขนและงานหัตถศิลป์แขนงต่างๆ ผ่านการดำเนินการของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อศึกษาค้นคว้าการแสดงโขนตามแบบโบราณราชประเพณี ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
ใน พ.ศ. 2550 คณะกรรมการฯ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดการแสดงโขน ชุด “พรหมาศ” เป็นครั้งปฐมทัศน์ เนื่องในมหามงคลพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา
การแสดงโขนประสบความสำเร็จเกินคาด เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทยที่คนหนุ่มสาวและเด็กๆ พากันจูงผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว ตลอดจนชาวต่างชาติที่สนใจไปชมโขนกันอย่างเนืองแน่น เป็นภาพที่น่าชื่นใจ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนต่อเนื่องทุกปี
สำหรับในอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน เล่าเรื่องราวของศิลปะการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และผลงานสร้างสรรค์งานศิลปะที่เนื่องด้วยโขน ตลอดจนจัดเก็บฉากและนำอุปกรณ์ประกอบฉากชิ้นเด่นจำนวนมากที่เคยปรากฏโฉมบนเวทีแสดงตอนต่างๆ มาจัดแสดงด้วยเทคนิคทันสมัยน่าตื่นตาตื่นใจ
เจ้าหน้าที่จะพาเราเดินชมและบรรยายให้ฟังทีละจุด เริ่มตั้งแต่วิดีทัศน์บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโขน จากนั้นพาเข้าไปในห้องแรกซึ่งแค่เห็นก็ตื่นเต้นแล้ว เพราะเรือสำเภาหลวงในการแสดงตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” และประติมากรรมร่างนางผีเสื้อสมุทรขนาดใหญ่ในการแสดงตอนล่าสุด “สืบมรรคา” ต่างเคลื่อนไหวขยับตัวอย่างสมจริง
ในห้องถัดไปเราจะได้ทำความรู้จัก พัสตราภรณ์โขน งานประณีตศิลป์เพื่อการสร้างเครื่องประดับตกแต่งการแต่งกายโขน เป็นการรวมช่างฝีมือ 3 แขนง คือ งานโลหะ งานฝังอัญมณี และงานกะไหล่ทอง
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างพัสตราภรณ์หรือเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบดั้งเดิม แต่ให้มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น รวมทั้งฟื้นฟูกรรมวิธีงานผ้าแบบโบราณ นำมาพัฒนาเพื่อให้เหมาะกับการแสดงในปัจจุบัน
ในห้องเดียวกันเราได้เห็น หัวโขน และ ศิราภรณ์โขน งดงามละลานตา หัวโขนของไทยเป็นศิลปะที่ช่างฝีมือสรรค์สร้างด้วยความวิจิตรบรรจง ใช้วัสดุที่มีค่าน้อย น้ำหนักเบา เช่น ใช้กระดาษเป็นโครง ประดับลายด้วยการกระแหนะรักแล้วปิดทองประดับกระจก ทว่ากระดาษเป็นวัสดุที่ชำรุดได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในการแสดงที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่กระฉับกระเฉงอยู่เสมอ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงรื้อฟื้นภูมิปัญญาโบราณเกี่ยวกับการทำกระดาษข่อย ซึ่งมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดีมาใช้เป็นวัสดุทำหัวโขน
ใกล้กับมุมสาธิตการทำกระดาษข่อยและการทอผ้า คือจุดเด่นที่สุดของที่นี่ เชื่อว่าใครเข้ามาต้องตกตะลึงในความโอ่อ่าของ โรงพิธีลับหอกโมกขศักดิ์ริมฝั่งน้ำ ชุด ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์ และ ท้องพระโรงกรุงลงกา เป็นสองฉากสำคัญในโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพนั่นเอง
แนวคิดในการจัดสร้างฉากโรงพิธีคือ สร้างตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 มีความใหญ่โตถึงสิบเก้าห้อง ประกอบด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมตามจารีตประเพณี มีช่อฟ้าใบระกา และสถานที่ที่กุมภกรรณประกอบพิธี คือเชิงเขาจักรวาล ริมฝั่งนทีสีทันดร ส่วนฉากท้องพระโรงเป็นฉากเด่นและเป็นฉากแรกของการแสดงโขนเกือบทุกตอนด้วยเหตุการณ์ในการแสดงจะเริ่มจากทางฝ่ายทศกัณฐ์ปรึกษาการศึกกับพระราม
ส่วนสิ่งที่ดึงดูดสายตาที่สุดในห้องนี้ย่อมต้องเป็นประติมากรรมหนุมานความสูง 15 เมตร ชิ้นงานละเอียดบรรจงยิ่งใหญ่เหลือเกิน
ปิดท้ายด้วยการรับชมฉาก “หนุมานอมพลับพลา” จากการแสดงตอน “ศึกไมยราพ” ในโรงละครขนาดย่อมที่อยู่ด้านข้าง เคลื่อนไหวขยับกายด้วยแสงสีและเทคนิคนำสมัย ประทับใจจนอยากให้การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพกลับมาแสดงอวดสายตาคนที่เฝ้ารออยู่มากมายได้โดยเร็ว
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน เปิดทำการวันอังคาร-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00–15.30 น. หยุดทุกวันจันทร์ เทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ค่าบัตรเข้าชม ผู้ใหญ่ท่านละ 150 บาท นักเรียน/นักศึกษา/ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปท่านละ 75 บาท เดินทางง่ายเพียง 45 นาที จากกรุงเทพฯ ด้วยทางด่วนแจ้งวัฒนะ บางปะอิน
พิพิธภัณฑ์
ข่าว
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ชวนดู-ชวนชม เรื่องดีดี
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย