1 ต.ค. 2022 เวลา 05:00 • การตลาด
“ราคาเดิม แต่ลดปริมาณลง”...กลายเป็นเรื่องฮอทของผู้ผลิตสินค้าในเยอรมนี
ในยุคข้าวยากหมากแพง ที่อะไร ๆ ก็พากันขึ้นราคา...เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาสินค้า จนส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้บริโภคและยอดขายที่อาจลดลงได้ “Shrinkflation” จึงกลายเป็นทางออก ที่เหล่าบรรดาผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคในเยอรมนีนิยมทำกันในขณะนี้
นับย้อนไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว นาย Hans Riegel จากเมือง Bonn ได้คิดค้นขนมหมีสีทอง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ในนามว่า หมี Haribo ล่าสุดในการฉลองครบรอบ 100 ปีประวัติศาสตร์ของบริษัทในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ ขนมหมีเยลลี Goldbären จะมีการปรับลดจำนวนคงเหลือ 175 กรัม จากเดิม 200 กรัม โดยจะยังคงราคา ขายเดิมที่ 0.99 เซ็นต์/ถุง
ดังนั้น เมื่อพิจารณากันโดยละเอียดแล้ว จะพบว่า ผู้บริโภคจำต้องซื้อ Goldbären ในราคาที่สูงขึ้นถึง 14.3% และนี้เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ของการเริ่มต้นลดปริมาณสินค้าลงเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่บริษัท Haribo เพียงที่เดียวจะลดปริมาณของสินค้าในบรรจุภัณฑ์ลง
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "Shrinkflation" (หมายถึง การที่ผู้ผลิตลดขนาดหรือปริมาณสินค้าลง แต่ยังคงขายสินค้าเหล่านั้นในราคาที่เท่าเดิม หรือขึ้นราคาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น)
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสงครามยูเครนได้ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าบริโภคต่างๆ สูงขึ้นอย่างหนัก ทำให้บริษัทผู้ผลิตหลายรายแอบเนียนปรับขึ้นราคาสินค้าแบบ Shrinkflation ด้านนาย Armin Valet ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าบริโภคจากสมาพันธ์คุ้มครองผู้บริโภค (VZBV - Verbraucherzentrale Bundesverband) ของเมือง Hamburg ออกมาให้ข้อมูลว่า
“คลื่นของการทำ Shrinkflation กำลังก่อตัวขึ้นและจะเริ่มเห็น ปรากฏการณ์เหล่านี้มากขึ้นเรื่อยนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป และผู้บริโภคก็จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ” เพราะการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์หรือลดปริมาณ สินค้านั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งในการปรับเปลี่ยน
ซึ่งนาย Valet กล่าวเพิ่มเติมว่า “Shrinkflation ไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะปริมาณสินค้ามีแค่ไหนก็จะระบุบนห่อบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว แต่ในช่วงแรกๆ อาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกแย่ และสับสนได้บ้างก็เท่านั้นเอง” ซึ่งที่ผ่านมา นาย Valet ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนขนาด/ปริมาณสินค้าในบรรจุภัณฑ์แบบเนียนๆ จำนวนมาก ในทุกๆ ปี
ด้านโฆษกของบริษัท Haribo ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุว่าทำไมบริษัทฯ ต้องลดปริมาณสินค้า ในบรรจุกล่าวคือ
“นับตั้งแต่ช่วงต้นปี บริษัทฯ ต้องแบกรักภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวัตถุดิบเท่านั้นที่มีราคาสูงขึ้น ทั้งพลาสติก กล่องกระดาษ ราคาพลังงาน และราคาค่าขนส่ง ก็พากันปรับราคาเพิ่มขึ้นไม่น้อยหน้ากันเลยทีเดียว จึงเป็นเหตุผลให้บริษัทฯ ตกที่นั่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนขนาดของบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลง”
อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีบริษัทฯ จำนวนมากที่แอบขึ้นราคาสินค้า หรือลดปริมาณสินค้าในบรรจุภัณฑ์ลง ซึ่งจากข้อมูลของสมาลพันธ์คุ้มครองผู้บริโภคฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีเคสที่เกี่ยวข้องกับการปรับราคาสินค้าขึ้นหรือลดปริมาณสินค้าลง เพิ่มขึ้น 18% แต่พอมาช่วงครึ่งแรกของปี 2022 พบเคสแบบนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 35%
ยกตัวอย่างเช่น น้ำยาปรับผ้านุ่มยี่ห้อ Vernel ขนาด 900 มิลลิลิตร ที่ปกติสามารถใช้ได้ 36 ครั้ง ก็ลดปริมาณเหลือ 850 มิลลิลิตร ซึ่งสามารถใช้ได้น้อยลง 2 ครั้ง (เหลือ 34 ครั้ง) และจากข้อมูลของแอปพลิเคชันเปรียบเทียบราคาสินค้า Smhaggle ได้เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า
“สินค้าของ Vernel ที่จัดจำหน่ายบนชั้นวางในห้าง Rewe ปรับราคาขึ้นจาก 1.79 เป็น 1.99 ยูโร” ด้านบริษัท Henkel เองก็ออกมาชี้แจงเหตุผลที่บริษัทลดปริมาณสินค้าและปรับราคาเพิ่มขึ้น ว่า “Henkel ได้พัฒนาเทคโนโลยีความหอม และปรับขนาดของบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ประกอบกับปัจจุบันราคาวัตถุดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก จึงทำให้ Henkel ถึงจุดที่ต้องตัดสินใจปรับปริมาณสินค้าในขวดเสียใหม่”
ซึ่ง Henkel ก็ได้ให้เหตุผล ชว่าทำไมจะต้องออกมาตำหนิในเรื่องนี้ด้วย เพราะจริงๆ แล้วจำนวนน้ำยาปรับผ้านุ่มใน 1 ขวด ที่มีอยู่นั้นได้ระบุปริมาณไว้อย่างชัดเจนแล้วบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งราคาที่ร้านค้าปลีกขายนั้น จริงๆ แล้วก็เป็นราคาที่บริษัทฯ แนะนำเท่านั้น ซึ่งผู้ค้าปลีกเองก็สามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะลดราคาขายหน้าร้านหรือไม่
ด้านนาย Valet ได้ให้ความเห็นว่า “พฤติกรรม ดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย เพราะทั้งผู้ผลิตและผู้ขายต่างก็ได้รับประโยชน์” โดยผู้ผลิตประหยัดวัตถุดิบ ในขณะที่ผู้ขายก็ไม่ต้องขึ้นราคา” ซึ่งราคาขายที่ 1.99 ยูโร/ขวดนั้น เป็นราคาที่ผู้บริโภครับได้”
นาย Christoph Treiber พันธมิตรของบริษัทให้คำปรึกษา OC&C กล่าวว่า “การระบุราคาแบบนี้มีความสำคัญทางจิตวิทยา เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมักจะให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเป็นอย่างมาก” จึงทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ต่างก็หันไปปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ แทนที่จะขึ้นราคาสินค้านั่นเอง
โฆษณา