1 ต.ค. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
ความต้องการขนส่งสินค้าที่ลดลงกดดันราคาค่าขนส่งทางเรือลดลงต่อเนื่องในไต้หวัน
ดัชนีราคาค่าขนส่งตู้สินค้าจากท่าเรือเซี่ยงไฮ้ (SCFI) ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไต้หวันใช้อ้างอิงในการคำนวณราคาค่าขนส่ง ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน 2565 ปรับลดจากสัปดาห์ก่อนหน้ามากถึงร้อยละ 9.72 มาอยู่ที่ระดับ 2,847.62 จุด และลดลงจากจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ซึ่งอยู่ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 มากถึงร้อยละ 44.27 ถือเป็นการปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 12 ติดต่อกัน
โดยค่าขนส่งตู้ขนาด 40 ฟุตไปยังเส้นทางอเมริกาตะวันตกปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 3,959 เหรียญสหรัฐฯ/ตู้ ลดลงร้อยละ 51.23 จากจุดสูงสุดเท่าที่เคยมีมาซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในขณะที่ค่าขนส่งไปยังเส้นทางอเมริกาตะวันออกก็มาอยู่ที่ 8,318 เหรียญสหรัฐฯ/ตู้ ลดจากจุดสูงสุดในเดือนกันยายน 2564 ร้อยละ 30.54
ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไต้หวันชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาค่าขนส่งทางเรือลดลงต่อเนื่องเกิดจากปริมาณสินค้าที่จะขนส่งลดลง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ความต้องการในการบริโภคในตลาดลดลง
อันมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ค่าใช้จ่ายภาคประชาชนในส่วนของสิ่งจำเป็น เช่น อาหารและพลังงาน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความการของผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าที่ต้องใช้การขนส่ง เช่น เครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง จึงทำให้ความต้องการในการขนส่งสินค้าลดลงตามไปด้วย
ในขณะที่ปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ต้องจำกัดการใช้ไฟฟ้าและมีการสั่งปิดโรงงานเป็นเวลา 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-25 สิงหาคม 2565 ในมณฑลเสฉวนซึ่งถือเป็นฮับการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปจนถึงมาตรการล็อกดาวน์ของจีน
ทำให้กำลังการผลิตลดลง ซึ่งเดิมที่ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่า จีนจะผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมพรมแดนและหลังหมดช่วงล็อกดาวน์จะเกิดกระแสการบริโภคขนาดใหญ่ในปีนี้ แต่เหตุการณ์กลับมิได้เป็นไปดังคาด เพราะจีนยังคงใช้นโยบาย Zero COVID ส่งผลกระทบต่อการผลิตและทำให้ความต้องการในการขนส่งสินค้าลดลงตามไปด้วย
ราคาค่าขนส่งทางเรือที่ลดลง ทำให้กลุ่มพันธมิตรด้านการขนส่งทางทะเลขนาดใหญ่ต่างก็ทยอยปรับลดจำนวนเที่ยวเรือ เพื่อลดอุปทานในตลาดและพยุงราคาค่าขนส่ง
ซึ่งกลุ่ม THE Alliance ที่ประกอบด้วย Yang Ming ของไต้หวัน Hapag-Lloyd, Ocean Network Express (ONE) และ HMM ได้ประกาศลดจำนวนเที่ยวเรือลงร้อยละ 18 ในช่วงเดือนกันยายนนี้
ในขณะที่กลุ่ม 2M Alliance (Maersk Line, MSC และ SMLine) ก็ประกาศลดจำนวนเที่ยวเรือลงร้อยละ 10 เช่นกัน โดยผู้ประกอบการเดินเรือส่วนใหญ่ต่างก็เตรียมปรับลดจำนวนเที่ยวเรือในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ด้วย
ไต้หวันถือเป็นผู้ส่งออกและเป็นห่วงโซ่สำคัญในระบบ Supply Chain ของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก ทำให้การค้าต่างประเทศและธุรกิจขนส่งของไต้หวันซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางสายหลักของการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ จึงเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับภาวะเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ โครงสร้างทางอุตสาหกรรมของไต้หวันที่เป็นตัวกลางสำคัญในด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน บรรยากาศทางการค้าที่ตึงเครียดระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกนี้ จึงส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไต้หวัน โดยมูลค่าคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของไต้หวันในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีการหดตัวลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ลดลงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ถือเป็นการหดตัวครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน หลังจากที่ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ ต่างก็มีการขยายตัวในระดับที่เป็นตัวเลข 2 หลักมาโดยตลอดนอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันว่าคำสั่งซื้อในเดือนสิงหาคมก็มีแนวโน้มหดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาค่าขนส่งทางเรือมีแนวโน้มลดลงต่อไปอีก
โฆษณา