27 ก.ย. 2022 เวลา 05:16 • สุขภาพ
ระวัง! เชื้อราหน้าฝน ทำป่วยภูมิแพ้และโรคผิวหนังได้ พร้อมแนะ! เคล็ดลับกำจัดเชื้อราในบ้าน
เมื่อฝนตก น้ำท่วม หลายคนจะกังวลเรื่องข้าวของเสียหาย การเดินทางที่ไม่สะดวก หรือแม้แต่เรื่องการตากผ้าไม่แห้ง แต่รู้หรือไม่ว่า… ยังมีภัยเงียบที่หลายคนอาจไม่ได้คำนึงถึง และสามารถกระทบกับสุขภาพของเราได้ นั่นก็คือเรื่อง “เชื้อราหน้าฝน” โดยเฉพาะเชื้อราที่เกิดขึ้นในบ้าน ที่อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังต่างๆ ตามมาได้! ฉะนั้น เรามาทำความเข้าใจกับ เชื้อราหน้าฝน ให้มากขึ้น พร้อมเคล็ดลับกำจัดเชื้อราในบ้านกันดีกว่า เพื่อสุขภาพดีดี ห่างไกลโรคในหน้าฝนนี้
กรมอนามัยห่วง เชื้อราหน้าฝน อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้!
น.พ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า…
"ในช่วงฤดูฝน ทำให้อากาศภายในบ้านมีความชื้นสูง และฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วม และน้ำขังในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงในบริเวณบ้าน และหากมีรูรั่ว หรือรอยแตกของบ้าน อาจมีน้ำซึม น้ำรั่วไหลเข้าภายในบ้าน ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของบ้านเปียก และอับชื้นเกิดเป็นแหล่งของเชื้อราได้ ซึ่งเชื้อรานั้นพบได้ในธรรมชาติ ทั้งจากในบ้าน และนอกบ้าน"
"โดยเชื้อราจะสร้างสปอร์สำหรับสืบพันธุ์ เมื่อสปอร์ของเชื้อราลอยไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้น และอาหารที่เหมาะสม จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโต สีของเชื้อรา มีตั้งแต่สีดำ น้ำตาล เขียว แดง เหลือง และขาว สามารถพบได้เป็นกลุ่ม ๆ ในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น ฝ้าและผนัง เพดาน เฟอร์นิเจอร์ ใต้พรม เครื่องนอน เครื่องปรับอากาศ"
"หากสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่าง ๆ ตามมา เช่น หากเข้าตา และจมูกจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการจาม น้ำมูกไหล มีไข้ บางรายก่อให้เกิดโรคหอบหืด ภูมิแพ้ และปอดอักเสบ"
อย่าประมาท! เชื้อราหน้าฝน อาจก่อให้เกิด 4 โรคผิวหนังนี้ได้
1. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
พบได้ทุกวัย แต่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ผู้ป่วยจะมีผิวหนังแห้ง แดง อักเสบ ในบริเวณตำแหน่งที่จำเพาะเจาะจง และมีอาการคันมาก อาจรักษาได้ด้วยยาแก้แพ้แบบรับประทาน เช่น ลอราทาดีน หรือยาทาสเตียรอยด์
2. ผื่นผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
2.1 เกลื้อน มีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ มีขุยบาง ๆ จุดจะกระจัดกระจายไปทั่ว หรือเป็นที่บริเวณรูขุม ขน ต่อมาจุดจะค่อย ๆ ขยายโตขึ้นเป็นผื่นราบ วงสีจางกว่าผิวหนังปกติ เกิดเป็นรอยด่าง พบได้หลายสี เช่น สีขาว น้ าตาล แดง ดำ
2.2 กลาก มีลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ตามด้วยผื่นแดงต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมากขึ้น ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า
3. ผื่นผิวหนังอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด
มีลักษณะเป็นผื่นแดงแห้ง ๆ ออกน้ำตาล มักเกิดในบริเวณอับชื้นซึ่งเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น รักแร้ ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า โรคที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคเท้าเหม็น เท้าจะมีกลิ่นรุนแรงมากกว่าปกติ มีหลุม รูพรุนเล็ก ๆ บริเวณฝ่าเท้า และง่ามเท้า
4. โรคน้ำกัดเท้า
มีอาการระคายระคายเคืองผิวหนังจากความอับชื้น เมื่อสัมผัสสิ่งสกปรกบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหลังฝนตก ทำให้เกิดผื่นตามเท้า และซอกนิ้วเท้า บางรายอาจมีอาการติดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
วิธีสังเกตเชื้อรา และจุดเสี่ยงในบ้านที่มักเกิดเชื้อรา
วิธีสังเกตเชื้อรา
การสังเกตเชื้อราสามารถใช้การดูด้วยตาเปล่า มักเห็นเป็นเหมือนรอยเปื้อนที่ผนัง หรืออาจเห็นเป็นวงกลมอยู่รวมเป็นกลุ่ม พบได้หลายสีขึ้นกับชนิดของเชื้อรา เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีขาว หรือใช้การดมกลิ่น ซึ่งจะได้กลิ่นเหม็นอับทึบ หรือเหม็นคล้ายกลิ่นดิน เป็นต้น
จุดเสี่ยงเชื้อราในบ้าน
ให้สังเกตตามจุดอับชื้นต่าง ๆ ในบ้าน มักจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราได้ เช่น
- ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องนอน
- ผนังไม้ ฝ้า เพดาน วอลเปเปอร์ ขอบหน้าต่าง
- หนังสือ ชั้นวางหนังสือ
- ต้นไม้ในบ้าน
- เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ เช่น เก้าอี้ เตียงนอน ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น
- พรม ไม้ถูพื้น
- เครื่องปรับอากาศ
หากมีของใช้ ของแต่งบ้านที่เปียกน้ำเกิน 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะวัสดุที่มีรูพรุน และสิ่งของซึ่งยากต่อการทำความสะอาด หรือทำให้แห้ง ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด ควรทิ้งไปโดยใส่ถุงพลาสติก และมัดให้แน่นเพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อรา
ระวัง! ใส่เสื้อที่ไม่แห้ง เปียกชื้น อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังได้
น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงหน้าฝนปัญหาที่พบบ่อย คือ เสื้อผ้ามีกลิ่นอับชื้นเนื่องจากเปียกฝน หรือการสวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน อาจเป็นแหล่งสะสม ของเชื้อโรคได้ ดังนั้น เมื่อกลับถึงบ้านควรนำเสื้อผ้าที่เปียกไปแขวนผึ่งให้แห้ง ก่อนใส่ตะกร้าเพื่อรอการซัก หรือซักทันที ไม่ควรทิ้งไว้นาน ๆ เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อราบนเสื้อผ้าได้
และแม้ว่าจะซักทำความสะอาดเสื้อผ้าเป็นอย่างดีแล้ว แต่เนื่องจากฝนตกทำให้เสื้อผ้าที่ตากไว้ไม่แห้ง หรือแห้งไม่สนิท หากนำมาแขวนรวมกันในตู้เสื้อผ้า ก็อาจทำให้เกิดกลิ่นอับชื้น และเกิดเชื้อราบนเสื้อผ้าได้เช่นเดียวกัน เมื่อนำมาสวมใส่อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังจากเชื้อราตามมา อาทิ โรคกลาก เกลื้อน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุยรอบ ๆ เกิดอาการคัน ทำให้เป็นผื่นแพ้ และติดเชื้อได้
วิธีกำจัดเชื้อรา ไม่ให้มากวนสุขภาพของเรา!
น.พ.ดนัย ได้แนะนำวิธีเช็ดทำความสะอาดบ้านเรือนที่ปนเปื้อนเชื้อราไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิวไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชู หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าวทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด
2. ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบลงในน้ำผสมกับสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง
3. ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5–7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดเพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย
วิธีป้องกันการเกิดเชื้อราในบ้าน
1. ไม่ให้มีคราบน้ำ หรือน้ำขังบริเวณบ้าน และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น ไม่ควรมีคราบน้ำที่กระจก ผนัง ฝ้า และเพดาน หากพบให้เช็ดให้แห้งทันที
2. ป้องกันตนเองในระหว่างการทำความสะอาดบ้าน หรือกำจัดเชื้อรา โดยสวมหน้ากากชนิด N95 หรือใช้ผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการสูดหายใจ เอาสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ร่างกาย และควรสวมถุงมือ และแว่นตาป้องกันการสัมผัสเชื้อราโดยตรง
3. เปิดช่องทางระบายอากาศ หรือใช้พัดลมดูดอากาศเพื่อลดความชื้นในห้องต่าง ๆ ของบ้าน
4. หมั่นดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันปัญหาเชื้อราภายในบ้านได้
ดังนั้นในช่วงฤดูฝนนี้ อย่าลืมดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลจาก เชื้อราหน้าฝน และหมั่นตรวจเช็กทำความสะอาดที่พักอาศัยเพื่อป้องกันปัญหาเชื้อรา เชื้อโรค และฝุ่นละออง หากคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติ เช่น คัดจมูก ระคายเคืองนัยน์ตา มีน้ำตาไหล เจ็บคอ ไอ หายใจมีเสียงวี้ด ปวดศีรษะ มีผื่นคันที่ผิวหนัง หรือหนังศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์
โฆษณา