Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ข้อคิดปริศนาธรรม
•
ติดตาม
28 ก.ย. 2022 เวลา 02:42 • ปรัชญา
อุบาสก/อุบาสิกาคู่แรก
~~~~~~~~~~~~~~
[๑ ถึงรัตนะ ๒ เป็นสรณะ]
คู่แรกในพระพุทธศาสนา คือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ ซึ่งถึงสรณะ ๒ คือ พระพุทธเจ้าและพระธรรม
ในตำนานพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า..
หลังจากพระพุทธเจ้าทรงประทับเสวยวิมุติสุขที่ต้นมุจลินท์เป็นเวลา 7 วันแล้ว ทรงออกจากสมาธิและเสด็จดำเนินไปยัง ณ ใต้ต้นเกดหรือต้นราชายตนะ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงประทับเสวยวิมุติสุขที่ต้นราชายตนะ 7 วัน จากนั้นหลังจากพระพุทธองค์เสวยวิมุติสุขตามที่ต่างๆ ตลอด 7 สัปดาห์ เพราะการเสวยวิมุติสุขนั้นจึงมิต้องเสวยพระกระยาหารเลย
ท้าวสักกะทรงเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงอดพระกระยาหารมาเป็น 47 วันแล้ว จึงนำผลสมออันเป็นโอสถทิพย์จากเทวโลกลงมาถวาย พระพุทธองค์ก็ได้เสวยผลสมอพระโอสถ พอเสวยเสร็จ ท้าวสักกะได้ถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์ ครั้นบ้วนพระโอษฐ์แล้วประทับนั่งที่โคนต้นราชายตนะ
ในขณะนั้นได้มีขบวนรถเกวียนพ่อค้าประมาณ 500 เล่มได้เดินทางผ่านมาใกล้ๆ ต้นราชายตนะที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ผู้นำขบวนเกวียนพ่อค้ามีสองคน คือ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้เดินทางจากอุกกลชนบท มายังมัชฌิมประเทศเพื่อค้าขาย มีเทวดาตนหนึ่งผู้ที่เคยเป็นมารดาของพ่อค้าสองพี่น้องมาแต่อดีตชาติ ได้เห็นบุตรทั้งสองได้อยู่สังสารวัฏมาช้านานจึงปรารถนาจะสงเคราะห์พวกเขา จึงได้อธิษฐานให้ขบวนรถเล่มเกวียนให้หยุดเคลื่อนที่ไม่ให้ไปไหน รถเล่มเกวียนจึงได้หยุดตามคำอธิษฐาน
คนขับเล่มเกวียนก็ได้ตีวัวเพื่อให้ฉุดเล่มเกวียนให้เคลื่อนที่แต่ไม่เป็นผล ตปุสสะและภัลลิกะ จึงพากันแปลกใจว่า ทำไมเล่มเกวียนไม่ยอมเคลื่อนที่ไม่ไปไหนเหมือนถูกตรึงอยู่กับพื้น และแล้วเทวดาก็ได้มาปรากฏต่อหน้าพ่อค้าสองพี่น้องและบอกว่า บัดนี้ได้มีพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และประทับที่ต้นราชายตนะใกล้ๆ ถนนที่ขบวนเล่มเกวียนอยู่ และแนะนำพ่อค้าสองพี่น้องให้ไปเข้าเฝ้าเคารพและนำข้าวสัตตุก้อนและข้าวสัตตุผงที่อยู่ในเสบียงมาถวายแก่พระพุทธองค์ แล้วจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองตลอดไป
ตปุสสะและภัลลิกะ ก็ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่ต้นราชายตนะ และทูลถวายสัตตุก้อนและข้าวสัตตุผงตามคำบอกของเทวดา พระพุทธองค์ก็ทรงพระปริวิตกว่า บาตรที่ทรงใช้ซึ่งได้มาเมื่อตอนออกผนวชได้อันตรธานหายไปหลังตรัสรู้ และพระองค์ก็ทรงคิดว่า เมื่อไม่มีบาตร พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เคยรับด้วยพระหัตถ์ แล้วจะรับด้วยอะไรดี
ครั้งนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ได้ทราบว่าพระพุทธองค์กำลังทรงพระปริวิตกเรื่องบาตร จึงได้นำบาตรศิลาที่สีคล้ายถั่วเขียวทั้งสี่ใบลงมาถวาย พระพุทธองค์ทรงปรารภว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ใช้บาตรหลายใบ จึงอธิษฐานให้บาตรทั้ง 4 รวมกันเป็นใบเดียว และรับภัตตาหารนั้น เมื่อเสวยเสร็จแล้วทรงแสดงธรรมแก่เขาทั้ง 2 จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาประกาศตนเป็นอุบาสกยึดเอาพระพุทธและพระธรรมเป็นที่พึ่ง นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ 2 ที่เรียกว่า เทฺววาจิกอุบาสก
แล้วสองพี่น้องได้ทูลขอสิ่งหนึ่งจากพระพุทธองค์เพื่อนำไปบูชา พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเกศา พระเกศาก็ได้ตกลงมา 8 เส้น แล้วประทานให้
ตปุสสะและภัลลิกะ ได้นำพระเกศาทั้ง 8 เส้นกลับไปยังอุกกลชนบท แล้วบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ที่อสิตัญชนนคร ทำพิธีฉลองสมโภชเป็นหลายวันหลายคืน มีตำนานเล่าขานว่าในวันอุโบสถ สถูปเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาทั้ง 8 เส้นได้เปล่งรัศมีสีนิล (น้ำเงินเข้ม)
[๒ ถึงรัตนะ ๓ เป็นสรณะ]
บิดาของพระยสะ เป็นอุบาสกคนแรก ผู้เปล่งวาจาถึงรัตนะ 3 เป็นสรณะ กับมารดา(นางสุชาดา) และภรรยาของพระยสะ เป็นอุบาสิกา ผู้ถึงรัตนะ 3 ในพระพุทธศาสนา - พรรษาที่ 1 ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
...จากหนังสือ “45 พรรษา ของพระพุทธเจ้า” : พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช หน้า 32.
...ฟังเสียง : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า ตอนที่ 1
[ประวัตินางสุชาดา]
นางสุชาดา เป็นธิดาของเสนิยกุฏุมพี (กุฏุมพี = เศรษฐี ผู้มีทรัพย์มาก) ในหมู่บ้านเสนานิคม แห่งตำบลอุรุเวลา เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยสาวนางได้ทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดาที่สิงสถิต ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งใกล้บ้านของนาง โดยได้ตั้งปณิธานความปรารถนาไว้ ๒ ประการ คือ:-
๑. ขอให้ข้าพเจ้าได้สามีที่มีบุญ มีทรัพย์สมบัติ และมีชาติสกุลเสมอกัน
๒. ขอให้ข้าพเจ้ามีบุตรคนแรกเป็นชาย
ถ้าความปรารถนาของข้าพเจ้าทั้ง ๒ ประการ สำเร็จสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าจะทำพลีกรรมแก่ท่านด้วยของอันมีค่าหนึ่งแสนหกปณะ
ครั้นการต่อมา ความปรารถนาของนางสำเร็จทั้งสองประการ โดยได้สามีเป็นเศรษฐีมีฐานะเสมอกัน และได้บุตรคนแรกเป็นชายนามว่า “ยสะ” นางได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนลูกชายแต่งงานแล้ว จึงปรารภที่จะทำพลีกรรมบวงสรวงสังเวยเทพยดาด้วยข้าวมธุปายาส เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ นางได้ประกอบพิธีหุงข้าวมธุปายาสเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นางทาสีสาวให้ไปปัดกวาดทำความสะอาดบริเวณโคนต้นไทรนั้น
[แก้บนด้วยข้าวมธุปายาส]
ขณะนั้น พระสิทธัตถะบรมโพธิสัตว์ หลังจากเลิกการทรมานร่างกายหันมาเสวยพระกระยาหารหวังจะบำเพ็ญเพียรทางจิต ประทับนั่งพักผ่อนที่ใต้ร่มไทรนั้น ผินพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางทิศปราจีน (ตะวันออก) มีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายเป็นปริมณฑลดูงามยิ่งนัก นางทาสีสาวใช้เห็นแล้วก็ตระหนักแน่ในจิตคิดว่า คงจะเป็นเทพยดาเจ้า มานั่งคอยท่ารับเครื่องพลีกรรม จึงมิได้เข้าไปทำความสะอาดดังที่ตั้งใจมา รีบกลับไปแจ้งแก่นางสุชาดา โดยด่วน
ฝ่ายนางสุชาดา จึงเรียบแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์อันงดงามเป็นที่เรียบร้อย แล้วยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูนศีรษะ ออกจากบ้านพร้อมด้วยบริวารไปยังต้นไทรนั้น ครั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์งดงามเช่นนั้น ก็เกิดโสมนัสยินดีสำคัญว่าเป็นรุขเทวดามานั่งคอยรับเครื่องพลีกรรม จึงน้อมนำเข้าไปถวายพร้อมทั้งถาดทองคำ
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ ทรงรับและเสวยข้าวมธุปายาสแล้ว เสด็จไปประทับที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตและได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในวันนั้น
หลังจากได้ประทับเสวยวิมุติสุข คือ สุขอันเกิดจากการตรัสรู้บริเวณใกล้ ๆ นั้นเป็นเวลา ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน แล้วได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
[ลูกชายหาย]
ในที่ไม่ไกลจากป่าอิสิปตนมฤคทายวันมากนัก ตระกูลครอบครัวของนางสุชาดา ได้ตั้งอยู่บริเวณนั้น เพราะเป็นตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติมาก แต่มีบุตรชายเพียงคนเดียว จึงเอาอกเอาใจบำรุงบำเรอบุตรด้วยกามคุณ ๕ อย่าง พร้อมสรรพ ด้วยหวังจะให้บุตรชายเป็นทายาทสืบสกุล ได้สร้างปราสาท ๓ หลัง สำหรับเป็นที่อยู่ใน ๓ ฤดู อีกทั้งมีสาวงามคอยขับร้องประโคมดนตรีขับกล่อมตลอดเวลา
คืนหนึ่ง ยสะนอนหลับก่อนบริวารและสาวขับร้อง ท่ามกลางแสงประทีปส่องสว่างอยู่ บรรดาหญิงนักขับร้องประโคมดนตรีทั้งหลายเห็นยสะนอนหลับแล้วจึงคิดว่า บัดนี้เจ้านายก็หลับแล้วพวกเราจะขับร้องประโคมดนตรีกันไปเพื่อประโยชน์อะไร จึงพากันเอนกายลงนอนหลับใหลไม่ได้สติ
สยะตื่นขึ้นมายามดึกเห็นอาการอันวิปริตต่าง ๆ ของหญิงนักดนตรีเหล่านั้นนอนกันไม่เป็นระเบียบ บ้างก็นอนบ่นละเมอเพ้อพึมพำ บ้างก็นอนกรน ดังดูจเสียงกา บ้างก็เลื้อยกายไม่มีผ้าปิด บ้างก็อ้าปากน้ำลายไหล ฯลฯ ไม่เป็นที่เจริญจิตเจริญใจดังแต่ก่อน ภาพเหล่านี้ปรากฏแก่ยสะดุจซากศพ ในป่าช้าผีดิบ เกิดความรู้สึกสลดรันทดใจ และเบื่อหน่ายรำคาญเป็นที่สุด จึงเดินออกจากห้องเดินพลางบ่นพลางว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” ออกจากห้องลงบันไดเดินไปอย่างไม่มีจุดหมาย
บังเอิญได้เดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์เสด็จเดินจงกรมอยู่ ได้สดับเสียงของยสะเดินบ่นมาเช่นนั้น จึงตรัสว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เธอจงเข้ามาที่นี่เราจะแสดงธรรมให้ฟัง”
ยสะจึงถอดรองเท้าแล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ จบแล้วได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
[ยสะบรรลุพระอรหัตผล]
ฝ่ายทางบ้าน พอรู้ว่าลูกชายหายไปจึงรีบส่งคนออกติดตามทั่วทุกทิศ บิดาเองก็ออกติดตามด้วยและบังเอิญเดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าลูกชายก็จำได้จึงเข้าไปกราบทูลถามพระพุทธองค์ว่าเห็นลูกชายมาทางนี้บ้างหรือไม่ พระพุทธองค์ทรงดำริว่า “ถ้าพ่อลูกได้เห็นหน้ากันก็จะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม” จึงทรงบันดาลด้วยฤทธิ์มิให้พ่อลูกเห็นกัน ตรัสแก่เศรษฐีว่า “ท่านจงนั่งลงก่อนแล้วท่านจะได้เห็นลูกชายของท่าน” แล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้ท่านเศรษฐีฟัง
ส่วนยสะก็ได้ฟังอีกครั้งหนึ่งเมื่อจบลงเศรษฐีได้บรรลุพระโสดาบัน ส่วนยสะได้บรรลุพระอรหัตผล พระพุทธองค์ทรงทราบว่า ยสะได้บรรลุพระอรหัต ไม่หวนกลับไปครองเพศฆราวาสอีกต่อไปแล้ว จึงทรงคลายฤทธิ์ให้พ่อลูกได้เห็นกัน
เศรษฐีเห็น ยสะลูกชายก็ดีใจ อ้นวอนให้กลับบ้าน ด้วยคำว่า “ยสะ มารดาของเจ้าเศร้าโศกยิ่งนัก เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าด้วยเถิด” แต่พอทราบว่า ยสะบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็อนุโมทนาและขอแสดงคนเป็นอุบาสก ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ตลอดชีวิต
ได้ชื่อว่า “เป็นอุบาสกคนแรก ที่ถึงพระรัตนตรัย” แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยยสะให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตนในเช้าวันนั้น และเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาแล้ว จึงกราบทูลลากลับบ้านแจ้งแก่ภรรยาและบริวารในบ้านให้จัดเตรียมอาหาร เพื่อถวายพระบรมศาสดาและ ยสะ
ฝ่ายยสะ เมื่อบิดากลับไปแล้วกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานด้วยพระดำรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้วเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” โดยไม่มีคำว่า “เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ” เหมือนกับที่ประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ เพราะว่ายสะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตั้งแต่ก่อนบวชนั่นเอง การอุปสมบทแบบนี้เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
เช้าวันนั้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระยสะเสด็จไปยังเรือนของเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้ช่วยกันถวาภัตตาหาร เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้สตรีทั้งสองฟัง เมื่อจบลงเธอทั้งสองก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบันในพระพุทธศาสนา แสดงตนเป็นอุบาสิกา ขอถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต เธอทั้งสองได้ชื่อว่า “เป็นอุบาสิกาคนแรกหรือรุ่นแรกที่ถึงพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา”
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงยกย่องนางสุชาดา (มารดาของพระยสะ)ในตำแหน่งเอตทัคคะ ว่าเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้ถึงพระรัตนตรัยก่อนอุบาสิกาทั้งปวง
ที่มา :
www.84000.org/one/4/01.html
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย