Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มองปรากฏการณ์
•
ติดตาม
28 ก.ย. 2022 เวลา 02:47 • ประวัติศาสตร์
กรุงเทพมหานครมีถนน “ ฮก ลก ซิ่ว “ คุณรู้ไหมว่าอยู่ตรงไหน ?
กรุงเทพมหานครหรือบางกอกเป็นถิ่นพำนักของชาวจีนมาอย่างยาวนาน นับเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ประมาณการกันว่า จีนเป็นประชากรส่วนใหญ่ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้คติความเชื่อของชาวจีนจึงมีอิทธิพลต่อสังคมชาวกรุง ทั้งในเรื่องของประเพณีพิธีกรรม สถาปัตยกรรม อาหารการกิน รวมไปถึงถ้วยโถโอชาม ดั่งเช่นกระแสความนิยมเครื่องลายครามจีนที่เรียกว่า “ กิมตึ๊ง “ ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีการนำชื่อลวดลายของกิมตึ๊ง ไปตั้งชื่อถนนหลายสายที่รายล้อม “ พระราชวังดุสิต “ และมีอยู่ 3 สาย ตั้งชื่อตามลวดลายเทพเจ้า “ ฮก ลก ซิ่ว “
ฮกเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย เป็นมงคลที่ผู้คนไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ก็ล้วนแต่มุ่งมาดปรารถนา “ ถนนฮก “ หรือ ที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า “ ถนนนครปฐม “ เป็นถนนสายสั้น ๆ เลียบคลองเปรมประชากร เริ่มจากถนนศรีอยุธยาตรงหัวมุมวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ทอดตัวไปทางทิศใต้ไปตัดกับถนนพิษณุโลกที่เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ แล้วผ่านหน้าบ้าน “ นรสิงห์ “ ของเจ้าพระยารามราฆพ ไปบรรจบกับถนนลูกหลวงที่เชิงสะพานอรทัย
แม้จะมีความยาวโดยรวมเพียงแค่ครึ่งกิโลเมตรกว่า ๆ แต่ถนนฮกก็ตัดผ่านศูนย์กลางการปกครองครองประเทศไทย เพราะบ้านนรสิงห์ในปัจจุบันก็คือ “ ทำเนียบรัฐบาล "
ส่วน “ ถนนลก “ นั้น ตั้งชื่อตามเครื่องลายครามกิมตึ๊งลายเทพเจ้าลก เทพเจ้าแห่งความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จ รวมทั้งอำนาจบารมี จุดเริ่มต้นของถนนฮกอยู่ที่ถนนลูกหลวงเชิงสะพานอรทัย ตีคู่ขนานไปกับถนนฮก โดยมีคลองเปรมประชากรอยู่ตรงกลาง
ถนนลกนั้นมีระยะทางยาวกว่าถนนฮกหลายกิโลเมตร เพราะตัดกับถนนพิษณุโลก ศรีอยุธยา และถนนราชวิถี ผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่งเช่น “ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน “ อันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ ถัดไปก็คือโรงเรียน “ วชิราวุธวิทยาลัย “ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่รัชการที่ 6 ทรงให้จัดการศึกษาแบบอังกฤษ จากนั้นก็ผ่านหน่วยงานทางทหารหลายกรมกอง เลียบคลองเปรมประชากรไปจนสิ้นสุดที่สี่แยกสะพานแดง อันเป็นจุดบรรจบกันของถนนทหาร ถนนประดิพัทธ์ และถนนเตชะวณิช ปัจจุบันนี้เรารูจักถนนลกในชื่อของ “ ถนนพระรามที่ 5 “
ตามคติความเชื่อในองค์เทพเจ้าซิ่วนั้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งยอดปรารถนาของมนุษย์ เพราะการมีสุขภาพแข็งแรง และ อายุมั่นขวัญยืน ย่อมไม่สามารถหามาได้ด้วยเงินทองและอำนาจวาสนา หากต้องอาศัยกำลังกายและกำลังใจด้วยเช่นกัน
จุดเริ่มต้นของ “ ถนนซิ่ว “ นั้นอยู่ไม่ห่างจากถนนฮกและถนนลกมากนัก กล่าวคือ เริ่มจากจุดบรรจบของถนนหลานหลวง ถนนพิษณุโลก และถนนเพชรบุรี เลาะเลียบขนานทางรถไฟขึ้นไปทางเหนือ ผ่านฝั่งตะวันออกของพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน รวมทั้ง “ สถานีรถไฟหลวงจิตรลดา “ จากนั้นก็ตัดผ่านถนนศรีอยุธยา ถนนราชวิถี และถนนสุโขทัย สิ้นสุดที่แยกสามเสน ตรงจุดตัดของถนนนครไชยศรีกับถนนเทอดดำริ คิดว่าท่านผู้อ่านที่ขับรถอยู่ในกรุงเทพมหานคร น่าจะพอเดาออกว่าถนนซิ่วในปัจจุบันคือถนน “ สวรรคโลก “ เพราะอยู่ใกล้จุดขึ้นทางด่วนแยกยมราช
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2462 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ชื่อถนนฮก ถนนลก ถนนซิ่ว ได้เปลี่ยนเป็น ถนนนครปฐม ถนนพระรามที่ 5 ถนนสวรรคโลก พร้อมๆกับถนนชื่อลายกิมตึ๊งและชื่ออื่นรวม 19 สาย ปัจจุบันแทบไม่มีใครรู้จักถนนที่ตั้งชื่อตามลวดลายของถ้วยโถโอชามอย่าง ฮก ลก ซิ่ว อีกแล้ว แต่ทว่าในเรื่องของคติความเชื่อเทพเจ้า “ ฮก ลก ซื่ว “ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในโลกทรรศน์และวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนไปอีกนานแสนนาน
ข้อมูลอ้างอิง
สาโรช พัฒทวี . ส่องประวัติศาสตร์วันนี้ในอดีต .สำนักพิมพ์สยามบันทึก . พ.ศ. 2554
https://www.tnews.co.th/religion/327692
ประวัติศาสตร์
ความรู้รอบตัว
ความรู้
1 บันทึก
6
2
1
6
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย