28 ก.ย. 2022 เวลา 15:05 • นิยาย เรื่องสั้น
อ้ายโหงด : เสียงกลอง กำไล หัวใจสีดำ
บทวิจารณ์เรื่องสั้น "ท่อนแขนนางรำ" ของ "มนัส จรรยงค์"
1
(ขวา)ภาพหนังสือรวมเรื่องสั้นของ "มนัส จรรยงค์" ใช้ชื่อ "ท่อนแขนนางรำ" เป็นภาพปก โดยสำนักพิมพ์กำแพง พิมพ์ออกจำหน่ายปี 2535
‘ท่อนแขนนางรำ’ เป็นเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน สยามสมัย ปี พ. ศ. 2493 เคยถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ตอนหนึ่งในเรื่อง "ผีสามบาท"(2544)
3
โดยเรื่องสั้นเล่าถึง ‘อ้ายโหงด’ ชายร่างอัปลักษณ์ มือกลองประจำวงดนตรี มีพ่อเป็นเจ้าของวงพิณพาทย์ แอบหลงรัก ‘ผกา’ นางรำซึ่งพ่อของตนเลี้ยงไว้เป็นลูกบุญธรรม ต่อมาหลังงานประชันวงพิณพาทย์ ผกากับนายฟ้อน หนุ่มหัวหน้าวงคู่แข่งเกิดรักชอบพอกัน อ้ายโหงดไม่พอใจ จึงชิงฆ่าผกาเสีย โดยการฆ่าตัดท่อนแขนข้างซ้าย ย่างไฟ และนำไปประจุไว้ในกลองใบใหม่ที่ตนทำขึ้น
แม้ว่าเรื่องรักไม่สมหวังชวนสยองจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ทั้งผู้แต่งเองยังมีผลงานแนวนี้อีกหลายเรื่อง อาทิ ครูแก(2489) สีดา(2494) แต่ด้วยความโด่ดเด่นบางประการของ ท่อนแขนนางรำ จึงทำให้เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้รับความนิยมจากนักอ่านไทยหลายต่อหลายรุ่น ดังที่ บุญ ประคองศิลป์ นามปากกาของ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ แสดงทรรศนะไว้ในนิตยสาร ‘โลกหนังสือ’ ปีที่1 ฉบับที่4 มกราคม2521 ตอนหนึ่งว่า
“...(ใน ท่อนแขนนางรำ) มนัส จรรยงค์มีการสร้างสรรค์ที่เป็น ‘เอกลักษณ์’ ของตนโดยเฉพาะ แต่เขาก็สร้างลักษณะ ‘สากล’ ทางโศกนาฏกรรมขึ้นมาได้ ไม่ปานบทละครกรีกหรือนวนิยายคลาสสิกของประเทศทางตะวันตกที่ยอมรับกันโดยทั่วไป”
ภาพบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง "ผีสามบาท"(2544) ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องสั้น "ท่อนแขนนางรำ"
กาลกิณีตีกลอง
หากลองให้จิตรกรวาดภาพ อ้ายโหงด ตามหลักกายวิภาคศาสตร์(Anatomy) ภาพที่ได้คงออกมาบิดเบี้ยวผิดรูปมนุษย์ หรือกลายเป็นอมนุษย์ไปอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเมื่ออ่านบทบรรยายที่ผู้แต่งบอกเล่าถึงความอัปลักษณ์ของอ้ายโหงดนั้น จะพบว่าแทบไม่มีส่วนดีในร่างอันพิกลพิการเลย ทั้งรูปกายและจิตใจ
“อ้ายโหงดนี้เป็นคนรูปชั่วตัวดำ ผมยาวหยิก หน้ากร้อ ปากเบี้ยว นัยน์ตาถลน แลดูเหมือนปีศาจและยักษ์ปักหลั่น หลังค่อม ตัวโค้ง บั้นเอวเสีย จิตก็ทราม หูตึง เวลายิ้มเข้าแล้วเหมือนคนที่กำลังจะหลอกคนด้วยกันเอง”(หน้า96)
และหากดูตามตำราโบราณแล้วลักษณะ “ผมหยิกหน้า หน้ากล้อ” ยังจัดเป็นคนจำพวก "กาลกิณี" ไม่น่าคบใครอยู่ด้วยมีแต่จะฉุดให้ตกต่ำทั้งบารมี ลาภยศ จึงกล่าวได้ว่าอ้ายโหงด ถูกทำให้กลายเป็นศูนย์รวมความชั่วร้ายนานับประการที่มนุษย์จะคิดฝันถึง
แต่แม้รูปชั่วจิตทราม อ้ายโหงดก็ยังมีดี (พรสวรรค์) เรื่องการเล่นเครื่องดนตรีประเภทตี ไม่ว่าจะเป็น กลองทัด เปิงมาง ตะโพน หรือกลองคู่ จนท่านพ่อเฒ่าอันเป็นอาจารย์เองก็ยังออกปากชม
“ถ้าฟังเสียงกลองของมันเท่านั้นแล้ว ก็เหมือนมนต์สะกดเรียกร้องเอาคนดูเข้ามาได้ แต่พอคนดูคนฟังเหล่านั้นเข้ามาใกล้วงพิณพาทย์แล้วก็พากันแยกย้ายกลับ เพราะความเกลียดชังอ้ายคนกลอง เหมือนกับว่าเขาจะกลัวว่ามันจะฆ่าเอา(หน้า96)”
จากข้อความข้างต้น จะเห็นได้ว่า กระทั่งการกล่าวชมเชยความสามารถในการตีกลองของอ้ายโหงด ก็ยังถูกผลักให้กลายเป็นการร่ายมนต์พิธีของภูติผีปีศาจที่พร้อมจะล่อลวงผู้คนมาเป็นเหยื่อของมันทุกคราวไป
อ้ายโหงดจึงกลายเป็นคนชั่วช้าในสายตาของชาวบ้าน ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือก่ออาชญากรรมใดๆเลยด้วยซ้ำ และเมื่อเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นกับผกาอย่างโหดเหี้ยมอำมหิต ยิ่งตอกย้ำความคิดความเชื่อที่ชาวบ้านมีต่ออ้ายโหงดตลอดมา
ภาพบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง "ผีสามบาท"(2544) ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องสั้น "ท่อนแขนนางรำ"
กำไลสวม(ท่อน)แขน
อาจารย์นพพร ประชากุล ได้วิเคราะห์ ท่อนแขนนางรำ ในบทความ “ท่อนแขนนางรำ” : ความสยองเชิงมานุษยวิทยา ไว้ตอนหนึ่งว่า
“อ้ายโหงดมิได้เพียงฆ่าผกา หากยังตัดเอาแขนของหล่อนไป ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการตัดอวัยวะเพศชาย” หากมองมุมเดียวกับอาจารย์นพพรในเรื่องที่ว่า ท่อนแขนนั้นเปรียบได้กับท่อนลึงค์ จะพบความสอดคล้องเชื่อมโยงถึงชื่อที่ใช้เรียกกลองทัดเสียงสูง “ตุ้ม” ว่า ตัวผู้ ซึ่งอ้ายโหงดเลือกประจุท่อนแขนและกำไลไว้ ส่วนกลองเสียงต่ำ “ต้อม” เรียกว่า ตัวเมีย อ้ายโหงดก็ประจุผ้าสไบแทน
“ถ้ากูตายมึงเอากระดูกกูใส่กลอง ผมกูใส่กลองทั้งสูงทั้งต่ำ” แกพูดกับลูก
อ้ายโหงดหัวร่อ ทำให้เห็นฟันอันเกของมัน
“ฉัน—ฉันมีแล้วพ่อ”
“เอ็งมีกระดูกใคร?” แกร้องถาม
“ก็ความรักของฉัน— ความรัก”
“อือ! เอ็งมันก็บ้าตามเคย” แกพึมพำ (หน้า110-111)
จากบทสนทนา ตามความเชื่อกลองทัดเสียงสูงจะบรรจุกระดูกผีอันเป็นของชั้นครูไว้ ถ้าเสียงต่ำจะบรรจุเอาแต่เรือนผมของครูบาอาจารย์และบุพการี
การกระทำของอ้ายโหงดอาจมองได้ว่าเป็นการไม่เคารพผีครูอาจารย์บรรพบุรุษ แต่ในแง่หนึ่ง อ้ายโหงดอาจไม่ได้ต้องการแหวกขนบ หรือลบหลู่แต่อย่างใด ซ้ำยังคงธำรงรักษาขนบนี้ไว้ด้วยการบรรจุของศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในชีวิต ด้วยสิ่งที่อ้ายโหงดเรียกว่า “ความรัก” อีกทั้งกลองใบใหม่ยังมีขนาดใหญ่กว่าใบเก่าเหมือนอุปมาว่าเสียงที่ดังกังวานออกไปไกลขึ้น เป็นเพราะสิ่งประจุอยู่ภายในเข้มขลังล้ำค่ากว่ากลองทุกใบที่เคยมี
นอกจากนี้ ‘กำไล’ ที่ท่านอาจารย์เฒ่ามอบให้ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของการรัดรึงตัวผกาไว้กับวงพิณพาทย์ กล่าวคือ ด้านหนึ่งเป็นการมอบหมายให้ผกาเป็นผู้สืบทอดกิจการวงดนตรี เพราะไม่อาจฝากฝังไว้กับอ้ายโหงดลูกแท้ๆได้ แต่อีกนัยหนึ่งก็เปรียบได้กับการจองจำให้ผกาต้องอยู่กับที่เช่นกัน และถึงแม้ผกาจะแต่งงานอยู่กินกับนายฟ้อน ผู้เป็นเจ้าของวงปี่พาทย์อีกวง ก็ไม่อาจหนีพ้นจากความเป็น “นางรำ” หรือ “ตัวชูโรง” ไปได้
“เด็กทั้งสองคนนี้เติบโตคู่กันมา อายุของผกาก็อ่อนกว่าอ้ายโหงดเพียงสองปีเท่านั้น แต่ด้วยหลังของอ้ายโหงดมันค่อมจนโก่ง มันจึงเตี้ยและต่ำต้อยจนกระทั่งเตี้ยกว่าผกาตั้งเป็นกอง แกนั่งมองดูผการำ นั่งมองและนั่งคิด—คิดแล้วก็คิดเล่า ก็ได้ผลแต่ว่าผกานี้เป็นตัวชูโรง”(หน้า99)
คล้ายกับว่า ผกาได้กลายเป็นเพียง “วัตถุ” ไปแล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุฆาตกรรม การนำท่อนแขนไปใส่ไว้ในกลอง(สัญญะของการจองจำ) จึงเป็นเพียงสิ่งที่อ้ายโหงดได้ลงมือกระทำออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมจะแจ้งเท่านั้น และจากบทบรรยายตอนท้ายเรื่องหลังอ้ายโหงดถูกตำรวจจับ ที่ว่า “พ่อเฒ่าแม่เฒ่าซบหน้าลงกับฝ่ามือแล้วก็ร้องไห้ฟูมฟายน้ำตา”(หน้า114)
ชวนให้คิดว่า น้ำตาที่ไหลของสองผู้เฒ่านั้น เป็นเพราะความเสียใจจากสิ่งที่อ้ายโหงดกระทำลง จากการสูญเสียผกา หรือจากความกลัวว่าวงพิณพาทย์ของตนเองจะต้องถึงคราล่มสลายกันแน่
มนัส จรรยงค์ (ผู้เขียน)
หัวใจสีดำ
การปรากฏตัวขึ้นของนายฟ้อน หัวหน้าวงพิณพาทย์ ไม่เพียงฟูกฟักความรักให้เกิดขึ้นกับผกาอย่างเดียว แต่ยังสร้าง “ความหวัง” ให้แก่อาจารย์เฒ่าด้วย เมื่อผกานำความว่านายฟ้อนจะจัดการส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอ
“ทั้งพ่อเฒ่าแม่เฒ่าก็ยินดียกให้เพราะว่าพิณพาทย์สองวงจะได้มาประสานกันเป็นทองแผ่นเดียว”(หน้า111) “ทองแผ่นเดียว” ตามความหมายก็คือการยุบรวมเป็นวงเดียวกัน ฉะนั้นตำแหน่งคนกลองของอ้ายโหงดก็อาจถูกแทนที่ได้
“อา! เขาเอาหัวใจกูไป ดีแล้ว—ดีแล้ว” (หน้า111) คำพูดของอ้ายโหงดบ่งบอกถึงการถูกแย่งยิงของรักไป นั่นทำให้ “หัวใจ” ในถ้อยคำนี้ตีความได้สองแบบ หนึ่งคือ ผกา หญิงรัก และสองคือหน้าที่ในการตีกลอง จะเห็นได้ว่าเมื่ออ้ายโหงดนำของสองอย่างมารวมกัน (ท่อนแขนกับกลอง) มันจึงเรียกสิ่งนั้นว่า “ความรัก”
กลองใบใหม่ที่อ้ายโหงดสร้างขึ้น จึงเป็นทั้งการประกาศชัยชนะ และยืนยันการมีอยู่ของตัวมันเองด้วย
“แล้วมันก็เริ่มต้นคิด—คิดไปตามประสาของมัน ใครจะมาเอาของมันไปไม่ได้—ใครจะมาเอาผกาของมันไปไม่ได้เลยในโลกนี้นอกจาก—นอกจากมันคนเดียว เพราะว่ามันหลงรักผกามานมนานแล้ว ตั้งแต่ริจะรุ่นมาด้วยกัน ถึงแม้มันจะเป็นคนง่อยเปลี้ย ถึงแม้มันจะเป็นคนพิการ แต่ความรักของมันหนักหนานัก รักอย่างจะเป็นบ้า แต่มันไม่กล้าที่จะพูดออกมาก็ด้วยความกลัวและความหวาดคร้ามขามเกรง” (หน้า107)
บทบรรยายข้างต้น เผยความคิดภายในของอ้ายโหงดซึ่งปรากฏในเรื่องเพียงครั้งเดียว เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า “รักอย่างจะเป็นบ้า” ของอ้ายโหงดนั้น เป็นความรักที่ล้นเกินจนกลายเป็นภัยต่อผู้อื่นและเมื่อสำทับกับความคิดว่าตนเป็นเจ้าของผู้ครอบครองผกาอยู่ก่อน จะยอมให้ใครแย่งไปไม่ได้ แม้รู้อยู่เต็มอกว่ายากนักที่ผกาจะรักตอบ แรงขับทั้งหลายจึงนำไปสู่โศกนาฏกรรมตอนท้ายเรื่อง
“อ้ายโหงด” ต้องถูกกักขังในร่างอัปลักษณ์เพราะความชั่วช้า หรือเพราะจิตใจอันชั่วช้ามันจึงอัปลักษณ์เรื่องนี้คงขึ้นอยู่กับท่านผู้อ่านจะตัดสิน
แต่อย่างน้อยอสูรร้ายในเรื่องนี้ ก็เคยใช้มือมารของมันสร้างเสียงกลองอันไพเราะขับกล่อมผู้คน ซ้ำยังกลัวการบอกรักหญิงสาวเป็นที่สุด หากมองมุมนี้ ใช่ว่าหัวใจของมันจะดำสนิทไปเสียทั้งหมด เพียงแต่น้อยคนจะหันมองด้านสว่างเลือนรางของมันบ้างเท่านั้นเอง
1
โฆษณา