2 ต.ค. 2022 เวลา 03:30 • ประวัติศาสตร์

สามก๊กชวนรู้ (3) โจโฉ-มหาอุปราช : รัชทายาทของฮ่องเต้ ?

.
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า มหาอุปราช ส่วนใหญ่จะนึกขึ้นมาตรงกัน คือตำแหน่งของรัชทายาทที่จะได้ครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดิมในอนาคต
สำหรับท่านที่เคยศึกษาสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไม่ว่าจะจากในบทเรียนวิชาภาษาไทยหรือสนใจด้วยตนเองก็ตาม จะพบว่ามีการเรียกโจโฉ ตัวละครสำคัญคนหนึ่งในสามก๊กว่า มหาอุปราช อยู่หลายครั้ง
ความที่ฮ่องเต้ในขณะนั้นคือพระเจ้าเหี้ยนเต้เพิ่งครองราชย์ เป็นไปได้ว่าในอนาคตย่อมทรงสามารถมีพระโอรสที่สืบราชสมบัติ
หรือต่อให้ไม่มีพระโอรสก็ย่อมมีเชื้อพระวงศ์ชายอื่น ๆ ที่จะสืบราชสมบัติต่อได้
การจะยกราชสมบัติให้คนนอกดูเป็นการกระทำที่ผิดปกติอย่างมาก
ถ้าลองอ่านเนื้อเรื่องของสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็ไม่มีจุดไหนที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า โจโฉ จะได้เป็นผู้ที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ในอนาคต นอกจากมีส่วนที่แสดงพฤติกรรมอาจเอื้อมบางอย่างของโจโฉเอง
หากพูดถึงตำแหน่งขุนนางระดับสูงสุดที่โจโฉได้รับ คือ เฉิงเซี่ยง (丞相)
เฉิงเซี่ยง คือ 1 ใน 3 อัครมหาเสนาบดี (三公-ซานกง) ซึ่งเป็น 3 ตำแหน่งระดับสูงสุดของขุนนางทั้งปวงในยุคจีนโบราณ โดยตำแหน่งนี้จะมีศักดิ์สูงกว่าอีก 2 ตำแหน่งที่เหลือ
หน้าที่สำคัญ คือ ช่วยเหลือฮ่องเต้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เข้าใจว่าเป็นการถวายคำปรึกษา หรือรับผิดชอบแทนหากฮ่องเต้มอบหมาย เช่น ในสมัยฮั่นเกาจู่ เซียวเหอที่ดำรงตำแหน่งเฉิงเซี่ยงก็เคยคล้ายจะดำรงตำแหน่งประธานที่ประชุมขุนนาง ในเวลาที่ฮั่นเกาจู่ไม่เสด็จออกว่าราชการเอง เป็นต้น
เมื่อมีการแปลหนังสือสามก๊กจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้อำนวยการแปล
ทางคณะที่แปลไทยได้เลือกตำแหน่งหนึ่งเทียบกับตำแหน่งเฉิงเซี่ยง ตำแหน่งนี้ปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน คือ เจ้าพญามหาอุปราชชาติวรวงษองคภักดีบดินทรสุรินทรเดโชไชยมหัยสุริยภักดีแสนอญาธิราช เรียกย่อ ๆ ว่า เจ้าพระยามหาอุปราช ถือศักดินา 10,000
ถ้ายังจำความรู้วิชาประวัติศาสตร์ไทยที่เคยเรียนได้ คงพอนึกออกว่า ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีของไทย ที่อยู่สูงกว่าตำแหน่งขุนนางอื่น มี 2 ตำแหน่งคือ สมุหนายก และสมุหกลาโหม
เจ้าพระยามหาอุปราช เป็นตำแหน่งพิเศษที่มีลำดับศักดิ์เหนือกว่า อัครมหาเสนาบดีทั้งสองดังกล่าวอีกที นับว่าเป็นตำแหน่งขุนนางที่ใหญ่กว่าขุนนางทั้งหลาย และอาจจะไม่ได้ตั้งทุกรัชกาล ทำให้ไม่เป็นตำแหน่งที่รู้จักในวงกว้างมากนัก
ส่วนตำแหน่งพระมหาอุปราช เป็นพระยศของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้ผ่านพระราชพิธีอุปราชาภิเษก ถือศักดินา 100,000 มีสถานะรัชทายาทของพระเจ้าแผ่นดิน บางครั้งเรียกย่อ ๆ ว่า วังหน้า
ดังนั้น ตำแหน่งมหาอุปราชของโจโฉ ไม่ใช่ตำแหน่งวังหน้า แต่เป็นเจ้าพระยามหาอุปราช
นับว่าทางคณะแปลเรื่องสามก๊กที่มีเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นประธาน เลือกตำแหน่งขุนนางของไทยค่อนข้างตรงกับตำแหน่งขุนนางของจีนมากทีเดียว
ภาพโจโฉ จากสามก๊ก 2010 ที่มา xuehua.us

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา