29 ก.ย. 2022 เวลา 02:16 • ประวัติศาสตร์
การสังหารหมู่ชาวยิวที่หุบเขา Babi yar กรุงเคียฟ ยูเครน 29-30 กันยายน 1941
บางคนเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า Holocaust by bullets หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยกระสุนปืน (ทั่วไปเราจะเคยได้ยินคำว่า Holocaust ซึ่งแปลว่าการฆ่าล้างเผาพันธุ์ชาวยิวด้วยวิธีรมแก๊ส)
ซึ่งถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยการใช้กระสุนปืนที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์
การสังหารหมู่ชาวยิวที่หุบเขาบาบิย่า
นั้นเริ่มขึ้นหลังจากที่กองทัพเยอรมันบุกโซเวียต และเข้ายึดครองกรุงเคียฟของโซเวียตยูเครนได้สำเร็จ ในวันที่ 19 กันยายน 1941
หลังจากที่เข้ายึดครองกรุงเคียฟได้สำเร็จ ฝ่ายเยอรมันก็เลือกอาคารในกรุงเคียฟเพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานกองบัญชาการทหารเยอรมัน และอาคารของหน่วยงานต่างๆ
แต่อาคารที่ทหารเยอรมันเลือกไว้หลายอาคาร ถูกตำรวจลับโซเวียตพร้อมกลุ่มกองกำลังใต้ดินแอบวางระเบิด เกิดเหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้ จนทำให้นายทหารเยอรมันเสียชีวิตหลายนาย ในช่วงปลายเดือนกันยายน 1941
เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในกรุงเคียฟยาวนาน 4 วัน
ทางหน่วย SS ของเยอรมันจึงใช้เหตุการณนี้เป็นเหตุผลที่ทำการปราบปรามและสังหารชาวยิวในกรุงเคียฟ
ชาวยิวถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของเหตุการณ์ในครั้งนี้
วันที่ 28 กันยายน 1941 ทหารเยอรมันมีคำสั่งประกาศติดตามสถานที่ต่างๆ มีข้อความดังนี้
" ชาวยิวทุกคนที่อาศัยทั้งในเมืองและชานเมืองกรุงเคียฟทุกคน จะต้องไปรายงานตัวที่ หัวมุมถนน Melnikovsky และ ถนน Dokterivskaya ในเวลา 08.00 น. ของวันที่ 29 กันยายน 1941
โดยให้ชาวยิวทุกคนนำเอกสารประจำตัว เงินและของมีค่า รวมถึงชุดชั้นในและเสื้อกันหนาวของใช้ส่วนตัวอื่นๆ ติดตัวมาด้วย
ถ้าหากชาวยิวคนใดไม่ไปรายงานตัวตามที่ประกาศ หากพบจะต้องถูกยิงทันที และหากประชาชน(ชาวยูเครน)คนใดแอบเข้าไปลักขโมยของจากที่พักของชาวยิวที่ทิ้งร้างจะถูกยิงเช่นกัน
ทุกคนในเมืองรวมถึงชาวยิวเอง ต่างคิดว่าพวกชาวยิวทั้งหมดจะต้องถูกเนรเทศให้ออกจากกรุงเคียฟเท่านั้น
แต่อันที่จริงแล้วพวกเขากำลังจะถูกสังหารหมู่
วันที่ 29-30 กันยายน 1941 ในช่วงระยะ 36 ชม. เป็นช่วงเวลาของการสังหารหมู่ชาวยิวจำนวนเกือบ 33,771 คน ส่วนใหญ่คือ ผู้หญิง คนชรา เด็กเล็กไปจนถึงเด็กทารก ส่วนผู้ชายนั้นส่วนมากถูกเกณฑ์เข้ากองทัพโซเวียตเพื่อทำการรบกับทหารเยอรมัน
29 กันยาน 1941
เช้าตรู่ชาวยิวเริ่มออกจากที่พักพร้อมข้าวของ เดินไปรวมตัวกันที่จุดนัดหมาย หัวมุมถนน Melnikovsky และ ถนน Dokterivskaya
หลังจากนั้นชาวยิวทั้งหมดถูกสั่งให้เดินเท้าจากจุดนัดหมาย ไปนอกเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
เพื่อไปยังหุบเขาเล็กๆที่มีชื่อว่า Babi-yar บาบิย่า
ซึ่งสถานที่นี้ไม่ไกลจากจากจุดนัดพบมากนัก และในบริเวณนั้นจะมีสุสานของชาวยิวตั้งอยู่
เมื่อขบวนของชาวยิวเดินเท้ามาถึง ชาวยิวทุกคนถูกสั่งให้ทิ้งสัมภาระของมีค่าต่างๆ และให้ถอดเสื้อผ้ากองไว้ เหลือเพียงตัวเปลือยเปล่า ชาวยิวคนใดที่ไม่ทำตามก็จะถูกทำร้ายทุบตี
สัมภาระและของมีค่าต่างๆ เงิน เสื้อกันหนาว สิ่งของต่างๆ จะถูกตรวจค้นหาโดยเชลยศึกโซเวียต
หากพบของมีค่า ทางกลุ่ม SS จะยึดเอาไว้และส่งกลับเยอรมันต่อไป
โดยกลุ่มชาตินิยมยูเครนเป็นที่รู้จักในชื่อ ผู้คุมชาวยูเครน ที่เป็นลูกมือให้หน่วย SS ของนาซีเยอรมันในการกระทำอันโหดร้ายต่อชาวยิว (กลุ่มชาตินิยมยูเครน เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ทางจะวันตกของยูเครน พวกนาซีจะใช้คนกลุ่มนี้เป็นลูกมือในการควบคุมค่ายเชลยศึก ตลอดจนค่ายมรณะต่างๆ
พวกชาตินิยมยูเครนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่เป็นผู้คุมช่วยเหลืองานในการทรมานและสังหารชาวยิวรวมถึงคนชาติพันธ์อื่นๆตลอดจนเชลยศึกโซเวียต)
ในคำให้สัมภาษณ์ของผู้รอดชีวิตคนหนึ่งที่ชื่อ David Ayzenberg กล่าวว่าในขณะที่เขายืนถอดเสื้อผ้าอยู่นั้น เขาได้เห็นชายชราที่ถอดเสื้อผ้าออกชายชรากำลังอุ้มหลานของตน และกำลังจะเดินผ่านเข้าไปภายในหุบเขาบาบิย่า
ทหารเยอรมันยืนอยู่ไม่ไกลได้คว้าตัวเด็กทารกไป และได้ดึงเอาดาบปลายปืนที่เหน็บไว้ที่เอวออกมาแทงเด็กทารกตาย
ชายชราเห็นดังนั้นก็ร้องโวยวายขึ้นมา ทหารเยอรมันจึงรีบบีบคอชายชราคนดังกล่าว
ในขณะนั้นเองนายทหารรีบเดินเข้ามา และตบหน้าทหารคนดังกล่าว เพื่อให้ทหารคนดังกล่าวหยุดพฤติกรรมแบบนั้น
ที่นายทหารทำไปไม่ได้เพราะต้องการช่วยชาวยิว แต่เขาเกรงว่าชาวยิวจะลุกหือ หรือแตกตื่นหลบหนี
ชาวยิวโดนต้อนจากผู้คุมชาวยูเครน และกำลังพลหน่วย SS มีการใช้สุนัขสงครามหลายตัวมาต้อนชาวยิวเพื่อไปยังบริเวณที่สังหาร ชาวยิวหลายคนถูกสุนัขกัดในระหว่างการวิ่งไปยังจุดสังหาร
David Ayzenberg จำเหตุการณ์ได้ พร้อมกับร้องไห้ในระหว่างที่สัมภาษณ์เมื่อเขาพูดถึงเรื่องของเด็กหญิงคนหนึ่งอายุสัก 15-16 ปี
เด็กคนนี้ร้องไห้ และพูดว่า เราไม่เคยทำอะไรผิดไม่เคยทำร้ายคนเยอรมันเลย ทำไมทหารเยอรมันจึงมาทรมานพวกเราแบบนี้
ชาวยิวก็เริ่มเดินข้ามไม้กระดานที่พาดรั้วลวดหนามเพื่อเข้าไปในบริเวณพื้นที่สังหาร
(ทหารเยอรมันวางลวดหนามไว้โดยรอบบริเวณเพื่อป้องกันการหลบหนี จะเข้าหรือออกต้องเดินผ่านกระดานไม้ที่พาดรั้วลวดหนาม)
ชาวยิวเดินเข้าไปในพื้นที่ด้านบนหุบเขาบาบิย่า
หุบเขานี้ยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร ลึกกว่า 50 เมตร กว้างประมาณ 30 เมตร
ชาวยิวจะถูกทยอยต้อนให้เดินขึ้นไปยังขอบหน้าผาและเข้าแถวเรียงหันหน้าไปยังหน้าผา ซึ่งทางสมาชิกของหน่วย ss และผู้คุมชาวยูเครนจะใช้ปืนกลกราดยิงใส่ชาวยิวจากด้านหลัง
ชาวยิวบางคนหากตายทันทีก็ตกลงไปในหุบเขาเบื้องล่าง บางส่วนที่ไม่ตายได้รับบาดเจ็บ เมื่อตกลงไปข้างล่าง ก็จะถูกผู้คุมชาวยูเครนคอยเก็บตกยิงสังหาร
David Ayzenberg ได้กล่าวอีกว่า ก่อนที่เขาจะถูกต้อนให้ไปยืนเรียงแถวบนขอบหน้าผานั้น เขาได้ยินเสียงปืนกลดังเป็นระยะ แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง ยิงอะไร
แต่เมื่อถูกต้อนขึ้นไปใกล้ขอบหน้าผาของหุบเขา
เขาจึงได้รู้ว่าบริเวณที่เขายืนอยู่ มันคือสถานที่สำหรับสังหารหมู่ชาวยิว
ก่อนที่สมาชิกหน่วย SS จะเริ่มการยิงปืน ตัวเขาเองได้ก้มหน้ามองลงไปในหุบเขาเบื้องล่าง
ภาพที่เขาเห็นคือ เด็กอายุประมาณ 1-2 ขวบกำลังดูดนมแม่ที่เสียชีวิตเนื่องจากถูกยิง ซึ่งเป็นภาพที่น่าเวทนา และใต้หุบเขานั้นยังเต็มไปด้วยซากศพและเลือดไหลนอง
การสังหารทำรอบแล้วรอบเล่า ตลอดช่วงระยะเวลา 36 ชม. ชาวยิวกว่า 33,771คน เสียชีวิต
มีผู้รอดชีวิตอยู่ไม่กี่สิบคนซึ่งพวกเขาเหล่านี้ต้องกระโดดลงจากหน้าผาที่สูง 50 เมตรก่อนที่จะถูกยิง
แล้วก็ต้องแกล้งตาย และคนที่รอดต้องยอมให้ร่างของชาวยิวคนอื่นๆที่ถูกยิงตกมาตายทับถมร่างของพวกเขา
ชาวยิวต้องแกล้งตายรอจนกว่าจะมืด จนทหารมีการเปลี่ยนเวรยาม
ในขณะที่ผู้คุมชาวยูเครนเผลอ ชาวยิวที่แกล้งตายก็ทำการหลบหนีท่ามกลางความมืด
ส่วน David Ayzenberg กล่าวว่าที่เขารอดมาได้นั้น เนื่องจากเขาเองเกิดความกลัวจนหมดสติและพลัดตกลงมาจากหน้าผา ก่อนที่พวกนาซีจะยิงปืนเข้าใส่
สมาชิกของหน่วย SS คิดว่า David Ayzenberg ตกจากหน้าผาตาย จึงไม่ได้สนใจอะไรมาก เพราะมีงานอีกมากที่ต้องทำ
David Ayzenberg ตกลงจากหน้าผาและสลบไปนาน ในระหว่างนั้นก็มีการสังหารชาวยิวรายอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ศพเหล่านั้นก็ตกลงมาทับถมร่างของ David Ayzenberg
David Ayzenberg นอนอยู่ใต้ซากศพที่ทับถมตัวเขาถึง 2 ชั้น
เขามารู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อหนึ่งในสมาชิกของหน่วย SS เดินมาเหยียบที่ขาของเขา
เขาต้องอดทนต่อความเจ็บปวด จนต้องกัดนิ้วตนเองเพื่อไม่ให้ส่งเสียง เพราะถ้าหากส่งเสียงดัง ตัวเองจะเขาต้องตายอย่างแน่นอน
ต้องใช้เวลาสองวันกว่าที่ตัวของ David Ayzenberg จะหนีออกมาได้สำเร็จ
ไม่นานหลังจากที่เขาหนีออกมาได้หลุมศพก็ถูกฝังกลบ
มีการใช้ระเบิด ระเบิดดินบริเวณหน้าผาด้านบน เพื่อให้ดินกล่มลงมากลับซากศพของชาวยิวบางส่วน
โดยพวกนาซีได้เกณฑ์เชลยศึกโซเวียตที่อยู่ในค่ายเชลยศึกใกล้เคียงมาจัดการ ทำการฝังกลบศพของชาวยิวเช่นกัน
หุบเขาบาบิย่าแห่งนี้ หลังจากที่มีการสังหารหมู่ชาวยิว ทางนาซีเยอรมันก็ยังได้ใช้สถานที่แห่งนี้สังหารพวกยิปซี จำนวน 5 เผ่า (ชนเผ่าเร่ร่อนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง)
ยังมีชาวยูเครนและคนในชาติพันธุ์ต่างๆ ถูกนำมาสังหารที่นี้เช่นเดียวกัน
โดยทั้งหมดจะถูกนำมาสังหารทุกวันอังคารและวันศุกร์(ผมไม่ทราบที่มาว่าทำไมต้องนำเหยื่อมาสังหารในสองวันนี้)
กรกฏาคม 1943 ฝ่ายโซเวียตสามารถรุกคืบยึดดินแดนกลับคืนได้
ทหารเยอรมันคาดการว่าอีกไม่นานทัพหน้าของโซเวียตคงรุกเข้ายึดกรุงเคียฟ และพื้นที่ในยุโรปตะวันออก
ซึ่งหากจะถอนกำลังจากกรุงเคียฟหรือพื้นที่ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทางฝ่ายเยอรมันต้องทำลายหลักฐาน ก่อนที่พวกโซเวียตจะเข้ามาพบ
ในกรุงเคียฟ หน่วย ss ได้มีคำสั่งให้เชลยศึกชาวโซเวียตเดินทางไปยังหุบเขาบาบิย่าและขุดนำเอาศพของเหยื่อที่ถูกฝังในหุบเขาบาบีย่านขึ้นมาและทำการเผา
เพื่อเป็นการทำลายหลักฐานการก่ออาชญากรรมสงครามของพลพรรคนาซี และสุดท้ายเมื่อเสร็จงานเชลยโซเวียตเหล่านี้ก็ถูกสังหารเช่นเดียวกัน
แต่ก็มีเชลยศึกบางส่วนที่พอรู้ถึงชะตากรรมว่าเมื่อเสร็จงานแล้วพวกเขาจะต้องถูกสังหารเช่นกัน
เชลยศึกโซเวียตจำนวน 329 คนจึงได้ทำการต่อสู้และพยายามหลบหนี แต่มีเพียง 18 คนที่รอดชีวิต
เดือนตุลาคมปี 1943 ทหารโซเวียตตีโต้กลับและกำลังส่วนหน้าของทัพโซเวียตกำลังจะข้ามแม่น้ำ Dnieper เพื่อเข้าปลดปล่อยกรุงเคียฟ
กรุงเคียฟถูกกองทัพโซเวียตเขาปลดปล่อยในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 1943
ประเมินว่ามีเหยื่อที่ถูกสมาชิกของหน่วย SS และผู้คุมชาวยูเครนสังหารประมาณ 100,000-200,000 คน ตลอดช่วงเวลา 2 ปีเต็มของการใช้พื้นที่หุบเขาบาบีย่าเป็นที่สังหารหมู่
การสังหารหมู่ชาวยิวด้วยกระสุนที่หุบเขาบาบิย่า ทำให้ทหารเยอรมันหลายนาย ถึงกับจิตตกไปตามๆกัน
การสังหารหมู่ด้วยกระสุนมันเป็นภาพที่โหดร้ายและสะเทือนใจมาก แม้กระทั่งสำหรับมือสังหารเอง ก็ยังก็ยังไม่สามารถที่จะทนต่อภาพการกระทำอันโหดร้ายนี้ได้
สาเหตุที่มีการสร้างระบบการฆ่าแบบการรมแก๊สขึ้นแทนที่จะใช้การยิงด้วยกระสุน ก็เพราะเหตุผลในเรื่องของคนที่ทำการยิงสังหารจะเกิดความเครียด จิตตก และอีกสาเหตุคือเปลืองกระสุนปืน และการสังหารด้วยแก๊สจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
ปี 1945 เยอรมันยอมแพ้สงคราม ทางโซเวียตได้ทำการขุดค้นหลุมศพในหลายๆค่ายมรณะ และค้นพบศพบางส่วนที่ยังไม่ถูกเผา รวมถึงรวบรวมข้อมูลต่างๆ และสอบปากคำผู้ที่รอดชีวิตมาแถลงต่อศาลอาชญากรสงคราม ที่นูเรมเบริ์ก เพื่อชี้ความผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วย SS หลายคน
ในจำนวนนี้มีการขุดค้นหาศพของเหยื่อที่ถูกสังหารที่หุบเขาบาบิย่าด้วย
การสอบสวนพิจารณาคดีอาชญากรสงคราม ทำให้หนึ่งในตัวการสำคัญ ที่เป็นหัวหน้าหน่วย SS ซึ่งดูแลการสังหารหมู่ที่หุบเขาบาบีย่า ก็คือ Paul Blobel ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการถูกแขวนคอ
ในปี 2006 มีความพยายามจากกลุ่มชาวยิวที่ต้องการทำการสืบค้นถึงชื่อของชาวยิวที่ถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนี้
โดยมีการตั้งโครงการสำรวจและสืบค้นหาข้อมูล
แต่ผลของการสืบค้นไม่เป็นที่น่าพอใจนักเนื่องจาก พวกสมาชิกในโครงการนี้สามารถค้นหาข้อมูลชื่อของเหยื่อผู้เสียชีวิตชาวยิวได้แค่ 10% หรือประมาณเพียง 3,000 คนเท่านั้น จากจำนวนทั้งหมด 33,700 คน
ย้อนกลับไปในปี 1945 ทางการได้มีความคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตจากการกระทำของนาซีเยอรมัน และแผนการสร้างอนุสรณ์สถานก็เงียบหายไป
มีการพัฒนาใช้สอยพื้นรอบๆหุบเขาแห่งนี้ให้กลายเป็นถนน มีการสร้างชุมชนอยู่ไม่ไกล ตลอดจนยังมีโรงงานผลิตอิฐ ซึ่งมีการทิ้งเศษวัสดุต่างๆลงไปในหุบเขาแห่งนี้ มีการทิ้งเศษวัสดุต่างๆ ลงไปมาก สะสมกันทุกปีๆ
เมื่อน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะมีมากเกินไป ในปี 1961 ก็เกิดโคลนถล่มจากหุบเขาบาบีย่าๆหลเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนโรงงานต่างๆ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 150 คนและบาดเจ็บในจำนวนที่เท่าๆกัน
ในปี 1971 ทางการมีแนวคิดที่จะสร้างอนุสรณ์สถานอีกครั้ง
มีการก่อสร้างและมีพิธีเปิดอนุสรณ์สถานในปี 1976
โดยอนุสรณ์นี้มีชื่อว่า Soviet citizens and POWs shot by the Nazi occupiers at Babi Yar แด่พลเมืองโซเวียจและเชลยศึกโซเวียตที่ถูกสังหารโดยพวกนาซีที่หุบเขาบาบีย่า
ซึ่งอนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างเพื่อรำลึกถึงประชาชนชาวโซเวียต (ชาวยิว ชาวโซเวียตยูเครน ชาวโซเวียตรัสเซีย และคนในชาติพันธุ์ต่างๆที่อยู่ในดินแดนโซเวียตที่ถูกสังหาร)
และก็มีอนุสรณ์สถานที่รำลึกชาวยิวโดยเฉพาะด้วย โดยมีการสร้างอนุสรณ์สถานนี้ในปี 1991 มีลักษณะเป็นรูปเชิงเทียนตามแบบของชาวยิว
และการสร้างรูปปั้นและอนุสรณ์อื่นๆอีกมากมายในพื้นที่หุบเขาบาบีย่า
อนุสรณ์สถานที่รำลึกชาวยิวถูกกลุ่มที่มีแนวคิดเหยียดเชื้อชาติและเชิดชูนาซีทำการทำลายในปี 2006
โฆษณา