29 ก.ย. 2022 เวลา 03:28 • ปรัชญา
ตอนหนึ่งของมงคลสูตรภาษาบาลีเขียนว่า "สิปปญจ วินโย จ สุสิกฺขิโต" แปลว่า
ศิลปะเป็นมงคลอย่างหนึ่ง
วินัยที่ฝึกมาดีแล้วก็เป็นมงคลอีกอย่างหนึ่ง
ในวรรณกรรม มังคลัตถทีปนี มีเรื่องหนึ่งเล่าว่าพระ 30รูป ทำสมาธิแล้วไม่ได้ผล แต่พอได้ยินเสียงเพลงขับของเด็กเลี้ยงวัว จิตกลับหลุดพ้นสว่างโพลงขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาด เรื่องนี้เล่าเพื่อแสดงว่า
"นี่คือตัวอย่างอานุภาพของศิลปะ"
พระที่ท่านหลุดพันด้วยอำนาจของเพลงขับนั้น คือ
พระอรหันต์
พระอรหันต์เราถือกันว่าเป็นผู้มีสติปัญญาสมบูรณ์ในแง่ที่ว่า เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรคือสาระ อะไรไม่ใช่สาระในโลกนี้ นี่คือพัฒนาการขั้นสูงในทางปัญญา
หลายคนอาจจะมีความรู้สึกและมองว่าศิลปะมีสถานะอยู่ต่ำกว่าศาสนา เพราะศิลปะไม่ช่วยให้พ้นทุกข์ได้ หากมองอย่างไม่มีอคติ สองสิ่งที่ว่านี้ไม่สามารถเอามาเทียบกันได้ แต่ถ้าจะเทียบกันจริงๆ ศาสนากับศิลปะก็สูงส่งเท่าเทียมกัน ชีวิตเราต้องการสองสิ่งนี้เหมือนกัน สิ่งที่ศิลปะมีไม่อาจหาได้ในศาสนา เช่นเดียวกัน สิ่งที่ศาสนามีก็หาไม่ได้ในศิลปะ และชีวิตเราต้องการทั้งคู่
นักธรรมะ ที่ไม่คุ้นเคยกับศิลปะ ก็อาจทำให้มองว่างานศิลปะก็เป็นเพียงเรื่องการดีดสีดีเป่าอันเป็นกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อกระตุ้นกิเลสเท่านั้น หาค่ามากกว่านี้ไม่ได้ จริงๆแล้วงานศิลปะนั้นเกี่ยวข้องกับธรรมชาติอย่างหนึ่งในตัวมนุษย์เรา สิ่งนี้คืออารมณ์ความรู้สึก
ศาสนาหลายศาสนาเห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องไม่ดี ดังนั้นเราควรจัดการกำราบพวกมันให้อยู่ในอำนาจจะปล่อยให้แสดงออกตามอำเภอใจของพวกมันไม่ได้
ศาสนาทางอินเดียนั้นเรียกอารมณ์ความรู้สึกนี้รวมๆด้วยคำว่า "กิเลส" พระพุทธศาสนาเราก็ใช้คำที่ว่านี้ โดยแบ่งกลุ่มกิเลสทั้งหลายแหล่ที่ประชุมหรือชุมนุมมั่วสุมกันอยู่ภายในใจของคนเราออกเป็นสามกลุ่มคือ โลภ ,โกรธ และ หลง
ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาของฝั่งศาสนาที่สำคัญอันหนึ่ง คือสอนธรรมอย่างที่พยายาม แยกออกมาจากอารมณ์ความรู้สึก มีชาวพุทธไม่น้อยเชื่อว่าพระอรหันต์ไม่มีอารมณ์หวั่นไหวไปตามข้อมูลที่เห็น เช่นเมื่อท่านอ่านข่าวหญิงสาวคนหนึ่งถูกแก๊งมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ปากตรอกลากไปรุมโทรมแล้วฆ่าปิดปาก ท่านก็ไม่สะเทือนใจ ท่านเพียงแต่ปลงธรรมสังเวช คือเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน
แต่ เชื่อว่าคนจำนวนมาก เมื่ออ่านพบข่าวนี้ จะเศร้าใจ จะแค้นใจ เพราะคิดง่ายๆว่าหากหญิงสาวคนนั้นเป็นลูกเรา เราจะรู้สึกอย่างไร และคิดต่อไปว่าสังคมนี้เป็นอะไรไปแล้วจึงสร้างคนให้โหดร้ายได้ปานนั้น ความคิดอันนี้หากแรงพอก็อาจทำให้เราเป็นคนมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมนี้ให้ปราศจากเงื่อนไขที่จะปั้นแต่งคนให้เลวร้ายเช่นนั้นหากทำได้ เช่นเล่นการเมืองเพื่อมาแก้ปัญหาพวกนี้เป็นต้น
คำถามคือ หากการปฏิบัติธรรมค่อยๆหนุนส่งชีวิตเราให้สูงขึ้นๆ จนวันหนึ่งเมื่อขึ้นไปอยู่สูงสุดแล้ว เราก็เป็นคนที่เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็ สักแต่ว่าได้ยิน ก็น่าคิดว่าที่ทำมาทั้งหมดนั้นมีค่าจริงหรือ นี่ไม่ใช่การท้าทายเพื่อเอาชนะกันทางความคิด แต่เป็นการเชิญชวนให้ร่วมกันไตร่ตรองเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด เมื่อคิดหรือไตร่ตรองเองแล้วจะเห็นว่าการได้ไปอยู่บนหอคอยแห่งธรรมที่ใครไปสถิตอยู่แล้วก็จะไม่มีอารมณ์โดยสิ้นเชิงเป็นคุณความดีอันสูงส่ง ควรกระเสือกกระสนเพียรพยายามไปหา ก็ไม่ว่ากัน
ศิลปะนั้นเป็นงานสร้างสรรค์โดยมนุษย์ที่กระทำเพราะเห็นคุณค่าของอารมณ์ความรู้สึก ตรงนี้เองที่เป็นจุดอันแตกต่างกันมากระหว่างศาสนากับศิลปะ ในประวัติศาสตร์ของชาวกรีก เพลโตนั้นวิจารณ์ ศิลปะนั้นทำให้คนอยู่ห่างความจริง ที่เพลโตเห็นอย่างนั้นก็เพราะ ท่านผู้นี้คิดเหมือนกับศาสนา ในทัศนะของเพลโต ความจริงต้องเข้าถึงด้วยปัญญา ศิลปะไม่กระตุ้นปัญญา แต่กระตุ้นอารมณ์ เมื่อคนหลงใหลในศิลปะก็จะไม่ใช้ปัญญา ใช้แต่อารมณ์
สำหรับบางศาสนาของอินเดียที่ศาสนากับศิลปะเดินเคียงคู่กันมา เช่นศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูนั้นยอมรับอารมณ์ความรู้สึก หรือกิเลสว่าเป็นสิ่งมีค่าหากใช้เป็น หนังสือ "กามสูตร" ท่านผู้แต่งท่านเป็นฤาษี แต่ท่านก็ให้ความสำคัญแก่เรื่องกิเลส เพราะเหตุนี้เอง ศิลปินฮินดูของอินเดียที่ยิ่งใหญ่จึงมีได้ทั้งที่อยู่ใกล้ชิดศาสนา
พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งเหตุผลและการวิเคราะห์แยกแยะ ทำนองเดียวกับวิทยาศาสตร์ หรือปรัชญาแขนงหนึ่งที่เรียกกันว่า "Analytic Philosoply" เพราะมีฐานเช่นนี้ จึงไม่ปรากฎว่ามีคิลปินที่ยิ่งใหญ่ของอินเดียคนใดที่เป็นชาวพุทธ
ศิลปะนั้นถือว่าอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ตามที่ธรรมชาติให้มานั้นเป็นสิ่งมีค่าในตัวมันเอง ดังนั้น แทนที่เราจะกำราบมันให้เชื่องหรือหงอยอย่างที่ศาสนาทำ เราสมควรกระตุ้นมันให้เริงโลดไปอย่างงดงาม ถูกที่ถูกทาง ด้วยเหตุนี้เอง ศิลปะจึงเป็นสิ่งที่ศิลปินมองว่า "มีชีวิต" ในขณะที่ศาสนานั้น ศิลปินจำนวนมากมองว่า"ตายแล้ว" คือสอนให้เรานิ่งสงบ ไม่วิ่งไปตามอารมณ์
แนวทางที่ศาสนาสอนให้เราเอาชนะปัญหาชีวิตเช่นถูกคนอื่นทำร้าย เอาเปรียบก็คือ "จัดการจิตใจของเราเอง"
โดยธรรมชาตินั้น คนเราโดยทั่วไปก็เหมือนสัตว์ชนิดอื่นที่ถูกใส่หรือติดตั้งอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้ในตัวเสร็จสรรพแล้วมาตั้งแต่เกิด ด้วยธรรมชาติที่ว่านั้น เมื่อมีใครมาตบแก้มเรา จะข้างไหนก็ตามแต่ไม่มีทางเลยที่เราจะเอียงอีกข้างให้เจ้าหมอนั่นตบซ้ำ มีแต่เราจะ "สวน" มันไปจะด้วยกำปั้นหรือตีนก็ตามแต่เหตุปัจจัยจะเอื้ออำนวย ที่แน่ๆคือเราจะไม่นิ่งให้ถูกทำร้าย
ถามว่า เรามีความชอบธรรมที่จะสวนกลับไหมหากไม่คิดว่าเรื่องนี้ผิดกฎหมาย ศาสนาจะบอกว่า เราไม่ควรทำเช่นนั้นตามหลักที่ว่า "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร"
สมมติว่าเราเชื่อศาสนา เราก็จะไม่โกรธแค้นคนนั้น เพราะทำใจคิดไปว่าเขาคงไม่มีความสุขในชีวิตนัก เก็บกด เลยหาทางระบายออกกับคนที่เห็นว่าตนจะข่มได้ คิดไปอย่างนั้นเราก็จะสบายใจ ไม่มีอะไรติดข้องอยู่ในใจนอนหลับสบาย ก่อนหลับก็แผ่เมตตาให้เจ้าหมอนั่นซ้ำอีกที เพื่อยืนยันว่าเราไม่จองเวร แม้หน้าจะบวมและเจ็บเพราะโดนมันต่อยก็ตาม
1
แต่กรณีเดียวกันนี้ ศิลปินอาจจะมองต่างออกไป ด้วยมุมมองและเหตุผลคนละอย่างกับศาสนา โปรดพิจารณาบทกวีที่ชื่อ "จะอยู่ไยเยี่ยงคนขลาด" ของวิทยากร เชียงกูล บางตอนที่คัดมาจากหนังสือเรื่อง "ฉันจึงมาหาความหมาย" หนังสือเล่มนี้มีชื่อเสียงมากในอดีตสมัยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เนื้อหามีว่า
จำได้ครั้งเป็นเด็กตัวเล็กจ้อย
โดนเพื่อนต่อยร้องจ้าวิ่งมาบ้าน
เรียกหาแม่วุ่นไปใส่เล่ห์พาล
แต่ป่วยการแม่กลับสอนสั่งย้อนมา
"จะอยู่เยี่ยงคนขลาดหวาดเขาหรือ
เรามีมือมีเท้าเท่าเขาหนา
หากเจ้าไม่คิดสู้ผู้บีฑา
จะมีค่าใดให้เห็นว่าเป็นคน"
บทกวีนี้มีวิธีคิดที่น่าสนใจไปอีกแบบ เมื่อเทียบกับแบบที่ศาสนาสอน เช่น "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" หรือ "แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร"ในทัศนะของกวี การที่เราซึ่งไม่สมควรถูกทำร้ายแล้วถูกทำร้ายแล้วเราไม่คิดจะสู้ ทำให้เราสูญเสียสิ่งมีค่าอย่างหนึ่งในชีวิตไป
1
การมองศิลปะเป็นได้สองอย่างในตัวเอง คือเป็นทั้งเครื่องมือสำหรับให้เราเข้าใจ ชื่นชม ปลงตก และอะไรอีกมากเกี่ยวกับชีวิตและโลก
ศิลปะเป็นสิ่งที่เราควรเข้าถึงเพราะมีค่ามีราคาในตัวเอง ไม่ใช่เพราะเป็นเครื่องมือตัวมันเอง
หากกล่าวเป็นอุปมาอุปไมก็อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะนั้นเหมือนต้นไม้อะไรสักอย่างที่ใช้ทำยาได้เมื่อเจ็บป่วยเช่นเป็นหวัด เจ็บคอ ก็เอาใบเอาดอกของต้นไม้ที่ว่านี้ไปต้มกิน นอกจากจะเป็นยา ต้นไม้นี้ก็มีรูปทรงและดอกใบที่สวยงาม มองเฉยๆก็ให้ความสุขมากแล้ว
ศาสนาเองก็สามารถมองได้หากเทียบกับยา ต้นไม้ศาสนาก็เป็นยาคนละชนิดกับต้นไม้ศิลปะ ต้นไม้ศาสนากับต้นไม้ศิลปะก็งามคนละอย่าง สรุปคือไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ต้นไม้สองชนิดนี้ก็เป็นคนละพรรณ
ที่น่าสังเกตุ ทำไมตอนที่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะทรงบำเพ็ญทุกการะกิริยา พระอินทร์จึงต้องมาดีดพินสามสายให้ฟัง ไปบอกห้ามให้ทรงเลิกทรมานตนตรงๆไม่ง่ายกว่ารึ อาจเพราะ พระองค์ทรงเป็นศิลปิน จะสามารถหยั่งถึงความสัจจะได้ก็ด้วยอำนาจลีลาทางศิลปะ ใช่รึไม่ คิดกันเอาเอง...
วิรุฬหก
โฆษณา