29 ก.ย. 2022 เวลา 03:40 • ข่าวรอบโลก
สีจิ้นผิงจะรวบอำนาจต่อ? โอกาสเกิดรัฐประหาร และความเสี่ยงสงครามจาก ‘แรดเทา’
1
เผยแพร่ใน THE STANDARD วันที่ 28 ก.ย. 2022
จีนมีงานใหญ่ใกล้เข้ามาในช่วงกลางเดือนตุลาคม คือการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งตามปกติจะจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี และไฮไลต์สำคัญที่น่าจับตาคือการโหวตเลือกเลขาธิการพรรค และปีนี้เป็นที่คาดหมายว่า สีจิ้นผิง จะได้ไฟเขียวจากที่ประชุมให้ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคสมัยที่ 3 ซึ่งจะกรุยทางสู่การนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ในปีหน้า
เราชวน ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ด้านกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยถึงการประชุมครั้งนี้ว่าสำคัญอย่างไร รวมถึงวิเคราะห์ความท้าทายของสีจิ้นผิงหลังจากนี้ ทั้งแรงกดดันจากภายในและภายนอก ความสัมพันธ์กับกองทัพ รวมทั้งประเด็นไต้หวันที่ร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ จนเสี่ยงเกิดการเผชิญหน้าทางทหาร
- เลือกว่าที่นายกฯ คนใหม่-จับตาวางตัวทายาทสีจิ้นผิงหรือไม่
ดร.อาร์มกล่าวว่า การประชุมที่จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ หลักๆ แล้วมี 4 เรื่องที่น่าจับตา โดยสามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกเป็นเรื่องของทีมผู้นำชุดใหม่ และส่วนที่สองเป็นเรื่องของทิศทางและนโยบายของจีนต่อจากนี้
“เรื่องแรก ในส่วนของผู้นำชุดใหม่นั้น ถึงแม้ว่าสีจิ้นผิงจะได้ต่ออายุเก้าอี้ผู้นำเป็นที่แน่นอนแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องสำคัญคือการเลือกคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง หรือโปลิตบูโร เพราะฉะนั้นเราจะได้เห็นทีมผู้นำจีนชุดใหม่ว่ามีหน้าตาอย่างไร” ดร.อาร์มกล่าว
โดยคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองเป็นกลไกกำหนดนโยบายที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน ซึ่งลำดับของกรรมการถาวรก็จะสะท้อนความสำคัญของสมาชิกแต่ละคนว่าใครมีลำดับที่เหนือกว่ากันด้วย
สิ่งที่เราต้องจับตาคือในทีมผู้นำสูงสุดนั้นสะท้อนลักษณะการรวบอำนาจที่สูงขึ้นของสีจิ้นผิงหรือไม่ เช่น ดูว่ากรรมการสูงสุดทั้งหมดมีความสนิทสนม หรือเป็นพรรคพวกกับสีจิ้นผิงเพียงใด หรือว่าจะมีลักษณะของการรักษาสมดุลระหว่างขั้วการเมืองในระดับหนึ่ง เช่น มีขั้วการเมืองที่ไม่สนิทรวมอยู่ในกลุ่มผู้นำสูงสุดชุดใหม่ด้วย ซึ่งหลังจบการประชุมจะมีความชัดเจนและเราจะมาวิเคราะห์กันอีกครั้ง
เรื่องที่ 2 คือใครจะเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพราะนายกฯ หลี่เค่อเฉียง กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในต้นปีหน้า ซึ่งหลังการประชุมครั้งนี้เราจะเห็นค่อนข้างชัดว่าใครจะได้เป็นนายกฯ จีนคนต่อไป”
THE STANDARD ถาม ดร.อาร์ม ต่อว่า มีใครที่เป็นตัวเต็งสำหรับเก้าอี้นายกฯ คนใหม่ ดร.อาร์มตอบว่า ตามที่หลายฝ่ายคาดหมายไว้นั้นมีเหลืออยู่สองคนคือ วังหยาง (汪洋) ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมือง และเป็นผู้นำเบอร์ 4 ในโปลิตบูโร ส่วนอีกคนคือ หูชุนหัว (胡春华) รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ดูแลการแก้ปัญหาความยากจน
สำหรับวังหยางนั้นเป็นนักการเมืองสายปฏิรูป ซึ่งที่ผ่านมามีบทบาทสำคัญในการสร้างโมเดลการพัฒนามณฑลกวางตุ้ง โดยเน้นไปที่ภาคเอกชน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมบทบาทที่มากขึ้นของภาคประชาสังคม
ส่วนหูชุนหัวเคยทำงานในทิเบต ก่อนขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองตนเองมองโกเลียในในเวลาต่อมา ซึ่งเขาได้รับการยกย่องจากหลายคนว่าเป็นนักบริหารที่มีประสิทธิภาพ แต่จุดที่น่าสนใจคือ หูชุนหัวเป็นนักการเมืองจาก ‘กลุ่มสันนิบาต’ ที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มขั้วตรงข้ามสีจิ้นผิง
2
ที่เรียกว่ากลุ่มสันนิบาตนั้น เป็นเพราะสมาชิกจำนวนมากเริ่มต้นถนนสายการเมืองจากสันนิบาตยุวชนพรรคคอมมิวนิสต์ (CYL)
ช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ดูเหมือนว่าจะมีการแบ่งสรรอำนาจระหว่างเลขาธิการพรรคกับตัวนายกรัฐมนตรี โดยเลขาธิการพรรคคนปัจจุบันคือสีจิ้นผิงมาจากกลุ่มลูกหลานอดีตผู้นำ ส่วนตำแหน่งนายกฯ มักมาจากกลุ่มสันนิบาต
หากหูชุนหัวได้เป็นนายกฯ คนถัดไป ย่อมสะท้อนว่ามีการต่อรองอำนาจเพื่อรักษาสมดุลของคณะผู้นำที่อยู่บนสุด แต่หากท้ายที่สุดมีการเลือกนายกฯ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับสีจิ้นผิง ก็หมายความว่าเขาได้ฉีกธรรมเนียมปฏิบัติและพยายามรวบอำนาจมาอยู่ในมือ
เรื่องที่ 3 ที่น่าติดตามคือ “ดูว่ามีการวางตัวทายาททางการเมืองต่อจากสีจิ้นผิงหรือไม่” โดยเราสามารถดูได้จากอายุของคนที่จะเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง หากมีใครที่อายุน้อยกว่าคนอื่นๆ ห่างไปเป็นอีกรุ่นหนึ่ง ก็สามารถตีความได้ว่าคนนั้นอาจถูกวางตัวเป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองของสีจิ้นผิงก็เป็นได้
“ถ้ามีการกำหนดทายาททางการเมืองก็สะท้อนว่าสีจิ้นผิงอาจจะเป็นประธานาธิบดีเพียง 3 วาระ แต่ถ้าไม่มีก็สะท้อนว่า สีจิ้นผิงไม่ต้องการให้มีใครขึ้นมาท้าทายอำนาจตัวเอง หรือต้องการที่จะครองอำนาจต่อไปโดยไม่มีกำหนดที่ชัดเจน” ดร.อาร์มกล่าว
ส่วนเรื่องที่ 4 เป็นเรื่องของทิศทางและนโยบายก้าวต่อไปของจีน “ดูว่าจีนจะมีนโยบายเศรษฐกิจที่เคร่งครัดแบบเดิมหรือผ่อนคลายมากขึ้น ดูว่าหลังจากนี้นโยบาย Zero-COVID ที่จีนบังคับใช้มาตลอดจะเข้มงวดต่อไป หรือมีแนวโน้มผ่อนคลายลง และทิศทางนโยบายที่ทั่วโลกจับตาคือนโยบายต่อไต้หวันที่หลายคนรอจับสัญญาณอย่างมากว่าจะมีความดุเดือดเข้มข้นขึ้นขนาดไหน”
- ความสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์กับกองทัพเป็นอย่างไร โอกาสเกิดรัฐประหารมีมากน้อยแค่ไหน
หนึ่งในชุดคำถามที่หลายคนสงสัยและเราถามความเห็นจาก ดร.อาร์ม คือลักษณะที่ดูเป็นการผูกขาดอำนาจของสีจิ้นผิงจะนำไปสู่การก่อรัฐประหารในอนาคตหรือไม่ และปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้นำ พรรคคอมมิวนิสต์ และกองทัพจีนเป็นอย่างไร
ดร.อาร์มมองว่า เป็นเรื่องยากที่จะเกิดรัฐประหารในจีน เนื่องจากตำแหน่งเบอร์ 1 ของจีนจะควบรวมทั้ง 3 ตำแหน่ง คือ ประธานาธิบดี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง ซึ่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลางนี้ถือเป็นเบอร์ 1 ของกองทัพ ที่เปรียบเหมือนตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด (Commander in Chief) ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นโดยตำแหน่งนั่นเอง ดังนั้นด้วยระบบหรือโครงสร้างที่เป็นอยู่จึงทำให้เกิดรัฐประหารได้ยาก
ดร.อาร์มกล่าวว่า “จีนไม่มีวัฒนธรรมของการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจเกิดขึ้นได้ หากมีแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สูง ซึ่งทำให้กลุ่มผู้นำจีนหาจุดร่วมกันใหม่ แต่ ณ วันนี้ยังไม่ถึงจุดแตกหักแบบนั้น”
- ความท้าทายต่อจากนี้ของสีจิ้นผิง
หลังจากจีนประกาศความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมาย 100 ปีแรกของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2021 ในการสร้างจีนให้เป็นสังคมกินดีอยู่ดีอย่างรอบด้าน (小康社会) ดร.อาร์มระบุว่า หมุดหมายถัดไปคือ 100 ปีแห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะครบรอบในปี 2049 โดยเป้าหมายหลักๆ คือการเป็นมหาอำนาจที่แข็งแกร่ง เป็นประเทศทันสมัย ขณะเดียวกันก็มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอารยธรรม และเป็นที่เคารพในเวทีนานาชาติ
ดร.อาร์มกล่าวว่า “ความท้าทายหลักๆ ของสีจิ้นผิงจะมี 3 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องเศรษฐกิจจีนที่เวลานี้ไม่สู้ดีนัก ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายใน โครงสร้างประชากร ประกอบกับปัจจัยระยะสั้นเรื่อง Zero-COVID (นโยบายไม่อยู่ร่วมกับโควิด แต่จะขจัดให้หมดไปจากประเทศด้วยมาตรการที่เข้มงวด) ตลอดจนปัจจัยด้านนโยบาย เช่น การจัดการกับภาคอสังหาริมทรัพย์และบริษัทเทคโนโลยี”
เรื่องที่ 2 คือสงครามการค้าและเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ซึ่ง ดร.อาร์มมองว่าในสมัยโจ ไบเดน มีความรุนแรงกว่าสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่มีการลดกำแพงภาษีใดๆ ตามที่ทรัมป์ตั้งกำแพงไว้ ส่วนในภาคเทคโนโลยี ก็มีการแบนหรือจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน เพราะมีหลายอย่างที่จีนต้องอาศัยต่อยอดจากพื้นฐานเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
เรื่องที่ 3 คือเรื่องไต้หวัน “เราจะเห็นว่าสหรัฐฯ ก็แรงขึ้น ไต้หวันก็แรงขึ้น ดังนั้นความเสี่ยงก็สูงขึ้นกว่าในอดีตมาก”
- ปัญหาไต้หวันกับการเปรียบเป็น ‘แรดเทา’
หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศเพิ่งกล่าวบนเวที Asia Society ในระหว่างที่เขาเยือนนิวยอร์กเพื่อร่วมประชุมเวทีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ความพยายามในการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวันเปรียบเหมือน ‘แรดเทาที่กำลังพุ่งชน’ พร้อมเตือนให้หยุด
เมื่อกล่าวถึงแรดเทา จะมีสัตว์อีกชนิดที่ถูกนำมาเปรียบคู่กันเสมอคือ ‘หงส์ดำ’ โดยคนจีนให้ความสนใจคำอุปมาสัตว์ 2 ชนิดนี้อย่างมาก หลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเคยพูดถึงในสุนทรพจน์วันขึ้นปีใหม่ปี 2020 (อย่างไรก็ดีเขาเคยกล่าวถึงหงส์ดำและแรดเทาในหลายโอกาสก่อนหน้านั้น รวมถึงในที่ประชุมสภาประชาชนปี 2019 และอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้คือต้นปี 2021 ที่ผ่านมา)
อันที่จริงทั้งหงส์ดำ (黑天鹅) และแรดเทา (灰犀牛) ไม่ใช่คำอุปมาใหม่ หงส์ดำ หรือที่คนจีนเรียก ‘เฮยเทียนเอ๋อ’ นั้นมาจากหนังสือดังอย่าง ‘The Black Swan’ ที่เขียนโดย นาสซิม นิโคลัส ทาเลบ (Nassim Nicholas Taleb) และตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2007 โดยสื่อว่าในอดีตคนมักเข้าใจว่าโลกนี้มีแต่หงส์ขาว เพราะเคยพบเห็นและรู้จักมานานนับพันปี แต่ไม่รู้ว่ามีหงส์ดำอยู่เลยจนกระทั่งมีนักเดินเรือไปค้นพบที่ออสเตรเลียในปี 1691
ซึ่งก็เปรียบเปรยได้ว่า หงส์ดำคือปัญหาหรือภัยซ่อนเร้นที่คนมองไม่เห็น หรือมีโอกาสเกิดขึ้นยาก แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีอยู่หรือจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและร้ายแรง
1
ส่วนแรดเทา หรือ ‘ฮุยซีหนิว’ ในภาษาจีนนั้นเป็นคำอุปมาที่คิดค้นขึ้นในภายหลังโดย มิเชล วัคเกอร์ (Michele Wucker) ที่นำเสนอแนวคิดนี้ครั้งแรกในเวที World Economic Forum เมื่อปี 2013 ก่อนที่เธอจะออกหนังสือตามมาชื่อ ‘Gray Rhino’ ที่ตีพิมพ์ปี 2016 ซึ่งเปรียบแรดเทาว่าเป็นปัญหาหรือภัยคุกคามที่คนมองเห็น แต่ถูกมองข้าม หรือละเลย และไม่ลงมือทำอะไรเลย จนกระทั่งสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
อธิบายให้เห็นภาพได้ว่าแรดเทาดูผิวเผินเป็นสีเทาเหมือนกันหมด คนจึงไม่สนใจ และด้วยความที่มันตัวใหญ่ ดูเชื่องช้า ทำให้คนมองข้ามความอันตราย แต่เมื่อใดก็ตามที่แรดพุ่งชนก็อาจถึงตายได้
การที่จีนเปรียบไต้หวันเป็นแรดเทา ก็เพราะมองว่านานาชาติมองปัญหาไต้หวันเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่จีนมองเป็นปัญหาความมั่นคง และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งอาจเกิดการปะทะกันได้
ในอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงเคยใช้คำอุปมาแรดเทาเพื่อกล่าวถึงความเสี่ยงทางการเงินที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงและมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เช่น ธนาคารเงา ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และหนี้รัฐบาลท้องถิ่น แต่ระยะหลังๆ ก็มีการกล่าวถึงไต้หวันว่าเป็นแรดเทาที่ต้องระวังมากขึ้นเรื่อยๆ
เกี่ยวกับการเปรียบเปรยไต้หวันเป็น ‘แรดเทา’ นั้น ดร.อาร์มชี้ว่า เรื่องนี้สะท้อนว่าจีนมองกรณีไต้หวันว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมากขึ้นและมีความผันผวนสูงขึ้น โดยเวลานี้สหรัฐฯ กำลังพิจารณากฎหมายที่จะยกระดับไต้หวันเป็น Major Non-NATO Ally (MNNA) หรือพันธมิตรสำคัญที่ไม่ใช่กลุ่ม NATO
ซึ่งชาติที่ถูกกำหนดให้เป็น MNNA จะสะท้อนว่ามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ และอาจมีความร่วมมือระหว่างกันในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย
ดร.อาร์มมองว่า “หากไต้หวันได้รับสถานะดังกล่าวก็จะกระทบความสัมพันธ์กับจีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้จีนตอบโต้โดยการซ้อมรบบริเวณช่องแคบไต้หวันมากขึ้น”
- โอกาสเกิดสงครามใหญ่ในช่องแคบไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม กับคำถามว่ามีโอกาสเกิดสงครามใหญ่ในช่องแคบไต้หวันหรือไม่นั้น ดร.อาร์มระบุว่าขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่ายว่าทำอะไรด้วย หากทุกฝ่ายไม่เปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เป็นอยู่ (Status Quo) โอกาสที่จะเกิดสงครามใหญ่ก็มีไม่สูง
“แต่ถ้าไต้หวันประกาศเอกราชก็คือมีสงครามแน่นอน”
ดร.อาร์มมองว่า ประเด็นไต้หวันจะรุนแรงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ และไต้หวันด้วยเช่นกัน
หากสหรัฐฯ ประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน จีนก็อาจตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ และอาจจะเกิดสงครามขึ้น ก็มีความเป็นไปได้
“ด้วยปัจจัยหลายอย่างในเวลานี้ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามมีมากกว่าในอดีต ทั้งกระแสการเมืองในไต้หวัน กระแสการเมืองในสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งกระแสการเมืองในจีนที่มีลักษณะชาตินิยมมากขึ้น ซึ่งล้วนจะผลักให้เรื่องของไต้หวันไปสู่จุดที่อันตรายมากขึ้น” ดร.อาร์มกล่าว
เราถามต่อไปว่า กรณีการเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่จุดชนวนความตึงเครียดบนช่องแคบไต้หวันครั้งล่าสุดนั้น จะกลายเป็นภาวะปกติใหม่หรือไม่
ดร.อาร์มกล่าวว่า จุดประสงค์ของทั้งสหรัฐฯ และไต้หวันคือต้องการทำให้การเยือนของผู้นำระดับสูงมีอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเรื่องปกติ ส่วนจุดประสงค์ของจีนคือต้องการให้สหรัฐฯ และไต้หวันหยุดอยู่แค่นี้ อย่าไปไกลกว่านี้
กล่าวคือทุกฝ่ายก็พยายามสร้าง New Normal ขึ้นมาใหม่ ซึ่งสำหรับจีนก็คือจะซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันถี่ขึ้นจนเป็นเรื่องปกติเช่นกัน
แต่ ดร.อาร์มเตือนว่า “การซ้อมรบเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งก็เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ และนำไปสู่สงครามได้เช่นกัน” โดยก่อนหน้านี้การซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าหลายชนิดจนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับซัพพลายเชนเทคโนโลยีมาแล้ว ซึ่งเป็นกรณีศึกษาว่าหากเกิดสงครามขึ้นจริงย่อมไม่ส่งผลดีต่อใครเลย
ไฟสปอตไลต์สาดส่องไปที่เวทีประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนตุลาคม ซึ่งความเคลื่อนไหวทุกก้าวย่างและบทสรุปของที่ประชุมอาจกำหนดหรือเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองระหว่างประเทศใหม่หลังจากนั้น
คมปทิต คงศักดิ์ศรีสกุล
ลิงค์บทความต้นทาง:
โฆษณา