29 ก.ย. 2022 เวลา 03:59 • กีฬา
ทำไมเสื้อกีฬา Hummel ถึงไม่ยอมเอาโลโก้ตัวเองไปอยู่ในฟุตบอลโลกที่กาตาร์ วิเคราะห์บอลจริงจังจะลำดับเหตุการณ์ให้แต่แรก
1
แบรนด์เสื้อกีฬา Hummel ผู้ผลิตเสื้อทีมชาติเดนมาร์ก ประกาศว่าในฟุตบอลโลกที่กาตาร์ปลายปีนี้ Hummel จะทำเสื้อแข่งแบบที่โลโก้กลืนไปกับเสื้อ สาเหตุเพราะไม่ต้องการให้โลโก้ของตัวเอง ขึ้นไปโชว์ให้คนทั่วไปได้เห็นในฟุตบอลโลก
1
พวกเขาบอกว่า นี่คือจุดยืนที่ไม่ต้องการสนับสนุนกาตาร์ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยในทวิตเตอร์ของ Hummel เขียนว่า "เราไม่อยากให้แบรนด์ของเรา ถูกเห็นในทัวร์นาเมนต์ที่คร่าชีวิตผู้คนนับพันคน"
การกระทำของ Hummel ก็แบ่งความเห็นของผู้คนออกเป็นสองฝ่าย บางคนก็ชื่นชม แต่บางคนก็บอกว่าไร้สาระ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะ Take Side ฝั่งไหน เราควรรู้สถานการณ์ก่อนว่า คำกล่าวหาที่มีต่อกาตาร์คือเรื่องอะไรบ้าง
ในวันที่ 2 ธันวาคม 2010 กาตาร์ถูกโหวตให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 โดยคำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมกาตาร์ ประเทศที่ไม่เคยลงเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายแม้แต่ครั้งเดียว กลับได้รับคะแนนโหวตอย่างท่วมท้น เอาชนะคู่แข่งทั้ง สหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย ได้สำเร็จ
คำตอบข้อแรกคือ การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ เป็นครั้งแรกที่ "ชาติอาหรับ" จะได้เป็นเจ้าภาพในมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนหน้านี้ทั้งในฟุตบอลโลก และ โอลิมปิก ไม่เคยมีชาติอาหรับไหนๆ จะได้โอกาสจัดอีเวนต์ระดับนี้ นี่คือครั้งแรกจริงๆ
ในมุมของฟีฟ่า มันคือความ Fresh ความสดใหม่ แสดงให้เห็นว่า ฟุตบอลโลกสามารถไปอยู่ได้ทุกประเทศ ทุกดินแดน ทุกศาสนาในโลก
เซ็ปป์ แบลตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่ากล่าวว่า "โลกอาราบิค สมควรเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก มีประเทศอาหรับ 22 ประเทศ แต่พวกเขาไม่เคยได้รับโอกาสนี้ และสำหรับกาตาร์พวกเขาเคยจัดเอเชียนเกมส์ในปี 2006 ที่มีกีฬา 30 ชนิดมาแล้ว ดังนั้นไม่มีคำถามถึงศักยภาพของพวกเขาในการจัดอีเวนต์ฟุตบอลโลก"
1
นั่นคือคำตอบข้อแรก ส่วนคำตอบข้อที่สองที่ช่วยให้กาตาร์ถูกเลือก นั่นคือพวกเขาสัญญาว่าจะสร้างสนามใหม่ระดับโลกถึง 7 สนาม สร้างสนามบิน สร้างระบบขนส่งมวลชน สร้างถนน สร้างโรงแรมอีก 100 แห่ง
โดยสนามแข่งขันที่จะสร้างใหม่ 7 แห่ง ล้วนแล้วแต่ใช้สถาปนิกระดับโลกออกแบบ มันทั้งสวยงามและแปลกใหม่ อย่างสนามที่ใช้ในนัดชิง ชื่อ ลูซาอิล ไอคอนิค สเตเดี้ยม ใช้เงินในการก่อสร้าง 767 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (29,000 ล้านบาท)
กาตาร์มีเงินถุงเงินถัง พวกเขาเป็นประเทศที่รวยอยู่แล้ว ดังนั้นย่อมทำให้ฟุตบอลโลก 2022 ดูมีความแตกต่างและอลังการกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา นั่นคือเหตุผลที่สมาชิกฟีฟ่า โหวตให้กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพแบบสบายๆ
เมื่อกาตาร์ได้รับเลือกแล้ว พวกเขามีเวลา 12 ปี ในการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับฟีฟ่า ดูเผินๆ อาจจะเป็นระยะเวลาที่ยาวนานก็จริง แต่การที่คุณจะสร้างทุกอย่าง ทั้งสนาม และระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ให้ออกมาเพอร์เฟ็กต์นั้น จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนเยอะมาก ในการก่อสร้างทุกๆ อย่าง
กาตาร์เป็นประเทศที่เล็กมาก พวกเขามีพื้นที่ 11,581 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าจังหวัดเชียงรายเล็กน้อย) และมีประชากร 2.7 ล้านคนเท่านั้น (พอๆ กับจังหวัดนครราชสีมาจังหวัดเดียว)
ด้วยความที่มีประชากรน้อย และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำงานใช้แรงงาน การจะสร้างสนามฟุตบอลระดับโลกขึ้นมาถึง 7 แห่ง คุณต้องไปหาแรงงานต่างชาติ เข้ามาแก้ปัญหานี้ นั่นทำให้กาตาร์ ไปเอาแรงงานข้ามชาติมากกว่า 1 แสนคน มาจากอินเดีย, บังกลาเทศ, ศรีลังกา, เนปาล และ ปากีสถาน เข้ามาแก้ไขสถานการณ์นี้
ปัญหาคือ ฝั่งกาตาร์ไม่สามารถจัดการเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติได้อย่างดีพอ จนมีปัญหามากมาย ค่อยๆ แดงออกมา ตัวอย่างเช่น
1) แรงงานบางคนโดนนายหน้าหลอก ว่ากาตาร์จะให้ค่าเหนื่อยสูงๆ โดยมีการเก็บค่านายหน้าล่วงหน้า สูงสุดถึง 4,300 ดอลลาร์ต่อคน (160,000 บาท) แต่พอไปทำงานจริงๆ กลับได้เงินแค่เดือนละ 190 ดอลลาร์ (7,200 บาท) คุณต้องทำงาน 2 ปีกว่าๆ แบบไม่กินไม่ใช้อะไรเลย ถึงจะเท่าทุนกับที่จ่ายให้นายหน้าไป
1
แรงงานชาวบังกลาเทศคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า "ผู้จัดการของผมเคยบอกว่า 'ฉันไม่รู้แกได้รับคำสัญญาอะไรจากนายหน้าที่บังกลาเทศ แต่นี่คือเงินที่พวกแกจะได้ ไม่มีมากกว่านี้อีกแล้ว ถ้าแกพูดมากกว่านี้ ฉันจะสั่งให้เขาแคนเซิลวีซ่า แล้วส่งแกกลับประเทศซะ" เมื่อแรงงานหลายคน ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะถ้ากลับประเทศก็ขาดทุนฟรี ก็เลยต้องทำงานมันต่อไป
2) แรงงานจำนวนมาก ได้รับค่าแรงช้า ดีเลย์กันหลายเดือน โดยกาตาร์เหมือนจะทำอะไรก็ได้ เพราะแรงงานพวกนี้ก็ไม่ไหนไม่ได้อยู่แล้ว แรงงานชาวเนปาลคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า "ครอบครัวของผม ที่มีลูกเล็กสองคน เราไม่มีบ้านอยู่แล้ว ทุกวันเต็มไปด้วยความตึงเครียด ผมไม่มีเงินส่งกลับให้พวกเขา มันทำให้ผมนอนไม่หลับเลย มีแต่ความทรมานเต็มไปหมด"
3) สภาพความเป็นอยู่ของคนงาน เต็มไปด้วยความแออัด ตามกฎหมายกาตาร์บอกว่า 1 ห้องพักคนงาน นอนได้ 4 คน แต่สื่อมวลชนลงพื้นที่จริงๆ จะเห็นเลยว่า ใน 1 ห้องนั้น มีคนอาศัย 8 คนหรือมากกว่า แรงงานพยายามขอเรียกร้องมาตลอด แต่ฝ่ายกาตาร์ไม่ได้สนใจจะแก้ไข
4) กฎเหล็กอีกข้อ คือคนงานห้ามออกจากแคมป์เด็ดขาด ไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับประชาชนในประเทศได้ จะซื้อของ ซื้ออาหารใดๆ ก็ทำไม่ได้ ต้องรวมกลุ่มกันในแคมป์เท่านั้น เป็นการป้องกันความวุ่นวาย แต่ในมุมของชาวตะวันตก มองว่านี่เป็นเรื่องแปลกประหลาด แรงงานนั้นขายแรง แต่ไม่ได้เป็นทาส ที่ต้องโดนบังคับห้ามใช้ชีวิตอย่างอื่นด้วย
3
5) โดนยึดพาสปอร์ต กลับไม่ได้ คนงานจำนวนมาก ที่หัวเด็ดตีนขาด ยอมขาดทุน คือทนไม่ไหวแล้ว ขอกลับประเทศ หลายคนไม่สามารถกลับได้ คนงานคนหนึ่ง ที่สร้างสนามคาลิฟา สเตเดี้ยม ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมบอกผู้จัดการว่า ผมต้องการกลับประเทศตัวเองแล้ว เพราะได้ค่าจ้างช้าตลอด แต่ผู้จัดการของผมตะโกนใส่หน้าว่า 'ทำงานต่อไป แกไม่มีวันได้กลับประเทศหรอก'"
รายงานจาก Amnesty (องค์การนิรโทษกรรมสากล) หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ระบุว่า คนงานกลุ่มหนึ่งถูกใช้งาน "เยี่ยงวัวควาย" ทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันไม่ได้พัก ยิ่งในฤดูร้อนของกาตาร์ที่แดดแรงแผดเผา ก็ต้องทำงานหนักต่อไป
หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยน ระบุว่า ในช่วง 2010-2020 มีแรงงานเสียชีวิตมากถึง 6,750 คนในกาตาร์ ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนมากกว่า 50% ของผู้เสียชีวิต จะถูกระบุว่าเป็น "การตายทางธรรมชาติ" (Natural Causes) โดยเฉพาะอาการหัวใจวาย ซึ่งถ้าเป็นการเสียชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน รัฐบาลกาตาร์ก็จะไม่จ่ายเงินชดเชย
นับเฉพาะปี 2021 มีแรงงานต่างชาติตายเพิ่มอีก 50 คน และมี 500 คนที่บาดเจ็บหนัก และมีอีก 37,600 คนที่บาดเจ็บเล็กน้อยถึงปานกลาง
เมื่อโดนสื่อใหญ่ๆ แฉเรื่องการดูแลคนงานก่อสร้าง ฝั่งกาตาร์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาออกมาเทกแอ็กชั่นเหมือนกัน โดยผู้จัดอธิบายว่า ปัญหามันมีจริง แต่มันเกี่ยวกับเรื่อง Sub-Contractor (ผู้รับเหมาย่อย) คือแรงงานมีเป็นแสนคน ดังนั้นก็เลยมีผู้รับเหมาย่อยหลายเจ้า โดยกลุ่มที่มีปัญหามีแค่บางส่วนเท่านั้น และผู้จัดได้ลงโทษ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการทำงานอีกต่อไป
1
นอกจากนั้น ปกติที่กาตาร์จะมีระบบชื่อ Kafala System คือให้อำนาจกับนายจ้างอยู่เหนือแรงงาน นายจ้างสามารถยึดพาสปอร์ต จ่ายเงินเท่าไหร่ และออกกฎอะไรก็ได้ แต่กระแสสังคมโลกที่กดดัน ทำให้รัฐบาลทำการยกเลิก ระบบ Kafala โดยกำหนดให้มีค่าแรงขั้นต่ำ เหมือนแรงงานปกติทั่วโลก
แม้จะมีความพยายามแก้ไข อย่างไรก็ตาม ฝั่ง Amnesty ก็ยังคงกดดันว่า รัฐบาลกาตาร์ควรจะรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะมันก็เกิดเรื่องในประเทศของคุณเอง
1
สิ่งที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ คือประเด็นที่ทำให้กาตาร์ โดนประณามว่าคุณละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดนี้ เพื่อเป้าหมายในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ดังนั้นฟีฟ่าควรริบการเป็นเจ้าภาพ แล้วเอาไปให้ประเทศอื่นจัดแทน แต่แน่นอนว่า ฟีฟ่าไม่มีทางยอมอยู่แล้ว
คือยังไงซะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนปลายปีนี้ คือกาตาร์เป็นเจ้าภาพต่อแน่ ส่วนชาติยุโรปจะไม่พอใจอะไร ก็แสดงออกด้วยวิธีการอื่นเอา เหมือนที่ Hummel ประกาศไม่ใส่โลโก้บนเสื้อตัวเองนั่นแหละ
สำหรับเรื่องนี้ กระแสสังคมไม่ได้อยู่ข้างฝั่งคนเรียกร้องสิทธิมนุษยชนสักเท่าไหร่นัก ความเห็นจากชาวเน็ตรายหนึ่งบอกว่า "ไม่มีทีมชาติ หรือสปอนเซอร์แม้แต่เจ้าเดียว ที่ถอนตัว ทั้งๆที่มีข่าวเรื่องแรงงานทาส คือผมอยากบอกว่า เรื่องการใช้แรงงานเกินกำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 300 ปีก่อนแล้ว"
1
ความเห็นอีกคนบอกว่า "กาตาร์อาจจะไม่ใช่ประเทศที่เพอร์เฟ็กต์ แต่ถ้าคุณต้องเพอร์เฟ็กต์เพื่อเป็นเจ้าภาพ รัสเซียคงไม่ได้เป็นเจ้าภาพบอลโลก 2018 เพราะบุกรุกไครเมีย แอฟริกาใต้คงไม่ได้เป็นเจ้าภาพบอลโลก 2010 เพราะมีการเหยียดผิว และ เยอรมันคงไม่ได้เป็นเจ้าภาพบอลโลก 2006 เพราะเป็นต้นเหตุของสงครามโลก"
1
อีกคอมเมนต์หนึ่งบอกว่า "ชาติยุโรปควรจะเป็นทวีปสุดท้าย ที่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ โลกนี้คงมีความสุขมากกว่านี้ ถ้าพวกแกไม่บุกไปยึดดินแดนคนอื่นเป็นอาณานิคม"
1
ขณะที่กลุ่มชาวอาหรับบอกว่า "เวลาชาติอาหรับจะได้แสดงพลังอะไรสักหน่อยให้โลกเห็น ชาวยุโรปก็มาตั้งแง่ทันที ว่าละเมิดเรื่องนี้ เรื่องนั้นบ้าง กะจะเหยียบกันไม่ให้เกิดเลยหรือไง"
นอกจากนั้น มีคนบอกว่า Hummel อย่ามาทำหล่อหน่อยเลยดีกว่า โลโก้จางๆ บนเสื้อทีมชาติเดนมาร์ก เอาจริงๆ ก็ยังพอเห็นได้ แถมดูจะเป็นกิมมิคในการขายของอีกด้วย ว่าเสื้อรุ่นนี้มีความพิเศษ พูดตรงๆ เถอะ ว่า Hummel ไม่ได้สนใจสิทธิมนุษยชนอะไรขนาดนั้นหรอก ถ้าสนใจจริง ถอนตัวไปจากการเป็นสปอนเซอร์เดนมาร์กเลยสิ ไม่ต้องมาอยู่ในฟุตบอลโลกเลย ทำได้ไหมล่ะ
2
ประเด็นนี้ ก็แบ่งขั้วความคิดเป็นสองฝั่ง ฝั่งแรกคือคุณจะไปสนับสนุนกาตาร์ทำไม ประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับแรงงานเลย ดูๆ แล้วเหมือนการค้าทาสในยุคสมัยใหม่ด้วยซ้ำ
นี่ยังไม่นับเรื่อง สิทธิของเพศที่สาม , สิทธิในการดื่มแอลกอฮอล์ และ อีกมากมาย ที่กาตาร์วางกฎเอาไว้ ที่จะทำให้บอลโลกครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มาอย่างเห็นได้ชัด
แต่อีกฝ่ายก็บอกว่า มันจะอะไรขนาดนั้น คุณจะคาดหวังความสมบูรณ์แบบขนาดไหนกันเล่า แล้วคนที่ด่ากาตาร์ เอาจริงๆ คุณไม่ได้เป็นคนดีอะไรหรอก แค่ทำตัวเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรมเท่านั้นแหละ
เรื่องราวก็จบลงตรงนี้ครับ ใครจะอยู่ฝั่งไหน ก็แล้วแต่แนวทางความคิดของตัวเองอะนะ
และสิ่งที่การันตีได้ชัวร์ๆ ก็คือ ฟุตบอลโลกครั้งนี้ จะเต็มไปด้วยดราม่านอกสนามแน่นอน และฟุตบอลโลกครั้งแรกในแผ่นดินอาหรับ จะต้องเจอปัญหาให้ผู้จัดได้แก้ตลอดทาง จนกว่าจะถึงนัดชิงชนะเลิศเลยทีเดียว
โฆษณา