Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
7 ต.ค. 2022 เวลา 00:03 • หนังสือ
ส่วนลึกของจิตใจ
โดย นำชัย ชีววิวรรธน์
คนเราใช้เหตุผลในการตัดสินใจมากน้อยเพียงใด ?
Photo by Jason Strull on Unsplash
เราใช้เหตุและผลกันอยู่บ้างเหมือนกันนะครับ แต่แค่บางส่วน
มีอีกหลายส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่คาดไม่ถึง แต่เราก็ยังหลงคิดไปเองอยู่ตลอดเวลาว่าเกิดจากการตัดสินใจอย่างรอบคอบแล้วเป็นอย่างดี
มีตัวอย่างงานวิจัยในต่างประเทศที่แสดงเรื่องนี้ไว้ชัดเจนครับ
กรณีตัวอย่าง เช่น หากเราคิดจะเลือกงานประจำสักงานหนึ่ง หลายคนคงมองกันละเอียดใช่ไหมครับ ตัวงานน่าสนใจเพียงใด ? เป็นงานที่มีโอกาสก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด ? ตำแหน่งที่ตั้งของที่ทำงาน ? รายได้มากน้อยเท่าใด มีโอทีหรือไม่ ?
เชื่อไหมครับว่า ปัจจัยเล็กน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น "ชื่อของคุณ" เองก็อาจะมีผลต่อการเลือกงานได้
มีงานวิจัยลงใน Psychol. Sci. ปี 2005 ที่ระบุว่า คนที่นามสกุล เวอร์จิเนีย (Virginia) มีแนวโน้มมากกว่าเฉลี่ยที่จะเลือกไปทำงานในรัฐเวอร์จิเนีย
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คนที่มีชื่อออกเสียงคล้ายๆ กับบางอาชีพ ก็อาจเลือกอาชีพบางอย่างมากกว่าปกติด้วย เช่น คนชื่อ เดนนิส (Dennis) หรือ เดนิส (Denise) ซึ่งออกเสียงคล้ายกับเดนทิสท์ (Dentist) ที่หมายถึง หมอฟันหรือทันตแพทย์ ก็มีแนวโน้มจะเลือกอาชีพดังกล่าวมากกว่าอาชีพอื่น !
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปี 2007 จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาดระบุว่า คนอเมริกันยอมที่จะเลือกงานที่รายได้น้อยกว่า ทำเลที่ทำงานไม่ดีเท่า หรือมีผลประโยชน์อื่นๆ น้อยกว่า
เพียงแค่ขอให้...ไม่ต้องมีเจ้านายเป็นผู้หญิง
แต่ที่ว่ามานั่นบางทีเจ้าตัวก็ไม่รู้สึกตัวตอนที่เลือกเลยนะครับว่า
ปัจจัยดังกล่าวทำให้เขาตัดสินใจเช่นนั้น เจ้าตัวมักจะกล่าวถึงปัจจัยอื่น เช่น รายได้ดีกว่า สิ่งแวดล้อมดีกว่า ฯลฯ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกระบวนการตัดสินใจแบบนี้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
มีงานวิจัยที่ลงในวารสาร Pers. & Soc. Psych. Bull. ปี 2008 ที่ชี้ว่า หากนำผู้เข้าร่วมทดลองไปอยู่ในห้องที่กลิ่นไม่โสภา จะทำให้เมื่อเขาต้องตัดสินลงโทษเรื่องเชิงศีลธรรมบางอย่าง
เขาจะเลือกตัดสินแบบรุนแรงมากกว่าปกติ ซึ่งอาจจะสะท้อนบทบาทของอารมณ์ขยะแขยงรังเกียจ ว่าเกี่ยวข้องหรือแม้แต่จะเป็นรากฐานที่รองรับหรือเชื่อมโยงกับอารมณ์ทางศีลธรรมด้วยอย่างลึกซึ้ง
แม้แต่ปัจจัยเล็กๆ เรื่องกิริยาท่าทางและตำแหน่งที่ทำอยู่ ก็อาจมีผลต่อการตัดสินใจด้วยเช่นกัน มีการทดลองในปี 2011 ซึ่งลงในวารสาร Psychol. Sci. ระบุว่า หากไปพูดคุยสัมภาษณ์หรือทำโพลเกี่ยวกับการเมืองตรงใกล้ๆ ที่ล้างมือ
พวกนักศึกษาจะแสดงความคิดเห็นเชิงอนุรักษ์นิยมสูงกว่าปกติ สะท้อนให้เห็นถึงระบบอัตโนมัติของร่างกายที่ตีความว่า เกิดบรรยากาศแวดล้อมที่คุกคามขึ้นแล้ว !
ผลการทดลองที่ลงในวารสาร Science ปี 2011 ระบุว่า แค่การที่ผู้เข้าร่วมทดลองถือกาแฟเย็นหรือร้อนแตกต่างกัน ก็มีผลต่อการตีความเรื่องความเป็นมิตรมากน้อยของคนแปลกหน้าเสียแล้ว
Photo by Clay Banks on Unsplash
โดยหากถือกาแฟร้อนอยู่แล้วเห็นคนแปลกหน้า ก็มีแนวโน้มจะเห็นว่าคนแปลกหน้านั้นเป็นคน "อบอุ่น" แล้วพาลคิดไปว่าเป็นคนที่เป็นมิตร ใจดี และเอื้อเฟื้อ ต่อไปในที่สุด
ขณะที่กาแฟเย็นให้ผลตรงกันข้าม
กลไกที่ว่ามาเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องการโกงบ้างหรือไม่ ?
งานวิจัยปี 2008 ที่ลงในวารสาร Four: Marketing Res. ชี้ให้เห็นว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะโกงมากเท่าที่จะทำได้ ตราบใดที่ตัวเองยังไม่รู้สึกว่าการกระทำนั้นเป็นการโกง
เรื่องนี้น่าสนใจนะครับ เวลาคุณจะโกงใคร ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมที่เจ้าตัวน่าจะรู้อยู่ว่าที่ทำไปนั้นเป็นการโกง
แต่เอาเข้าจริงคุณก็ยังจะโกงต่อไป แต่ให้เหตุผลกับตัวเองเพื่อไม่ให้เสียเซลฟ์ว่า เฮ้ย นี่มันยังไม่ถือว่าเป็นการโกง...
ก็มันยังไม่ได้...มากขนาดจะถือว่าเป็นการโกง !!!
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น รู้ไปแล้วจะมีประโยชน์อะไรกับชีวิตเราบ้างหรือไม่ ?
กล่าวแบบสำนวนไทยโบราณก็ต้องว่า รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม คือรู้แล้วก็ไม่ได้ทำให้ลำบากลำบนอะไรมากขึ้น
แต่อันที่จริงแล้ว นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าเรื่องนี้มีประโยชน์มากนะครับ ประโยชน์ที่จะได้ตามมาหากเราจะเข้าใจขั้นตอนเบื้องหลังเรื่องต่างๆ ที่ว่ามา (ที่อาจจะหลากหลายจนยากที่จะสรุปประเด็นร่วมกันได้)
ขอเรียกเล่นๆ ว่าเป็น "หุบเขาความคิด" นะครับ
หุบเขานี้มักทำให้คนเราตกลงไปอย่างง่ายดาย นำเราไปสู่ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกัน หรือแม้แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น
กลไกการหลอกลวงมี 2 ขั้นตอนนะครับ
ขั้นตอนแรกได้แก่ การที่เรามัก "ด่วนสรุป" พฤติกรรมของคนอื่นแบบง่ายๆ ว่า สะท้อนให้เห็นถึงแรงจูงใจด้านเลวและการตัดสินใจที่ผิดพลาดของพวกเขา
โดยทั้งหมดนั่นมาจากตัวเลือกพฤติกรรมแบบจิตสำนึก
พูดง่ายๆ คือ รู้ตัวว่าทำอะไรลงไปนั่นแหละ โดยเราอาจจะหลงลืมไป (หรือแม้แต่ไม่รู้) ว่าพฤติกรรมพวกนั้นบางอย่างก็ได้รับอิทธิพลจากจิตใต้สำนึกหรือระบบอัตโนมัติของร่างกายด้วย
ขั้นตอนต่อมาที่เกิดแทบจะทันทีหลังขั้นตอนแรกก็คือ เรามักจะเชื่อว่าตัวเลือกที่เราเลือกทำนั้นผ่านการคิดหรือตัดสินใจด้วยสติสัมปชัญญะเต็มเปี่ยม
และเรามักจะปฏิเสธหรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่วา เราเองก็ได้รับผลกระทบจากอคติแบบไม่รู้ตัวแบบนั้นเช่นกัน
หากเราระลึกรู้เรื่องนี้บ่อยๆ เราก็อาจจะระมัดระวังในการตีความพฤติกรรมของผู้อื่น (และของตนเอง) มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับชีวิตของเรามากยิ่งขึ้นไปด้วยอย่างแน่นอน
บทความนี้รวมอยู่ใน หนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน
หน้าปกหนังสือ "อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก", สนพ.มติชน, สอบถามได้ที่ https://www.facebook.com/matichonbook
วิทยาศาสตร์
จิตวิทยา
พฤติกรรม
บันทึก
3
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย