15 ต.ค. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
จิตนิ่งโดยการ ‘กวน’
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
4
นักปรัชญาชาวอังกฤษ อลัน วัตต์ส ตั้งข้อสังเกตว่า พระพุทธรูปที่เราเห็นแทบทั้งหมดอยู่ในปางสมาธิ และมองแบบหรี่ตา
ทำไมหรี่ตา?
หรี่ตามองก็คือมองแบบนกกระสา
การมองแบบนี้ในภาษาจีนเรียกว่า 觀 (ออกเสียงว่ากวน) แปลว่าการมอง (หากสังเกตดูรูปคำนี้ จะเห็นว่ามีนัยน์ตาอยู่)
1
อลัน วัตต์ส ชี้ว่า ระบบความคิดของคนทำงานโดยเรียงลำดับ เราคิดได้ทีละความคิด เรียงกันไปเป็นเส้นตรงตามลำดับ (linear) ไม่ว่าจะมีความคิดสับสนยังไง ก็คิดได้ทีละความคิด
4
การคิดจึงช้ากว่าการมอง เพราะขณะที่ความคิดเดินไปทีละอัน ‘กวน’ กลับสามารถมองรวบยอดทั้งหมดได้ทีเดียว
1
การมองแบบ ‘กวน’ ไม่ใช่มองแบบเพ่งหรือจ้อง แต่เป็นการมองแบบเฝ้าสังเกตเงียบๆ คล้ายนกกระสามองดูปลาในน้ำ มันมองอย่างไม่จดจ่อ แต่มองอย่างระวังและมีสติกำกับ เมื่อปลาขยับ นกกระสาก็ฉกกินปลาอย่างฉับไว
3
ท่วงท่าของนกกระสาจึงปรากฏอยู่ในภาพเขียนของจีนและญี่ปุ่นจำนวนมาก
ภาพนกกระสาโดย หลี่กู่ฉาน ( 李苦禪 )
กวน 觀 = quiet observation (สังเกตเงียบๆ)
และโยงกับวิปัสสนา
คำว่า วิปัสสนา ในบาลีแปลว่าการเห็นแจ้ง (insight) มาจาก วิ = แจ่มแจ้ง + ปัสสนา = เห็น
‘วิปัสสนา’ ในภาษาจีนใช้คำว่า 觀 (กวน)
‘การมอง’ คือหัวใจของแนวคิดด้านพุทธ ทางอินเดียและจีนถือว่าเป็นจุดสำคัญของจิต และเป็นทัศนคติอย่างหนึ่งต่อชีวิต
5
นั่งท่าดอกบัว สมาธิ ร่างปักกับแผ่นดิน แล้วหายใจ ไม่ต้องหลับตา แค่หรี่ตามองพื้น เพราะเรายังต้องการสัมผัสโลกที่เป็นจริง สัมผัสโลกผ่านการมอง การได้ยิน การสัมผัส ไม่ได้ตัดทิ้ง แต่ปล่อยให้โลกทั้งใบมาหาเราเอง โดยไม่ต้องทำอะไรกับมัน
3
พูดง่ายๆ คือปล่อยจิตให้อยู่ของมัน อย่าไปยุ่งกับมัน
2
การทำสมาธิจึงเป็นเรื่องสำคัญ คือมองโลกอย่างเข้าใจและตามทัน
4
เราได้ยินพระหรือผู้ใหญ่สอนเราแต่เด็กให้หัดทำสมาธิ เพราะมีประโยชน์ แต่เราอาจสงสัยว่าทำสมาธิไปทำไม นั่งนิ่งๆ เสียเวลาเปล่าไม่ใช่หรือ
เหตุผลคือการทำสมาธิทำให้เราหลุดจากโลกของความคิดต่างๆ มันเป็นช่วงยามที่เราหลุดจากโลกที่เราสร้างนามธรรม โลกที่เราสร้างอัตตา มาสู่โลกที่เป็นจริง
2
เจตนาของการทำสมาธิคือเพื่อสัมผัสโลก ไม่ใช่คิด รู้ตัวแต่ไม่ไปติดกับความคิดฟุ้งซ่าน
1
ในทางการแพทย์ การทำสมาธิมีประโยชน์หลายอย่าง งานวิจัยจำนวนมากล้วนชี้ไปในทางเดียวกันว่ามันดีต่อสุขภาพ การทำสมาธิช่วยลดอาการต่างๆ ช่วยลดความเจ็บปวด ลดความวิตกกังวล ซึมเศร้า รวมทั้งอาการจากโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง
2
การทำสมาธิยังดีต่อสมอง มีงานวิจัยว่าการเจริญสติเปลี่ยนโครงสร้างสมอง มันเพิ่มความหนาของ cortical ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ดูแลเรื่องการเรียนรู้และความจำ นอกจากนี้ยังช่วยปรับปรุงสมองส่วนที่จัดการเรื่องอารมณ์ ลดความกลัวความวิตกในสมองส่วนอะมิกดาลา
2
การทำสมาธิยังช่วยรักษาอาการเสพติดอย่างได้ผล มีงานวิจัยว่ามันช่วยลดการติดบุหรี่
2
คนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่า การทำสมาธิคือการนั่งเฉยๆ แต่ความจริงคือมันช่วยฝึกสมอง ทำให้มีการรับรู้ที่เฉียบไวขึ้น ช่วยทำให้ความจำดีขึ้น ทำให้การโฟกัสของสมองดีขึ้น
2
การทำสมาธิจิตช่วยลดขยะในหัว เป็นชีวิตแบบสะอาดและเป็น minimalism
มนุษย์เราชอบคิดตลอดเวลา พูดกับตัวเองตลอดเวลา
เคยสังเกตตนเองไหมว่าเราพูดกับตัวเองบ่อยแค่ไหน?
ก็เหมือนการพูด เราจะพูดตลอดไม่ได้ บางช่วงเราต้องเงียบ ให้คนอื่นพูดหรือฟังคนอื่น เราต้องเงียบบ้างเพื่อได้ยินคนอื่นพูด
จิตก็เหมือนกัน มันต้องหยุดคิดบ้าง เราไม่ควรคิดตลอด แต่จะทำอย่างไร? ในเมื่อสมองเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาให้คิดตลอด และยิ่งห้ามคิดก็ยิ่งคิด
2
สมมุติผมบอกคุณตอนนี้ว่าอย่าคิดเรื่องช้างสีม่วงอยู่ใต้ต้นไม้ที่ใบร่วงหมด เชื่อว่าตอนนี้สมองคุณก็คิดเรื่องนี้แหละ
การคิดตลอดเวลาทำให้จิตฟุ้งซ่าน โดยเฉพาะเมื่อเราปรุงแต่งความคิดเหล่านั้นเป็นอารมณ์ จิตก็ไม่สงบ
2
ในโลกปกติ เราพยายามเหลือเกินที่จะคิดหาเหตุผลกับทุกเรื่อง ทุกความรู้สึก นี่คือการสร้างตัวกู-ของกู หรืออัตตา และมันปิดกั้นประสบการณ์ของเรา แบ่งแยกเราจากโลกภายนอกและจักรวาล
2
อลัน วัตต์ส ชี้ว่า จนเมื่อเส้นแบ่งนั้นจางหายหรือลดน้อยลง เราก็เริ่มสัมผัสรู้สึกโลกของเราเป็นตัวเรา
3
เหมือนในห้วงยามที่เรารู้สึกดื่มด่ำในดนตรีหรือการเต้นรำ มันแยกไม่ได้ระหว่างดนตรีกับเรา เช่นกัน เมื่อจิตตอบสนองทันทีต่อประสาทความรู้สึกต่างๆ ที่พามา มันก็รู้สึกเหมือนจิตกับสิ่งที่จิตสัมผัสหรือมีประสบการณ์สัมผัสนั้น กลายเป็นหนึ่งเดียว
ทำให้ความรู้สึกของเราต่อโลกต่างไป
1
ผู้รู้สอนว่า ในการทำสมาธิ จงอย่าปิดกั้นเสียงหรือภาพ หรือสัมผัสที่มากระทบ แต่จง ‘มอง’ มันเงียบๆ (‘กวน’) เพียงแต่ไม่ปรุงแต่ง ไม่ต้องหาความหมายจากมัน
3
ขณะที่โฟกัสจิต ก็ยังเปิดพื้นที่กว้างพอให้ความคิดใดๆ เข้ามาได้ อาจเป็นความคิดเกี่ยวกับอดีตที่กวนใจ หรือความคิดในอนาคต (ซึ่งเรากำลังจะปรุงแต่งเป็นวิตกจริต) แล้วเราก็พิจารณาความคิดนั้น ไม่ใช่ด้วยตรรกะ แต่โดยการสัมผัสธรรมชาติของมัน มองมันเงียบๆ
2
ทั้งนี้เพราะหัวใจและจิตเป็นธรรมชาติเหมือนกัน จึงเป็นความจริงเดียวกัน คำว่า ธรรมะ ก็คือธรรมชาติ ด้วยวิธีนี้เราก็เข้าใจธรรมชาติของทุกสิ่งที่เข้ามา
1
ธรรมชาติของคนต้องการคำตอบทุกเรื่อง และคิดว่าทุกเรื่องต้องมีคำตอบ การพิจารณาด้วยจิตจะมองมันอีกแบบหนึ่ง มองด้วยหัวใจมากกว่าความคิด และมันก็นำสู่การตื่นรู้
4
ตื่นรู้จึงไม่ใช่มีความรู้หรือข้อมูล แต่คือจิตตื่น
2
การทำสมาธิอาจเริ่มที่หลับตา แล้วลองฟังเสียงต่างๆ รอบตัว ไม่จับมัน แต่รับฟังมัน
1
ฟังเสียงนก เสียงดนตรี เสียงลมกระทบต้นไม้ไหว เสียงรถที่แล่นผ่านไป
ไม่ต้องหาความหมายของเสียงนั้น ไม่ต้องตัดสินเสียงที่ได้ยิน แค่ฟัง แค่ได้ยิน แล้วปล่อยให้มันไป
ฟังเสียงต่างๆ ให้เป็นเสียงรบกวนที่ไม่มีความหมาย ไม่ต้องบอกว่ามันเป็นเสียงอะไรหรือทำไม ไม่กดมัน ไม่หนีมัน
3
แล้วเราจะพบว่าโลกภายนอกกับโลกภายในเชื่อมกัน มาด้วยกัน มันคือคำที่ อลัน วัตต์ส เรียกว่า ‘happenning’ (สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น)
1
ทุกสิ่งคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เราแค่มองมัน
4
อีกเรื่องที่เราทำพร้อมกันคือการหายใจ เมื่อเราหายใจ เราอนุญาตให้ปอดหายใจของมันเอง ไม่ต้องมีวิธีการหายใจใดๆ ให้มันหายใจตามที่มันอยาก และเฝ้าดูมัน
3
ที่น่าสนใจคือการหายใจสามารถเป็นทั้งสมัครใจกับไม่สมัครใจ เราอาจมองว่าเรากำลังหายใจหรืออาจมองว่ามันคือ happenning
นี่คือเหตุผลที่การหายใจเป็นเรื่องสำคัญของการทำสมาธิ เพราะเมื่อเรารับรู้การหายใจของเรา เราพบว่าเราอยู่ระหว่างการทำเองกับ happenning โดยเป็นการเลือกของเราเองโดยไม่ต้องคิด
1
ขณะที่เราเฝ้ามองการหายใจของเรา เราพบว่าทั้งสมัครใจ กับไม่สมัครใจ กลายเป็น happenning หนึ่งเดียว
3
จุดนี้เราอาจมองว่าทุกอย่างเป็น happenning ต่อเรา หรือเราต่างหากเป็นคนทำทุกอย่าง
หายใจเข้าช้าๆ และออกช้าๆ โดยไม่ฝืน เหมือนนอนบนเตียงสบาย หายใจเข้าใหม่ รับรู้ แล้วจะพบว่าหายใจได้ลึกขึ้น มองโลก แต่ไม่ปรุงแต่ง
3
และนี่คือสภาวะของการทำสมาธิ
จุดนี้ก็คล้ายกับที่พระไพศาล วิสาโลกล่าวว่า การเจริญสติจะทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจ เห็นกาย เห็นใจ
เห็นสิ่งกระทบภายนอกต่อภายในของเรา
หลับตา ยิ้ม ผ่อนคลายต้นคอ หัวไหล่ แขน ผ่อนคลายหน้าอก หน้าท้อง ต้นขา ปลายเท้า ผ่อนคลาย หายใจสบาย รับรู้ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจทำให้เราพบความสงบภายใน มีลมหายใจจึงมีชีวิต ลมหายใจมาจากไหน ก็มาจากโลกภายนอก ธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ผลิตออกซิเจนให้เรา เรามีชีวิตเพราะโลกภายนอก
3
มองในมุมจักรวาล เรารับรู้ลมหายใจด้วยอากาศและน้ำที่เกิดมาตั้งแต่วันแรกๆ ของโลก
1
น้ำในร่างกายเราก็มาจากโลกภายนอก เป็นน้ำดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งกำเนิดโลก กลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเรา อากาศที่เราสูดก็เป็นอากาศที่คนอื่นในโลกทั้งหมดเคยสูด เคยผ่านชีวิตต่างๆ ที่อาจลาจากไปแล้ว ทั้งคน พืช สัตว์
4
จะว่าไปแล้ว การหายใจก็คือประตูเชื่อมโลกภายในกับโลกภายนอก
3
พระอมโรภิกขุ ศิษย์ของหลวงพ่อชา สุภัทโท เคยพูดถึงเรื่องการทำสมาธิว่า เมื่อเริ่มทำสมาธิ ก็เหมือนเปิดวิทยุพร้อมกันทีเดียว 3-4 สถานี เสียงแห่งความคิดตีกันวุ่นวาย
1
พระอมโรภิกขุกล่าวว่า ถ้างั้นเราจะดีกว่าไหมหากปิดสถานีทั้งหมด? หมายความว่าหยุดคิด เราจะได้เข้าสู่สภาวะสงบใจ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ‘การปิดสถานี’ โดยการทำสมาธิคือการกำจัดความคิดทั้งหลายออกไปให้พ้นตัว แต่สมองมนุษย์นั้นหยุดคิดไม่ได้ อีกทั้งการทำสมาธิจิตก็ไม่ใช่การหนี
7
เพราะการมีความคิดก็อาจมีประโยชน์เช่นกัน
2
การวางความคิดไว้ในตำแหน่งเหมาะสมสามารถช่วยลดความวุ่นวายได้
2
แต่การทำสมาธิอาจช่วยลดการคิดได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ใจสงบ
เวลาคนเรามองหรือฟัง จะพยายามคิดไปด้วย นี่อาจ ‘จำกัด’ การมองการฟัง
1
เรามีนิสัยต้องมองให้ชัด ฟังให้ชัด จดจ่อตั้งใจ และพยายามหาความหมายในสิ่งที่เห็นและฟัง
แต่นกกระสามองแบบเงียบๆ มองโลกทั้งใบ
1
เมื่อเราไม่มองความคิด หรือฟุ้งซ่าน ความคิดก็ไหลไปเรื่อยๆ
สมาธิทำให้เรากลับคืนสู่โลกของความจริง
1
ยุติความโกลาหลที่ปะดังเข้าไปในหัวตัวเอง ปล่อยให้การพูดกับตัวเองยุติ และเข้าสู่ความนิ่งสงบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องนั่งท่าขัดสมาธิ เราทำได้แม้ขณะเดิน หรือนั่งหรือนอนในอ่างอาบน้ำหรือนอนบนเตียงก่อนหลับ เพียงแค่ปล่อยให้จิตอยู่ของมันเอง อย่าไปรบกวนมัน และหยุดพยายามที่จะหาความหมายของโลก เพราะมีบางสิ่งที่น่าคิดมากกว่าความคิดในตัวมันเอง
4
ดังนั้นโดยผ่านการทำสมาธิ เราจะไปถึงความสงบสันติที่ลึกซึ้งซึ่งปรากฏบนพระพักตร์ของพระพุทธรูป
1
การทำสมาธิก็สามารถใช้หลักอู๋เหวยของเต๋า นั่นคือไม่ฝืน
ไม่ต้องใช้ความพยายาม ไม่ใช้กำลังต่อสู้กับอะไร
ในการร้องเพลง สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออย่าพยายามร้องเพลง แค่ฟังทำนองแล้วให้เพลงมันร้องเอง
1
เวลาทำสมาธิ อย่าพยายามทำสมาธิ ให้มันเป็นเอง
2
เวลาหายใจ ให้มันหายใจของมันเอง อย่าพยายามหายใจ
ให้ความคิดไปของมันเอง อย่าไปห้ามความคิด
5
ให้ตามองที่มันเห็น ให้หูฟังสิ่งที่มากระทบ
ในโลกที่เคลื่อนไหววุ่นวายตลอดเวลา จิตคิดตลอดไม่ได้ บางช่วงเราก็ต้องหยุด การทำสมาธิเป็นการหยุดพักเหนื่อยทางจิต เตือนให้เราหวนกลับคืนสู่ปัจจุบันขณะ
3
นักปรัชญาทางอินเดีย จีน และญี่ปุ่นสอนให้หาเวลาบางส่วนในแต่วันหยุดคิดสักพัก
1
แล้ว ‘กวน’ มองเงียบๆ เพื่อสัมผัสกับโลกของความจริง
ภาพประกอบ
ภาพนกกระสาโดย หลี่กู่ฉาน (李苦禪)
โฆษณา