19 พ.ย. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ชั่วยามที่เรามีชีวิต ก็ใช้ชีวิต
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
บางครั้งขณะเดินหรือนอนอยู่บนเตียง ผมจินตนาการว่าพื้นดินที่ผมเหยียบหรือเตียงที่ผมกำลังนอนอยู่ค่อยๆ หายไป แผ่นดินหายไปทีละชั้น ลึกลงไปเรื่อยๆ จนผมสามารถมองเห็นใจกลางโลกที่ร้อนระอุ
4
แล้วใจกลางโลกก็สลายตัวตามไป อีกซีกโลกหนึ่งหายไปเช่นกัน ในที่สุดโลกทั้งใบก็อันตรธานไป เหลือผมคนเดียวยืนกลางดาราจักร รอบตัวผมคือมวลดาวจำนวนมหาศาล
1
นี่เป็นภาพจินตนาการ แต่มันจะเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตไกลแสนไกล เมื่อสิ่งมีชีวิตบนโลก สรรพสิ่งบนโลก และตัวโลกเองสูญสลายไปตามกฎของธรรมชาติ หายไปทั้งหมดทั้งสิ้น
5
มองในมุมนี้ ทุกชีวิต ทุกสิ่ง ทุกเรื่องของโลกนี้เป็นเพียงฉากสั้นๆ ฉากหนึ่งในละครแห่งจักรวาล เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในชานเมืองของดาราจักรทางช้างเผือก จากบรรดาดาราจักรนับหลายแสนล้านดาราจักรในทะเลเอกภพ
ถ้าเช่นนั้นในอดีตที่ผ่านมา จักรวาลมีกี่โลกที่สูญหายไปแล้ว? เราไม่รู้ แต่อาจเดาได้ จักรวาลมีอายุ 13.7 พันล้านปี ยาวพอที่จะให้กำเนิดและยุติโลกจำนวนมหาศาล
3
เป็นไปได้สูงที่มีโลกซึ่งหายไปแบบนี้มาแล้วนับล้านๆๆ โลก อาจมีสิ่งมีชีวิตในโลกเหล่านั้นสักหลายสายพันธุ์ซึ่งคิดและตั้งคำถามอย่างที่ผมทำอยู่ตอนนี้ และพวกเขาก็หายไปหมดแล้ว เราไม่รู้จักพวกเขา
2
ก็พามาสู่คำถามว่า เรามาเกิดที่มุมนี้ของจักรวาลทำไม? เราเกิดมาเองจากความว่างเปล่า? หรือว่ามีใครสร้างเรา? มีเหตุผลอะไร? ทำไมเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างชีวิตแบบที่เป็นอยู่นี้? ทำไมเราคิดได้?
5
ถ้าเราคิดได้ ก็แปลว่าเรามีบางอย่างพิเศษหรือเปล่า? พูดสั้นๆ คือชีวิตเรามีความหมายหรือไม่? ถ้ามี อะไรคือความหมายของชีวิต? อะไรคือคุณค่าของชีวิต? และชีวิตจำเป็นต้องมีความหมายหรือคุณค่าหรือไม่?
5
เหล่านี้ย่อมไม่ใช่คำถามใหม่ และก็ไม่ใช่คำถามที่มีคำตอบ นักปรัชญาในอดีตกาลพยายามหาคำตอบ ทั้งในด้านแนวคิดปรัชญาและในเรื่องจิต เรื่องอำนาจเหนือเรา ฯลฯ
2
แม้แต่นักปรัชญาก็เห็นไม่ตรงกัน บ้างเห็นว่าชีวิตก็ต้องมีความหมายซี! (“เราเป็นสัตว์ประเสริฐ”) บ้างพูดถึงความหมายที่โยงกับความรัก สันติภาพของโลก ไปจนถึงนิพพาน แต่บ้างก็เห็นว่าคิดไปถามไปก็เปล่าประโยชน์ มันเป็นอจินไตย ฯลฯ
7
บางทีเราเป็นสัตว์โลกที่ชอบหาความหมายจากโลกซึ่งอาจไม่มีความหมายโดยสิ้นเชิง เราพยายามจะเข้าใจทุกอย่าง สร้างหลักการ เพื่อจะรู้สึกว่าเราควบคุมทุกอย่างได้ เราพยายามหาความหมายอะไรสักอย่าง เพื่อเกาะกุมไว้ให้สบายใจ หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่
7
แต่นี่อาจจะเป็นเรื่องไร้สาระที่เราคิดเองเออเอง
และอาจไร้สาระที่คุยเรื่องนี้!
อย่างไรก็ตาม ตามประสาคนว่างงานและเพื่อประโยชน์ของการทำให้นิวรอนไม่ว่างงาน เราจะลองถกกันเรื่องนี้อาจเพื่อหวังว่ามันทำให้เราเข้าใจอะไรๆ ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็รู้สึกไม่หลงทางบนโลกใบนี้ ในเวลาสั้นๆ ที่เหลืออยู่
4
ข้อเขียนนี้ไม่ได้พยายามจะตอบคำถามนี้แต่อย่างไร แค่บันทึกความคิดในหัวที่สะสมมานานปี ผ่านประสบการณ์ชีิวิตและการมองโลกด้วยเลนส์จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ ปรัชญา และศาสตร์ต่างๆ ที่อ่านสะสมมาทั้งชีวิต
3
ตั้งแต่เป็นเด็ก ผมก็สงสัยการดำรงอยู่ของตัวเอง สงสัยว่าเรามาได้ยังไง ทำไมเราจึงมีสติสัมปชัญญะแบบนี้ อย่างที่ผมเคยเล่าว่า ผมรู้สึกเหมือนเป็นมนุษย์ต่างดาวมาเยือนโลกโดยอยู่ในเปลือกของร่างกายมนุษย์
5
จนโตเป็นหนุ่ม ก็ตั้งคำถามเสมอว่า ชีวิตมีความหมายหรือไม่ เราตื่นเช้าไปทำงาน พักเที่ยง ทำงาน เลิกงาน กลับบ้าน ดูโทรทัศน์ นอน แล้วตื่นเช้าไปทำงาน ชีวิตมีแค่นี้เองหรือ? มนุษย์เกิดมาเพื่อทำเรื่องซ้ำซากแค่นี้เองหรือ?
4
และคงเป็นเรื่องเลวร้ายหากวงจรซ้ำซากแบบนี้มีไม่สิ้นสุด เหมือนซิซีฟัสเข็นหินขึ้นยอดเขาชั่วนิรันดร์
หากคิดว่าผมกำลังพูดเรื่องเหลวไหล ผมก็คงไม่ใช่คนแรก เพราะแนวคิดนี้มีมานานหลายพันปีแล้ว
ในโลกของปรัชญาโบราณ มีแนวคิดหนึ่งเรียกว่า Eternal Return หรือ Eternal Recurrence เสนอความคิดว่าจักรวาลเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับครั้งไม่ถ้วน แนวคิดนี้ไม่เกี่ยวกับการกลับชาติมาเกิดใหม่หรือเรื่องเหนือธรรมชาติใดๆ
3
แค่บอกว่าชีวิตถูกกำหนดมาให้เดินซ้ำๆ กัน เกิดเรื่องเดียวกันซ้ำๆ กัน เช่นที่ผมเกริ่นว่า ตื่นเช้าไปทำงาน พักเที่ยง ทำงาน เลิกงาน กลับบ้าน ดูโทรทัศน์ นอน แล้วตื่นเช้าไปทำงาน
แนวคิดนี้ปรากฏมาตั้งแต่สมัยอียิปต์กับอินเดียโบราณ ต่อมา Friedrich Nietzsche นำมาใช้เป็นความคิดสมมุติหรือการทดลองทางความคิดอย่างหนึ่งในหนังสือเรื่อง The Gay Science และ Thus Spoke Zarathustra
แนวคิดนี้สืบต่อไปว่า ถึงแม้เราจะเจอเรื่องร้ายซ้ำๆ กัน ก็สามารถยอมรับมันได้ ที่เรียกว่า Amor Fati (รักชะตา)
1
นีทเช่เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้มีชีวิตอยู่ด้วยเพียงขนมปัง เราต้องการความหมายในชีวิตเราด้วย
สำหรับหลายคน การดำเนินชีวิตนั้นยากถ้าไม่มีความหมายหรือจุดหมาย เหมือนคนเดินเรือโดยไร้เข็มทิศ
1
บ่อยครั้งเราปนเปตัวจริงของเรากับภาพลักษณ์ที่เราคิดว่าเราเป็น ทำให้เราไม่เป็นอิสระจริงๆ เช่น
4
“ถ้าฉันเป็นอาจารย์ ฉันก็เป็นปัญญาชน”
“ถ้าฉันเรียนจบโท ฉันก็ทำงานเป็นคนขับแท็กซี่ไม่ได้”
1
ดังนั้นจนกว่าเราจะเข้าใจว่าอะไรคือเปลือก อะไรคือแก่น อะไรคือเรื่องสมมุติ เราก็อาจยังไม่สามารถเข้าใจชีวิตจริงๆ ได้
3
โลกเราเป็น Eternal Return จริงหรือ?
มุมมองของผมเปลี่ยนไปมากหลังจากศึกษาเรื่องจักรวาลวิทยา ผมรู้สึกว่าเหมือนว่าคำตอบอยู่ตรงนี้ วิทยาศาสตร์สายจักรวาลเป็นศาสตร์เดียวที่บอกเรื่องต้นกำเนิดของทุกสิ่งอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ดังนั้นหากจะรู้เรื่องมนุษย์จริงๆ ก็ต้องศึกษาตั้งแต่กำเนิดจักรวาล หรือก่อนหน้านั้น
4
มองไปรอบตัว ไม่มีใครที่ผมรู้จักคิดหรือมองอย่างนี้เลย จึงเก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว กลัวคนอื่นจะเลิกคบเพราะคิดว่าเราบ้า!
6
ตัวละคร ‘ดารันต์’ ในเรื่องสั้น เดือนช่วงดวงเด่นฟ้าดาดาว ที่ผมเขียน กล่าวว่า “จงมองลึกเข้าไปในตัวท่านเอง ท่านจะพบกับจักรวาล และจงมองลึกเข้าไปในจักรวาล ท่านจะค้นพบตัวท่านเอง”
8
นี่มิใช่คำพูดเล่นลิ้นหรือพล็อตพาไป เพราะในความจริงเราจะพบจักรวาลในตัวเราเองจริงๆ อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพราะเราทุกคนเคยเป็นดวงดาวมาก่อน ทุกๆ อะตอมที่ประกอบเป็นตัวเราก็คือธุลีดาวที่ลอยล่องท่องจักรวาลในอดีตกาล
6
เซลล์ในร่างกายเราผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกๆ 7-15 ปี แต่อะตอมที่ประกอบเป็นตัวเราดำรงอยู่มาตั้งแต่ช่วงต้นของจักรวาล ทุกๆ อะตอมที่ก่อรูปเป็นตัวเรามีอายุนับหมื่นล้านปี บางอะตอมอาจเริ่มมาตั้งแต่ บิ๊ก แบง เมื่อ 13.7 พันล้านปีก่อน
3
เราคือจักรวาล เราคือเนื้อเดียวกับจักรวาล เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขยายตัวของจักรวาล
4
เราหายใจอากาศที่ไหลเวียนเปลี่ยนรูปมาตั้งแต่วันแรกๆ ของจักรวาล เราสัมผัสจักรวาลในตัวเราอย่างเป็นรูปธรรม
ใบไม้ทุกใบของต้นไม้มีอายุของมัน ช่วงเวลาของมันอาจจะสั้น รับแสงแดด เปลี่ยนเป็นชีวิต แต่เมื่อถึงวันหมดหน้าที่ มันก็เหี่ยวแห้งปลิดปลิว หลุดจากขั้วร่วงลงบนพื้นดิน กลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ต้นนั้น สืบทอดชีวิตต่อไป
2
เราทุกคนก็เป็นใบไม้ใบหนึ่งบนมหาพฤกษาแห่งจักรวาล เมื่อถึงเวลาที่ใบไม้เราร่วง มันก็ร่วงลงไป กลายเป็นปุ๋ยให้ต้นและใบไม้ใบอื่นๆ ต่อไป
2
ในอนาคตกาลไกลโพ้น เมื่อวันที่โลกทั้งใบของเราสลายไป เราก็อาจจะไปประกอบใหม่เป็นส่วนหนึ่งของโลกใหม่ หรือชีวิตใหม่ หรืออาจดำเนินต่อไปจนจักรวาลนี้สลายตัวไปด้วย แล้วเกิดจักรวาลใหม่
5
เมื่อมองอย่างนี้ เราก็พบว่าร่างกายเราเป็นการประกอบกันชั่วคราว ส่วนจิตใจจะเป็นผลพลอยได้ (by-product) ของชีวิต หรือเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มานานกว่านั้น เราไม่รู้ ที่เหลือนอกเหนือจากนี้ทั้งชีวิตเราเป็นเพียงมายาที่เราและสังคมสร้างขึ้นมา
3
มองมุมนี้จะพบว่าเราไม่เคยเกิด เราไม่เคยตาย เราก็คือโลกทั้งใบ เราคือต้นไม้ เราคือก้อนเมฆ เรามีคือมหาสมุทร เราคือจักรวาล ไม่มีตัวกูของกู มีแต่จักรวาลโดยรวม เราโลดแล่นไปในบทเพลงของจักรวาล ชีวิตเราเป็นเพียงท่อนหนึ่งท่อนสั้นๆ ของซิมโฟนีแห่งจักรวาล
4
เราแค่ปรากฏรูปมนุษย์ชั่วคราว แล้วเราก็สลายรูปนั้นไปในวันหนึ่ง ไม่ช้านานเราก็ถูกลืม ไม่เป็นที่จดจำ อีโก้ทั้งหลายเป็นเพียงมายา ก่อรูปลวงตาเราชั่วคราว แล้วหายวับไป
5
เราเป็นเพียงฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนฟันเฟืองของจักรวาลอีกที
2
โลกของเราเป็นเพียงธุลีหนึ่งในทะเลแห่งเอกภพ เรามีขนาดเล็กนิดเดียว หากวัดจากสเกลของเรากับโลกกับจักรวาล เราไร้ความสำคัญใดๆ ชีวิตเราสั้นมากเมื่อเทียบกับสเกลของจักรวาล
5
เช่นเดียวกับที่แมลงเมย์ฟลายมีอายุสั้นมากเมื่อเทียบกับเรา แมลงเมย์ฟลายมีอายุเพียงหนึ่งวัน พวกมันจะถามหาความหมายหรือไม่ ในเมื่อพวกมันมีชีวิตสั้นเหลือเกิน? พูดง่ายๆ คือยังไม่ทันตั้งหลักคิด ก็หมดหนึ่งวัน-หนึ่งชีวิตของแมลงชนิดนี้แล้ว
4
ในมุมมองของปรัชญาเต๋า ชีวิตคือลูกโซ่ของเหตุการณ์มากมาย เชื่อมด้วยความเปลี่ยนแปลง เต๋าสอนว่าอย่าไปต้านมัน (อู๋เหวย) มองความจริงตามจริง และให้มันคลี่คลายตามทางของมัน
3
ปรัชญาเต๋าเห็นว่า นักเดินทางที่ดีย่อมไม่มีแผน และไม่คิดจะไปให้ถึง
5
The journey is more important than the destination.
2
การเดินทางสำคัญกว่าจุดหมายปลายทาง
7
บางทีเราควรหยุดหาความหมายของโลก
เพราะการมีชีวิตอยู่ในโลกก็คือความหมายของชีวิต
5
บางทีการมีชีวิตในตัวมันเองก็คือความหมาย! เพราะสาระและความสนุกอยู่ที่แต่ละช่วงที่เราใช้ชีิวิต ก็คือขณะจิตนี้ ไม่ต้องคำนึงถึงอนาคตซึ่งไม่มีตัวตน
3
นักปรัชญาชาวอังกฤษ อลัน วัตต์ส ชอบเปรียบเทียบกิจกรรมต่างๆ กับการเต้นรำหรือบทเพลง ในช่วงเวลาที่เราเต้นรำ เราไม่ได้นึกว่าเพลงจะจบเมื่อไร หรือท่อนจบเป็นอย่างไร หัวใจและสาระของการเต้นรำก็คือชั่วขณะที่เราเต้นรำ
4
ชีวิตก็เหมือนกัน ทั้งชีวิตของเราก็คือการเต้นรำ ความหมายของทั้งชีวิตก็คือช่วงเวลาที่เรามีชีวิต
ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็จะไม่วิตกอนาคต แต่ ‘เต้นรำ’ หรือ ‘เล่นดนตรี’ ณ ขณะจิตนี้ให้สนุกที่สุด
ชั่วยามที่เรามีชีวิต ก็ใช้ชีวิต
2
เมื่อหายใจได้ ก็หายใจ เมื่อกินได้ก็กิน เมื่อง่วงก็นอน
1
อย่าคิดมาก อย่าซีเรียส เดี๋ยวก็จากโลกนี้ไปแล้ว
5
ความหมายของชีวิตพวกแมลงเมย์ฟลายก็คือหนึ่งวันนั้น และมันก็เป็นฟันเฟืองชิ้นหนึ่งในกลไกของทั้งจักรวาล มันมีบทบาทของมันแค่หนึ่งวัน ขณะที่เรามีบทบาทนานหลายสิบปี แต่เราก็มิได้สำคัญกว่าพวกมัน
3
ในหนังสือเรื่อง Thus Spoke Zarathustra นีทเช่เขียนถึงมนุษย์ประเภทหนึ่งที่เขาตั้งชื่อว่า Last Man (Letzter Mensch)
Last Man คือคนที่ใช้ชีวิตแบบ ‘เซมเซม’ ไม่กล้าเสี่ยง แสวงหาความสุขสบาย ความมั่นคง ไม่มีความสามารถคิดเกินตัว ซึ่งดูเหมือนเป็นมนุษย์สูตรสำเร็จของค่านิยมของโลกเราในปัจจุบัน
2
ในทางตรงข้าม นีทเช่เขียนถึงมนุษย์อีกประเภทหนึ่งที่เขาตั้งชื่อว่า Overman (Ubermensch)
Overman คือคนที่กล้าเสี่ยงเพื่อพัฒนามนุษยชาติ ตั้งคุณค่าของเขาเองโดยไม่แคร์ว่าต่างจากคนอื่นหรือค่านิยม เป็นอิสระจากกรอบคิดหรือคุณค่ามาตรฐาน ใช้ชีวิตในปัจจุบันมากกว่าจมในอดีต หรือไร้ความหมาย
1
บางทีนีทเช่อาจต้องการสื่อว่า ไม่ว่าชีวิตมีความหมายหรือไม่ เราสามารถเลือกเป็นคนชนิดที่เราต้องการได้
4
เราเกิดมาอย่างที่เราชอบยกย่องตัวเองว่าเป็น ‘สัตว์ประเสริฐ’ ก็สมควรทำตัวให้สมกับสัตว์ประเสริฐ ดังที่ตัวเอกในเรื่อง Spider-Man เรียนรู้ว่า “With great power comes great responsibility”
3
หากเราช่วยกันดูแลปกป้องโลก สิ่งมีชีวิตอื่นๆ บางทีนี่ก็คือ ‘ความหมาย’ ที่เราสร้างขึ้นมา ซึ่งอาจน่าสนใจกว่าคำถามว่าชีวิตมีความหมายหรือไม่ และเราอยู่ในโลกนี้ไปทำไม
3
โฆษณา