Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิตยสารสาระวิทย์
•
ติดตาม
30 ก.ย. 2022 เวลา 07:17 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เปิดโลกนิทานดาว กลุ่มดาวพิณ
โดย พงศธร กิจเวช (อัฐ)
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ตามตำนานกรีกโบราณ มีนักดนตรีหนุ่มชื่อ ออร์ฟีอัส (Orpheus) ผู้เล่นพิณ (lyre) ได้ไพเราะมากจนสามารถทำให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เคลิบเคลิ้มหลงใหล
ภาพโมเสก (กระเบื้องดินเผาแผ่นเล็กมาเรียงต่อกันเป็นรูป) ออร์ฟีอัสกำลังเล่นพิณกล่อมสัตว์ต่าง ๆ ศิลปะโรมัน ปี ค.ศ. 194 เป็นภาพที่นิยมกันในสมัยโรมัน ที่มาภาพ Wikipedia
เมื่อเจสัน (Jason) และเหล่าวีรบุรุษกรีกเดินทางท่องทะเลไปเพื่อค้นหาขนแกะทองคำ ออร์ฟีอัสได้ร่วมทางด้วย เรือลำนี้ต้องผ่านถิ่นที่อยู่ของไซเรน (Siren) ปีศาจผู้หญิง ใบหน้าเป็นมนุษย์ ตัวเป็นนก (หรือบ้างก็บอกว่าเหมือนนางเงือก คือลำตัวท่อนบนเหมือนมนุษย์ ท่อนล่างมีหางเหมือนปลา)
เสียงของไซเรนนั้นไพเราะและมีมนต์ทำให้คนเคลิบเคลิ้มขาดสติ และอาจทำให้เรือชนหินหรือหน้าผาจนเรืออับปางได้
ภาพวาดพวกมีแนดกำลังจะสังหารออร์ฟีอัส ภาพนี้อยู่บนแก้วเงิน ศิลปะกรีก ประมาณ 420-410 ปีก่อนคริสตกาล ที่มาภาพ Wikipedia
เมื่อออร์ฟีอัสได้ยินเสียงไซเรน เขาก็หยิบพิณออกมาบรรเลงเสียงที่ไพเราะกว่ากลบเสียงไซเรน ช่วยให้เจสันและเหล่าวีรบุรุษคนอื่น ๆ รอดชีวิตไปได้
ปัจจุบันคำว่าไซเรนยังหมายถึงเสียงจากเครื่องเตือนภัย เช่น เสียงไซเรนจากรถพยาบาล ที่ขอให้รถคันอื่นช่วยหลบทาง
อ่านเรื่องการเดินทางของเจสันเพื่อค้นหาขนแกะทองคำได้ในบทความเรื่อง “กลุ่มดาวแกะ ที่มาของเดือนเมษายน” คอลัมน์เปิดโลกนิทานดาว นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 97 เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 หน้า 48-51
ออร์ฟีอัสมีภรรยาชื่อ ยูริดิซี (Eurydice) วันหนึ่งยูริดิซีถูกงูกัดตาย ออร์ฟีอัสร้องเพลงบรรเลงพิณด้วยความเศร้าโศกจนเหล่าเทพเจ้าและเทพธิดาร่ำไห้ จึงบอกให้ออร์ฟีอัสไปขอร้องเฮดีส (Hades) หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า พลูโต (Pluto) เจ้าแห่งยมโลกหรือโลกแห่งคนตายที่อยู่ใต้ดิน ให้ปล่อยวิญญาณของยูริดิซีกลับมาบนโลกเบื้องบน
ออร์ฟีอัสเดินทางไปหาเฮดีส และร้องเพลงบรรเลงพิณจนเฮดีสใจอ่อนสงสาร จึงอนุญาตให้ออร์ฟีอัสนำยูริดิซีกลับไปได้ แต่มีข้อแม้ว่า ออร์ฟีอัสต้องเดินนำหน้ายูริดิซี และห้ามหันมามองยูริดิซีจนกว่าทั้งคู่จะถึงโลกเบื้องบน
หลังจากเดินมาเป็นระยะเวลายาวนานอย่างเงียบสงบ เมื่อออร์ฟีอัสเดินถึงประตูปากทางระหว่างโลกใต้ดินกับโลกเบื้องบน ออร์ฟีอัสเกิดร้อนใจสงสัยว่ายูริดิซีเดินตามหลังเขามาด้วยหรือเปล่า ? เฮดีสหลอกเขาหรือไม่ ? ออร์ฟีอัสจึงเผลอแว่บหันไปดู ปรากฏว่ายูริดิซียังไม่ทันได้เดินข้ามประตู แล้วร่างของเธอก็หายวับไปทันที
แม้ว่าออร์ฟีอัสจะกลับไปอ้อนวอนขอเฮดีสว่าได้โปรดให้โอกาสเขาอีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ออร์ฟีอัสจึงต้องกลับมาโลกเบื้องบนเพียงลำพัง และร้องเพลงคร่ำครวญ
ขณะนั้นมีกลุ่มหญิงสาวที่เรียกว่า มีแนด (maenad) สาวกของไดโอไนซัส (Dionysus) เทพเจ้าแห่งการทำเหล้าองุ่นหรือไวน์ ผ่านมาเห็นออร์ฟีอัสกับพิณ พวกมีแนดซึ่งกำลังเมามายเลยขอให้ออร์ฟีอัสร้องเพลงสนุกสนานให้ความบันเทิงแก่พวกตน แต่ออร์ฟีอัสอยู่ในอารมณ์เศร้าโศกเนื่องจากเสียภรรยา จึงไม่อาจเล่นให้ได้
พวกมีแนดโกรธมาก รุมเข้ามาฉีกร่างแยกแขนขาและศีรษะออร์ฟีอัสจนเสียชีวิต วิญญาณของออร์ฟีอัสเลยได้ไปอยู่ร่วมกับยูริดิซีภรรยาในยมโลก
อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า ออร์ฟีอัสเดินขึ้นภูเขาช่วงกลางคืนจนถึงเช้ามืดเพื่อรอบูชาดวงอาทิตย์หรือเทพฮีรีออส (Helios) ที่เสมือนเป็นเทพอพอลโล (Apollo) แต่ออร์ฟีอัสไม่บูชาเทพไดโอไนซัส ทำให้เทพไดโอไนซัสโกรธ จึงสั่งให้พวกมีแนดมาสังหารออร์ฟีอัส
ศีรษะและพิณของออร์ฟีอัสลอยไปตามแม่น้ำสู่ทะเลจนถึงเกาะเลสบอส (Lesbos) ประเทศกรีซ โดยยังคงส่งเสียงเพลงโศกเศร้าตลอดทาง จนกระทั่งชาวบ้านที่เกาะเลสบอสช่วยกันฝังศีรษะ
ส่วนชิ้นส่วนร่างกายอื่น ๆ ของออร์ฟีอัสนั้น เทพธิดามิวส์ (Muse) เทพแห่งศิลปะและวรรณกรรม ได้ช่วยนำไปฝัง และนำพิณของออร์ฟีอัสไปประดับบนท้องฟ้าท่ามกลางดวงดาว เกิดเป็นกลุ่มดาวพิณ (Lyra)
ดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวพิณคือดาวเวกา (Vega) อันดับความสว่างหรือโชติมาตรปรากฏ (apparent magnitude) 0 เป็นดาวที่สว่างอันดับ 5 บนท้องฟ้า อยู่ห่างจากโลก 25 ปีแสง ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 2 เท่า
เนื่องจากแกนโลกมีการส่ายเป็นวงกลมโดยใช้เวลารอบละ 25,770 ปี ปัจจุบันแกนโลกชี้ไปที่ดาวโพลาริส (Polaris) จึงทำให้ดาวโพลาริสเป็นดาวเหนือในปัจจุบัน แต่อีกประมาณ 12,000 ปีข้างหน้า แกนโลกจะหมุนเปลี่ยนไปชี้ใกล้ดาวเวกา ทำให้ดาวเวกาจะกลายเป็นดาวเหนือแทนดาวโพลาริส
ภาพกลุ่มดาวพิณ ที่มาภาพ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union ย่อว่า IAU)
คนจีนเรียกดาวเวกาว่า ดาวหญิงทอผ้า และเป็นที่มาของทางช้างเผือก อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “ทางช้างเผือก” คอลัมน์เปิดโลกนิทานดาว นิตยสารสาระวิทย์ ฉบับที่ 110 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 หน้า 40-43
ดาวเวกายังปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Contact ปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับยกย่องว่าดีที่สุดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก
ภาพสามเหลี่ยมฤดูร้อน วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 20:00 น. กรุงเทพฯ ทิศเหนือ สูงกลางศีรษะ ที่มาภาพ แอป Celestron SkyPortal
หากลากเส้นจากดาวเวกาในกลุ่มดาวพิณ ไปยังดาวสว่างที่อยู่ใกล้เคียงกันอีก 2 ดวง คือ ดาวอัลแทร์ (Altair) ในกลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila) และดาวเดเนบ (Deneb) ในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) จะเกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่า สามเหลี่ยมฤดูร้อน (Summer Triangle) เป็นสามเหลี่ยมที่จะเห็นตอนหัวค่ำในช่วงฤดูร้อนของประเทศตะวันตกในซีกโลกเหนือ (เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ) หรือประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม (สำหรับประเทศไทยจะเป็นช่วงฤดูฝน) และสามเหลี่ยมนี้จะอยู่ประมาณกลางศีรษะในตอนดึก
ภาพเนบิวลาวงแหวน ถ่ายโดย กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ที่มาภาพ NASA Hubblesite
วัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจมากที่สุดในกลุ่มดาวพิณคือ เนบิวลาวงแหวน (Ring Nebula) หรือ M57 เกิดจากดาวฤกษ์ที่อายุมากได้ปล่อยแก๊สออกมา อันดับความสว่าง 8.8 ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ห่างจากโลก 2,300 ปีแสง
เราสามารถเห็นกลุ่มดาวพิณได้ด้วยตาเปล่าในที่ที่มืดสนิท ไกลจากเมือง (ยกเว้นดาวเวกาที่สามารถเห็นได้ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ)
ในเดือนกันยายนช่วงหัวค่ำกลุ่มดาวพิณจะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
นิทาน
ดาราศาสตร์
ประวัติศาสตร์
3 บันทึก
3
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เปิดโลกนิทานดาว
3
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย