1 ต.ค. 2022 เวลา 05:53 • ข่าว
1 ตุลาคม 2534 - กำเนิดรายการ “เจ้าขุนทอง” รายการเด็กที่ใครๆ ต้องรัก
หากจะพูดถึงรายการเด็กในอดีตที่เราคิดถึงกัน เรียกได้ว่าตื่นเช้ามาก็ต้องเจอ หนึ่งในนั้นคือ “รายการเจ้าขุนทอง” ที่มีเพลงติดหูว่า “อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน ออกหากินร่าเริงแจ่มใส...” รายการที่มีเจ้าขุนทอง นกขุนทองแสนรู้จะพาไปเข้าใจเรื่องราวต่างๆ และให้แง่คิดที่ดีอยู่เสมอ ซึ่งรายการเจ้าขุนทองแต่เดิมนั้นเป็นรายการสอนการใช้ภาษาไทย และปรับเปลี่ยนจนปัจจุบันกลายเป็นรายการออนไลน์ขวัญใจน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ และเปลี่ยนผ่านมือการสร้างสรรค์โดยคนรุ่นใหม่มากขึ้น
ย้อนกลับไปวันแรกของการกำเนิดรายการเจ้าขุนทอง แต่เดิมนั้นรายการนี้เป็นดำริของ “คุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์” ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ที่ได้ไปปรึกษากับ “ครูอ้าว-เกียรติสุดา ภิรมย์” ว่าทางช่อง 7 สีอยากให้สถานีออกอากาศ 24 ชั่วโมง
และด้วยความที่คุณแดงเคยเป็นครูและทำโรงเรียนมาก่อน ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในการใช้ภาษาไทยของเด็กๆ ในยุคนั้น จึงอยากได้รายการที่ทำให้เด็กๆ เรียนรู้การใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง ประกอบกับครูอ้ายเองก็ผ่านบทบาททางด้านการแสดง การใช้เสียง และการเล่นหุ่นมือมา ก็เลยได้พูดคุยกัน จึงก่อกำเนิดรายการ “เจ้าขุนทอง” ขึ้นมา
สำหรับตัวละครหลักอย่าง “นกขุนทอง” นั้นก็เกิดจากไอเดียว่า นกขุนทองนั้นเลียนแบบเสียงพูดของคนได้ น่าจะสามารถเป็นตัวละครในการใช้ภาษาไทยได้ถูกต้อง จึงเป็นที่มาของ “เจ้าขุนทอง” ซึ่งตรงกับชื่อรายการและเป็นตัวละครดำเนินเรื่องหลักนั่นเอง ซึ่งรายการออกอากาศวันแรก คือ 1 ตุลาคม 2534 ออกอากาศเช้าของทุกวัน 7 วันรวดเดียว ซึ่งด้วยการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากช่อง 7 สีในยุคนั้น ทำให้รายการอยู่ยั้งยืนยงบนหน้าจอเกือบ 30 ปีเลยทีเดียว โดยออกอากาศครั้งสุดท้ายในปี 2560 ณ บ้านช่อง 7 สี
แน่นอนว่าความผูกพันของเด็กในยุคนั้นกับรายการนี้ คงหลีกหนีไม่พ้น “การส่งจดหมาย” ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของรายการเด็กหลายรายการ เจ้าขุนทองก็เป็นอีกรายการหนึ่งที่เคยได้ถุงจดหมายมากถึง 3 ถุงใหญ่ในวันเดียว! ซึ่งเด็กในยุคนั้นหลายคนก็ทั้งเขียนเล่าเรื่องที่ภูมิใจของท้องถิ่น เล่านิทาน
ตลอดจนการวาดรูปมาให้ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งแรงใจชั้นดีเลย นอกจากทีมงานจะสามารถพัฒนาให้เด็กๆ ตื่นมาดูรายการนี้ทุกเช้า มาเรียนรู้เรื่องภาษาและการจำลองสังคมให้เด็กๆ ได้รับรู้ การได้รับกำลังใจจากแฟนๆ รายการก็ยังเติมเต็มทีมงานได้เช่นกัน
ปัจจุบันรายการเจ้าขุนทองได้ปรับการผลิตคอนเทนต์ โดยได้ร่วมมือกับ ThaiPBS และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ผลิตรายการ “ฉงนฉงาย สองควายช่างสงสัย” เพื่อให้ความรู้เท่าทันสื่อ และปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเข้าใจสังคม รู้เท่าทันสังคมมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังผลิตคอนเทนต์บน YouTube “ขุนทองและผองเพื่อน Khuntong & Co.” มีการเล่านิทานและเรื่องราวสนุกสนานมากมายเลยทีเดียว
แน่นอนว่าเวลาย่อมเปลี่ยนแปลงสังคมไปตามกาลเวลา แต่ผมยังเชื่อเสมอว่าเจ้าขุนทองในยุคนี้ ที่ยังเลือกการเล่าแบบหุ่นละคร และจากการผลิตในห้องส่งช่อง 7 สีจนกระทั่งมาผลิตในพื้นที่ของตนเอง สิ่งที่พวกเขายังไม่เปลี่ยนแปลง คือการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ เพื่อเยาวชนอย่างแน่นอน
เรียบเรียงโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
เขียนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565
คิดถึงเรื่องสื่อ เปิด #ส่องสื่อ
ติดตามเราได้ทาง www.songsue.co / www.modernist.life
ติดต่อโฆษณาและลงข่าวประชาสัมพันธ์
โฆษณา