1 ต.ค. 2022 เวลา 08:11 • ศิลปะ & ออกแบบ
บันทึก ถอดบทเรียน “พระธาตุเจดีย์ศรีสุพรรณ”
2
ภาพ บันทึก พระธาตุเจดีย์ศรีสุพรรณ ขณะพังทลายลงทีละส่วนก่อนจะเป็นกองดิน
เหตุการณ์พระธาตุศรีสุพรรณ (เมืองเชียงใหม่) พังลงมา น่าจะให้แง่คิดในด้านดีสำหรับใครหลายๆคนได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่างน้อยเหตุการณ์นี้น่าจะทำให้ทุกคนต้องกลับมาคิด ทบกวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จากการที่เคยไปเยี่ยมเยือนวัดแห่งนี้แม้ว่าจะราว ๑๐ ปีแล้วก็ตาม ทำให้รับรู้ถึงพลังศรัทธาที่เชื่อได้ว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ของทั้งทางวัด และญาติโยมที่อยากให้พระธาตุนี้ตั้งอยู่ไปได้ “สวยๆ ยาวๆ” แบบที่ตัวเองเข้าใจโดยมีสีสัน อร่าม สะดุดตา
แต่...ในความเป็นจริง ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลการซ่อมสร้างองค์พระธาตุ รวมถึงการซ่อมแซมปลีกย่อยเป็นครั้งคราว เช่นการก่อครอบใหม่เพื่อให้เห็นรูปร่างหน้าตาภายนอกที่โดดเด่น สะดุดตา แต่ไม่มีการใช้ระบบโครงสร้างใหม่ไปช่วยรับน้ำหนักเพื่อให้เกิดความแข็งแรง ฯลฯ เมื่อได้เห็นคลิปช่วงเวลาที่พระธาตุล้มครืนลงมา ทำให้มานึกถึงสาเหตุ (แบบวิทยาศาสตร์) ว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่น่าจะมีส่งผลต่อการพังลงของพระธาตุองค์นี้ จึงขอประมวลมาเคร่าๆ ดังนี้
๑. เกิดฝนตกต่อเนื่องในเมืองเชียงใหม่ อันนี้มีตัวอย่างที่ชัดๆในเวลาไล่เรี่ยกันก็คือ กำแพงเมืองฝั่งประตูช้างเผือกทางทิศเหนือของเวียงพังลงมา ฯลฯ
๒. น้ำฝนทำให้เกิดความชื้นสะสมในชั้นใต้ดิน ทำให้ดินอุ้มน้ำ อาจทำให้ตัวฐานเจดีย์มีการทรุดตัวไม่เท่ากัน
๓. ความชื้นของดินและอิฐที่มีการขยายตัว พยายามดันโครงสร้างภายในของพระธาตุเจดีย์ซึ่งล้วนเป็นอิฐก่อ จนทำให้อิฐซึ่งเป็นระบบโครงสร้างหลักในสมัยก่อนเกิดการเปื่อยยุ่ย ย่อมทำให้โครงสร้างโดยรวมเสียกำลังไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง
๔. การ "ซ่อมใหญ่" ที่พอให้เห็นเป็นหลักฐาน (มีอย่างน้อย ๒ ครั้ง) คือ ช่วงพุทธทศวรรษ ๒๔๗๐ (ตามข้อสันนิษฐานของ ศาสตราจาย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์) และปี พ.ศ. ๒๕๑๘ (ตามการให้ข้อมูลของ พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ) หลังจากนั้นก็มีการซ่อมย่อยเป็นช่วงๆ จากภาพถ่ายในสื่อออนไลน์ทำให้เห็นลักษณะของวัสดุที่เป็นอิฐรุ่นใหม่ก่อครอบเข้าไปกับอิฐเดิมที่มีสภาพเปื่อยยุ่ย
๕. จากรูปแบบและลักษณะของอิฐที่แตกพังลงมา ทำให้รู้ว่ามีการก่อทับเข้าไป สอดคล้องกับรูปแบบที่เห็นในปัจจุบันว่าน่าจะมีการซ่อม-สร้าง (ซ่อมใหญ่)ไม่เกิน พ.ศ. ๒๔๗๐ (คือราวเกือบ ๑๐๐ ปี) และมีระยะเวลา "ซ่อม-สร้าง" อย่างน้อยครั้งหลังสุดในช่วงราวเกือบ ๕๐ ปีมาแล้ว
๖. ช่วงราว ๕๐ ปีมานี้มีการซ่อมปลีกย่อย และในระยะเวลาต่อมาเกิดนวัตกรรมที่มีคุณสมบัติป้องกันความชื้น แสงแดดได้ดี (ซึ่งเหมาะกับวัสดุและโครงสร้างสมัยใหม่ด้วยกัน) โดยนิยมนำมาใช้เพื่อให้องค์เจดีย์อร่าม สดใส คือการใช้สีที่มีคุณภาพดี (คือทนทาน หลุดลอกหรือเสื่อมยาก) ทาลงไปที่องค์พระธาตุ เพื่อหวังให้พระธาตุมีความโดดเด่น สง่างามได้ยาวๆ (ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นจิตที่คิดดีของวัดและญาติโยม)
แต่.. เนื้อสีกลับไปทำให้ไม่มีพื้นที่ในการระบายอากาศระหว่างภายในกับภายนอกขององค์พระธาตุที่มีอุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนานนับหลายปี จึงทำให้อิฐเดิมซึ่งเป็นโครงสร้างหลัก และยังคงเป็นระบบโครงสร้างโบราณไม่สามารถทนต่อเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้
๗. อิฐเก่าที่มีความชื้น เปื่อยยุ่ยไร้ซึ่งกำลัง กับ อิฐใหม่ที่คงความแข็งแรงที่มีการก่อครอบและตกแต่งในรูปแบบศิลปะจารีตตามสมัยนิยมใหม่ จึงเกิดการแยกตัวออกจากกันโดยไม่สามารถเกาะกันให้เป็น “หนึ่งเดียว” เหมือนกับเมื่อแรกซ่อมสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ ผลก็คือเกิดการปริแตก เป็นรอยร้าวลงมาตามแนวดิ่งขององค์พระธาตุเจดีย์ ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่มาจากการทรุดของดินที่ไม่เสมอกันด้วย
๘. เมื่อมีการปริ แตกร้าวที่องค์พระธาตุกอปรเกิดฝนตกชุก น้ำฝนไหลเข้าไปภายในองค์พระธาตุจึงเป็นการเพิ่มการทำลายระบบโครงสร้างภายในอย่างตรงๆ โดยที่เนื้อในของพระธาตุซึ่งเป็นอิฐต่างช่วงเวลากันไม่สามารถปรับอุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ (การปรับตัว) เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับอุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ ภายนอก เพราะเนื้อสีมีคุณสมบัติเป็น “ฟิลม์บางๆ” เคลือบอยู่ จึงเปรียบเหมือนกับผิวหนัง (Skin) ที่ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง
เหตุการณ์ครั้งนี้ สามารถถอดบทเรียนได้ ดังนี้
๑. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลป์ฯ วัฒนธรรม จังหวัด อบต. สถาบันการศึกษา ฯลฯ ควรมีการประชาสัมพันธ์ จัดประชุม เสวนา หรือจัด Work Shop ที่เกี่ยวกับ “การอนุรักษ์และพัฒนาทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” ที่ถูกต้องอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจเพิ่มมากขึ้น เช่น พระสงฆ์ ผู้ศรัทธา(เหล่าสายบุญ) ช่าง ผู้รับเหมา ฯลฯ ได้มีโอกาสเข้าถึงชุดข้อมูลเหล่านี้
๒. ภาครัฐ เอกชน สามารถสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสิ่งที่มีความสำคัญในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิ่งที่มีคุณค่าในพื้นที่ มาสู่การมีส่วนร่วม ช่วยกันดูแล รักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้สิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ (ไม่ว่าจะเป็น โบสถ์ วิหาร พระธาตุเจดีย์ ศาลา ใบลาน ฯลฯ) ได้รับการอนุรักษ์เพื่อให้ผู้คนที่สนใจทุกกลุ่มสามารถใช้ศึกษา เรียนรู้ได้โดยกว้างขวาง
๓. (เชิญมิตรสหายเพิ่มเติม เพื่อสร้างสรรค์ได้)
ภาพลายเส้นนี้ เป็นมุมมองจากบนตึกใกล้เคียง โดยคัดลอกจากภาพถ่ายในสื่อออนไลน์ที่แชร์ต่อกันมา จึงขอขอบคุณผู้ถ่ายภาพที่เสี่ยงเป็นขึ้นไปบันทึกภาพก่อนที่พระเจดีย์จะทลายลงมาคงเหลือไว้แต่ส่วนฐานเพียงเล็กน้อย
ภาพ บันทึก พระธาตุเจดีย์ศรีสุพรรณ ขณะพังทลายลงฯ
วาดลง Tab S7
ขนาดภาพ A5 (๑๕ x ๒๐.๕ ซม.)
ระยะเวลาวาด ๒๕ นาที
โฆษณา