1 ต.ค. 2022 เวลา 12:55 • สุขภาพ
วันเริ่มต้น
ก็หลังจากที่เราได้นั่งคุยแบบมึนๆ กับคุณวันเพ็ญ ในวันหนึ่งของต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 นั่นแหล่ะ เรากลับมาตั้งหลักและศึกษาเรื่องราวของเอชไอวีทั้งหมด ... อีกครั้ง
จริงๆ เรารู้จักเขามาตั้งแต่ ... อาจเป็นตอนเรียนชั้นมัธยมฯ ... ม.3 มั้ง ราวปี พ.ศ. 2534 ตอนนั้นจำได้ว่าเพื่อนสนิทคนหนึ่งเขียนเรียงความเกี่ยวกับเอชไอวี ได้รางวัลชนะเลิศ จึงทำให้เรียงความนั้นได้ไปตีพิมพ์อยู่ในวารสารของโรงเรียน มันเป็นเรียงความที่ไหลลื่น น่าอ่าน แต่เอชไอวีก็ยังน่ากลัวสำหรับทุกๆ คนอยู่ดี
ปัจจุบันปี พ.ศ. 2565 เอชไอวีก็ไม่ได้น่ากลัวน้อยลงเพียงแต่ว่าเรามีทางเลือกในการป้องกัน ทางเลือกในการรักษามากขึ้น และแนวทางการรักษามาตรฐานปัจจุบันที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นฉบับปี พ.ศ.2564-2565 ที่อัพเดทล่าสุดแล้ว หาดาวโหลดอ่านกันฟรีๆ ได้ทางหน้าอินเตอร์เน็ต เราสรุปว่าแนวทางการรักษาปัจจุบัน (ขอข้ามเรื่องของการวินิจฉัยไปเลยเพราะไม่เกี่ยวกับเราและท้ายสุด การวินิจฉัยก็ออกมาเรียบร้อยแล้ว) ยังมีหลักการเดิมคือใช้ยาร่วมกัน 3 ตัวยา
สำหรับเราแล้ว เราตัดสินใจรับยาผ่านโครงการวิจัยของอาจารย์แพทย์ของสถาบันการแพทย์แห่งหนึ่งที่คลินิกสุขภาพชุมชนเล็กๆ เราเข้าใจว่าโครงการวิจัยดังกล่าวกำลังออกแบบการค้นหาผู้ติดเชื้อพร้อมทั้งเริ่มให้ยาได้โดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เพียงปฏิบัติตามแนวทางที่สร้างไว้ และติดตามผู้ป่วยผ่านระบบทางไกลที่ 1, 2, 3, 6 และ 12 เดือน
ทำไมต้องเป็นที่นี่ ?
เราแค่เชื่อมั่นเรื่องการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล เราเชื่อมั่นในการจะได้รับยาที่อัพเดทที่สุดตามแนวทางปัจจุบัน และเราเชื่อมั่นว่ายาตามแนวทางปัจจุบันเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าตัวก่อนๆ ทานยาแค่วันละครั้ง รวมทั้งผลข้างเคียงที่น้อยกว่า
ก็เราต้องอยู่กับเขาและยานับจากนี้ไปอีกนานถึงเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้ได้
เราเริ่มยาหลังจากข้อมูลผลเลือดและเอ็กซเรย์ปอดผ่านการพิจารณาจากแพทย์แล้ว (่ผ่านระบบทางไกล) มันเป็นการบริการที่ปกปิดชื่อและนามสกุลจริง (ยกเว้นตอนไปเอ็กซเรย์ปอดที่โรงพยาบาลที่ต้องแสดงบัตรประชาชนเพื่อขอรับบริการ (เอ่อ ทีแรกเราก็นึกว่าขั้นตอนนี้จะปกปิดด้วยซะอีก)
วันแรกเราเข้าไปที่คลินิกสุขภาพชุมชนประมาณบ่ายสาม เจ้าหน้าที่คนที่ 1 ให้คำปรึกษาก่อนเจาะเลือด เจ้าหน้าที่คนที่ 2 ให้คำปรึกษาหลังเจาะเลือดพร้อมแจ้งผล และนัดให้เราไปเอ็กซเรย์ปอด วันนั้นสิ้นสุดที่ประมาณ 6 โมงเย็น ส่วนวันรุ่งขึ้นเริ่มตั้งแต่ 8 โมงเช้าที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งที่เราแค่ต้องการผลเอ็กซเรย์ปอด ... เที่ยงครึ่งนั่นแหล่ะถึงได้ผลกลับมา และเราได้พบเจ้าหน้าที่คนที่ 3 สำหรับการจ่ายยาพร้อมให้คำแนะนำเบื้องต้น
ที่คลิกนิกสุขภาพชุมชนแห่งนั้น หลายคนรับยา 1 ชนิด ที่กล่องเขียนว่า Tenof-EM เข้าใจได้ว่าเป็นกลุ่มที่ทานยาเพื่อป้องกันก่อนสัมผัสโรค ภาษาอังกฤษคือ PrEP (อ่านว่าเพร็พ) ใครได้ยาไปแล้วไม่ทานจะโดนดุ ... ก็ใช่นะสิ เขาให้เอาไปกินต่อเนื่องทุกวันเพื่อให้ได้ผลในการป้องกันโรค อุปมาเหมือนหญิงที่ทานยาคุมกำเนิดรายเดือน กินทุกวันถึงจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้
แต่ถ้าไม่ได้กินยาคุมกำเนิดแบบรายเดือนทุกวัน เผลอไปนอนกับแฟน ก็ต้องกินแบบฉุกเฉิน ... ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ทานเพื่อป้องกันก็เช่นกัน ถ้าแบบหลังสัมผัสโรคเขาก็เรียกว่า PEP
PEP ก็เหมือนยาคุมฉุกเฉินนั่นแหล่ะ แค่กินแล้วไม่มีประจำเดือนมาเหมือนการกินยาคุมฉุกเฉินเท่านั้นเอง
เราก็ได้ Tenof-EM เหมือนกับคนอื่นๆ แต่เราได้ Dolutegravir มาด้วยพร้อมใส่ยาทั้งหมดมาให้ในถุงทึบสีเขียวเข้ม ปริมาณยาอย่างละ 1 กระปุกที่สามารถทานได้ 1 เดือน พร้อมไลน์ของเจ้าหน้าที่คนที่ 4 ที่จะเป็นคนติดตามอาการหลังทานยา
ก็คือยาสูตรแนะนำแรกตามแนวทาง
Tenof-EM ก็คือยาเม็ดสูตรผสมระหว่างตัวยา Tenofovir Disoproxil Fumarate ซึ่งย่อว่า TDF หรือบ้างก็เรียก Tenofovir DF บ้างก็เรียกแค่ Tenofovir ส่วน EM คือ Emtricitabine ตัวย่อคือ FTC
ตัวที่ 3 ของสูตร คือ DTG ชื่อเต็มคือ Dolutegravir Dolutegravir นี่แหล่ะ ที่เราหวังว่าจะเป็นไม้เด็ดของการรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน
Tenofovir - ทีโนโฟเวีย
Emtricitabine - เอ็มไตรซิตาบีน
Dolutegravir - โดลูทีกราเวีย
.
ออกจากคลินิกฯ เปิดขวดยาแล้วกรอกใส่ปากไปอย่างละ 1 เม็ด ตอนนี้เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง เรากลืนยาลงท้องไปพร้อมกับความหวัง และปฏิญาณในใจว่าแม้ฟ้าถล่ม ดินทลาย เราสัญญาจะทานยาให้ตรงเวลาทุกวัน
01102565
โฆษณา