8 ต.ค. 2022 เวลา 12:02 • ศิลปะ & ออกแบบ
สก๊อดแลนด์ วันที่ 3 (ตอนที่ 1) หอศิลป์ร่วมสมัย สก๊อตแลนด์ ไปดูงานสมัยใหม่ (ที่ไม่ค่อยจะใหม่แล้ว) กันเถอะ
หลังจากที่ชมหอศิลป์แห่งชาติแล้วก็ไปชมงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งสก๊อตแลนด์ (Scottish National Gallery of Modern Art) กันต่อ ที่นี่อยู่ไกลจากย่านจอแจของเมืองแต่ก็สามารถเดินทางไปถึงได้
ระหว่างทางไปบรรยากาศเริ่มเปลี่ยน จนสงสัยว่ามาถูกทางเหรอ รถราเริ่มน้อยลง ผู้คนบนถนนก็น้อยลง เส้นทางเปลี่ยวขึ้นแต่ตึกสวยๆยังคงมีให้เห็นเช่นเดิม เดินอยู่นานนึกว่าจะมาผิดทางเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเลย จึงได้ไปถามทางผู้หญิงคนหนึ่งหน้าตาเหมือนคนละตินอเมริกันผู้ใจดี บอกว่ามาถูกทางแล้วละหนู เดินไปตามที่บอกนะแหละไม่มีทางพลาด
เมื่อมาถึงอากาศก็เปลี่ยน มืดครึ้มและเงียบสงบ ตึกสีเทาคร่ำมีหน้าจั่วแบบพาเธนอนตามสไตล์เมืองเอดินบะระ (เห็นบ่อยจนถึงสงสัยว่าเขาออกแบบตึกหอศิลป์แบบอื่นไม่ได้กันเหรอ หรือนี่ดีที่สุดแล้วที่เขาคิด) ใหญ่โตอยู่กลางสนามหญ้ากว้างขวาง ที่นี่มีเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยของสก๊อตแลนด์ซึ่งอยู่ทั้งสองฝั่งของถนน มีประติมากรรมสวยๆแปลกๆตั้งอยู่เป็นสัญลักษณ์
เดินเข้าประตูรั่วไปก็ได้พบกระท่อมน้อยหลังหนึ่ง เห็นครั้งแรกนึกว่าเป็นป้อมยาม แต่มีป้ายแปะไว้ ว่านี่คือที่ทำงานของ Artist ชื่อว่า Helen Leigh ถ้าคุณมาถึงก็ช่วยเปิดหน้าต่าง ไปทักทายกับเธอหน่อยนะ
ผมเปิดหน้าต่างไปตามคำเชิญ แง้มไปตรงบานหน้าต่าง ผู้หญิงสาวหน้ากลมๆวิ่งมาปะทะยิ้มแย้มตอบเป็นการทักทายก่อนเข้าชม
เดินเข้าไปตรงตึกใหญ่สีเทาก็พบพนักงานแต่งตัวแบบสก๊อตอีกแล้ว ภายในนั้นค่อนข้างเงียบเชียบ ต่างกับ Tate Gallery ที่ลอนดอนสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามแม้ว่าหอศิลป์ที่นี่จะเล็กแต่ก็มีงานของศิลปินในระดับตำนานหลายคนอยู่เหมือนกัน ทั้งของSCและประเทศอื่น ๆ
เข้าไปในส่วนแรกจะพบกับคอลเลคชั่นรูปใบหน้าที่ศิลปินสมัยใหม่หลายคนวาดเอาไว้ แขวนบนผนังดูละลานตาไปหมด ใบหน้าเหล่านี้แสดงถึงสไตล์ที่หลากหลายของแต่ละศิลปิน (อันที่จริงเขาใช้ชื่อ (title) ว่า Head ไม่ใช่ Face นะ
แต่ผมคิดว่าถ้าแปลตรงตัวแล้ว จินตภาพของผู้อ่านจะไม่เหมือนกับที่มันเป็น) ถือเป็นสิ่งบ่งชี้อัตลักษณ์ของแต่ละศิลปินได้ดี และระบุรูปแบบของศิลปะในแนวต่างๆได้ รวมทั้งการแสดงอารมณ์ต่างๆ ความเจ็บปวด สุขเศร้า ได้ตามโลกทัศน์ของศิลปิน รวมทั้งเทคนิคที่แต่ละคนใช้ในการสร้างงานอีกด้วย
หลังจากชมใบหน้าสารพัดแบบไปแล้วลองมาดูคอลเลคชั่นอื่นๆกันต่อ พบปะจ๊ะเอ๋กับศิลปินระดับโลกหลายคน อย่างเช่นปิกัสโซ ภาพ Mother and Child ในสไตล์บาศก์นิยม (Cubism) นำเอาภาพจากหลายมุมมองมาซ้อนกันเป็นหลายมิติ ภาพทิวทัศน์ป่าดงของโกแกงสีสวยงาม งานของปิแอร์ มอนเดรียน ใช้เส้นตรงไม่กี่เส้นบนผ้าใบมาสร้างระนาบแม่สีบนผืนผ้าใบ ดูแล้วน่าจะไปออกรายการทำเองก็ได้ง่ายจัง (วุ๊ย ปากบอน)
ต่อจากนั้นเป็นกลุ่มของศิลปินลัทธิสำแดงพลัง (Expressionism) ชื่อดังหลายคน อย่างเช่น E. L. Kirchner รูปนางละครญี่ปุ่นที่ใช้ฝีแปรงหยาบๆสีสดแสดงใบหน้าที่ดูเหมือนหน้ากากคนไร้วิญญาณ งานของฟรานซิส เบคอน รูปเสื้อโค้ทและหมวกที่ไร้ผู้สวมใส่แต่จัดวางแล้วดูเหมือนเป็นร่างที่หมอบซบลงกับพวงหรีด
ภาพของลูเซียน ฟรอยด์ (คนนี้เป็นญาติกับซิกมันต์ ฟรอย์จริงๆ และสร้างงานแบบโรคจิตอีกด้วย) รูปชายนอนสองคน คนหนึ่งสวมเสื้อผ้าอีกคนหนึ่งเปลือย ทั้งสองดูหลับใหลแต่ก็ดูเหมือนกำลังว้าวุ่นใจและทุกข์ทน
ภาพคุณพ่อของศิลปิน John Bellany ดูแล้วเห็นพลังชาวประมงที่แข็งแกร่งด้วยความหยาบของฝีแปรงบนทำให้เกิดภาพผู้ชายที่มีพลังเข้มแข็งในร่างกายและดวงตาที่จ้องเขม็งแบบมุ่งมั่น
ภาพผู้หญิง (Women) ของ Edvard Munch ผมสยายและเส้นลายคลื่นลอนที่ไหลเวียนเหมือนอารมณ์หลอนตามสไตส์ของศิลปิน ภาพ Milky Way ของ Peter Doig ดูแล้วมันเป็นค่ำคืนคลื่นหลอน เหมือนเป็นฝันบอกเหตุบางอย่าง
สำหรับกลุ่มลัทธิเหนือจริง (Surrealism) ก็มีศิลปินดังเช่นกัน อย่างภาพของ max ernst รูปเถาว์ไม้ยุ่งเหยิงมีตั๊กแตนแฝงตัว ภาพของ Paul De Vous เป็นรูปผู้หญิงนู้ด ในภูมิประเทศที่ดูเหมือนความฝัน จิตไม่อยู่กับตัว มีแรงปรารถนาที่ปะปนกับความสยองขวัญและความตาย
อีกภาพเป็นงานของ salvador dali รูปซากนกที่ดูเหมือนข้างในจะมีซากหมาหรืออะไรสักอย่างนึงบนพื้นผิวทราย และภาพของ Rene Magritte เป็นรูปกระจกและมีคำเขียนว่า ซากศพมนุษย์ (Corpse Human) แปะอยู่
ส่วนที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ตู้แห่งความใคร่รู้ (Cabinet of curiosities) มีของสะสมที่แสดงให้เห็นธีมบางอย่าง หลายพิพิธภัณฑ์มีตู้ทำนองนี้ให้ได้ชมซึ่งอาจมีเรื่องราวและบรรยากาศต่างกัน แต่สำหรับที่นี่ดูแล้วชวนให้คิดถึงงานของกลุ่มเซอร์เรียลลิซึ่มมากกว่าอย่างอื่น ภายในตู้ดูเป็นของประหลาดเหมือนมาจากแดนลี้ลับ ดูมีเวทมนต์สุดแสนมหัศจรรย์
อย่างเช่นรูปหล่อศีรษะมนุษย์ที่ดูเหมือนสตรีอินเดียโบราณ ซากปลาโบราณจากใต้สมุทร ศีรษะที่ด้านหนึ่งเป็นหัวกะโหลกแต่อีกด้านหนึ่งเป็นใบหน้าคน เซรามิกรูปมือมนุษย์ หมูป่าทำจากแก้วเป่า รูปแกะสลักเด็กชายที่ยิ้มแสยะขดตัวนอนหงาย เห็นแล้วหลอนเหมือนเดินไปในความฝันร้าย
เขียนมาถึงตรงนี้แล้วเหนื่อย เพราะยังมาได้ครึี่งทาง ยังมีอะไรอีกเยอะที่ใครจะชมในหอศิลป์นี้ โดยเฉพาะศิลปินสไลต์ POP ART ที่โด่งดังไปทั่วโลก ถ้าไม่มาชมถือว่าไม่ได้มาที่นี่ เขาคนนี้มีชื่อว่า รอย ลิกเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein)
แต่พักเหนื่อยก่อน เดี๋ยวเราไปชมกันต่อตอนนี้ดีกว่า นั่งพักก่อนนะจ๊ะ
ตามต่อไปได้ที่ลิงก์ด้านล่างได้ ณ บัดนาว
โฆษณา