2 ต.ค. 2022 เวลา 01:26 • หนังสือ
"เพราะมนุษย์ไม่ได้มองเห็นโลกอย่างที่โลกเป็น แต่เรามองเห็นโลกอย่างที่เราเป็น"
'มองไม่ได้แปลว่าเห็น' เขียนโดย จอห์น เบอร์เกอร์ นักวิจารณ์ศิลปะระดับตำนาน
มองไม่ได้แปลว่าเห็น เป็นหนังสือความเรียงทั้งหมด 7 บท แต่มีอยู่ 3 บทที่นำเสนออกมาเป็นรูปภาพ (ภาพผลิตซ้ำ) ล้วน ๆ ที่เสมือนเป็นการโหมโลงก่อนเข้าสู่ความเรียงในบทต่อไป
โดยในแต่ละบท จอห์น เบอร์เกอร์ จะแสดงเจตนาชัดเจนว่าเขาจะวิจารณ์ในหัวข้อเรื่องอะไร เช่น
- บทแรกจะวิพากษ์เรื่องภาพผลิตซ้ำที่ก้าวเข้ามากัดกร่อนคุณค่าภาพศิลปะต้นฉบับ (หรือของแท้)
Mona Lisa ผลงานของ Leonardo da Vinci : เครดิตภาพ https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/mona-lisa-stolen-1911/
- บทที่ 2 คือการพาเราไปแยกหาความแตกต่างระหว่าง 'ภาพนู้ด' และ 'ภาพโป๊เปลือย' พร้อมวิจารณ์สังคมที่กระทำต่อผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงต้องตกอยู่ใน 2 สถานะพร้อมกันคือ 'เป็นผู้สำรวจ' และ 'ผู้ที่ถูกสำรวจ' ซึ่งทำให้ผู้หญิงอาจกลายเป็นเพียงวัตถุที่มิได้ครอบครองแม้แต่ชีวิตของตัวเอง
The Fall and the Expulsion from Paradise ผลงานของ Limbourg brothers : เครดิตภาพ https://www.wikiart.org/en/limbourg-brothers/the-fall-and-the-expulsion-from-paradise
- บทที่ 5 ว่าด้วยภาพสีน้ำมัน ที่บ่งบอกถึงการครอบครองและวิถีแห่งการมองเห็น ว่าจริง ๆ แล้วผู้ที่ครอบครองภาพนั้นอาจไม่ใช่ทั้งตัวศิลปิน หรือแม้กระทั่งผู้ที่จ่ายเงินซื้อภาพดังกล่าว แต่เป็นบุคคลที่อยู่ในภาพต่างหาก (บทนี้เนื้อหาค่อนข้างล้ำลึกพอสมควร ผมเองก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่หนักไปทางอย่างหลัง 🤣)
Mr. and Mrs. Andrews ผลงานของ Thomas Gainsborough : เครดิตภาพ https://www.wikiart.org/en/thomas-gainsborough/mr-and-mrs-andrews-1749
- หรือบทสุดท้ายที่ว่าด้วยป้ายโฆษณา ที่มีจุดประสงค์เพื่อขายฝันกลางวันและหลอกล่อให้ผูู้บริโภครู้สึกอยากจะครอบครองความฝันดังกล่าว เพียงแค่คุณจ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการดังกล่าว และยังเป็นเครื่องมือสุดโปรดของระบบทุนนิยมอีกด้วย
เครดิตภาพ : http://www.ledfix.net/product/rent-a-billboard
ความเรียงที่ จอห์น เบอร์เกอร์ ถ่ายออกมาค่อนข้างตรงไปตรงมาและไร้ซึ่งความเกรงใจ (ทั้งในแง่ของความล้ำลึกที่ไม่แคร์ว่าผู้อ่านที่อ่อนประสบการณ์จะตามทันไหม และความดุดันในการวิจารณ์ที่บางทีก็มีความสุดโต่งพอสมควร)
และด้วยความที่เป็นความเรียง มันก็คือบทความที่ผู้เขียนใช้เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นของตนที่มีต่อสิ่งนั้น ๆ หมายความว่าเรา (ตัวผู้อ่าน) ก็ยังสามารถวิพากษ์หรือไม่เห็นด้วยได้ในบางช่วง ตราบที่อยู่บนความเป็นเหตุเป็นผล
แต่โดยรวมหนังสือเล่มนี้ก็ทำตามความประสงค์ของตัวเองได้ทุกประการเลยครับ เพราะในขณะที่เราเห็นความหมายของภาพไปทาง แต่ตัวผู้เขียนก็เห็นไปอีกทาง "เพราะมนุษย์ไม่ได้มองเห็นโลกอย่างที่โลกเป็น แต่เรามองเห็นโลกอย่างที่เราเป็น" ซึ่งสิ่งที่เราเป็นอาจหมายถึง 'การมีประสบการณ์และความรู้ ซึ่งเราจะมองเห็นสิ่งนั้นได้กว้างหรือแคบก็ขึ้นกับว่าเรามี 2 สิ่งนี้มากแค่ไหน'
เครดิตภาพ : https://www.khaosara.com/?p=4441
โฆษณา