Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
•
ติดตาม
2 ต.ค. 2022 เวลา 05:22 • สุขภาพ
ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)
เป็นกลุ่มอาการที่เส้นประสาทซึ่งทําหน้าที่นําคําสั่งจากสมองและไขสันหลังไปยังอวัยวะต่างๆ รวมถึงทําหน้าที่รับความรู้สึกจากอวัยวะต่างๆ กลับไปยังสมองเกิดความเสียหายหรือเกิดโรคบางชนิด
ลักษณะของอาการผิดปกติที่พบ เมื่อมีการอักเสบของเส้นประสาทต่างๆ เช่น
มีอาการเหน็บ ชาตามมือและเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสียการทรงตัวหรือเดินเซ เกิดอาการบ้านหมุน บางรายได้ยินเสียงแว่วในหู หรือมีอาการหูดับ
ความดันโลหิตลดลงต่ำ ท้องผูกหรือท้องเสีย หย่อนสมรรถภาพทางเพศ อาหารย่อยยาก เหงื่อออกมากกว่าปกติ ซึ่งอาการดังกล่าวมักเป็นตลอดเวลา หรือเป็นๆหายๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค
อาจมีอาการใบหน้าเบี้ยว หรือใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ซึ่งส่วนหนึ่งของอาการนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ในช่วงที่ร่างกายทำงานหนัก พักผ่อนน้อย
มีอาการปวดเสียว ปวดแปล๊บๆบนใบหน้า ลักษณะอาการคล้ายถูกไฟฟ้าช็อต มักเกิดอาการด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า
นอกจากนี้ อาจเห็นภาพซ้อนแนวใดแนวหนึ่ง ซึ่งมักจะพบในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวาน
สาเหตุที่พบของโรคปลายประสาทอักเสบ ได้แก่
โรคเบาหวาน เกิดจากเส้นเลือดได้รับน้ำตาลในปริมาณมาก ทำให้เส้นประสาทเสียหายได้ง่าย เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด โดยครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นปลายประสาทอักเสบ
สาเหตุอื่นที่พบรองลงมา ได้แก่ การกดทับที่อาจทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย เช่น ใส่เฝือก ใช้ไม้ค้ำ หรือการใช้งานข้อมือซ้ำๆ เช่น พิมพ์งานมาก ๆ
บาดแผลที่อาจทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย เช่น อุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ หกล้ม หรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การบาดเจ็บระหว่างการออกกำลังกาย เป็นต้น
ความผิดปกติของไขกระดูก ซึ่งรวมไปถึงโรคเส้นประสาทที่เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติ
เนื้องอกและมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งกระดูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อาจเกิดขึ้นที่เส้นประสาทหรือกดทับเส้นประสาทได้
มะเร็งบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองภูมิคุ้มกันร่างกาย สามารถทำให้เกิดโรคเส้นประสาทหลายเส้นได้
นอกจากนี้ การใช้ยารักษาโรคบางชนิด โดยเฉพาะผู้ที่รักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด มีโอกาสเกิดปลายประสาทอักเสบได้
โรคทางภูมิคุ้มกัน ได้แก่ โรคข้อรูมาตอยด์ โรค SLE โรคปลอกประสาทอักเสบเฉียบพลัน โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง และการอักเสบของผนังหลอดเลือด
การติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อ HIV โรคไลม์ โรคงูสวัด การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ ไวรัสตับอักเสบซี โรคเรื้อน หรือโรคคอตีบ ทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบได้ทั้งสิ้น
การสัมผัสกับสารพิษและสารเคมีที่เป็นพิษหรือโลหะหนัก ก็อาจทำให้ปลายประสาทอักเสบได้
การดื่มแอลกอฮลล์เป็นประจำ รวมทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ดีหรือขาดโภชนาการที่ดีของผู้ที่ติดสุรา อาจทำให้เส้นประสาทถูกทำลายเนื่องจากร่างกายขาดวิตามิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ปลายประสาทอักเสบได้
การขาดวิตามิน ได้แก่ วิตามินบี 1 บี 6 บี 12 วิตามินอี และไนอาซิน เป็นส่วนสำคัญที่อาจทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบหรือสุขภาพของระบบประสาทผิดปกติได้
การเสียการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะที่เท้า การทำงานของระบบส่วนต่าง ๆ ของร่างกายบกพร่องไม่สามารถประสานกันได้
นอกจากนี้ยังพบโรคของความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรค Charcot-Marie-Tooth ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาททางพันธุกรรม
โรคอื่น ๆ ได้แก่ โรคไต โรคตับ ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ทั้งนี้ ยังมีผู้ป่วยปลายประสาทอักเสบจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้
กลุ่มเสี่ยง
โรคปลายประสาทอักเสบ พบได้ในคนที่มีอายุเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น ได้แก่ ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงต่อเส้นประสาท หรือรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่
กลุ่มที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ลักษณะแขนและขาอ่อนแรง เหน็บ ชา แต่ยังสามารถไปไหนมาไหนได้ ยังสามารถทำงานได้ปกติ
กลุ่มที่พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากร่างกายทำงานหนักเกินไป
กลุ่มที่ร่างกายขาดวิตามินบี เช่น บี 1 บี 6 และ บี 12 ซึ่งพบได้ไม่มากนัก แต่เนื่องจากวิตามินบีเป็นสิ่งสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก การขาดวิตามินบีบางชนิดส่งผลให้เป็นปลายประสาทหรือแม้แต่ระบบประสาทส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผิดปกติได้
กลุ่มที่ได้รับสารพิษ เกิดจากการได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย เช่น สารตะกั่ว โลหะบางชนิด รวมทั้งการสูบบุหรี่
การวินิจฉัยและรักษา
แพทย์จะดูจากประวัติคนไข้เป็นสำคัญ ร่วมกับการตรวจร่างกาย จากนั้นส่งตรวจเลือด ตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อ การทำงานของเส้นประสาท ตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI) เพื่อหาสาเหตุของโรค
ดังนั้น หากพบว่ามีอาการชา อ่อนแรงหรือเจ็บผิดปกติที่มือหรือเท้า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเส้นประสาทส่วนปลาย ทําให้มีโอกาสหายเป็นปกติได้มากขึ้น
วิธีการรักษาทางการแพทย์
- การใช้ยารักษา
• ยาที่ซื้อใช้เอง เช่น ยาลดการอักเสบ ใช้บรรเทาอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาแก้ปวด
• ยาต้านชัก โดยอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม เป็นต้น
• ยาใช้เฉพาะที่ เช่น ยาครีมแคปไซซิน ซึ่งจะช่วยลดอาการที่เกิดจากประสาทส่วนปลายอักเสบ อาจทำให้ผิวหนังแสบและเกิดการระคายเคือง แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
หรือยาลิโดเคนแบบแผ่นแปะ ช่วยลดอาการปวด โดยแปะลงบนผิวหนังบริเวณที่มีอาการ ซึ่งอาจทำให้ง่วงซึม เวียนศีรษะ ชาได้
• ยาแก้ซึมเศร้า ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของสารเคมีในสมองและไขสันหลังที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด
นอกจากนี้ ยังมียาที่นำมาใช้รักษาอาการเจ็บปวดของปลายประสาทอักเสบที่มีสาเหตุมากจากโรคเบาหวาน แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ ง่วงซึม เวียนศีรษะ เบื่ออาหารและท้องผูก
- การบำบัด โดยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนังเพื่อลดความเจ็บปวด การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง การบำบัดรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลิน
- กายภาพบำบัด สำหรับผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ การกายภาพบำบัดจะช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องใช้เครื่องช่วยพยุง ไม้เท้า นั่งรถเข็นคนพิการ หรือเครื่องช่วยเดินด้วย
- การผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากการกดทับที่เส้นประสาท เช่น การกดทับจากเนื้องอก อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อลดแรงกดทับร่วมด้วย
แนวทางการดูแลเพื่อป้องกันการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบเบื้องต้น มีวิธีดังนี้
• พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และปรับรูปแบบในการดำเนินชีวิตประจำวันไม่ให้เคร่งเครียดมากเกินไป
• รักษาและควบคุมโรคที่สาเหตุ
วิธีป้องกันปลายประสาทอักเสบที่มีประสิทธิภาพ เป็นการรักษาและควบคุมโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นปลายประสาทอักเสบ เช่น โรคเบาหวาน ติดสุรา โรคข้อรูมาตอยด์ เป็นต้น
• หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเส้นประสาท ได้แก่ กิจกรรมที่ทําซ้ำ ๆ อยู่ในท่าที่จำกัด สัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษ การสูบบุหรี่และการดื่มสุรามากเกินไป
• เลือกใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี เช่น รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชและโปรตีนที่มีไขมันต่ำให้มาก เพราะจะช่วยรักษาสุขภาพของเส้นประสาท รวมไปถึงป้องกันการขาดวิตามินบีชนิดต่างๆด้วย โดยรับประทานเนื้อวัว เนื้อปลา ไข่ อาหารไขมันต่ำและธัญพืชเสริม
• หากเป็นผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ควรรับประทานธัญพืชเสริม เพราะเป็นแหล่งของวิตามิน บี 12 แต่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมวิตามินบี 12 ก่อน
• ออกกำลังกายเป็นประจำ หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยออกกำลังกายได้ ก็ควรออกครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
สุขภาพ
โควิด19
ความรู้รอบตัว
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย