2 ต.ค. 2022 เวลา 06:35 • สุขภาพ
#ตำรับยากวาดแสงหมึก
ยากวาด ที่ครอบคลุมอาการโรคเด็ก
ตั้งใจทำมากนะตำรับนี้
จะค่อยๆ เล่าไปแล้วกัน นึกอะไรออกก็จะเล่าไป
ที่บอกว่า "ตำรับยากวาดแสงหมึก"
สามารถรักษาโรคเด็กได้ครอบคลุมหลายอาการ
ก็เพราะว่า เมื่อนำไปเทียบกับ ยามหานิลแท่งทอง
ที่นิยมนำไปใช้รักษาเด็กเหมือนกัน
พบว่า ตำรับยากวาดแสงหมึก
หากนำไปยักกระสาย
จะรักษาโรคเด็กได้ครอบคลุมอาการมากกว่า
ลองเอามาเทียบสรรพคุณกันดู
ตำรับยามามหานิลแท่งทอง
-แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ
-แก้หัด แก้อีสุกอีใส ละลายน้ำต้มสุก, น้ำรากผักชี
ตำรับยากวาดแสงหมึก
-แก้ตัวร้อน ละลายน้ำดอกไม้เทศ
-แก้ท้องขึ้น ปวดท้อง ละลายน้ำใบกะเพราต้ม
-แก้ไอ ขับเสมหะ ให้ละลายน้ำลูกมะแว้งเครือ
หรือลูกมะแว้งต้น แล้วกวาดคอ
-แก้ปากเป็นแผล แก้ละออง ละลายน้ำลูกเบญกานี
ฝนทาปาก
บางคนอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วอาจตั้งข้อสงสัย
ว่าทำไมไม่ระบุน้ำกระสายยาของมหานิลแท่งทอง
ให้หลากหลายกว่านี้ล่ะ จะได้รักษาได้หลายอาการ
อย่างนี้ก็เสียเปรียบยากวาดแสงหมึกสิ
เอาเป็นว่า ไปหาข้อมูลมาแล้ว
ทั้งในหนังสือเภสัชกรรมและเวชกรรม
ก็ระบุน้ำกระสายยาของมหานิลแท่งทองไว้แค่นี้
ดังนั้น จำไปสอบแค่ 2 อย่างนี้ก็พอครับ
ส่วนในชีวิตจริง เวลาเจอคนไข้จริงๆ
การยักน้ำกระสายอื่นๆ เป็นเรื่องที่หมอต้องพิจารณา
เปลี่ยนน้ำกระสายยาไปตามอาการของโรค
และมันเป็นศิลปะการจ่ายยาของแต่ละบุคคลครับ
ตำรับยาดวาดแสงหมึก
เป็นตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ
กลุ่มระบายพิษไข้ แก้ไข้
โดยทั่วไปแล้ว เป็นยาที่แนะนำใช้ในเด็ก
ใช้กวาดคอเด็กในอายุ 1 - 12 เดือน
ให้กวาดคอวันละ 1 ครั้ง กินทุก 3 ชั่วโมง
และทาในปากวันละ 1 ครั้ง
แต่ถ้าใครเกิดในสมัยก่อนที่ยังโดนกวาดยา
และการกวาดยาในเด็กยังเป็นเรื่องปกติ
ทำได้โดยหมอยากลางบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน
อาจจะโดนกวาดยากันถึงอายุ 5 ขวบ
และเวลาป่วยจะโดนกวาดถึงวันละ 2 ครั้ง
ทั้งช่วงเช้าและยังแถมช่วงเย็น
ซึ่งในช่วงเย็น แดดร่มลมตกนั้น จะมีความเชื่อว่า
ถ้าได้กวาดยาในช่วงตอนเย็น
จะทำให้โรคที่เป็นอยู่นั้น หายไป
เหมือนพระอาทิตย์ที่กำลังตก ลับขอบฟ้านั่นเองครับ
ตำรับยากวาดแสงหมึก มีตัวยาประกอบด้วย
หมึกหอม จันทน์ชะมด จันทน์เทศ
ลูกกระวาน ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ หอมแดง
กานพลู ใบสันพร้าหอม ใบกะเพรา ใบพิมเสน
ดีงูเหลือม ชะมดเช็ด และ พิมเสน
#ตำรับยากวาดแสงหมึก
นำทั้งหมดมาบดเป็นผง
ใช้กวาดยาและกินแก้อาการที่กล่าวมาข้างต้นครับ
ปล.สูตรที่ผมทำเป็นสูตรโบราณนะครับ
ปัจจุบันในประกาศยาสามัญประจำบ้านฯ
ได้มีการตัด ชะมดเช็ด และ ดีงูเหลือม ออกไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีก คือ
ในหนังสือเภสัชกรรมจะมี หอมแดง อยู่ในตำรับ
แต่ในหนังสือเวชกรรมจะไม่มีหอมแดงครับ
ส่วนสูตรยากวาดแสงหมึกที่ผมทำนั้น
น้ำหนักยารวมทั้งประมาณ 1 กิโลกรัม
แต่ใส่ดีงูเหลือม ไปถึง 88 กรัม
และใส่ ไขชะมดเช็ด ไปอีก 22 กรัม
ซึ่งถ้าใจไม่รัก ไม่ทำหรอกนะ ต้นnุนมันสูงครับ
น่าเสียดายเนาะ
ที่ในปัจจุบันการกวาดยาถูกตั้งคำถามมากมาย
ว่าจำเป็นหรือไม่ กวาดแล้วจะติดเชื้อโรคหรือเปล่า
ความสะอาดนั้นมีหรือไม่
ผมคนนึงที่โตมากับการโดนกวาดยา
และยังดีใจเสมอ ที่ยังมีพ่อ-แม่หลายคน
อุ้มลูกมาให้กวาดยาเวลาลูกป่วยไข้
มันแสดงว่า พ่อแม่ยังศรัทธาในภูมิปัญญาไทย
อีกทั้ง ยังเป็นการปลูกฝัง "แผนไทย" ให้กับเด็ก
ว่าอย่างน้อย ครั้งนึง เค้าเคยมากวาดยา
แล้วเค้าหายจากการป่วยด้วยยาแผนไทย
โฆษณา