3 ต.ค. 2022 เวลา 09:43 • ปรัชญา
ความลับของจีเนียส
วอลเตอร์ ไอแซคสัน ( walter Isaacson) เป็นสุดยอดนักเขียนอัตชีวประวัติของบุคคลสำคัญของโลก เขาเขียนตั้งแต่คนที่เสียชีวิตไปแล้วอย่างเบนจามิน แฟรงคลิน ลีโอนาโด ดาวินชี ไอนสไตน์ จนถึงการใช้ชีวิตกับสตีฟ จอบส์ ในปีสุดท้ายก่อนเขียนประวัติจ็อบออกมาอย่างเข้มข้น ล่าสุดเขาเพิ่งเขียนเรื่องราวของ เจนนิเฟอร์ ดอดน่า ผู้ค้นพบเทคนิคการตัดต่อยีนส์เปลี่ยนโลก (Crispr) ออกมา ทุกเล่มของทุกคนที่เขาเขียนนั้นได้รับการยอมรับในเนื้อหาเชิงลึกและเป็นหนังสือระดับ best seller ทุกเล่ม
ผมฟังสัมภาษณ์คุณวอลเตอร์ในรายการของ talks at google ถึงเรื่องหนังสือเล่มต่างๆรวมถึงเล่มใหม่ที่เพิ่งออก มีคำถามหนึ่งที่ผู้สัมภาษณ์ถามวอลเตอร์ที่ผมเรียกว่าเป็น
million dollar question
คำถามนั้นก็คือ คนที่คุณวอลเตอร์เขียนอัตชีวประวัตินั้นทุกคนเป็นสุดยอดนวัตกรเปลี่ยนโลก เป็นระดับอัจฉริยะของโลกในแต่ละยุคสมัย มีความต่างกันหลายประการ แต่ในมุมมองของคุณวอลเตอร์ คนเหล่านี้ที่คุณวอลเตอร์ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งมีคุณลักษณะอะไรที่เหมือนกันบ้าง
คุณวอลเตอร์บอกว่า หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นความฉลาด แต่เอาจริงๆแล้ว
คนฉลาดที่เรารู้จักมีเยอะแยะที่ไม่สามารถทำอะไรใหม่ๆในโลกได้
ในมุมของคุณวอลเตอร์ คนเหล่านี้มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการที่จะสามารถคิดแตกต่างออกไปจากคนทั่วไป
องค์ประกอบพื้นฐานที่คนเหล่านี้มีเหมือนกันก็คือ ความอยากรู้อยากเห็น (curiousity) นั่นเอง
วอลเตอร์ ไอแซคสัน .
ความอยากรู้อยากเห็นนั้นเป็นความอยากรู้อยากเห็นจริงๆแบบซนๆ อยากรู้ไปหมด ไม่ใช่แค่สนใจแค่อยากรู้เพื่อเหตุผลที่ที่อยากทำผลิตภัณฑ์บางอย่าง
ลีโอนาโด ดาวินชีเขียนในสมุดบันทึกด้วยความสงสัยว่าทำไมท้องฟ้าถึงสีฟ้า (why is the sky blue?) แล้วพยายามทดลองหาคำตอบ ไอนสไตน์ก็เขียนคำถามนี้เหมือนกันในสมุดบันทึกแล้วก็พยายามทดลองไปอีกแนว
เจนนิเฟอร์ ดอดน่าตอนเด็กๆก็สงสัยว่าทำไมท้องฟ้าเปลี่ยนสีได้
ดาวินชี สงสัยไปถึงน้ำที่ไหลผ่านโขดหินแล้วมาคิดผสมกับสมการคณิตศาสตร์
คนเหล่านี้สงสัยใคร่รู้ไปหมด
คนทั่วไปอย่างเราๆนั้นพอเข้าระบบการศึกษาก็จะถูกไม่ให้ตั้งคำถามเลื่อนลอย สงสัยอะไรแบบนี้ แต่คนพวกจีเนียสนี้แม้แต่ตอนโตแล้วยังมีความเป็นเด็กที่กระหายที่จะรู้ทุกอย่าง ไม่ปล่อยให้ความเป็นผู้ใหญ่มาทำลายความรู้สึกนั้น ดาวินชีแม้จะถึงวัยผู้ใหญ่ก็ยังเขียนในสมุดบันทึกถึงความสงสัยในลิ้นของนกหัวขวาน เหมือน
กับเด็กๆที่สงสัยเรื่องที่ดูจะไม่ได้เป็นประโยชน์เอามาหากินได้เลย ซึ่งเรื่องของดาวินชีที่แม้แต่ตอนที่สร้างสรรค์อะไรหลายอย่างแล้วก็ยังพยายามซุกซนจะไปเปิดดูลิ้นของนกหัวขวานนี้ทำให้คุณวอลเตอร์คิดถึงตัวเองว่าเราควรจะอยากรู้อยากเห็น อยากสงสัยอะไรแปลกๆซักสิบยี่สิบอย่างบ้าง เพื่อคงความกระหายใคร่รู้ในตัวเราไว้
คุณวอลเตอร์สรุปว่า ความกระหายใคร่รู้ อยากรู้อยากเห็นไปหมดนั้นมีอยู่ในตัวเด็กๆทุกคน เป็นธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่ต้น เพียงแต่มันสูญหายไปกับระบบการศึกษาและความเป็นผู้ใหญ่ที่ถูกกรอบสังคมทำให้มันจางลง เราอาจจะฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ หรือดนตรีได้ไม่เท่ากัน พรสวรรค์อาจจะมีส่วน แต่การฝึกให้มีความอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอนั้นน่าจะทำได้ง่ายกว่า
วิธีง่ายๆที่เราผู้ใหญ่อาจจะทำได้กับลูกหลานก็คืออดทนกับคำถามประหลาดๆที่เราอาจจะคิดว่าอยากรู้ไปทำไม พยายามอย่ารีบไปพูดว่าหยุดถามคำถามโง่ๆ หรือคำถามไร้สาระ ปล่อยให้เด็กๆได้คงความอยากรู้อยากเห็นโดยที่ไม่ต้องกลัวถูกดุได้มากขึ้น แม้กระทั่งลูกน้องเรา พนักงานรุ่นใหม่ในที่ทำงานก็เช่นกัน
ผมอยากจะปิดท้ายด้วยเรื่องราวน่ารักใน FB ที่ผมเห็นน้องอ๊อบแห่ง nation เขียนถึง น่าจะเป็นตัวอย่างของบทความนี้ได้เป็นอย่างดีนะครับ
…………
น้องอ๊อบเขียนไว้ว่า
เมื่อวานแวะเข้าห้องน้ำที่สนามบิน Heathrow ได้ยิน 2 แม่ลูก(ลูกยังเด็กจิ๋วน่าจะวัยอนุบาล)คนไทยคุยกันจุ๋งจิ๋งห้องติดกัน
แม่: เดี๋ยวแม่ใช้ผ้าเปียกเช็ดให้ก่อนนะคะ ถึงโรงแรมแล้วเราไปล้างก้นกันนะ เพราะเค้าไม่มีสายฉีดก้นนะคะ
ลูกสาว: ทำไมไม่มีสายฉีดคะ
ม: คนที่นี่เค้าไม่ใช่กันค่ะ
ลส: ทำไมเค้าไม่ใช้คะ
ม: แม่ก็ไม่รู้ทำไม แม่เคยเจอแต่ประเทศเรากับประเทศในเอเชียนะคะ อย่างญี่ปุ่นงี้ค่ะ
ลส: เอเซียเหรอคะ แล้วเกาหลีใช้ไหมคะ
ม: แม่ก็ไม่แน่ใจค่ะ แต่ประเทศที่ใช้คือประเทศใกล้ๆประเทศไทยนะคะ แม่ไปอเมริกาก็ไม่เจอ ยุโรปนี่ไม่ใช้เลยค่ะ
ลส: แล้ว Antarctica ใช้ไหมคะ
ม: Antarctica ก็ไม่ใช้สายฉีดก้นค่ะ
แม่ลูกเค้าคุยกันน่ารัก พอดีทำธุระเสร็จก่อน เลยฟังไม่จบว่าสรุปเค้าได้คุยกันครบทุกทวีปไหม ป้าอ๊อบนึกในใจ Antarctica ใช้สายฉีด น้ำน่าจะเย็นจนสะดุ้ง
จะว่าไปยัยหนูคนนั้นฉลาดจัง คุณแม่สอนดีและใจเย็นมากเลยค่ะ
โฆษณา