Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Taladnoi
•
ติดตาม
3 ต.ค. 2022 เวลา 13:47 • ประวัติศาสตร์
ประวัติชุมชนตลาดน้อย
การเกิดขึ้นของชุมชนตลาดน้อยเกิดขึ้นพร้อมกับการย้ายชุมชนชาวจีนสมัยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมย่านตลาดน้อยมีชื่อที่รู้จักในชื่อ “โรงกระทะ” มาจากอาชีพช่างตีเหล็กที่เชี่ยวชาญ ส่วนชื่อตลาดน้อย เป็นชื่อที่ได้มาจากย่านการค้าของชาวจีนที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนสำเพ็งในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ความหนาแน่นของชุมชนตลาดน้อยเกิดจากการขยายตัวของสำเพ็ง และการกอพยพของชาวจีนโพ้นทะเล และนโยบายของสยามที่สนับสนุนการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานชาวจีน
1
ในช่วงแรก กลุ่มชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานคือ ชาวจีนฮกเกี้ยนและสร้าง “ศาลเจ้าโจวซือกง” ในปีพ.ศ.2347 ซึ่งเป็นศาลที่เก่าแก่ที่สุดใน ชาวฮกเกี้ยนเป็นกลุ่มที่มีรากฐานที่มั่นคงตั้งแต่สมัยอยุธยา ทำให้มีบทบาทในด้านการค้าและข้าราชการ เมื่อการค้าสำเภาเฟื่องฟู จึงมีการเข้าไปเป็นขุนนางที่สำคัญคือ พระอภัยวานิช(จาด) ต้นตระกูล “โปษยะจินดา” และการทำธุรกิจท่าเรือ “โปเส็ง”ที่รองรับการค้าเรือสำเภาที่ประสบความสำเร็จ และสร้างคฤหาสน์ “โซวเฮงไถ่” เป็นหมู่อาคารที่มีสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่สวยงาม
1
และชาวจีนฮากกาซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งได้สร้างศาลเจ้าโรงเกือกที่ประดิษฐานของ เจ้าพ่อฮั่นหวาง โดยการนำของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ในสมัยรัชกาลที่5 และยังมีชาวจีนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก โดยมีวัดกาลหว่าร์เป็นศูนย์กลางโดยวัดนี้สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่1 โดยชาวโปรตุเกสและต่อมาคณะบาทหลวงชาวโปรตุเกสได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในย่านตลาดน้อยทำให้วัดกาลหว่าร์เป็นศูนย์รวมของชาวจีนคาทอลิกในกรุงเทพ
ภายหลังสนธิสัญญาเบาวริงการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการขุดคลองผดุงกรุงเกษม และการตัดถนนเจริญกรุง ทำให้ชุมชนมีการขยายตัวออกจากแม่น้ำมากขึ้นโดยมีทั้งตลาด โรงงาน และโรงสี ชุมชนตลาดน้อยจึงเป็นแหล่งสร้างตัวของชาวจีนอพยพโดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาในช่วงรัชกาลที่5 และชาวจีนไหหลำชื่อ นายปิน ต้นตระกูลจันตระกูลได้เปิดตลาดแห่งใหม่ย่านตลาดน้อยริมถนนเจริญกรุงและได้รับความนิยมมากขึ้นและทำให้ตลาดเก่าริมแม่น้ำซบเซาลง
ในช่วงการปฏิวัติจีน(พ.ศ. 2455) ได้สร้างความชาตินิยมในชาวจีนในสยามจำนวนมาก และมีการก่อตั้งโรงเรียนจีนมากขึ้น ท่ามกลางท่าทีของรัฐบาลสยามที่ต่อต้านภาษาจีน ในช่วงหลังสงครามโลกครังที่2 (พ.ศ.2482—2488) โรงเรียนจีนจำนวนมากได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนไทยจากแรงกดดันจากการเมืองที่อ้างคอมมิวนิสต์มากีดกันความเป็นจีน และการที่ย่านตลาดน้อยเคยเป็นโรงงานทำให้ชาวจีนในละแวกนี้มีความชำนาญในงานช่างและยุทธโธปกรณ์ของทหารต่างชาติที่ทิ้งไว้ได้สร้างผลกำไรให้คนในชุมชนจนได้ชื่อเสียงและเฟื่องฟูและรู้จักกันในชื่อ “เซียงกง”
ในช่วงปี2510 การขยายตัวและเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่องทำให้พื้นที่ในเขตชุมชนเริ่มแออัด ทำให้ผู้อยู่อาศัยเริ่มไปค้าขายในย่านชุมชนแหล่งใหม่ที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันการขยายตัวของชุมชนตลาดน้อยก็ปรากฏปัญหาสังคมขึ้นมาด้วยนั้นก็คือปัญหายาเสพติดและเป็นแหล่งมั่วสุมเสพเฮโรอีน ในปีพ.ศ. 2526-2527 จนได้ชื่อ ตรอกผีดิบ จากผู้เสพบางรายมีสภาพไม่ต่างจากผีดิบ
2
ในปัจจุบันชุมชนย่านตลาดน้อยได้พัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพเนื่องจากเป็นชุมชนที่ยังรักษาวัฒนธรรม และประเพณีจีนอันเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างเหนียวแน่น เช่น โซวเฮงไถ่ คฤหาสน์เก่าแก่อายุกว่า 200ปี ที่ถูกสร้างขึ้นโดยสถาปัตยกรรมจีนฮกเกี้ยนโบราณที่มีความโดดเด่นและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็น คาเฟ่ โรงเรียนสอนว่ายน้ำ และฟาร์มสุนัข
ความสัมพันธ์กับทฤษฎี Nostalgia
คำว่า nostalgia มีนัยสื่อถึงเรื่องของอารมณ์ความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์เพราะต้องการ นำเอาอดีตกลับมา หรืออยากสร้างอดีตให้กลับมาอยู่ในปัจจุบัน เน้นไปที่ความรู้และความจำ เช่น หาก เราคิดถึงบ้าน เราจะมีภาพบางอย่างที่คิดถึง เช่น คิดถึงเตียงนอนนุ่ม ๆ หรือเก้าอี้ตัวโปรดที่ใช้อ่านหนังสือ
แต่หากเป็นความโหยหาอดีต เราจะมองลึกลงไปถึง ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ความรัก ความอบอุ่น บ้านในมิติที่เป็นแหล่งพักพิงใจ หรือแม้แต่ บ้าน ในแง่ของถิ่นเกิดของคนพลัดถิ่น ซึ่งเป็นบ้านที่พวกเขา ตระหนักดีว่าไม่มีบ้านให้กลับไป และไม่เคยมีอีกต่อไป
ในด้านของความสัมพันธ์ของตลาดน้อยและทฤษฎี nostalgia จะกระบวนการที่ซับซ้อนของการรื้อสร้างการให้ความหมายใหม่หรือการประดิษฐ์วัฒนธรรม (Cultural Invention) ในสังคมโลกสมัยใหม่ปรากฏในรูปของความต้องการด้านวัตถุ สิ่งก่อสร้าง หรือกระทั่งรูปสัญลักษณ์หรือแบบฟอร์มของอดีต เป็นหลักยึดของสิ่งที่ตกยุคตกสมัยแล้ว พยายามที่จะไขว่คว้าเอาไว้ เช่น เซียงกง หากใครเคยผ่านย่านตลาดน้อย คงจะคุ้นเคยกับภาพบรรยากาศที่คงเอกลักษณ์ความเป็นย่านคนจีนได้เป็นอย่างดี และคงเป็นสถานที่คุ้นเคยสำหรับผู้ที่มีความสนใจด้านอะไหล่เก่ามาช้านาน
เพราะที่นี่ นอกจากจะเป็นเซียงกงแห่งแรกของไทยแล้วยังมีรายนามตามสมาคมส่งเสริมผู้ค้าเครื่องยนต์และอะไหล่ใช้แล้ว อยู่มากถึง 38 ร้านด้วยกัน ไม่นับรวมร้านเล็กร้านน้อยที่เพิ่งเปิดใหม่ แต่ละร้านก็มีทั้งอะไหล่รถเล็ก-ใหญ่ รถกระบะ รถบรรทุก สิบล้อ รถบัส ทั้งญี่ปุ่นทั้งยุโรปคละ ๆ กันไป รวมไปถึงสมอเรือ ก็ตามแต่ผู้ใช้บริการจะเลือกสรรกัน
เซียงกง
ร้านค้าอะไหล่ต่างๆ
ซึ่งย่านประวัติศาสตร์นี้ก็ดูจะมีจังหวะของการปรับโฉมโดยเริ่มแต่งหน้าแต่งตามาได้พักใหญ่ ซอกมุมต่าง ๆ ถูกเก็บกวาด จัดระเบียบ ต่อเติม รวมถึงรื้อถอน กลิ่นเอกลักษณ์จากน้ำมันเครื่องยังไม่จางหาย หลายอาคารแข่งกันปรับโครงสร้าง ทาสีใหม่ และตกแต่งเพิ่มเติม บ้างอวดโฉมแล้ว บ้างรอวันแกะกล่อง รวมแล้ว คาเฟ่ ร้านอาหาร และโฮสเทลเจ้าใหม่ ไม่น้อยกว่า 20 เจ้ามาช่วยกันปรุงแต่งเพิ่มเสน่ห์ให้ตลาดน้อย
ยกตัวอย่าง เช่น ฮงเซียงกง อาคารเก่าอายุกว่า 200 ปี บนผืนดินที่ทิ้งร้างมานาน 40 ปี มา บูรณะให้กลายเป็นร้านกาแฟ ทายาทสันนิษฐานว่าบ้านในที่ดินผืนนี้สร้างขึ้นหลังจากบ้านโซวเฮงไถ่ประมาณ 20 ปี (ประมาณ พ.ศ. 2360 สมัยรัชกาลที่ 2)
ฮงเซียงกง
คาเฟ่ของร้านฮงเซียงกง
การโหยหาอดีตในชุมชนตลาดน้อย กล่าวถึงการโหยหาความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่ บรรยากาศแบบเก่าๆผ่านวิถีชีวิต อาคารบ้านเรือนเก่าแก่ ที่ผสมผสานความเป็นไทยและจีนได้อย่างลงตัว โดยที่นี่ถือเป็นย่านเก่าแก่ เพราะคนจีนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นย่านการค้าที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีศาลเจ้าแบบจีน สถานที่ที่คนในชุมชนมาสักการะกัน
ศาลเจ้าจีน
และยังมีสถานที่ที่สำคัญของชาวคริสต์ “โบสถ์กาลหว่าร์” โบสถ์คริสต์คาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่นี่มีสถาปัตยกรรมสุดตระการตา เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทรงกอทิก โบสถ์แห่งนี้มีจุดเด่นที่สำคัญคือ รูปปั้น 2 รูปซึ่งเป็นสมบัติเก่าแก่ตั้งแต่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ได้แก่ "รูปแม่พระลูกประคำ" และ "รูปพระศพของพระเยซูเจ้า" โดยทั้งหมดนี้ยังคงเก็บรักษาและใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยคำว่า "กาลหว่าร์" น่าจะมาจากคำว่า กัลวารีโอ เนินเขาที่ทำการตรึงพระเยซูที่กางเขนนั่นเอง
โบสถ์กาลหว่าร์
ที่ตลาดน้อยแห่งนี้นอกจากจะมีบ้านเก่า สไตล์จีน มุมให้ถ่ายรูปแล้ว ที่นี่ก็ยังมีเซียงกง ขายเครื่องยนต์เก่าต่างๆ นานา ทำให้หวนนึกถึงบรรยากาศแบบยุคเก่าได้เป็นอย่างดี ที่นี่เป็นย่านค้าเครื่องอะไหล่เก่าแห่งแรกของไทย เข้าไปก็จะได้กลิ่นของน้ำมันเครื่องที่ผ่านการเผาไหม้ได้ลอยมากระทบจมูกตามจังหวะของลมที่พัดผ่าน ได้ยินเสียงตอกของเหล็กที่ดัง ไม่ขาดสายจากร้านรวงที่มีอะไหล่เก่าวางอยู่เป็นกองพะเนินจากข้างในจนล้นออกมาข้างนอกลามไปจนถึงทางเดินเท้า และบางทีก็ถึงถนน
อาจเป็นเพราะความระเกะระกะของกองอะไหล่เก่าที่กองพะเนิน อาจเป็นเพราะเสียงโหวกเหวกซึ่งดูคล้ายบทสนทนาของคนที่ทำงานคนละฝั่งถนน ถนนเล็ก ๆ ที่แทรกตัวอยู่อย่างสงบสุขในตลาดน้อย ที่เป็นเสน่ห์ของถิ่นย่านนี้จนทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเยี่ยมเยือนอยู่บ่อยครั้ง
เซียงกง
ในซอยวานิช 2 จะพบกับธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย สถานที่ที่ควรค่าแก่การมาเยือน เพราะอาคารสถาปัตยกรรมบาโรก-อิตาเลียนสีเหลือง ตัวอาคารสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เรียกว่า “โบซาร์” และผสมกับ "นีโอคลาสสิก" เป็นที่ทำการของธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทยชื่อว่า “แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” และเมื่อปี พ.ศ. 2525 ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ส่วนด้านในยังเปิดทำการเป็นธนาคารอยู่จวบจนทุกวันนี้
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
Loftel 22 Hostel
เริ่มต้นทริป ด้วยการแวะเช่าจักรยานไว้ปั่นเที่ยวกันที่ Loftel 22 Hostel โฮสเทล & คาเฟ่ชิคๆ หน้าปากซอยเจริญกรุง 22 ถือว่าเป็นโฮสเทลและคาเฟ่ยอดฮิตในย่านตลาดน้อย จากรีวิว326รีวิว เสียงส่วนใหญ่บอกว่าที่พักนั้นสะอาด ห้องบรรยากาศดี ค่าเช่าจักรยาน 30 บาท/ชั่วโมง, เหมาวัน 150 บาท (ค่ามัดจำ 500 บาท/คัน)
Loftel 22 Hostel
วัดแม่พระลูกประคำ
โบสถ์กาลหว่าร์ หรือ วัดแม่พระลูกประคำ (Holy Rosary Church) เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทรงกอทิก ตั้งอยู่ที่ซอยวานิช 2 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โบสถ์แห่งนี้ไม่ใช่โบสถ์หลังแรก หากแต่เป็นโบสถ์หลังที่สาม ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทดแทนโบสถ์หลังเดิมที่ถูกทิ้งร้างภายหลังเพลิงไหม้ใหญ่
1
รูปปั้นพระแม่มารี ที่วัดแม่พระลูกประคำ
ในปี พ.ศ. 2407 โบสถ์ในปัจจุบันได้สร้างขึ้นโดยคุณพ่อแดซาลส์ ชาวฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2434 ปัจจุบันโบสถ์มีอายุรวมแล้ว 131 ปี ถือเป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สถาปัตยกรรมสุดสวย บรรยากาศดี จนขึ้นชื่อว่าเป็นแลนด์มาร์คที่ใครพลาดถือว่ามาไม่ถึงตลาดน้อย
โซวเฮงไถ่ หรือ บ้านดวงตะวัน คฤหาสน์เก่าแก่ ที่มีอายุกว่า 220 ปี คฤหาสน์สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบฮกเกี้ยนแต้จิ๋ว วางผังบ้านแบบคหบดีที่มั่งคั่งในสมัยนั้น ที่เรียกว่า 4 เรือนล้อมลาน ลักษณะลาน จะเป็นลานหินกว้างตรงกลาง ล้อมรอบไปด้วยอาคาร 4 ด้าน ด้านหน้าเป็นซุ้มประตูสีแดงโดดเด่นคฤหาสน์มี 2 ชั้น พื้นชานยกระดับตามแบบฉบับของเรือนไทยโบราณ พื้นบ้านเป็นไม้สักทองทั้งหลัง ปัจจุบันพื้นที่ตรงลานโล่งชั้นล่าง ถูกปรับให้เป็นสระว่ายน้ำ เพื่อสอนดำน้ำ และมุมหนึ่งยังทำเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัขบีเกิลขาย
บ้านโซวเฮงไถ่
ศาลเจ้าโจวซือกง (วัดซุนเล่งยี่) เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตลาดน้อย อายุกว่า 200 ปี สร้างในปีพ.ศ.2347 เพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าโจวซือกง และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถือ อาทิ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม เจ้าพ่อเสือ เทพเจ้า 36 องค์ เทพเจ้าฟ้าดิน ตี่จู้เอียะ ฯลฯ ศาลเจ้าแห่งนี้ สร้างในสมัยรัชกาลที่1 โดยเศรษฐีชาวจีนฮกเกี้ยน ที่เข้ามาพึ่งพิงพระบรมโพธิสมภารเปิดโรงเผาถ่าน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านตลาดน้อย
ศาลเจ้าโจวซือกง
สามารถสรุปได้ว่า การรำลึกถึงความหลังผ่านการมองดูวิถีชีวิตของชาวบ้าน สถาปัตยกรรม สถานที่ต่างๆ ของชุมชนย่านตลาดน้อย ทำให้เราได้มองเห็นความเก่าแก่ของชุมชน ทำให้หวนระลึกถึงความทรงจำเก่าๆในอดีต มีวัฒนธรรมที่หลากหลายชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นความหลากหลายที่ลงตัว และทางด้านของศาสนาทั้งลัทธิขงจื๊อ พุทธ คริสต์ และอิสลาม ทำให้ได้ทราบว่าเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่และหลากหลายทางด้านพหุวัฒนธรรม การนำทฤษฎี Nostalgia มาใช้ทำให้เราสามารถศึกษาเกี่ยวกับที่มาของชุมชนตลาดน้อยได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
รายการอ้างอิง
1. ชิลไปไหน. (2565). One Day Trip : เยือนอดีตชุมชนเก่า ตลาดน้อย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
https://www.chillpainai.com/scoop/6511/
.
(วันที่ค้นข้อมูล : 28 กันยายน 2565).
2. ไปด้วยกันท่องเที่ยว. (2564). รวมจุดแชะ แวะ กิน เที่ยว ตลาดน้อย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
https://www.paiduaykan.com/travel/
. (วันที่ค้นข้อมูล : 28 กันยายน 2565).
3. ภูมิ ภูติมหาตมะ. “จีนย่านตลาดน้อยศรัทธาและเศรษฐกิจการค้าแห่งจีนสยาม” วรสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรปีที่8, ฉบับที่2 (พฤษภาคม-สิหงหาคม 2558): 2592-2603.
4. Gourmet Cuisine. (2564). ฮงเซียงกง (Hong Sieng Kong). คาเฟ่ในบ้านเก่าย่านตลาดน้อยที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าจากวันวาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
https://www.gourmetandcuisine.com/going_out_eating/detail/1425
.
(วันที่ค้นข้อมูล 3 ตุลาคม 2565).
5. Sarakadee lite. (2564). ตามหาเสน่ห์ ตลาดน้อย : ซอกหลืบใหม่ในตรอกซอยเก่า. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
https://www.sarakadeelite.com/faces/talat-noi/
. (วันที่ค้นข้อมูล 2 ตุลาคม 2565).
6. Sarakadee Magazine. (2557). กุลีเซียงกง ผู้ต่อลมหายใจตลาดน้อย. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก
https://www.sarakadee.com/2014/09/11/siangkong/
.
(วันที่ค้นข้อมูล 3 ตุลาคม 2565).
7. The Cloud. (2565). ฮงเซียงกงเบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
https://readthecloud.co/hong-sieng-kong/
.
(วันที่ค้นข้อมูล 3 ตุลาคม 2565).
8. The 101.World. (2560). อดีตอันแสนหวาน คือยาสมานแผลจากการเติบโต. [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก
https://www.the101.world/the-healing-power-of-nostalgia/
. (วันที่ค้นข้อมูล 2 ตุลาคม 2565).
9. Ryoii. (2563). ตลาดน้อย (เจริญกรุง) ย่านเก่าที่ยังเก๋าอยู่. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก :
https://www.ryoiireview.com/article/taradnoi-review-bkk/
.
(วันที่ค้นข้อมูล : 28 กันยายน 2565).
10. Wongnai โดย จานใหญ่โต. ดีต่อใจเที่ยวตลาดน้อยงบ300บาท. ค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2565 เข้าถึงจาก:
https://www.wongnai.com/trips/1-day-trip-taladnoi
.
รายชื่อสมาชิกกลุ่ม
1. วิรากร ชมภูน้อย 640310027
2. จิณณ์ ผันสืบ 640310295
3. ณัฐณิชา เอี๋ยวพานิช 640310305
4. ปฏิพล พวงชื่น 640310316
ประวัติศาสตร์
ท่องเที่ยว
สถาปัตยกรรม
3 บันทึก
2
14
3
2
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย