Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
a-chieve
•
ติดตาม
5 ต.ค. 2022 เวลา 11:39 • สุขภาพ
ดูแลใจ | โกรธได้ โกรธดี โกรธธธธธธธ🔥
เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์โกรธ ให้โกรธได้แบบดีต่อใจ
หลายคนมองว่า “อารมณ์โกรธ” นั้นไม่ดีต่อสุขภาพจิต และพยายามจะบังคับตัวเองไม่ให้โกรธ แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะอารมณ์โกรธเป็นกลไกป้องกันตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์ มันทำให้เรารู้ว่ามีบางสิ่งบางอย่างกำลังทำร้ายจิตใจเรา
ลองจินตนาการถึงสิ่งที่ทำให้เธอโกรธดูสิ สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเรื่องที่ทำให้เธอรู้สึกไม่สบายใจ หรือสร้างความไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคงทางอารมณ์อยู่ก็ได้ เช่น เธออาจรู้สึกโกรธที่เพื่อนไม่ช่วยทำรายงานกลุ่ม เพราะสิ่งนั้นทำให้เธอรู้สึกว่า เธอเหนื่อยที่ต้องรับผิดชอบคนเดียว และเธอกังวลว่าถ้าไม่มีเพื่อนๆ ช่วย เธออาจทำออกมาได้ไม่ดีพอ
การพยายามเข้าใจอารมณ์โกรธ จะช่วยให้เธอสำรวจภาวะจิตใจ ความต้องการของตัวเอง และหันกลับมาดูแลตัวเองได้ การโกรธยังเป็นวิธีหนึ่งในการระบายความเครียด ความกดดัน และความรู้สึกแง่ลบ เพราะฉะนั้นอารมณ์โกรธ จึงสำคัญต่อมนุษย์มาก ซึ่งเราสามารถเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์โกรธจาก 4 ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้ เพื่อให้สามารถนำความโกรธมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพใจของเรา
1. ความโกรธไม่อันตรายเสมอไป
มาเปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อความโกรธกันเถอะ! จริงๆ แล้วความโกรธไม่ใช่อารมณ์ที่อันตรายเสมอไป ตัวความโกรธไม่ได้ทำร้ายผู้อื่น แต่สิ่งที่อันตรายคือ “วิธีการสื่อสารความโกรธ” ต่างหาก การแสดงออกถึงความโกรธด้วยการทำร้ายผู้อื่นทางวาจาหรือร่างกาย ทำให้เกิดบาดแผลทางอารมณ์และอาจก่อให้เกิดความรุนแรง ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ในขณะที่การแสดงออกถึงความคับข้องใจ ความขุ่นมัว ด้วยการพูดคุยกันโดยไม่ใช้ความรุนแรง จะช่วยซ่อมแซมความสัมพันธ์และทำให้สนิทสนมกันมากขึ้น เช่น เมื่อรู้สึกโกรธที่เพื่อนไม่ช่วยทำงานกลุ่ม แทนการเข้าไปต่อว่าด้วยถ้อยคำต่างๆ เราอาจจะเริ่มบทสนทนากับเพื่อนว่า “ฉันรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องทำงานชิ้นนี้คนเดียว มันทำให้ฉันรู้สึกเหนื่อย ฉันอยากให้เธอช่วยเหลือ”
2. การซ่อนความรู้สึกโกรธจะส่งผลเสียตามมา
ชุดความคิดที่ว่า “ความโกรธเป็นสิ่งที่ไม่ควรแสดงออก” ทำให้เราเลือกที่จะเก็บซ่อนความโกรธของเราไว้ แต่การซ่อนอารมณ์นี้มีผลตามมา การสะสมความโกรธอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สื่อสารและระบายออกมาจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ เช่น การนอนไม่หลับ ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า และเมื่อความโกรธไม่ถูกบรรเทาก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพอื่นๆ เช่น การกินมากเกินไป การใช้จ่ายมากเกินไป การใช้สารเสพติด ฯลฯ
เราสามารถบรรเทาอารมณ์โกรธได้ ด้วยการพูดคุยถึงความไม่สบายใจของตัวเองกับคนที่เราไว้วางใจ หรือจะลงมือคลี่คลายด้วยตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ร้องเพลง ออกกำลังกาย ทำสมาธิ หรือการพูดคุยกับนักบำบัด ก็สามารถช่วยให้คลายความโกรธที่ยากจะแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม การเลือกเผชิญกับสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธและแก้ไขมันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องเลือกวิธีการที่เหมาะสมด้วย
3. ความโกรธไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้เสมอไป
การใช้ความโกรธเพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ให้เป็นอย่างที่เราต้องการ อาจทำให้เรารู้สึกสิ้นหวัง เศร้า และผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบุคคลหรือสถานการณ์นั้นไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ก่อนเลือกจะแสดงความโกรธกับใครซักคน ให้ถามตัวเองว่า “ฉันหวังว่าจะได้อะไรจากการแสดงออกนี้” และ “ฉันจะรู้สึกอย่างไรถ้าโกรธแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
ความโกรธจะทำให้เราได้เรียนรู้ว่า รอบตัวเรานั้นมีทั้งสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ และยังมีวิธีการอื่นๆ อีกมากนอกเหนือจากการแสดงออกด้วยความโกรธ ให้เราเลือกใช้
4. โกรธแล้วไปไหน
เมื่อต้องการแสดงความโกรธหรืออารมณ์เชิงลบ วิธีเริ่มต้นคือ ให้ลองชะลอสถานการณ์ให้ช้าลง แม้จะมีใครบางคนรอคุยกับเราอยู่ แทนที่จะเดินเข้าไปเผชิญหน้าทันที ก็ขอให้หยุดนิ่งซักพัก หายใจเข้าออกลึกๆ ในขณะที่ยังมีอารมณ์โกรธ การตัดสินใจที่รวดเร็วจะส่งผลเสียมากกว่าการค่อยๆ คิด ไปช้าๆ
อีกวิธีหนึ่งคือ ลองคิดเหมือนเป็นผู้เล่นหมากรุก ที่ก่อนตัดสินใจจะแสดงออก ให้นึกภาพว่าอีกฝ่ายจะตอบโต้อย่างไร และสถานการณ์จะดูเป็นอย่างไรหลังจากนี้ แล้วหมั่นตรวจสอบตัวเองด้วยการถามว่า “ความโกรธของฉันจะทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้นหรือแย่ลง” และเมื่อต้องเริ่มสื่อสาร ให้เริ่มด้วยการใช้ประโยค “ฉันรู้สึกโกรธเพราะ…”
การบอกให้คนอื่นรู้อย่างชัดแจ้งว่า เรากำลังประสบกับอารมณ์ทางลบอยู่ และสิ่งนี้ยากที่จะพูดอย่างไร จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ฟังมีอารมณ์อ่อนลงและฟังด้วยความเอาใจใส่ เพราะรับรู้ได้ว่า เราไม่ได้มีเจตนาจะพุ่งความผิดไปที่อีกฝ่ายว่า “เธอทำให้ฉันโกรธเพราะอะไร”
เมื่อเข้าใจธรรมชาติของความโกรธและรู้วิธีจัดการมันอย่างเหมาะสม ความโกรธจะสามารถทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นได้ เพราะความโกรธเป็นสัญญาณให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความไม่สบายใจและความไม่มั่นคงของเราและจะส่งแรงให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
หากรู้ว่าสิ่งไหนหรือเรื่องอะไรที่ทำให้เราโกรธ เราจะหาวิธีรับมือกับสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์กับผู้อื่นให้ดีขึ้น เช่น เมื่อรู้สึกโกรธที่มีคนพูดหยาบคาย ให้สื่อสารสิ่งนี้กับคนรอบตัวที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย สิ่งนี้จะกลายเป็นข้อตกลงพื้นฐานร่วมกันที่ใช้ในความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนรอบตัว ว่าเราจะไม่หยาบคายต่อกัน ในขณะเดียวกันก็ขอให้พยายามเปิดใจ ทำความเข้าใจคนที่พูดหยาบคาย หรือหาวิธีหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้แทน
ความโกรธเป็นเหมือนไฟ เมื่อเราปล่อยทิ้งไว้โดยไม่จัดการให้ดี ก็อาจเป็นอันตรายได้ แต่เมื่อจัดการและใช้งานอย่างชาญฉลาด มันก็สามารถเป็นอีกเครื่องมือที่มีประโยชน์ได้เช่นกัน
อยากบอกเล่าเรื่องความโกรธและวิธีการจัดการของตัวเอง แต่ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง ลองติดต่อทีมงานเพื่อแบ่งปันกันได้ที่
m.me/achieve.org
สนใจอยากหาวิธีดูแลใจตัวเองให้แข็งแรง ตามไปที่
https://www.a-chieve.org/know-how/detail/healthy-anger
เขียน พัชรพร ศุภผล
ภาพ กิตสัน
อ้างอิง
https://bit.ly/35IPE3t
.
#MentalHealth #ดูแลใจ #สุขภาพใจ
#Anger #AngerManagement #ความโกรธ #การจัดการอารมณ์
ค้นหาตัวเอง
แนวคิด
พัฒนาตัวเอง
2 บันทึก
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย