4 ต.ค. 2022 เวลา 03:17 • ข่าว
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.วิปร วิประกษิต นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 2565 ผู้ค้นพบโรคโลหิตวิทยาชนิดใหม่ “โรคเคแอลเอฟ 1”
“นักวิทยาศาสตร์” เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่ายกย่องและควรให้ความสำคัญ เพราะงานวิจัยแต่ละชิ้นนั้นทำด้วยความมุ่งมันและทุ่มเทเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้นในทุกด้าน ในประเทศไทยของเรา ทุกปีก็จะมีการมอบ “รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีผลงานวิจัยโดดเด่น เป็นที่ยอมรับ ตอบโจทย์และสร้างคุณค่าให้แก่สังคม
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์จัดพิธีมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นขึ้นทุกปี เพื่อเป็นเกียรติแก่นักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีผลงานวิจัยดีเด่นที่สุดทางวิทยาศาสตร์ในสาขาของตน โดยอาจเป็นผลงานด้านปฏิบัติหรือทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และคณิตศาสตร์)
ซึ่งทำภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ มาจากการวิจัยค้นคว้าของตนที่ดำเนินการต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติว่าช่วยเพิ่มพูนพื้นฐานความรู้ในสาขานั้น ๆ หรือนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นยังต้องเป็นบุคคลผู้ประพฤติตนเป็นที่น่าเคารพนับถือ มีบุคลิกการวางตัวและนิสัยเป็นที่นิยม อุทิศตนให้แก่วิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องด้วยความสำนึกในการสร้างวิทยาศาสตร์เพื่อส่วนรวม
สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.วิปร วิประกษิต อาจารย์ประจำสาขาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาโดยเฉพาะโรคเม็ดเลือดแดงและโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
มีความเป็นเลิศทางวิชาการ (academic excellence) มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพดีเด่น (high quality research output) มีความสำคัญและเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ (nationally important) และเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล (globally visible) คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2565
เปิดประวัติ ศ. ดร. นพ.วิปร วิประกษิต
ศ. ดร. นพ.วิปร วิประกษิต จบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญรางวัลคะแนนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตรในวิชาอายุรศาสตร์ จากศิริราชพยาบาล โรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย ได้รับการฝึกฝนให้เป็นกุมารแพทย์และกุมารเวชศาสตร์ด้านโลหิตวิทยา
ก่อนจะไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร และได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) ในปี พ.ศ. 2545 และจบการฝึกอบรมทางโลหิตวิทยาระดับอณูพันธุศาสตร์ที่ Weatheral Institute of Molecular Medicine กับศาสตราจารย์ Douglas R. Higgs, FRS (ราชบัณฑิต) ในปี พ.ศ. 2547
หลังจากนั้นจึงกลับไปยังมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2558 การวิจัยครั้งสำคัญนั้นมุ่งเน้นไปที่การแปลความเชื่อมโยงระหว่างชีววิทยาระดับอณูพันธุศาสตร์ขั้นพื้นฐานกับการปฏิบัติทางโลหิตวิทยาในงานประจำวัน การใช้โรคที่สืบทอดกันมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียซึ่งได้เลือกใช้โรคธาลัสซีเมียเป็นต้นแบบ
ศ. ดร. นพ.วิปรได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2558 จากสภาวิจัยแห่งชาติ ด้วยผลงานการค้นพบโรคทางโลหิตวิทยาชนิดใหม่ในมนุษย์ และได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ประจำปีงบประมาณ 2564 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากการที่ได้เป็นนักวิจัยรายแรกของโลกที่ค้นพบโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมเคแอลเอฟ 1 (KLF-1)
ผลงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยและรับใช้สังคม
ศ. ดร. นพ.วิปรเป็นผู้นำในการวิจัยเพื่อผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางโลหิตวิทยาที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของภาวะซีดที่พบมากในชาวไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผลงานวิจัยมากกว่า 100 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวครอบคลุมในทุกมิติตั้งแต่การพัฒนาการตรวจวินิจฉัย การตรวจคัดกรองเพื่อการควบคุมป้องกัน การวิจัยยาใหม่ ๆ เพื่อการรักษา เช่น ยาขับเหล็ก ไปจนถึงการวิจัยในเชิงสังคม เช่น การศึกษาคุณภาพชีวิต การเข้าถึงบริการ
โดยผลงานเหล่านี้ได้รับการอ้างอิงหลายพันครั้งในระดับนานาชาติ รวมทั้งได้พัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการตรวจประเมินภาวะเหล็กสะสมในหัวใจและตับ ด้วยเครื่อง MRI ซึ่งต่อมาได้ใช้เป็นมาตรฐานเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและแม่นยำให้แก่ผู้ป่วยทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด 19 ศ. ดร. นพ.วิปรได้นำความรู้จากการทำงานวิจัยทางด้านการตรวจสารทางพันธุกรรมมาปรับใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาสตามชุมชนต่าง ๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจ โดยได้ดัดแปลงรถกระบะเป็น “รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย” ด้วยทุนส่วนตัว เพื่อสนับสนุนการตรวจเชิงรุก ให้สามารถเดินทางไปถึงชุมชนห่างไกลในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยได้
โดยออกแบบติดตั้งห้องปฏิบัติการความดันบวกที่มีระบบกรองอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสติดตั้งบนด้านหลังรถกระบะ ทำให้เคลื่อนที่ได้สะดวก ผู้ปฏิบัติงานสามารถเก็บตัวอย่างผ่านช่องถุงมือ ทำให้ไม่ต้องใช้ชุด PPE สำหรับป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งในขณะนั้นกำลังขาดแคลน และยังช่วยลดขยะอีกด้วย
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อสังคมและประเทศชาติ ศ. ดร. นพ.วิปรจึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถต้นแบบและสิทธิบัตรของ “รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563 ภายหลังการประเมินคุณภาพและการทดสอบการใช้งานโดยกระทรวงสาธารณสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดสร้าง “รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน” ให้แก่กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข สำหรับช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ
เรียบเรียงข้อมูลจาก
โฆษณา