4 ต.ค. 2022 เวลา 15:41 • ความคิดเห็น
1) ผมมองว่า “ความกล้า” เป็นพื้นฐานของ “คนดี” ในทางตรงกันข้าม “ความขี้ขลาดตาขาว” เป็นบ่อเกิดของคนชั่ว
ผมชอบข้อความนี้ครับ
”there are two kinds of people in the world — cowards and conquerors.”
คือ มีคนในโลกอยู่แค่สองประเภท — คนกล้าหาญ กับ คนขี้ขลาด
ข้อสังเกตส่วนตัวของผมคือ
“หน้า”: อัตตา หรือ ego
“ใจ”: ความกล้าหาญ
คนที่ดีจริง คือ คนที่ “หน้า” เล็ก, แต่ “ใจ” ใหญ่!
ส่วนคนขี้ขลาดจะชอบแสวงหาอำนาจ!
เพราะมี “หน้า” ใหญ่, แต่ “ใจ” เล็ก !!!
“คนขี้ขลาด” มักชอบแสวงหา “อำนาจ” เพราะอำนาจทำให้คนขี้ขลาด “รู้สึกดีกับตัวเองและเพื่อนพ้องที่ขี้ขลาดเหมือนๆกัน” เหมือนฝูงแกะที่ร้อง “แบะๆ” แล้วหลอกตัวเองว่า กำลังคำรามเหมือนสิงโต
“สิงโต” ตัวจริงเห็นเข้า ก็ได้แต่แสยะยิ้มด้วยความเวทนา!
“คนกล้าหาญ” ไม่ยึดติดกับ “อำนาจ” เพราะคนกล้าย่อมรู้ดีว่า อำนาจเป็นสิ่ง “ไม่เที่ยง” และคนขี้ขลาดชอบแย่งชิงกัน คนกล้าให้ความสำคัญกับความเสียสละเพื่อส่วนรวมและช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
ในขณะที่ “คนขี้ขลาด” ชอบรังแกคนที่มีชีวิตยากลำบาก เพราะความขี้ขลาดตาขาวเป็นปมด้อยอันยิ่งใหญ่ของคนชั่วและมันทำให้คนพวกนี้รู้สึกว่าสามารถหลอกตัวเองได้ว่าความขี้ขลาดตาขาวที่มีอำนาจมาช่วยกลบเกลื่อนคือความเข้มแข็ง?! พอเจอ “คนจริง” เข้า ก็ใจฝ่อ! ขี้คร้านจะหันหลังหนี ไปหลบใน “กระดอง” ที่เลือกเป็นที่ตาย
“เต่า” ไม่เคยสละ “กระดอง” !!!
“It is better to live one day as a lion than 100 years as a sheep.”
Benito Mussolini
2) ผมมองว่าการทำดีไม่จำเป็นต้องได้อะไรทางวัตถุและชื่อเสียงเป็นสิ่งตอบแทน เพราะคนทำดีได้ความสบายใจในฐานะผู้ให้อยู่แล้ว คนที่ทำดีมากๆจิตใจจะสงบมาก จิตสงบมากจะมีปัญญามาก มีปัญญามาก จะแก้ปัญหาได้มาก แก้ปัญหาได้มาก ทุกข์ก็จะน้อย ทุกข์น้อยๆ ก็มีกำลังไปทำดีได้อีกมากๆ เป็นวัฎจักรอยู่เช่นนี้
ถึงคนทำดีจะไม่มีวัตถุทางโลกมาก ไม่มีชื่อเสียงเกียรติยศ แต่คนทำดีก็ไม่ได้เดือดร้อนดิ้นรนอะไร เพราะคนทำดีที่มีปัญญาเห็นถึงความไม่เที่ยงของ ชื่อเสียงเกียรติยศวัตถุทางโลกแบบนั้นอยู่แล้ว
3) คนชั่วที่ได้ “ดี”, แน่นอนว่า “ดี” ในที่นี้คงหนีไม่พ้น “ดี” ในทางโลก ซึ่งก็คือ ชื่อเสียงเกียรติยศเงินทอง ที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม
จิตของคนชั่วที่มีพื้นฐานคือความขี้ขลาดนั้นมันชี้ลงทางอบายภูมิตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่แล้ว “ดี” ทางโลกที่ได้มาจึงเป็น “ดี” จอมปลอมที่ไม่เที่ยง เพราะจิตที่แสวงหา “ดี” จอมปลอมเหล่านั้นเต็มไปด้วย โลภ, โกรธ, หลง ซึ่งเปรียบเหมือน GPS นำจิตลงสู่ภพภูมิเบื้องตำ่เมื่อสิ้นชีวิต
และถึงแม้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ สามสหาย โลภ, โกรธ, หลง ก็จะเผาจิตของคนชั่วให้มอดไหม้ หาความสงบไม่ได้ ถึงแม้จะยิ้มออกมา ใครเห็นเข้าก็ดูออกว่าเป็นรอยยิ้มจอมปลอมของคนขี้ขลาด มีแต่พวกบัวเหล่าล่างๆด้วยกันที่เห็นดีเห็นงามเห็นกงจักรเป็นดอกบัวเหมือนๆกันเท่านั้น ที่จะจูงมือกันลง...อบายภูมิ!
เมื่อท่านสาธุชน เห็นคนชั่วที่ได้ “ดี” จงสงสารในความด้อยปัญญาของบัวเหล่าล่างๆ เหล่านั้น ซึ่งวันหนึ่งจะเป็นอาหารของ “เต่าปลา” และจงอย่าได้อิจฉาบัวเหล่าล่างๆ
พวกนั้นเลย!
4) อีกคำกล่าวหนึ่งที่ผมชื่นชอบคือ
”You can wake a man only if he is really asleep. No effort that you make will produce any effect upon him if he is merely pretending.”
มหาตมะ คานธี,
เราปลุกได้เฉพาะคนที่หลับจริงๆ เท่านั้น คนที่แกล้งทำเป็นหลับ เราไม่มีวันปลุกเขาได้เลย
คนที่แกล้งหลับในมุมมองของผม คือ คนขี้ขลาดครับ
5) ความเห็นส่วนตัวครับ
- คนดี “ทางโลก” มี “ศีลห้า” เป็นจุดสูงสุด
- คนดี “ทางธรรม” มี “ศีลห้า” เป็นจุดเริ่มต้น
6) ผมเคยได้ยินว่า สิ่งที่มนุษย์เสพติดมากที่สุดคือ “อำนาจ” และเมื่อผมศึกษาข้อมูลทางพระพุทธศาสนาที่นอกเหนือจาก “ดอกบัวสี่เหล่า” ที่ใช้จำแนกประเภทของมนุษย์แล้ว ก็ยังมี การจำแนกได้เป็น
6.1) มนุสสเนรยิโก มนุษย์สัตว์นรก คือ มนุษย์ผู้ดุร้าย หยาบคาย ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจี้ปล้นเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน เบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่นทรมานผู้อื่นสัตว์อื่นให้เดือดร้อน เป็นคนไร้ศีลธรรม ไม่มีศีล 5 ประจำตัวเป็นมนุษย์แต่ชื่อ ส่วนความประพฤติทางกาย วาจา ใจนั้นเลวทราม ดุร้ายหยาบคายเหมือนสัตว์นรก ฉะนั้น
6.2) มนุสสเปโต มนุษย์เปรต คือ มนุษย์ผู้มากไปด้วยความโลภ มากไปด้วยตัณหา ชอบลักเล็กขโมยน้อยโลภเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน แย่งชิงวิ่งราวเป็นต้น
6.3) มนุสสติรัจฉาโน มนุษย์สัตว์เดรัจฉาน คือ มนุษย์ที่ขวางศีลขวางธรรม มีโมหะคือความหลงมาก ไม่รู้จักบาป ไม่รู้จักบุญ ไม่รู้จักคุณ ไม่รู้จักโทษ ไม่รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น
6.4) มนุสสภูโต มนุษย์แท้ๆ คือ เป็นมนุษย์เต็มตัว ได้แก่ มนุษย์รักษาศีล 5 เป็นนิตย์ไม่ขาด ไม่ประมาทต่อศีลเพราะศีลเป็นมนุษยธรรม คือเป็นธรรมประจำมนุษย์ ธรรมที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ มนุสสภูโต แปลว่า มนุษย์แท้ๆ เพราะมีคุณธรรมของมนุษย์คือศีล
6.5) มนุสสเทโว มนุษย์เทวดา คือ มนุษย์ผู้รักษาศีล 5 เป็นนิตย์ แล้วยังได้พยายามบำเพ็ญกุศลเพิ่มพูนบารมีอยู่เรื่อยๆ เช่น ให้ทาน ฟังธรรม เรียนธรรม ปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์ มีหิริคือความละอายต่อบาป มีโอตตัปปะ คือความสดุ้งกลัวต่อผลแห่งบาปอยู่เสมอ เรียกว่า เป็นผู้มีจิตใจสูงดุจเทวดา
คือเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลาง “มนุษย์หลากหลายประเภท” โดยที่ “กายเหล่านั้น” เป็นมนุษย์ก็จริง แต่ “จิตใจ” แสดงออกถึง “ที่มาที่ไป” ของมนุษย์เหล่านั้น โดยจิตที่มุ่งเน้นการแสวงหา “อำนาจ” ก็คงเป็นของจิต “ฝ่ายตำ่” อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะจิตที่เบิกบานแจ่มใสมักเป็นจิตของ “ผู้ให้” ไม่ใช่จิตของ “ผู้แย่งชิง” ซึ่งถึงแม้การแย่งชิงจะทำให้ “ได้มา” สุดท้ายก็จะถูก “ปลาตัวที่ใหญ่กว่า” คว้าเอาไปกิน
ไม่ต้องถึงขั้นทำสงครามหรอกครับ แค่คุณสังเกตพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน คุณก็พอมองออกแล้วว่า คนที่นั่งในรถนั้นๆเป็น “มนุษย์ประเภทไหน”
โฆษณา