10 ต.ค. 2022 เวลา 11:00 • ธุรกิจ
รู้จัก “AMARC” ผู้นำธุรกิจ ตรวจสอบวิเคราะห์สินค้า ที่ใกล้ตัวคนไทย กำลังจะเข้า IPO
AMARC X ลงทุนแมน
หากพูดถึง ธุรกิจตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตร
ได้ยินแค่ชื่อ ก็น่าจะทำให้หลายคน สงสัยว่ามันคือธุรกิจอะไร
แต่จริง ๆ แล้ว ธุรกิจนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของทุกคนบนโลกใบนี้
1
รู้หรือไม่ว่า อาหาร, สินค้าเกษตร, เครื่องสำอาง ก่อนจะวางขายทั่วประเทศ หรือส่งออกไปยังทั่วโลก ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างหลายมิติ จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์
เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้านั้น มีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้บนฉลาก และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
จากนั้น เจ้าของสินค้าจะนำข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ
มาขอขึ้นทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินธุรกิจ
ที่น่าสนใจ ธุรกิจนี้ในบ้านเรามีไม่ถึง 10 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ หรือไม่ก็หน่วยงานของรัฐบาล จะมีเพียงบริษัทเดียวในธุรกิจนี้ ที่มีสถานะเป็น “เอกชนสัญชาติไทย”
บริษัทที่ว่าคือ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน)
หรือ “AMARC” ที่แม้จะเจอบริษัทคู่แข่งยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ
แต่ก็สามารถมีรายได้เติบโตต่อเนื่องปีละ 10-20% เลยทีเดียว
ล่าสุด บริษัทแห่งนี้ได้เตรียมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 120 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 28.57% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เปิดขาย
เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ให้แก่วงการตลาดหลักทรัพย์
เพราะนี้คือบริษัทเอกชนรายแรกของเมืองไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับห้อง Lab ตรวจวิเคราะห์
ที่เดินทางเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
ดร.ชินดนัย ไชยยอง กรรมการผู้จัดการ “AMARC” เล่าให้ลงทุนแมนฟังว่า..
การเข้าตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ จะทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักมากขึ้น พร้อมกับขยายไปยังธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็น เมกะเทรนด์ ของโลก
หลังจาก IPO แล้ว “AMARC” จะเติบโต และแข็งแกร่งกว่าเดิมมากแค่ไหน ?
ลงทุนแมน จะสรุปบทสัมภาษณ์ของ ดร.ชินดนัย ให้ฟังแบบเข้าใจง่าย ๆ
รู้หรือไม่ จุดเริ่มต้นของบริษัท “AMARC” มาจากที่ในอดีต โรงพยาบาลลาดพร้าว
มีห้อง Lab ที่เกี่ยวกับอาหารการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ และการเกษตร
พร้อมกับมีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ฝีมือดีจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันในเวลานั้น ห้อง Lab ยังมีน้อย
ตรงกันข้ามกับที่มีเจ้าของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ในเมืองไทย กำลังต้องการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ
ทำให้ธุรกิจนี้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จนในเวลาต่อมา มีการแยกธุรกิจการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตรและอาหารออกมาให้ชัดเจน จนกลายมาเป็นบริษัท “AMARC”
เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและตอบสนองต่อความต้องการ ของลูกค้าที่มาใช้บริการได้ดี พร้อมกับขยายบริการเป็น 3 ธุรกิจ
1. ธุรกิจบริการตรวจวิเคราะห์-ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาหาร, ปัจจัยผลิตทางการเกษตร, สิ่งแวดล้อม,ยา, อาหารเสริม, เครื่องสำอาง
2. ธุรกิจบริการสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์ในโรงพยาบาล, โรงงานผลิตสินค้าต่าง ๆ
3. ธุรกิจบริการตรวจสอบและรับรองระบบทั้ง ฟาร์มเกษตรและประมง และในโรงงาน
พูดง่าย ๆ คือ บริษัทแห่งนี้ดูแลและตรวจสอบสินค้าและระบบการจัดการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น
- ต้นน้ำ คือ ธุรกิจตรวจสอบคุณภาพฟาร์มเกษตรและประมง ที่จะตรวจสอบวัตถุดิบและระบบการจัดการของฟาร์ม ก่อนนำเข้าไปสู่โรงงานต่าง ๆ
- กลางน้ำ คือ การตรวจสอบคุณภาพการผลิตสินค้าของโรงงานนั่นเอง
- ปลายน้ำ คือ การตรวจสอบอาหารและสินค้าต่าง ๆ ก่อนส่งไปถึง มือผู้บริโภค หรือเพื่อการส่งออก
พอจะเห็นภาพแล้วว่า “AMARC” มีบริการแบบ One-Stop Service
ที่หากลูกค้า 1 แบรนด์เข้ามาใช้บริการ ก็สามารถใช้บริการได้ครบจบในทีเดียว
จนทำให้ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 6,000 ราย และมีลูกค้ารายใหญ่ระดับประเทศ ทั้งในกลุ่มบริษัทอาหาร, ค้าปลีก และอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม หากมองในเชิงลึก ธุรกิจนี้ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่างชาติ หรือบริษัทของภาครัฐ
ก็มีบริการครอบคลุม และมีคุณภาพในการตรวจสอบที่แทบจะไม่แตกต่างกันมากนัก
 
คำถามคือ “AMARC” จะสร้างความ “ต่าง” ที่ชนะใจลูกค้าได้อย่างไร ?
“ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ลูกค้ายังไม่เชื่อมั่นและมักใช้บริการจากบริษัทต่างชาติ แต่พอลูกค้าลองมาใช้บริการ
พบว่า การให้บริการของเราไม่แพ้ต่างชาติ แต่สิ่งที่ทำให้เราเหนือกว่า คือเราเป็นบริษัทเอกชนที่มีความคล่องตัว และมีการทำงานที่ตอบสนองและให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำได้อย่างใกล้ชิดกว่า บริษัทต่างชาติ และบริษัทของรัฐ”
เหตุผลเหล่านี้เองที่ทำให้ตลอดระยะเวลา 18 ปี บริษัทมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง 10-20% ในทุก ๆ ปี
ปี 2562 บริษัทมีรายได้ 198 ล้านบาท
ปี 2563 บริษัทมีรายได้ 220 ล้านบาท
ปี 2564 บริษัทมีรายได้ 248 ล้านบาท
ส่วนปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ 300 ล้านบาท เติบโต 21% ซึ่งมาจากสถานการณ์โควิด 19 ที่คลี่คลายลง
อย่างไรก็ตาม ดร.ชินดนัย เชื่อว่าบริษัทยังสามารถเติบโตได้อีก ทั้งในแง่จำนวนลูกค้า และการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็น “เมกะเทรนด์” ของโลก
ทำให้การ IPO ครั้งนี้ นอกจากจะนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้สถาบันการเงิน
และใช้เป็นสภาพคล่องในบริษัทแล้วนั้น ยังทำให้ “AMARC” ได้ประโยชน์เพิ่มอีก 3 ทาง
ผลประโยชน์แรก คือ บริษัทจะเป็นที่รู้จัก และมีภาพลักษณ์ Branding ที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งจะทำให้มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ บริการตรวจวิเคราะห์อาหารผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่คิดเป็น 80% จากรายได้ทั้งหมดของบริษัท
ผลประโยชน์ที่สองของการ IPO ครั้งนี้ นอกจากจะทำให้บริษัทมีเงินทุนขยายเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการและศูนย์โลจิสติกส์ไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อรองรับลูกค้า ที่ต้องการส่งตัวอย่างสินค้า มายังศูนย์ปฏิบัติการแล้วนั้น
“AMARC” กำลังมีธุรกิจใหม่ที่เป็น “เมกะเทรนด์” คือ ตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
หรือ CO2 ที่เวลานี้ทุกบริษัททั่วโลก กำลังมุ่งสู่ถนนสายเดียวกันคือ การเป็นองค์กร Net Zero
โดยธุรกิจใหม่นี้ จะเป็นการตรวจสอบการปล่อยก๊าซ CO2 ในหลายรูปแบบ
เช่น ในโรงงานและกระบวนการผลิตสินค้าต่าง ๆ, แพ็คเกจจิ้งของสินค้า เป็นต้น
เพื่อให้บริษัทสามารถนำผลการทดสอบที่ได้ ไปใช้ในเชิงธุรกิจและการทำตลาด
ผลประโยชน์ที่สาม เมื่อมีจำนวนลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้นและขยายไปยังธุรกิจใหม่ ๆ
บริษัทก็ต้องเปิดรับสมัครนักวิทยาศาสตร์ที่เก่ง ๆ เข้ามาร่วมงาน เพื่อสร้างการเติบโตไปพร้อม ๆ กัน
ทีนี้ ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้บริษัทเล็ก ๆ อย่าง “AMARC” เติบโตในธุรกิจนี้
จนสามารถ IPO ได้ ดร.ชินดนัย ทิ้งท้ายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ..
“ในอดีตเรามีเงินทุนน้อยกว่าบริษัทต่างชาติในธุรกิจนี้
แต่ทุกครั้งที่เราตั้งเป้าหมายในธุรกิจ คือ เราต้องมีบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า และบริการที่เหนือกว่าคู่แข่ง
ถ้าผู้บริหารและพนักงานทุกคนไม่คิดแบบนี้ เราก็คงไม่ประสบความสำเร็จ เหมือนอย่างวันนี้”
ต้องบอกว่าเป็นวิธีคิดที่มาถูกทาง เมื่อวันนี้ “AMARC” มีฐานลูกค้าประจำที่ใช้บริการ
ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปใช้บริการของบริษัทคู่แข่ง คิดเป็นส่วนใหญ่ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด
โฆษณา