6 ต.ค. 2022 เวลา 09:48 • ไลฟ์สไตล์
ชวนส่อง "เบียร์ยุโรป" ที่มีชื่อคุ้นหูเหล่านี้ มาจากประเทศไหนกันนะ ?
พักจากเรื่องราวของแก๊งชีส แว๊บมาส่องสไตล์ของเบียร์ ที่มักจะคุ้นหูคุ้นตาของทางฝั่งยุโรปกันบ้างดีกว่า ! 🍺🇧🇪 🇬🇧 🇩🇪 🇨🇿
วันนี้ไม่เกริ่นให้มากความ ไปรับชมและรับอ่านกันเลยดีกว่าคร้าบผม !
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากอ่านเรื่องราวเกร็ดความรู้สบายสมองเกี่ยวกับเรื่องราวอื่น ๆ ของเบียร์ยุโรป สามารถรับอ่านกันด้านล่างได้เลยคร้าบ 😊🙏
[ ทำไมเบียร์ยุโรป ถึงมีรูปโลโก้มีความเกี่ยวข้องกับ “บาทหลวง” กันเยอะนะ ? 😲 ]
สำหรับชาวยุโรปเนี่ย
เบียร์ กับ บาทหลวง ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เคยคู่กัน
(คล้ายกับเรื่องไวน์ในศาสนาคริสต์ ที่เป็นตัวแทนโลหิตจากพระเจ้า)
สำหรับเบียร์แล้ว จะไม่ได้มีเรื่องราวเกี่ยวกับโลหิตหรือส่วนไหนของพระเจ้า…แบบไวน์
แต่ในอีกทางหนึ่ง “เบียร์” เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยหารายได้ (ไม่แสวงกำไร) เข้าสู่โบสถ์ นั่นเอง
เราอาจจะใช้คำว่าเป็น ร่องรอยแห่งอารยธรรมของการผลิตเบียร์โดยวัดและบาทหลวง ที่สืบถอดกันมาเป็นพันปี
ถ้าอ่านแล้วงง งั้นไปอ่านเรื่องเต็มกันสักนิดนึง
คือ มันเป็นอย่างนี้ (ยาวนิดนึงนะเพื่อน ๆ🥲🤓)
ในยุโรปสมัยก่อน (ก่อนศตวรรษที่ 11) เป็นยุคสมัยที่ผู้คนกำลังนิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
(ว่ากันว่าน้ำดื่มสะอาด ๆ เนี่ย ยังหาพบได้ยากกว่า เครื่องดื่มอย่างไวน์และเบียร์ … พวกเราเข้าใจว่าน่าจะเป็นคำเปรียบเปรย 😵‍💫🤤)
อย่าง ไวน์ ก็เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยม จุดหนึ่งคือเป็นเพราะความเชื่อและแรงสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ 🍷⛪
แต่ว่าไวน์เนี่ย… อย่างที่เพื่อน ๆ เคยอ่านกันในโพสก่อน ๆ
องุ่นปลูกก็ยาก ขั้นตอนในการผลิตบ่มก็ไม่ง่าย… แถม เรื่องตรารับรองคุณภาพหรือเรื่องของชื่อเสียงโรงบ่ม.. โอโห การแข่งขันสูงมาก (ต้นทุนก็สูง)
เรียกได้ว่า ถ้าไม่ได้เป็นผู้ผลิตไวน์จากฝรั่งเศสหรืออิตาลีเนี่ย…
อาจจะต้องไปหาช่องทางทำธุรกิจเครื่องดื่มอื่น ๆ เลย น่าจะดีเสียกว่า
นั่นจึงทำให้ประเทศในยุโรปอย่างเช่น เบลเยียม เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ นิยมหันมาผลิตเบียร์ ที่ทำได้ไม่ยาก(เท่าไวน์)
.
ในสมัยก่อน (ศตวรรษที่ 7-9) คณะสงฆ์ในยุโรปเอง ก็ต้องการรายได้มาบำรุงโบสถ์ หรืออย่างน้อยก็นำเงินมาพัฒนาศาสนาและคุณภาพชีวิตของบาทหลวง
คณะสงฆ์ในประเทศเบลเยียมหรือเยอรมนี ก็ต้องหันมาผลิตเบียร์ขาย หารายได้เพิ่มเติม (แต่ไม่ได้ขายเพื่อทำกำไร เพียงแต่นำเงินที่ได้มานำไปสร้างกุศลต่อ) 🍺⛪
กลุ่มนักบวชนิกายโรมันคาทอลิคบางส่วน ที่ถือคติของนักบุญเบเนดิกต์ ที่ว่า “Ora et labora” แปลง่าย ๆ ว่า “Pray and work”
ซึ่งบาทหลวงกลุ่มนี้ จะมีมุมมองว่า การบวชในโลกของพระกับโลกของคนทั่วไป มันคือโลกเดียวกัน 1⃣ 🌏
(กลุ่มนักบวชนิกายโรมันคาทอลิคเหล่านี้ ก็จะมีชื่อที่คุ้นหูคุ้นตา อย่างเช่น “ทราปปิสต์ (Trappist)” ซึ่งปรากฎอยู่บนฉลากเบียร์บ่อย ๆ แต่ว่าเราขออนุญาตไม่พูดถึงหรือชี้นำไปยังแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งนะคร้าบ)
.
ถึงแม้ว่ายุโรปจะเกิดสงครามปฏิวัติหลายครั้ง หรือกฎหมายเรื่องการดื่มสุราหรือยาเสพติดต่าง ๆ
แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่คณะสงฆ์จำเป็นต้องส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ก็คือสูตรและวิธีการผลิตเบียร์ ⛪🍻
นั่นจึงทำให้ในปัจจุบัน เรายังคงเห็นเบียร์โลโกบาทหลวงผ่านตากันอยู่พอสมควร
แต่ว่าทุก ๆ แบรนด์ที่ราเห็น อาจจะไม่ใช่แบรนด์ใหม่แต่อย่างใด
☝️ เพราะว่าในปี 1997 วัดของบาทหลวงที่เคยได้ใช้โลโกผลิตเบียร์ (พวกกลุ่ม Trappist, Leffe, Abbey, Grimbergen) ประมาณ 14 ยี่ห้อ ในลงนามทำข้อตกลง (ข้อตกลงชื่อว่า ITA) เพื่อป้องกันบริษัทที่ทำการค้าโดยใช้ชื่อเสียงของ Trappist นำไปแสวงหากำไรผิดวัตถุประสงค์ นั่นเองคร้าบ
คือในข้อตกลงก็จะระบุกฎระเบียบในการผลิตมากมายหลายข้อเลยละนะ… (เช่น ต้องผลิตในเขตวัดเท่านั้น, ข้อกำหนดเรื่องการไหลผ่านของรายได้, ข้อกำหนดห้ามทำโปรโมชั่นหรือการตลาด 🚫)
1
ปล. กลุ่มวัด Trappist เหล่านี้ เขาก็ไม่ได้หารายได้จากการผลิตแค่เบียร์นะคร้าบ แต่ว่าอาหารอื่น ๆ ที่เป็นจุดเด่นของยุโรป เช่น ชีส ไวน์ อาหาร สมุนไพร
[ 🤫🤭 อย่าบอกนะว่า “เบียร์” ถูกค้นพบโดยความบังเอิญ เหมือนไวน์ ? ]
สำหรับเพื่อน ๆ ที่อ่านอัลบั้มไวน์โลกเก่าของพวกเราไปแล้ว ก็คงจะพอคุ้นตากับเรื่องราวต้นกำเนิดของไวน์
ซึ่งค้นพบโดยความบังเอิญของมนุษย์ ที่ไปเจอองุ่นที่ตกลงมาในแอ่งดิน แล้วเกิดการหมักตัวเนอะ
.
แล้ว “เบียร์” ละ ?
เบียร์ไม่ใช่ผลไม้หมัก… แล้วใครเป็นคนไปเจอมาได้ละ ? บังเอิญอีกแล้วเหรอ ?
ที่เรามักจะเห็นว่า เบียร์ มักจะมีชื่อเสียงมาจากทวีปยุโรป.. แปลว่าชาวยุโรปเป็นผู้ค้นพบเหรอ ?
แล้วเบียร์กับไวน์ อะไรถูกค้นพบก่อนกัน ?
ถ้าถามว่าอะไรถูกค้นพบก่อนกันเนี่ย (อ้าว..ถามเองตอบเอง อีกแล้วคร้าบ ฮ่า ๆ 😅😁)
สำหรับพวกเราจะขอตอบได้ว่า ถูกค้นพบพร้อม ๆ กัน แต่ต่างสถานที่ ต่างวัฒนธรรม
(แต่หากอ้างอิงตามแหล่งข้อมูลที่พวกเราอ่านมา ส่วนใหญ่จะบอกว่า “เบียร์” ถูกค้นพบมาก่อนไวน์)
ว่ากันว่า เบียร์ ถูกค้นพบช่วงประมาณ 10,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณช่วงยุคหินใหม่ (หรืออาจไปไกลกว่านั้นอีก)
ในสมัยนั้นมนุษย์เพิ่งรู้จักกับการล่าสัตว์และเก็บเกี่ยวธัญพืชป่า
ซึ่งบริเวณที่มีบันทึกเกี่ยวการเก็บธัญพืชป่าที่เก่าแก่ที่สุด ก็คือ บริเวณวงโค้งอันสมบูรณ์ (แถวประเทศอียิปต์ ยาวไปจนถึงบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน)
🤓 แรกเริ่มเดิมที มนุษย์โบราณใช้ธัญพืชป่าในการประกอบอาหาร (ทำเป็นข้าวต้มหรือโจ๊ก)
ซึ่งข้อดีที่สำคัญของเมล็ดธัญพืชคือ เก็บรักษาไว้ได้นาน (เพราะมนุษย์โบราณไม่มีแหล่งอาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง จะเน้นการเดินอพยพย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ)
พอพวกเขาต้องแบกเมล็ดธัญพืชเดินทาง ผ่านร้อนผ่านฝนมา กินทิ้งกินเหลือมาตลอด
ก็เลยทำให้มนุษย์เริ่มสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเมล็ดธัญพืชต้มที่เหลือทิ้งไว้ ว่ามีความหวานมากขึ้น รวมไปถึงเมล็ดธัญพืชที่เก็บไว้ในหลุม โดนฝนตกเข้าไป ก็เริ่มมีรูปร่างเปลี่ยนไป
ก่อนที่ในเวลาต่อมา มนุษย์จะเริ่มรู้จักวิธีการถนอมอาหาร นั่นก็คือ “การหมัก” 🤩
เบียร์เนี่ย เค้าจะไม่ต้องเก็บหมักในเครื่องปั้นดินเผาแบบไวน์องุ่น
กล่าวคือ ธัญพืชอย่างข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี เก็บง่าย หมักง่าย ไม่เรื่องเยอะ หมักในอ่างหมักในหลุมก็ได้แล้ว
(และตรงนี้เอง จึงทำให้นักโบราณคดีอ้างอิงไปว่า มนุษย์ต้องรู้จักเบียร์ก่อนไวน์สิ เพราะสมัยดึกดำบรรพ์แบบนั้น พวกเขายังไม่รู้วิธีการปั้นดินเผาเลย 👨‍🔬✋)
ก่อนที่ต่อมามนุษย์จะเริ่มเรียนรู้การบดเมล็ดธัญพืช และหมักพร้อมปรุงแต่งกลิ่นและรสกับพืชไม้เลื้อยในวงกัญชาที่หาได้ง่ายอย่าง “ฮอปส์ (Hops)” รวมไปถึงการใช้ยีสต์ในการหมักบ่มเพื่อยืดอายุการเก็บใช้งาน
จนกระทั่งมนุษย์ได้รู้จักกับ “เบียร์” หรือน้ำอำพันสีทองแห่งความสุข 😋🍺
จากร่องรอยของซากการแกะสลักโบราณ จึงทำให้นักโบราณคดี สันนิษฐานไปได้ว่า มนุษย์กลุ่มแรกที่ค้นพบน้ำดื่มสีทองอำพันนี่ คือกลุ่ม กลุ่มอารยธรรมอิยิปต์โบราณ และกลุ่มเมโสโปเตเมีย (กรีกและโรมัน)
ว่ากันว่า ในช่วงที่อารยะธรรมอียิปต์โบราณกำลังรุ่งเรืองเนี่ย
พวกเขาดื่มเบียร์แทนน้ำเปล่า
หรือแม้แต่ คนงานที่ก่อสร้างปีรามิดแห่งกิซา ก็ยังดื่มเบียร์วันละ 4 - 5 ลิตร เพื่อคลายเหนื่อย…
(แต่พวกเราก็สงสัยอยู่ว่า แค่ภาพแกะสลัดบนผนังหรือซากหิน มันบอกได้ขนาดนี้เลยเหรอ…ฮ่า ๆ 😅)
กลับมาที่คำถามว่า เบียร์ถูกค้นพบโดยความบังเอิญ อีกแล้วเหรอ ?
คงต้องบอกว่า เป็นความบังเอิญที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับการค้นพบ “ชีส” ที่พบโดยบังเอิญจากเด็กที่เก็บนมแพะบนหลังอูฐจนจับตัวกลายเป็นชีสเคิร์ด
ก็พอหอมปากหอมคอกันไปเช่นเคย
หวังว่าคงจะไม่ยาวเกินไปนะคร้าบ (เพื่อนผู้อ่านคงคิดในใจว่า “แค่กวาดลากเมาส์จนมาจบบทความ ก็รู้แล้วว่า…ยาววว ฮ่า ๆ ไม่ต้องมาหลอกให้อ่าน 😂”)
จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่แค่ไวน์ที่จับคู่ทานกับชีสแล้วสนุกนะ
แต่ว่าเบียร์หรือเอล ก็สามารถจับคู่กับชีสทานได้เพลิน ๆ ไม่แพ้กัน
ไว้เดี๋ยวพวกเราจะรวบรวมแล้วจัดทำมาให้เพื่อน ๆ รับชมกันต่อนะ !🥰🙏
แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
- หนังสือ “Beer Tasting Quick Reference Guide” โดย Jeff Alworth
- หนังสือ “Drinkology Beer: A Book About the Brew” โดย James Waller
- หนังสือ “TASTING Beer” โดย Randy Mosher
โฆษณา