Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandCase
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 ต.ค. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
UNIQLO, H&M, ZARA เจ้าโลกวงการเสื้อผ้า ที่เติบโตมา คนละสไตล์
ถ้าให้พูดถึงชื่อแบรนด์เสื้อผ้าสัก 3 แบรนด์
หลายคนน่าจะนึกถึงชื่อ UNIQLO, H&M, ZARA
1
ทั้ง 3 แบรนด์ ประสบความสำเร็จระดับโลกเหมือนกัน
แต่เติบโตมาในเส้นทางที่แตกต่างกันไป
ทั้งจุดเริ่มต้น การผลิตเสื้อผ้า และสินค้าที่ออกมา
แต่ละแบรนด์มีความน่าสนใจในแบบฉบับของตัวเอง อย่างไร ?
BrandCase จะเล่าให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
ย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี 1800 การจะผลิตเสื้อผ้าสัก 1 ชุด จะต้องใช้เวลานานในการตัดเย็บ ทำให้เสื้อผ้าแฟชั่นในสมัยนั้น มีความเชื่องช้า และใช้เวลานานในการผลิต
แต่พอมาถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เครื่องตัดเย็บเสื้อผ้า ได้ถูกคิดค้นขึ้นมา เสื้อผ้าจึงสามารถผลิตออกมาได้อย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมากขึ้น
1
โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้มีร้านเสื้อผ้าที่สามารถตามเทรนด์แฟชั่นได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขายเสื้อผ้าได้ในราคาถูก
จนเป็นแรงบันดาลใจให้คุณ Erling Persson นักธุรกิจชาวสวีเดน วัย 30 ปี ที่ได้ไอเดียในการทำธุรกิจ หลังจากการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา
1
โดยเริ่มต้นทำธุรกิจเปิดร้านขายเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิง โดยใช้ชื่อร้านว่า Hennes
ในภาษาสวีเดนมีความหมายว่า “สำหรับเธอ” โดยเปิดให้บริการในปี 1947
จนมาถึงช่วงทศวรรษ 1960s แฟชั่นในยุคนั้น เริ่มเข้าถึงคนทั่วไป
การแต่งกายได้กลายเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงตัวตนของผู้สวมใส่ จึงทำให้ผู้คนหันมาบริโภคเสื้อผ้ามากขึ้น
ในช่วงเวลานั้น Hennes ได้รวมกิจการกับร้านขายอุปกรณ์ล่าสัตว์ ที่ชื่อ Mauritz
จึงได้เป็นชื่อร้านใหม่ว่า Hennes & Mauritz หรือ H&M
และได้เริ่มต้นจำหน่ายเสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย และเด็ก
จึงทำให้แบรนด์ H&M เป็นจุดเริ่มต้นของเสื้อผ้าแฟชั่น ที่สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย
ต่อมาในปี 1975 แบรนด์ ZARA ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยคุณ Amancio Ortega ซึ่งเป็นชาวสเปนที่เคยรับจ้างเย็บเสื้อผ้ามาก่อน
โดยแบรนด์ ZARA จะใช้กลยุทธ์ในการออกเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่อย่างรวดเร็ว และสดใหม่ตามเทรนด์ของแฟชั่น
ZARA จึงสามารถผลิตสินค้า และส่งถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
จนในปี 1990 นิตยสาร New York Times ได้กล่าวถึงแบรนด์ ZARA ว่าเป็นผู้บุกเบิก Fast Fashion เป็นครั้งแรก
ซึ่งหมายความว่า สินค้าที่ผลิตออกมาอย่างรวดเร็วตามกระแสแฟชั่น และผู้คนสามารถซื้อได้ในราคาถูก
โดย ZARA เลือกที่จะผลิตเสื้อผ้าของตัวเอง ตามเทรนด์ของแฟชั่น ที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว
แต่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ก็ยังมีแบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ขอเน้นเรื่องแฟชั่นตามกระแส
แต่ขอเลือกผลิตเสื้อผ้าแบบ Casual Wear ที่ทุกคนสามารถสวมใส่ได้ในทุก ๆ วัน
โดยขอเน้นเรื่องความเรียบง่าย สไตล์มินิมัล ซึ่งแบรนด์นั้นก็คือ “UNIQLO”
UNIQLO เป็นแบรนด์ใหม่ที่คุณ Tadashi Yanai ตั้งใจปลุกปั้น จากร้านตัดสูทของคุณพ่อ
โดยได้เปิดร้านแรกในชื่อ Unique Clothing Warehouse ในปี 1984 ที่เมืองฮิโรชิมะ ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “UNIQLO” ที่เรารู้จักกัน
ในส่วนของชื่อบริษัท ที่มีคำว่า Fast Retailing นั้น
ก็มาจากการที่เขาต้องการให้ลูกค้า เข้ามาเลือกซื้อเสื้อผ้าได้อย่างง่าย ๆ และรวดเร็ว เหมือนกับการเลือกซื้ออาหาร Fast Food ในร้าน McDonald’s
ในเวลาต่อมาคุณ Tadashi Yanai ก็ได้แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ จากเจ้าของเสื้อผ้าแบรนด์ Giordano ที่ผลิตเสื้อผ้าคุณภาพดี ในราคาที่ไม่ต้องแพงจนเกินไป
ทีนี้เราก็พอจะเห็นได้ว่า แบรนด์เสื้อผ้ารายใหญ่ทั้ง 3 เจ้านั้น ล้วนมีจุดยืน
ในการออกแบบเสื้อผ้าที่แตกต่างกัน และเจ้าของแบรนด์ ก็สามารถนำพาแบรนด์ของตัวเองออกไปตีตลาดทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว
มาถึงตรงนี้ ก็น่าสงสัยว่า เราจะดิไซน์ และผลิตเสื้อผ้าในแบรนด์ของตัวเอง
ส่งไปตามร้านค้าต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างไร ?
- H&M จะมีการจ้างดิไซเนอร์เก่ง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก มาร่วมออกแบบเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่ ๆ
1
โดยใช้แรงบันดาลใจจากเทรนด์แฟชั่นในปัจจุบัน และแฟชั่นในยุคก่อน ๆ มาออกแบบให้เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่ใส่แล้วดูดี ในราคาสบายกระเป๋า และเหมาะกับคนทุกระดับ
นอกจากนี้ ก็ยังมีการออกแบบคอลเลกชันเสื้อผ้าร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ ด้วย เช่น Coca-Cola, Harry Potter
โดย H&M จะไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตนเอง แต่จะผลิตสินค้าโดยการจ้างโรงงานทั่วโลก ในการผลิตเสื้อผ้าตามที่ออกแบบไว้ทั้งหมด
ปัจจุบันมีโรงงานที่รับจ้างตัดเย็บให้กับ H&M กว่า 1,519 แห่งทั่วโลก โดยโรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประเทศจีน และบังกลาเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีค่าแรงถูก
- ZARA จะมีการติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบเรียลไทม์ และเช็กข้อมูลจากยอดขาย
เพื่อนำมาวิเคราะห์ และคาดการณ์เทรนด์แฟชั่นที่กำลังจะมาถึงในอนาคต
รวมถึงสังเกตเสื้อผ้าที่อินฟลูเอนเซอร์ใส่ จากโลกออนไลน์ เพื่อนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ
ซึ่งกลยุทธ์ของ ZARA คือ จะมีการลงสินค้าใหม่ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
และผลิตออกมาในจำนวนน้อยกว่าความต้องการในตลาด
เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า ต้องรีบซื้ออย่างเร่งด่วน เพราะกลัวสินค้าจะหมด
โดยจะใช้เวลาในการออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่าย ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน
ในขณะที่แบรนด์เสื้อผ้าอื่น ๆ จะใช้เวลาหลายเดือน ในการออกจำหน่ายเสื้อผ้าแบบใหม่ ๆ
ซึ่ง ZARA ก็จะมีโรงงานสำหรับผลิตเสื้อผ้า ที่เป็นคอลเลกชันใหม่ล่าสุด เป็นของตัวเองมากถึง 10 แห่ง ล้อมรอบสำนักงานใหญ่ที่มีชื่อว่า The Cube ในประเทศสเปน
นอกจากนี้ INDITEX หรือบริษัทแม่ของแบรนด์ ZARA ยังได้ทำการผลิตเสื้อผ้า ผ่านโรงงานอื่น ๆ ทั่วโลก อีกกว่า 8,543 แห่ง เพื่อให้สามารถผลิตสินค้า และส่งไปยังร้านค้าสาขาใกล้ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
- UNIQLO จะมีแผนกวิจัยและพัฒนา หรือ R&D เพื่อออกแบบเสื้อผ้าแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะ
ซึ่งในการออกแบบ ก็จะนำเทรนด์แฟชั่น กับวัสดุใหม่ ๆ
มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้สวมใส่
ซึ่งเวลาในการออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายของ UNIQLO จะใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน
โดย 1 ปีก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะเปิดตัว แผนก R&D จะมีการประชุมกับหลายฝ่าย
เพื่อวางแผน และกำหนดแนวคิดในการออกแบบเสื้อผ้า ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละฤดูกาล
ก่อนที่จะปล่อยแบบเสื้อผ้าใหม่ออกมา
1
โดยในการผลิตเสื้อผ้า UNIQLO จะใช้วิธีการจ้างโรงงานผลิตที่อยู่ในเครือข่ายทวีปเอเชีย เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าให้เกือบทั้งหมด
ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ เวียดนาม บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย
1
นอกจากนี้ เสื้อผ้าของ UNIQLO ทุกแบบนั้น จะเน้นทำการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ๆ
โดยใช้เทคโนโลยี และมาตรฐานการควบคุมคุณภาพในแบบญี่ปุ่น
เพื่อลดต้นทุนในการผลิตต่อหน่วย ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดีได้ ในราคาที่เป็นกันเอง
ทีนี้ ก็จะขอสรุปเส้นทางที่แตกต่างกัน ของทั้ง 3 แบรนด์นี้
- H&M จะเน้นการผลิตเสื้อผ้าตามแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยสามารถนำแฟชั่นที่มีอยู่ มาปรับใช้ให้สามารถเข้าถึงคนทุกระดับได้ ด้วยราคาที่ไม่แพง
- ZARA จะเน้นการออกแบบเสื้อผ้าใหม่ ๆ ตามกระแสแฟชั่น โดยจะผลิตออกมาครั้งละน้อย ๆ แต่ปล่อยสินค้าออกไปถี่ ๆ เพื่อให้ลูกค้ากลับมาที่ร้านซ้ำ ๆ เพื่อเลือกเสื้อผ้าใหม่ ๆ
- UNIQLO จะเน้นผลิตเสื้อผ้าที่เป็น Casual Wear คือ ใส่ง่าย ใส่สบาย และใส่ได้ทุกวัน
โดยเน้นปล่อยเสื้อผ้าออกมาแบบนาน ๆ ครั้ง แต่สามารถผลิตออกมาได้ครั้งละเยอะ ๆ พร้อมด้วยคุณภาพที่เชื่อถือได้ ตามมาตรฐานญี่ปุ่น
และนี่ก็เป็นเส้นทางการเดินทางที่แตกต่างกันของ แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นทั้ง 3 แบรนด์จากทั่วทุกมุมโลก
อย่าง ZARA, UNIQLO และ H&M นั่นเอง..
1
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
อ้างอิงสถิติจาก Forbes ปัจจุบันผู้ก่อตั้งแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นชื่อดังทั้ง 3 แบรนด์ ต่างก็เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศนั้น
คุณ Amancio Ortega ผู้ก่อตั้ง Inditex ของแบรนด์ ZARA
เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในสเปน ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 2,320,000 ล้านบาท
คุณ Tadashi Yanai ผู้ก่อตั้ง Fast Retailing ของแบรนด์ UNIQLO
เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในญี่ปุ่น ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 890,000 ล้านบาท
คุณ Stefan Persson ทายาทของผู้ก่อตั้ง H&M
เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในสวีเดน ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 520,000 ล้านบาท
References
-
https://www.youtube.com/watch?v=MoyoPFuTIyE
-
https://companiesmarketcap.com/clothing/largest-clothing-companies-by-market-cap/
-
https://www.businessinsider.com/how-zara-makes-its-clothes-2018-10#the-pattern-layout-is-then-sent-to-a-machine-that-prints-a-life-size-copy-using-the-relevant-information-about-what-part-of-the-garment-each-piece-is-5
-
https://www.fastretailing.com/eng/group/strategy/uniqlobusiness.html
-
https://hmgroup.com/history/the-60_s-70_s/
-
https://hmgroup.com/sustainability/leading-the-change/transparency/supply-chain/
-
https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/zara-data-driven-fashion
-
https://www.springnews.co.th/spring-life/818490
-
https://sanvt.com/blogs/journal/fast-fashion-explained-meaning-and-history
-
https://sites.google.com/site/theworldofhm/history-of-h-m
-
https://www.forbes.com/japan-billionaires/list/#tab:overall
ธุรกิจ
20 บันทึก
17
12
20
17
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย