Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storytelling Beside Dish
•
ติดตาม
17 ต.ค. 2022 เวลา 12:36 • อาหาร
"ถนนสายอาหารมาเลเซีย: ส่วนผสมของวัฒนธรรมเปอรานากัน ทมิฬ และภูมิบุตร"
1
เพิ่งกลับมาจากทริปมาเลเซีย-สิงคโปร์ครับ เห็นบ้านเมือง ระบบขนส่งมวลชน และพื้นที่สาธารณะของเขาแล้วยอมรับว่ายินดีและอิจฉาเพื่อน ๆ สองชาตินี้เยอะมาก แต่สิ่งที่ผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจสอดส่ายตามองมากเป็นพิเศษ คือ อาหารและเครื่องดื่ม ตั้งแต่ในสนามบิน ห้างสรรพสินค้า อาคารพานิชย์ ตลาดสด และร้านค้าตามสองข้างทาง แม้จะไม่มีรถเข็นผลไม้หรือลูกชิ้นยืนกินบนทางเท้าเหมือนบ้านเรา สำหรับผมแล้วก็ยังเปี่ยมเสน่ห์น่าหลงใหลอยู่ดี
1
ในภาษามลายู “กัวลา” (Kuala) หมายถึง จุดบรรจบของแม่น้ำ “ลัมเปอร์” (Lumpur) หมายถึง โคลน ตรงจุดที่พบกันของแม่น้ำสองสายอันเป็นจุดกำเนิดของเมืองหลวงมาเลเซียแห่งนี้จึงแปลว่า จุดบรรจบของแม่น้ำที่เป็นโคลนตม (สังเกตพนักงานทำความสะอาดชาย 2 คน ความสูงยังไม่พ้นกำแพงชั้นล่างสุด)
มาเลเซียเป็นประเทศประชาธิปไตย มี “ยังดีเปอร์ตวนอากง” ประมุขแห่งรัฐที่มาจากการคัดเลือกสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองหมุนเวียนตามวาระ ประกอบด้วย 11 รัฐ คือ ปะหัง สลังงอร์ เนกรีเซมบีลัน มะละกา ยะโฮร์ เปรัก กลันตัน ตรังกานู เปอร์ลิซ ปีนัง และเคดาห์ มีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประมุข เลือกตั้งจากสุลต่านผู้ครองรัฐ 9 รัฐ (รัฐที่ไม่มีสุลต่าน คือ ซาบาห์ ซาราวัก มะละกา และปีนัง) เวียนดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล
“เปโตรนาส” (Petronas Twin Towers) ตึกแฝดที่เคยสูงที่สุดในโลก วันนี้อยู่ในลำดับที่ 5 ด้วยความสูง 451.9 เมตร แม้จะถูกลบความเป็นที่หนึ่ง แต่อาคารแห่งนี้ยังคงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของมาเลเซียและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก (ภาพการปฏิบัติการทัวร์จำลอง นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาท่องเที่ยว คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 12-15 ตุลาคม 2565)
ทหารม้าหน้าพระราชวังอิสตาน่า ไนการ่า (Istana Negara Palace) สถานที่ประทับของสมเด็จพระราชาธิบดี ยังตีเปอร์ตวนอากง
พลเมืองมาเลย์ประกอบไปด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ มลายู (Melayu) ทมิฬ/อินเดีย (Tamil/Indian) และจีน (Chinese) ที่เรียกโดยคนมาเลย์ว่า “ภูมิบุตรา อินเดีย และเปอรานากัน” กับชนเผ่าดั้งเดิม
1
คนมาเลย์เรียกชนเผ่าพื้นเมืองว่า “โอรัง อัสลี” บนเกาะบอร์เนียวมี 27 กลุ่ม เช่น อีบัน (Iban) หรือดายัก อดีตนักล่าหัวมนุษย์ เกอดายัน (Kerdayan) กาดาซานดูซุน (Kadazandusun) เมลาเนา (Melanau) กิมารัง (Kimarang) บาเจา (Bajau) บีดายุห์ (Bidayuh) เกลาบิด (Kelabit) และกายัน (Kayan) และบนแหลมมลายู 32 กลุ่ม เช่น มีนังกาเบา (Menangkerbau) และมันนิ (Mani)
1
2
ประชากรและชนเผ่าพื้นเมืองแบบมาเลย์ต่างก็มีอยู่เหมือน ๆ กันทั้งในมาเลย์ อินโดฯ สิงคโปร์ และบรูไน ประเทศเพื่อนบ้านที่แผ่นดินชิดติดกัน นำมาซึ่งการยื้อแย่งความเป็นเจ้าของวัฒนธรรมดนตรีนาฏศิลป์ รวมทั้งวัฒนธรรมอาหาร เช่นแย่งชิง "บัก กุ๊ด เต๋” (Bak Kut Teh) กับสิงคโปร์ และแย่ง "แกงเรินดัง" (Rendang) กับอินโดนีเซีย
1
ภูมิประเทศของมาเลย์มีลักษณะคล้ายเกาะ ถูกทะเลจีนใต้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ “มาเลเซียตะวันออก” ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว พรมแดนทิศใต้ติดอินโดนีเซีย และล้อมรอบบรูไน ประกอบด้วย 2 รัฐ คือ ซาบาห์ และซาราวัก และ “มาเลเซียตะวันตก” ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู ทิศเหนือติดไทย และทิศใต้ติดสิงคโปร์ มีการปกครองแบบสหพันธรัฐ
ประเทศมาเลเซียมีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคหินกลาง พบหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีเล็งกอง (Lenggong) รัฐเปรัก เช่น ขวานหินอายุราว 1.83 ล้านปี โครงกระดูกมนุษย์ที่เก่าที่สุดที่พบในคาบสมุทรมลายูอายุ 11,000 ปี และภาพเขียนสีในถ้ำตัมบุน รวมทั้งกะโหลกศีรษะมนุษย์และเครื่องมือหินในถ้ำเนียะห์ รัฐซาราวัก อายุ 4,000 ปี มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า อาศัยเพิงผาถ้ำ น่าเชื่อว่าอพยพมาจากจีนตอนใต้ซึ่งกดดันกลุ่มคนที่อยู่มาก่อนถอยร่นขึ้นเขา
1
พบร่องรอยมนุษย์ยุคเหล็กและสำริด ใช้โลหะเป็นอาวุธ รู้จักการค้าขาย ได้ขับไล่กลุ่มที่อยู่เดิมให้เข้าป่าลึกยิ่งขึ้น และผู้ที่มาใหม่นี้หรือกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลโพลีนีเซีย (Polynesia) ได้กลายเป็นบรรพชนชาวมาเลย์ในปัจจุบัน โดยนักประวัติศาสตร์ได้ถือเอาช่วงที่มะละกาปรากฏตัวขึ้นในฐานะศูนย์กลางการค้าสำคัญบนชายฝั่งคาบสมุทรมลายูเป็นจุดเริ่มต้นยุคประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย
ศาสนาอิสลามแผ่เข้าสู่คาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะมาเลย์เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 กลืนกลายชาวฮินดูและพุทธเป็นมุสลิม เป็นการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการค้า ไม่ได้ใช้กำลังเข้าพิชิต อิสลามในหมู่เกาะมาเลย์จึงมีความยืดหยุ่นและมีการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น
1
สอดคล้องกับพงศาวดารมาเลย์ที่ระบุว่า พระปรเมศวร (Parameswara พ.ศ. 1887 - 1957) ได้สถาปนาเมือง “มะละกา” (Malaka) ขึ้นตามชื่อมะขามป้อม ร่มไม้ที่ทรงพักผ่อนและทอดพระเนตรเห็นกระจงเตะสุนัขล่าสัตว์ พระองค์เห็นเป็นนิมิตดีที่ในภูมิประเทศนี้ แม้แต่สัตว์ผู้ถูกล่าก็ยังมีเลือดนักสู้ จึงโปรดฯ ให้สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1946 รวมทั้งเกิดรัฐอิสลามปกครองโดยสุลต่านหลายแห่ง
1
2
มะละกาได้กลายเป็นอาณาจักรที่มั่งคั่งที่สุดของภูมิภาคแถบนี้ จากการเก็บภาษีสินค้าผ่านแดนจากพ่อค้าชาวจีน อินเดีย และอาหรับได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่บางตำนานระบุว่า “มะละกา” มาจากคำในภาษาอาหรับว่า “มะละกัด” (Malakat) ที่หมายถึงศูนย์กลางการค้า
ช่วงที่อิสลามแผ่ขยายและตั้งมั่นในอุษาคเนย์ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวตะวันตกมีความต้องการสินค้าจากตะวันออกโดยเฉพาะเครื่องเทศ แต่การค้าถูกกีดกันจากจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman) ของพวกเติร์ก และถูกผูกขาดโดยพ่อค้าเวนิสที่ได้รับสัมปทานจากออตโตมัน พ่อค้าตะวันตกจึงพยายามเปิดเส้นทางใหม่เพื่อเข้าถึงตลาดเครื่องเทศ
โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่นำกองเรือปืนอ้อมทวีปแอฟริกามาถึงอินเดียในปี พ.ศ. 2041 จากนั้นสร้างอิทธิพลผูกขาดการค้าทั่วชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ก่อนนำกองเรือเข้าเทียบท่ามะละกาในปี พ.ศ. 2052 และยึดได้สำเร็จในอีก 2 ปีต่อมา มะละกาจึงกลายเป็นอาณานิคมแห่งแรกของชาวยุโรปในอุษาคเนย์
จากนั้นพ่อค้าดัตช์ก็ดำเนินรอยตามโปรตุเกสและสเปน เข้ายึดมะละกาต่อจากโปรตุเกสใน พ.ศ. 2184 ติดตามด้วยอังกฤษที่ได้ปีนัง (เกาะหมาก) ใน พ.ศ. 2329 ได้สิงคโปร์ใน พ.ศ. 2362 ได้มะละกาจากดัตช์ใน พ.ศ. 2367 และทยอยเข้ายึดรัฐต่างๆ รวมทั้งรัฐมลายูทั้ง 4 ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู เปอร์ลิส (ปะลิศ) และเคดาห์ (ไทรบุรี) จากสยามใน พ.ศ. 2452
อังกฤษปกครองมลายูควบคู่ไปกับการวางรากฐานด้านการการปกครอง การศึกษา และการสาธารณสุข ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถหาประโยชน์จากอาณานิคมได้มาก และนานที่สุด กิจการหนึ่งที่อังกฤษลงทุนบุกเบิกคือเหมืองแร่และยางพารา แต่เนื่องจากชาวมลายูไม่นิยมทำงานรับจ้าง อังกฤษจึงใช้วิธีรับคนจีนและอินเดียเข้ามาเป็นแรงงาน คนงานชายชาวจีนกลุ่มแรกๆ ได้แต่งงานกับผู้หญิงมลายูโดยไม่ได้เข้าอิสลาม และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีจีน ทายาทของคนเหล่านี้ถูกเรียกว่า “บาบ๋า”
จากนั้นคนจีนได้หลั่งไหลเข้ามาอีกระลอกภายหลังจีนแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2403 จำยอมเซ็นสัญญาส่งออกแรงงานที่เรียกว่า “ลูกหมู” ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมณฑลฮกเกี้ยน ส่วนชาวอินเดียส่วนใหญ่คือชาวทมิฬจากรัฐทมิฬนาฑู นับถือศาสนาฮินดู มีบางส่วนนับถือศาสนาซิกข์ ที่อังกฤษว่าจ้างเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ต่างหาก
มะพร้าวที่เป็นเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้หลักของบ้านเราคือมะพร้าวน้ำหอม แต่ของมาเลย์ความนิยมอยู่ที่มะพร้าวลูกค่อนข้างใหญ่เปลือกสีส้ม ๆ อย่างที่บ้านเราเรียกว่า “มะพร้าวหมูสี”
ขนมหวานของชาวทมิฬ/อินเดีย ระดับความหวานทะลุมิติ
อาหารหลักของคนมาเลย์คือข้าว (Nasi) กินกับแกง (Lauk / Kuah) โดยปรากฏในสำนวนมาเลย์โบราณว่า “ไม่มีข้าวไม่มีอะไรทำ” และคนมุสลิมจะกินข้าวด้วยมือ ซึ่งเป็นการกินตามแบบท่านนบี มูฮัมหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม โดยก่อนกินทุกครั้งจะต้องขอบคุณพระองค์ที่ประทานอาหารให้
1
วัฒนธรรมอาหารมาเลย์ได้รับอิทธิพลหลักมาจากพ่อค้าชาวจีน อินเดีย และอาหรับตั้งแต่สมัยโบราณ อิทธิพลชาติตะวันตก โปรตุเกส ดัตช์ และอังกฤษ ที่เข้ามาค้าขายและยึดครองมาเลย์เป็นอาณานิคม รวมทั้งชนเผ่าพื้นเมืองหลากหลายกลุ่ม
ขนมในวัฒนธรรมเปอรานากัน (Peranakan) หรือบาบ๋า ย่าหยา นิยมห่อด้วยใบตองอย่างที่เห็น ส่วนผสมหลักก็ประกอบด้วยแป้ง มะพร้าว และน้ำตาลไม่ต่างจากบ้านเราและเพื่อนบ้านอุษาคเนย์
วัตถุดิบปรุงอาหารไม่ต่างจากคนอุษาคเนย์ทั่วไป แต่เนื้อสัตว์ทุกชนิดจะต้องมีการเตรียมตามมาตรฐานฮาลาล และผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
วัฒนธรรมอาหารหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรมของหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในมาเลเซีย
เนื้อวัวจะไม่พบในอาหารของชาวทมิฬซึ่งนับถือศาสนาฮินดู แต่เป็นที่นิยมของมุสลิม รวมทั้งเนื้อแพะ รองลงมาคือแกะ ไก่เป็นที่นิยมในอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย และเนื้อหมูสำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิม ได้แก่ ชาวจีน และชนเผ่าพื้นเมือง อาหารทะเลเป็นที่นิยมของคนทุกกลุ่ม ตลอดจนผักและผลไม้เมืองร้อนที่มีกินตลอดทั้งปี ซึ่งมาเลย์ได้รับการขนานนามว่า “ดินแดนแห่งทุเรียน” (The Land of Durian)
2
2
และแม้ว่าประเทศมาเลเซียจะมีสัญลักษณ์บนธงชาติเป็นรูปเดือน-ดาว ที่สะท้อนว่าจำนวนประชากรที่มากกว่าร้อยละ 50 นับถือศาสนาอิสลาม แต่มาเลเซียก็เปิดพื้นที่สำหรับคนต่างศาสนา เรื่องหนึ่งที่พบได้ คือ เบียร์ที่ผลิตในมาเลเซียมีหลากหลายยี่ห้อกว่าที่ผลิตในบ้านเรา
แม้บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างชนชาติที่เคยเกิดขึ้นที่นี่จะนิ่งสงบ ภายใต้ภาวะจำยอมในความไม่เสมอภาคนัก เมื่อ "ภูมิบุตร" ได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าเปอรานากัน ทมิฬ และอื่น ๆ ความนิ่งจึงเป็นการแยกกันอยู่แบบอยู่ใครอยู่มัน วัฒนธรรมอาหารที่ดูเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมที่มีการเดินทางและแลกรับปรับเปลี่ยนได้ง่ายที่สุดกลับมีพรมแดนบาง ๆ ขวางกั้น จากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เพื่อสงวนความเป็นต้นตำรับไว้กับตน ในแง่นี้จึงดูเหมือนคนมลายูต้องอยู่กับความโดดเดี่ยวไม่น้อยเลย
รายการอ้างอิง
องค์ บรรจุน. (2564). ข้างสำรับมาเลเซีย: การรวมกันที่แยกส่วนของอาหารเปอรานากัน ทมิฬ และภูมิบุตร. ใน ศิลปวัฒนธรรม. 39(11): 46-53.
ประวัติศาสตร์อาหาร
เรื่องเล่าข้างสำรับ
มาเลเซีย
1 บันทึก
12
23
11
1
12
23
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย